พระยาศรีวิสารวาจา

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


'พระยาศรีวิสารวาจา' : รัฐมนตรีต่างประเทศคนแรก

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เพียงหกวัน คือในวันที่ 30 มิถุนายน ปีเดียวกัน คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วังศุโขทัย ในครั้งนั้น พระยาศรีวิสารวาจาผู้ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ก่อการฯ แต่เป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าเฝ้าด้วย ดังคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี ปรีดี พนมยงค์ ในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2489 ว่า " มีพระราชกระแสรับสั่งว่า มีพระราชประสงค์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อได้ทรงปรึกษาข้าราชการมีตำแหน่งสูงในขณะนั้นก็ไม่เห็นพ้องกับพระองค์ "

นาย ปรีดี พนมยงค์ ยังเขียนเล่าถึงภาพที่ท่านได้เห็นในวันนั้นไว้อีก ดังมีความตอนหนึ่งว่า

"ข้าพเจ้าจำภาพประทับใจในวันเข้าเฝ้านั้นได้ว่าทรงตรัสด้วยน้ำพระเนตรคลอ เมื่อชี้พระหัตถ์ไปยังพระยาศรีวิศาลวาจา ที่ไปเฝ้าด้วยในวันนั้นว่า ‘ศรีวิสาร ฉันส่งเรื่องไปให้แกพิจารณาแกก็บันทึกมาว่ายังไม่ถึงเวลา แล้วส่งบันทึกของสตีเวนส์ (ที่ปรึกษาการต่างประเทศ เป็นชาวอเมริกัน) มาด้วยว่าเห็นพ้องกับแก' "


          ที่เป็นดังนี้ก็เพราะพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ได้เคยมีพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสฉลองครบรอบ 150 ปีของกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมอบให้พระยาศรีวิสารวาจา และนายเรมอนด์ สตีเวนส์ ที่ปรึกษากิจการด้านต่างประเทศไปร่วมกันพิจารณา แต่บุคคลทั้งสองมีความเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา  เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก คือพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน พ.ศ.2475 แล้ว ได้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะผู้บริหารประเทศ พระยาศรีวิสารวาจา ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาฯรุ่นแรกที่มาจากการแต่งตั้งในจำนวน 70 คนด้วย เท่านั้นยังไม่พอ ท่านเจ้าคุณศรีวิสารวาจา ผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อการฯ ยังได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการราษฎร รวมทั้งต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกด้วย

          ดังนั้นพระยาศรีวิสารวาจาจึงเป็นนักการเมืองคนหนึ่ง ที่น่ารู้จัก แม้จะเริ่มเข้ามาเป็นโดยจำเป็นหรือไม่จำเป็นก็ตาม เพราะต่อมาท่านยังมีบทบาททางการเมืองอีกหลายบทบาท

          พระยาศรีวิสารวาจาเป็นคนกรุงเทพฯ ชื่อเดิมคือ นาย เทียนเลี้ยง นามสกุล ฮุนตระกูล บุตรนายอุ่นตุ้ย และนางทองคำ เกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2439 มีคุณตากับคุณยายเป็นเจ้าของตลาดน้อย พ่อท่านตายไปเมื่ออายุท่านเพียง 7 ขวบ ต่อมาท่านได้เข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัน ฝ่ายภาษาอังกฤษ ความรู้ภาษาอังกฤษจึงดี พออายุได้ 15 ปี แม่กับพี่ได้ส่งไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษด้วยทุนส่วนตัวเพราะเป็นครอบครัวที่มีฐานะดี และได้เข้ามหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ครั้งนั้นสอบชิงทุนได้รับทุนของวิทยาลัยลินคอล์น เรียนจบปริญญาตรีได้เกียรตินิยมแล้วจึงได้ฝึกงานกับคนอังกฤษในกรุงลอนดอน ถึงปี 2464 ก็ได้เข้ารับราชการที่สถานทูตไทยในลอนดอนในตำแหน่งเลขานุการตรี ตอนนั้นอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนคือพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร

          อีกสามปีต่อมา ขณะที่รับราชการอยูที่สถานทูตไทยที่กรุงปารีส นาย เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงศรีวิสารวาจา ครั้นภายหลังย้ายกลับมาพระนคร ท่านทำงานดีก็ได้เลือนบรรดาศักดิ์เป็นคุณพระในนามเดิม ถัดมาอีกสองปีท่านได้แต่งงานกับแพทย์หญิง ลิน ซาเวียร์ ธิดาพระยาพิพัฒนโกษา ต่อมาใน พ.ศ.2471 ท่านรับราชการดีมีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน จึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาในนามเดิม คือ พระยาศรีวิสารวาจา ตำแหน่งปลัดทูลฉลองในกระทรวงการต่างประเทศ ขณะที่มีอายุเพียง 32 ปี สมัยนั้นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ คือ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย

          การที่เจ้าคุณศรีวิสารวาจาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนั้นก็คือเมื่อหลังวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 เรียบร้อยแล้ว รัฐธรรมนูญได้บัญญัติเรียกผู้ปกครองประเทศว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล  ต่อเนื่องมาได้ขอให้พระยาศรีวิสารวาจาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดังนั้น ท่านจึงเป็นรัฐมนตรีคนแรกของกระทรวงนี้ โดยมีเลขานุการรัฐมนตรีที่เป็นคนของคณะราษฎร คือ นายดิเรก ชัยนาม การที่ปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างประเทศ คือพระยาศรีวิสารวาจา ได้เป็นหนึ่งในคณะผู้บริหารประเทศชั่วคราวในช่วงเปลี่ยนผ่านระยะแรกก็ดี หรือเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนแรกของรัฐบาลใหม่ก็ดี ก็น่าจะมีส่วนที่รัฐบาลในตอนนั้นต้องการให้ความสัมพันธ์ด้านต่างประเทศดำเนินไปด้วยดี ราบรื่นต่อเนื่อง

          แต่พระยาศรีวิสารวาจาก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศได้ไม่นานนัก เพราะการขัดแย้งกันเองในคณะผู้ก่อการฯได้ทำให้รัฐบาลขัดแย้งกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนนำไปสู่การที่นายกรัฐมนตรีดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร ออกกฎหมายเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ และทำให้นายพันตรี หลวงพิบูลสงครามกับพวกเข้ายึดอำนาจอีกครั้งในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดาต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นพระยาศรีวิสารวาจาจึงพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีในวันเดียวกันนั่นเอง เท่ากับปิดประตูการเป็นนักการเมืองชั่วคราว

          การเมืองช่วงนั้นมีความสับสนอยู่มาก หลังจากนั้นเพียง 100 วัน การเผชิญหน้าทางการเมืองก็ถึงจุดระเบิดอีกครั้ง  คราวนี้ทัพทหารหัวเมืองบุกพระนครเพื่อล้มรัฐบาลในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า "กบฏบวรเดช" ที่เริ่มขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 แต่รัฐบาลก็ปราบได้ และมีการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจนต้องหลบลี้หนีภัยกันตลอดจนถูกจับกุมคุมขัง พระยาศรีวิสารวาจา อยู่รอดปลอดภัยจากภัยการเมือง จึงคิดทำมาหากินให้พ้นวงการเมือง โดยร่วมกันกับเพื่อนระดับพระยาพานทองตั้งสำนักงานกฎหมายขึ้นในปี 2477 ดังที่ วิพัฒน บุนนาค ได้เขียนเล่าเอาไว้

“ท่านเจ้าคุณศรีวิสารวาจา เป็นผู้ก่อตั้งสำนักงานเทพศรีหริศ ทนายความ ขึ้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2477 ณ ตึก บี.เอ็ม.ซี. เชิงสะพานพิทยเสถียร ตลาดน้อย จังหวัดพระนคร โดยร่วมกับพระยาเทพวิทุร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และพระยาหริศจันทร์ อดีตกรรมการศาลฎีกา"

          สองทศวรรษผ่านมา เมืองไทยมีนายกรัฐมนตรีต่อมาอีก 5 คน รวมทั้งนายควง อภัยวงศ์ ที่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ในตอนหลังสงคราม ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2489 นายกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์ ได้นำพระยาศรีวิสารวาจากลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน แต่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ควง อภัยวงศ์ ก็มีอายุสั้น เพราะนายกรัฐมนตรีได้นำรัฐบาลลาออกเมื่อแพ้เสียงในสภาเกี่ยวกับกฎหมายติดป้ายราคาสินค้า ตอนปลายเดือนมีนาคม ปี 2489 นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เข้ามาคือ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นหัวหน้าเสรีไทยในยามสงครามนั่นเอง จะเป็นเพราะกลับมาเป็นรัฐมนตรีจึงสนใจที่จะเล่นการเมืองต่อไปหรือมีเหตุผลอื่นก็ตาม ปรากฏว่าเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประกาศใช้ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2489 ตอนกลางปี 2489 พระยาศรีวิสารวาจาได้ลงสมัครผู้แทนราษฎร ที่เขต 2 ของจังหวัดพระนคร ครั้งนั้นนายดิเรก ชัยนาม ก็ลงสมัครในพระนคร เขต 5 และทั้ง 2 ท่านได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎร แต่ท่านก็เป็นผู้แทนราษฎรอยู่ได้เพียงวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นวันที่คณะรัฐประหารได้เข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์และยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนึกว่าจะโชคร้าย ที่ไหนได้ หลังการรัฐประหารเพียง 3 วัน พระยาศรีวิสารวาจาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเจ้าเก่าคือนายกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์ ของพรรคประชาธิปัตย์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่รัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะถูกคณะรัฐประหารจี้ให้ออก จนต้องยอมลาออกในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491

ปี 2492 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับ พ.ศ.2492 ออกมาใช้ ได้มีบทบัญญัติให้มีวุฒิสภา พระยาศรีวิสารวาจา เป็นผู้หนึ่งที่ได้เป็นสมาชิกสภาสูงที่เรียกกันว่า “วุฒิสภา” นี้ และก็ได้เป็นอยู่เท่าอายุของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ต้องสิ้นสุดลงเพราะการรัฐประหารเงียบในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 ของคณะผู้บริหารประเทศชั่วคราว ในครั้งนี้พระยาศรีวิสารวาจาจึงพ้นจากวงการเมืองอีกครั้ง ท่านได้ไปดำรงตำแหน่งองคมนตรี

          การเมืองไทยตั้งแต่นั้นมาดูจะมีเสถียรภาพโดยการนำของกองทัพ มีรัฐบาลที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ผ่านการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2495 จนมาถึงการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ที่ภายหลังการเลือกตั้ง ประชาชนได้ออกมาประท้วงผลการเลือกตั้งว่าเป็น "การเลือกตั้งสกปรก" ทำให้มีความวุ่นวายทางการเมือง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงนำทหารเข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาล การยึดอำนาจครั้งที่ 2 ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้นได้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา และครั้งนี้พระยาศรีวิสารวาจาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีหน้าที่ควบคู่ไปกับการทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย รัฐบาลที่ตามหลังมาคือรัฐบาลที่มีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีท่านนี้ไปนอนรักษาตัวอยู่ที่สหรัฐฯมาพักหนึ่ง กลับมาไทยเป็นหัวหน้ารัฐบาล จึงได้ปรับเปลี่ยนการบริหารงานที่ทำเนียบรัฐบาลเสียใหม่ มีตำแหน่งสำคัญที่เรียกว่า "ปลัดบัญชาการ" ดูแลงานช่วยนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล คนแรกที่ได้เป็น คือ หลวงวิจิตรวาทการ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2505 หลวงวิจิตรวาทการได้ถึงแก่อนิจกรรมจากไป จอมพล สฤษดิ์ ก็ยังไม่ยอมตั้งใครขึ้นมาแทน กระทั่งเวลาผ่านไป 5 เดือน จอมพล สฤษดิ์ จึงได้ขอพระยาศรีวิสารวาจา มาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี การได้ตัวพระยาศรีวิสารวาจามานั้นถือว่าได้คนสำคัญมากเพราะพระยาศรีวิสารวาจาเคยดำรงตำแหน่งองคมนตรีมาก่อน เข้ามาช่วยงานนายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่ปรึกษาอยู่ได้ 2 สัปดาห์ พระยาศรีวิสารวาจาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้นถึงวันที่ 8 ตุลาคม ปีเดียวกัน ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดบัญชาการ มีผู้เล่าว่าหลวงวิจิตรวาทการเคยเรียนจอมพล สฤษดิ์ เอาไว้ว่า

“หากตัวคุณหลวงวิจิตรวาทการเป็นอะไรไป ให้จอมพล สฤษดิ์ได้โปรดขอร้องฯพณฯ พระยาศรีวิสารวาจา ได้รับหน้าที่แทนเถิด’"

          พระยาศรีวิสารวาจาได้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาสำคัญ ช่วยงานนายกรัฐมนตรีอยู่จนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506 ท่านได้รับยศพันเอกในสมัยจอมพล สฤษดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี พระยาศรีวิสารวาจายังเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญต่อมาจนอสัญกรรมในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2511