เสนีย์ ปราโมช : ผู้ที่สภาฯไม่ไว้วางใจก่อนเข้าทำงาน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:32, 11 พฤษภาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (Apirom ย้ายหน้า เสนีย์ ปราโมช (นรนิติ เศรษฐบุตร) ไปยัง [[เสนีย์ ปราโมช : ผู้ที่สภาฯไม่ไว้วางใจก่...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


เสนีย์ ปราโมช : ผู้ที่สภาฯไม่ไว้วางใจก่อนเข้าทำงาน

             การที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ถูกไม่ไว้วางใจก่อนจะทำงานได้นั้นเกิดขึ้นเมื่อท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2518 ตอนนั้นท่านเล่นการเมืองเต็มตัวเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคนี้ก็ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง แต่เสียงของพรรคในสภาผู้แทนราษฎรมีเพียง 72 เสียง ไม่ถึงครึ่งของสภาฯ พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล จึงร่วมมือกับพรรคเกษตรสังคมได้เสียงมาอีก 19 เสียง กล้าจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย มีเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาฯทั้งหมด 269 คน  ดังนั้นเมื่อตั้งรัฐบาลแล้วก็ต้องไปแถลงนโยบายและขอความไว้วางใจต่อสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ และโอกาสนี้นั่นเอง ที่สภาฯได้มีมติไว้วางใจรัฐบาลด้วยเสียงที่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด เพราะรัฐบาลได้รับเสียงไว้วางใจเพียง 111 เสียงเท่านั้น จึงทำให้รัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ต้องพ้นตำแหน่งไปก่อนที่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ นับเป็นปรากฏการณ์แรกที่รัฐบาลถูกไม่ไว้วางใจก่อนเข้าทำงาน จนเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาได้มีการตัดบทบัญญัติในส่วนนี้ออกไปตั้งแต่ปี 2521

             ชีวิตของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นั้นมาจากครอบครัวเชื้อพระวงศ์ บิดาของท่านคือ พระวรวงศ์พระองค์เจ้าคำรบ และมารดา คือ หม่อมแดง ม.ร.ว.เสนีย์ ถือกำเนิดมาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2448 ที่จังหวัดนครสวรรค์ ขณะนั้นบิดาของท่านเป็นนายทหารอยู่ที่จังหวัดนั้น ทางด้านการศึกษาปรากฏตามคำบอกเล่าของท่านเองว่า

             “เริ่มแต่ ร.ร.วัดบวรฯ ราชินี เทพศิรินทร์ อัสสัมชัน ร.ร.อเมริกันของ ด.ร.ซิมมอน วัดตะเคียน (ซอยถนนมหาพฤฒาราม ) จนในที่สุดไปเรียนประจำที่ ร.ร.สวนกุหลาบ”

             จากนั้นบิดาก็ส่งไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษที่ เทรนต์ คอลเลจ เมืองนอตติงแฮม และขยับไปเรียนที่ วอร์สเตอร์ คอลเลจ ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ก่อนที่จะไปจบการศึกษาได้เป็นเนติบัณทิตอังกฤษ จากสำนักเกรย์อินน์ กรุงลอนดอน จบการศึกษาจากประเทศอังกฤษกลับมาเมืองไทยแล้ว ก็ยังศึกษาและสอบได้เป็นเนติบัณฑิตไทยด้วย และได้ทำงานด้านตุลาการเป็นผู้พิพากษาอยู่ก่อนที่จะเปลี่ยนงานไปรับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ในส่วนของชีวิตสมรสของ ม.ร.ว.เสนีย์นั้น ท่านได้สมรสกับท่านผู้หญิง อุศนา ปราโมช

             การได้รับแต่งตั้งไปเป็นอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 นั้นทำให้เส้นทางชีวิตของ ม.ร.ว.เสนีย์ จากการเป็นข้าราชการประจำได้ใกล้เข้ามาสู่เส้นทางการเมืองในภายหลัง เพราะในปลายปี 2484 รัฐบาลได้ยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทย และรัฐบาลไทยยังได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อต้นปี 2485 ทำให้อัครราชทูต ม.ร.ว.เสนีย์ ไม่ยอมทำตามนโยบายและคำสั่งรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทั้งยังได้รวบรวมคนไทยในสหรัฐอเมริกาจัดตั้งกลุ่มเสรีไทยในสหรัฐฯขึ้นมา ซึ่งต่อมาเสรีไทยกลุ่มนี้ได้ประสานงานกับกลุ่มเสรีไทยในอังกฤษและกลุ่มเสรีไทยในประเทศไทย. ร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรต่อต้านญี่ปุ่น จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เป็นผลดีกับประเทศไทยในภายหลัง หลังจากที่รัฐบาลไทยประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2488 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงแล้ว ในประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจากชุดเดิมที่เคยทำงานตอนที่ญี่ปุ่นมีอำนาจมาเป็นรัฐบาลใหม่ ชื่อของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงได้รับการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรไทยให้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ก่อนที่ท่านจะเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย จึงต้องมีการตั้งนายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรีไปก่อนเป็นเวลาสิบกว่าวัน

          ดังนั้น ม.ร.ว.เสนีย์จึงเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้อยู่ในวงการเมืองมาก่อน และที่น่าสังเกตมากก็คือเป็น"คนนอกคณะราษฎร " หรือนอกกลุ่มคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 นับเป็นรายที่สองนอกจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และยังเป็นเชื้อพระวงศ์ด้วย ที่ทำลายสถิติก็คือเป็นนายกฯที่หนุ่มที่สุด เพราะขณะนั้นท่านมีอายุเพียง 40 ปีเท่านั้นเอง ฐานทางการเมืองอื่นก็ยังไม่มี และในบทบาทของหัวหน้ากลุ่มเสรีไทยสายอเมริกานั้น หากดูกันแล้ว หัวหน้าเสรีไทยในประเทศไทย คือนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็มีบทบาทโดดเด่น ฉะนั้นการที่ฝ่ายการเมืองในตอนนั้นมาเอาท่านไปเป็นนายกฯ จึงน่าจะเห็นว่า ม.ร.ว.เสนีย์ เป็นบุคคลที่เหมาะจะเป็นหัวหน้ารัฐบาลภายหลังสงคราม ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ซึ่งจะต้องเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงคราม เพื่อดูแลรักษาประเทศไทยให้อยู่รอดปลอดภัยต่อไป ก่อนจะเป็นนายกฯ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาฯในการประชุมในวันที่ 21 สิงหาคม ปี 2488  แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ก็อยู่เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงระยะเวลาที่สั้น เพราะท่านเข้าเป็นนายกฯตั้งรัฐบาลในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2488 และยังไม่ทันครบเดือนดี ในวันที่ 15 ตุลาคม ปีเดียวกัน ม.ร.ว.เสนีย์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีก็จัดการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา ในแถลงการณ์ยุบสภาฯครั้งนั้นมีความตอนหนึ่งว่า

          “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน ซึ่งได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2481 นั้น ได้มีการขยายกำหนดเวลาให้อยู่ในตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาอีก 2 ครั้ง ทั้งนี้นับเป็นเวลาเกินควร ย่อมเป็นเหตุให้จิตใจและความคิดเห็นของสมาชิกส่วนมาก เหินห่างจากเจตนาและความประสงค์อันแท้จริงของราษฎร”

          การยุบสภาฯครั้งนี้นับเป็นการยุบสภาฯครั้งที่ 2 โดยที่ยังมองไม่เห็นความขัดแย้งทางการเมืองแต่อย่างใด

          การเป็นนายกรัฐมนตรีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น แม้จะเป็นเพียงระยะสั้นๆ ก็อาจทำงานใหญ่และมีความสำคัญมากได้ อดีตรัฐมนตรี ดิเรก ชัยนาม คนสำคัญของคณะราษฎร ได้เขียนเล่าว่า เรื่องสำคัญที่รัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ จะต้องหาข้อตกลงให้ได้กับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งเป็นผู้ชนะสงครามก็คือ ทำความตกลงสมบูรณ์แบบกับอังกฤษ เรื่องหนึ่งกับ ทำสนธิสัญญาทางไมตรีระหว่างไทยกับจีนอีกเรื่องหนึ่ง 

          เรื่องแรกนั้นหลังนั้น นายกฯ ม.ร.ว.เสนีย์เป็นหัวหน้ารัฐบาลได้เพียง 5 วัน รัฐบาลก็ต้องส่งผู้แทนไทยไปเจรจากับผู้แทนอังกฤษที่เมืองแคนดีของศรีลังกา จนท้ายที่สุดผู้แทนไทยก็ได้ลงนาม “ความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อเลิกสถานะสงครามระหว่างไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย” กับผู้แทนอังกฤษที่เมืองสิงคโปร์ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไทยต้องให้ข้าวสารจำนวนมากแก่องค์การที่ทางอังกฤษจะระบุด้วย ได้มีการระบุราคากันในวันนั้นว่ากว่าสองพันล้านบาท โดยทางอังกฤษและอินเดียจะสนับสนุนไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ  ส่วนเรื่องที่ 2 นั้น ไทยกับจีนได้ลงนามในสัญญาทางไมตรีระหว่างไทยกับสาธารณรัฐจีน ได้ในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2489 ตอนนั้นเลือกตั้งกันเสร็จแล้ว กำลังรอรัฐบาลใหม่ จึงเป็นก่อนที่นายควง อภัยวงศ์ จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเพียง 7 วัน และก็ต้องบันทึกไว้อีกด้วยว่าในสมัยรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์นั้นได้มีเรื่องการก่อความวุ่นวายของคนเชื้อสายจีนบางกลุ่มในพระนครที่บริเวณเยาวราช แต่รัฐบาลก็ควบคุมสถานการณ์ได้ นอกจากนี้ยังมียังมีเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ นั่นก็คือเรื่องอาชญากรสงคราม ที่รัฐบาลเสนอเข้าสภาฯตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน ปี 2488 หลังรัฐบาลเข้าทำงานเพียง 10 วัน และกฎหมายนี้ผ่านสภาฯ ในวันที่ 11 ตุลาคม ปีเดียวกัน ก่อนนายกฯยุบสภาเพียง 4 วัน กฎหมายนี้ทำให้อดีตนายกฯ หลวงพิบูลฯและรัฐมนตรีที่ร่วมรัฐบาลหลายคนถูกจับกุมมาดำเนินคดี และหลังยุบสภาแล้วนายกฯม.ร.ว.เสนีย์ก็ยังได้รับสนองพระบรมราชโองการในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2488 ประกาศ “ยกย่องนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส และให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจการแผ่นดิน” ด้วย

          เมื่อยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2489 นั้น แม้จะมีนักการเมืองทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ลงสู่สนามเลือกตั้งกันมาก ม.ร.ว.เสนีย์ก็มิได้ลงเลือกตั้ง อาจเป็นเพราะว่าท่านเป็นสมาชิกสภาฯประเภทแต่งตั้งอยู่แล้ว ครั้นนายควงเข้ามาเป็นนายกฯ ม.ร.ว.เสนีย์ก็ได้ร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จนต่อมารัฐบาลของนายควงลาออกเพราะแพ้เสียงในสภาฯ รัฐบาลใหม่ที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ไม่ได้ร่วมรัฐบาล ครั้นต่อมานักการเมืองพวกนายควงเห็นว่าจะเล่นการเมืองแบบไม่รวมกันเป็นพรรคจะเสียเปรียบ จึงคิดตั้งพรรคการเมืองบ้าง คราวนี้ม.ร.ว. เสนีย์ได้ไปร่วมกับนายควงตั้งพรรคประชาธิปัตย์ดังที่ท่านบันทึกไว้ว่า  “คุณควงนัดประชุมตั้งพรรค สถานที่ประชุมอยู่ที่บริษัทซึ่งคุณควงเป็นผู้จัดการแถวถนนราชวงศ์ โดยนัดเป็นวันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ.2489 เพราะเป็นวันหยุดของบริษัท ผู้ที่ไปประชุมในวันนั้นเท่าที่จำได้มีจำนวนประมาณ 30 คน มีทั้งส.ส.และบางคนจากคณะปฏิวัติ 2475”

          เมื่อมีการเลือกตั้งเพิ่มเติมในวันที่ 5 สิงหาคม ปี 2489 ม.ร.ว.เสนีย์ จึงลงเลือกตั้งที่พระนครและก็ชนะได้เข้าสภาฯ ในครั้งเดียวกันนี้นายปรีดีซึ่งเป็นนายกฯอยู่และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เองก็ลงเลือกตั้งที่อยุธยาและชนะเลือกตั้งด้วยเหมือนกัน ท่านทำหน้าที่ฝ่ายค้านจนมีการรัฐประหารล้มรัฐบาลของหลวงธำรงฯ ปี 2490 และนายควงตั้งรัฐบาล ท่านจึงเข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมกับลงเลือกตั้งและชนะในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2491 แต่รัฐบาลของคุณควงอยู่ได้ 4 เดือนกว่าก็ถูกคณะรัฐประหารบีบให้ออก ครั้งนี้หลวงพิบูลฯได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. เสนีย์ก็ออกมาเป็นฝ่ายค้าน และไม่ลงเลือกตั้งทั่วไปในปี 2495 เพราะพรรคประชาธิปัตย์ประท้วงการเลือกตั้งครั้งนี้. ถึงปี 2500 ทางพรรคประชาธิปัตย์กลับมาลงสนามเลือกตั้งอีกครั้ง ท่านก็ยังไม่ลงเลือกตั้งอีก ประกอบกับต่อมาจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยึดอำนาจถึงสองครั้งและมีการร่างรัฐธรรมนูญกันนานเกือบสิบปี ท่านจึงว่างเว้นไปจากวงการเมือง

          ครั้นมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 และมีการเลือกตั้งทั่วไปปี 2512  ม.ร.ว.เสนีย์ จึงเข้ามาเล่นการเมืองอีกโดยเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นำลูกพรรคลงเลือกตั้งที่พระนครด้วย และชนะทั้ง"ทีม" 15 คน แต่ทั้งประเทศพรรคสหประชาไทยชนะได้คะแนนเป็นที่ 1จึงเป็นแกนตั้งรัฐบาล ท่านจึงเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน จนกระทั่งจอมพลถนอมยึดอำนาจรัฐบาลตนเองพรรคการเมืองถูกยุบ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ท่านจึงกลับมานำพรรคประชาธิปัตย์เล่นการเมืองอีกจนชนะเลือกตั้งทั่วไปในปี 2518 และพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ได้เข้ายึดอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาลกลับไม่ได้รับเสียงไว้วางใจก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ ดังที่ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้น

          ม.ร.ว.เสนีย์ได้กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งทั่วไปในปี 2519 แต่การเมืองก็วุ่นวาย รัฐบาลผสมของท่านได้รับความกดดันจนท่านต้องลาออกกลางสภา แต่สภาก็เลือกท่านเป็นนายกฯอีกครั้ง ยังไม่ทันตั้งรัฐบาลได้เรียบร้อยก็เกิดเหตุการณ์ร้ายกับผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตอนเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2519 ตกตอนเย็นวันเดียวกัน คณะปฏิรูปประเทศก็นำกำลังเข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์

          ตั้งแต่นั้นมา ม.ร.ว.เสนีย์จึงออกจากวงการเมืองไป จนถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2540