ปัญจะ เกสรทอง
ผู้เรียบเรียง จินตนา เอี่ยมคง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
ประธานสภาผู้แทนราษฎร คือ บุคคลซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เลือกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้นำสูงสุดของสภาผู้แทนราษฎรแล้วยังเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภาด้วย[1] โดยหลักการแล้วผู้ที่ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น ผู้ที่จะมาทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยทั่วไป ว่ามีความน่าเชื่อถือ ความอาวุโสในทางการเมือง และสามารถควบคุมกำกับการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ นายปัญจะ เกสรทอง เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งเป็นผู้ที่มีนิสัยตรงไปตรงมา จึงมีความเหมาะสมต่อตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
ประวัติ
นายปัญจะ เกสรทอง เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2474 ที่ตำบลท่าพล อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ บิดาชื่อนายแป้น เกสรทอง มารดาชื่อนางแตงโม เกสรทอง สมรสกับนางกอบแก้ว เกสรทอง (เทพสาร) มีบุตร 2 คน ธิดา 3 คน[2]
การศึกษา จบระดับประถมศึกษา ที่โรงเรียนสตรีวิทยานุกูล อำเภอเมือง จบระดับมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนเพชรพิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศิลปศาสตร์ จากสถาบันราชภัฏเพชรบูรณ์ และดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ผลงานในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
นายปัญจะ เกสรทอง มีผลงานในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ดังนี้
งานด้านการเมืองการปกครอง
นายปัญจะ เกสรทอง ถือได้ว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จผู้หนึ่งของนักการเมืองไทยเนื่องจากได้รับความไว้วางใจจากประชาชนชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 11 ครั้ง นับเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุดของวงการการเมืองไทยผู้หนึ่ง ทั้งนี้ อาจเนื่องจากเป็นผู้ที่มีนิสัยตรงไปตรงมา และมีความจริงใจที่ช่วยเหลือประชาชนในเขตเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง การได้รับเลือกตั้งมาหลายสมัย ทำให้ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ และเป็นเกียรติประวัติแก่ชาวเพชรบูรณ์หลายตำแหน่ง คือ
- พ.ศ. 2531-2534 ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
- พ.ศ. 2537 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- พ.ศ. 2540 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
- พ.ศ. 2541-2542 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคชาติไทย
นอกจากนี้ ยังได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ตำแหน่งประธานกรรมการต่าง ๆ รองประธานกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร และยังดำรงตำแหน่งอื่น ๆ ในท้องถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์ และในท้องที่ส่วนกลางอีกหลายตำแหน่ง
งานด้านการศึกษา
นายปัญจะ เกสรทอง ได้ประกอบคุณความดีหลายประการ และยังแสดงออกซึ่งความรู้ความสามารถจนเป็นที่ประจักษ์ โดยทำประโยชน์ทางการด้านการศึกษาแก่ชาวเพชรบูรณ์ เช่น ในปี 2514 ได้ร่วมมือกับเขตการศึกษา 7 สมาคมพ่อค้าชาวอำเภอหล่มสัก รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสนใจการกีฬาในจังหวัดเพชรบูรณ์ ดำเนินการจัดตั้ง “วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์” จนกระทั่งปี 2529 ได้ย้ายสถานที่มาอยู่แห่งใหม่ในอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ในปี 2548 ได้เปลี่ยนเป็นสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตเพชรบูรณ์[3] และยังมีสถานศึกษาอีกหลายแห่งที่นายปัญจะ เกสรทอง เป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านการศึกษาตลอดมา
งานด้านสาธารณสุข
นายปัญจะ เกสรทอง ได้ประสานการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งงบประมาณด้านการสาธารณสุขจำนวนมากและส่งเสริมการก่อสร้างสถานพยาบาลของรัฐตามอำเภอต่าง ๆ หลายแห่ง
งานด้านการเกษตรและการประกอบอาชีพของประชาชน
เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นเกษตรกร นายปัญจะ เกสรทอง จึงส่งเสริมการเกษตรให้แก่ประชาชน โดยได้ประสานความร่วมมือกับส่วนราชการต่าง ๆ ด้านการเกษตรและแหล่งน้ำในชนบทหลายโครงการ
งานด้านการพัฒนาเส้นทางคมนาคม
นายปัญจะ เกสรทอง ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมของจังหวัดให้เจริญยิ่งขึ้น จึงนับได้ว่าเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ต่อชาวเพชรบูรณ์ตามหน้าที่ของคนเพชรบูรณ์ และสมาชิกสภาผู้แทนของจังหวัดเพชรบูรณ์ตลอดมา
บทบาทในฐานะดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
ตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2531 วันที่ 29 เมษายน 2531 และให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 ภายหลังการเลือกตั้ง พรรคชาติไทย ได้เป็นแกนนำพรรคการเมืองอื่นเพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล
ในคราวประชุมครั้งที่ 1 สมัยสามัญ วันพุธที่ 3 สิงหาคม 2531 นายประเสริฐ ดวงวิชัย เลขาธิการรัฐสภาในขณะนั้น ได้ดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2528 ข้อ 18 ซึ่งตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 142 กำหนดว่า “เมื่อไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานของที่ประชุม ให้สมาชิกผู้มีอายุสูงสุดซึ่งมาประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกตั้งประธานและรองประธานสภา” ปรากฏว่านายทองหยด จิตตวีระ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระนอง เป็นผู้มีอายุสูงสุดได้เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม และหลังจากเปิดประชุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งกล่าวคำปฏิญาณตนต่อที่ประชุม ก่อนเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 กำหนดว่า “ก่อนเข้ารับหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก” หลังจากนั้นจึงได้ดำเนินการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2521 มาตรา 108 บัญญัติให้มีประธานสภา 1 คน และข้อบังคับข้อ 5 กำหนดว่า “การเลือกประธานสภา สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อได้หนึ่งชื่อ การเสนอนั้นต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคน” และนายนิยม คำแหง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เสนอชื่อนายปัญจะ เกสรทอง พรรคชาติไทย และนายจรูญ กุวานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เสนอชื่อนายสุธี ภูวพันธ์ พรรครวมไทย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังจากเลขาธิการรัฐสภาขานชื่อสมาชิกตามลำดับอักษรเสร็จสิ้นแล้ว คณะกรรมการตรวจนับคะแนนจำนวน 5 คนได้นับคะแนนแล้วเสร็จ ทั้งสิ้น 357 คน ปรากฏว่านายปัญจะ เกสรทอง ได้ 230 คะแนน นายสุธี ภูวพันธ์ ได้ 122 คะแนน จึงถือว่านายปัญจะ เกสรทอง ได้รับการเลือกตั้งตามมติของสภาให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 16[4] และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในวันที่ 3 สิงหาคม 2531
หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว นายปัญจะ เกสรทอง ได้กล่าวความในใจต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า “กระผมและรองประธาน ทั้งสองรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้เนื่องจากได้รับความไว้วางใจจากบรรดาเพื่อนสมาชิกผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน กระผมและท่านรองประธานทั้งสองขอกราบขอบพระคุณท่านไว้ ณ โอกาสนี้เป็นอย่างยิ่งที่ท่านทั้งหลายได้มอบความไว้วางใจให้แก่กระผมและท่านรองประธานทั้งสอง กระผมและรองประธานทั้งสองขอตั้งปณิธานและคำมั่นสัจวาจาว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม ซื่อสัตย์สุจริต ผดุงรักษาไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด คือความผาสุกของมวลชนและประชาราษฎร ความมั่นคงของประเทศและราชบัลลังก์ กระผมและท่านรองประธานทั้งสองขอกราบขอบพระคุณไว้ ณ โอกาสนี้เป็นอย่างสูง”[5] และในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแต่ละครั้ง นายปัญจะ เกสรทอง ได้ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างเต็มความสามารถในการควบคุมการประชุม เช่น มีบทบาทที่สำคัญในการควบคุมการประชุมในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลใน (นายสันติ ชัยวิรัตนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย) ครั้งที่ 17/2531 สมัยสามัญ เป็นพิเศษ วันพุธที่ 19 ตุลาคม 2531 ซึ่งการอภิปรายในครั้งนี้ นายณรงค์ วงศ์วรรณ กับคณะ ได้ยื่นญัตติด้วยเหตุผลว่า นายสันติ ชัยวิรัตนะ ได้ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ คือกรมโยธาธิการนำทรัพย์สินของทางราชการ เช่น เครื่องมือขุดเจาะบ่อบาดาลและวัสดุทั้งหลายที่ใช้เพื่อการนั้นไปดำเนินการแสวงหาประโยชน์เพื่อตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต ด้วยการใช้งบประมาณและทรัพย์สินของราชการ ความประพฤติเช่นนี้ จึงกล่าวได้ว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต และสมาชิกได้อภิปรายสลับไปกับการประท้วง แต่นายปัญจะ เกสรทอง ได้ทำหน้าอย่างแข็งขัน ควบคุมการประชุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย[6] และที่สุดในการประชุมครั้งที่ 18/2531 ได้ลงมติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ด้วยคะแนนเสียงไว้วางใจ 206 คะแนน ไม่ไว้วางใจ 142 คะแนน ถือว่าที่ประชุมมีมติไว้วางใจนายสันติ ชัยวิรัตนะ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อไป[7] จากนั้นในปี 2532 และ ปี 2533 ได้มีสมาชิกยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในครั้งที่ 18-20/2532 และญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ ในครั้งที่ 19–22/2533 อีก นับได้ว่านายปัญจะ เกสรทอง ได้ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างสมบูรณ์แบบ และได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ 3 สิงหาคม 2531 – สิ้นสุดลงในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534[8]เหตุเพราะการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ภายใต้การนำของพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 และได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 เป็นผลให้วุฒิสภา และสภาผู้แทนสิ้นสุดลงตามประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 3 ในระหว่างนั้นได้แต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี
นายปัญจะ เกสรทอง ถือได้ว่าเป็นนักการเมืองต้นแบบให้กับนักการเมืองรุ่นต่อมา เพราะเป็นผู้ที่วางตน ประพฤติตนอย่างเหมาะสมกับตำแหน่งทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง ที่สังกัด นักการเมือง ไม่ว่าจะระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ ถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญอย่างยิ่ง หากนักการเมืองรุ่นหลังยึดถือนักการเมืองต้นแบบที่ดีแล้ว จึงต้องทำงานด้วยอุดมการณ์ ความมุ่งมั่น ความจริงใจ ที่อยากจะช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง
อ้างอิง
- ↑ คณิน บุญสุวรรณ. ปทานานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548. หน้า 564.
- ↑ “บุคคลสำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์”, [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://province.mculture.go.th/province/phetchabun/default.html. เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2552
- ↑ “ประวัติย่อนายปัญจะ เกสรทอง”, [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.ipepb.bravehost.com เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552.
- ↑ รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ครั้งที่ 1 สมัยสามัญ วันพุธที่ 3 สิงหาคม 2531. หน้า 1-50.
- ↑ รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ครั้งที่ 2 สมัยสามัญ วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม 2531. หน้า 1-50.
- ↑ รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ครั้งที่ 17 สมัยสามัญ วันพุธที่ 19 ตุลาคม 2531. หน้า 11-126.
- ↑ รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ครั้งที่ 18 สมัยสามัญ วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2531. หน้า 376-377.
- ↑ พีระพงษ์ สิทธิอมร. ประวัติศาสตร์การเมือง. กรุงเทพฯ : ซี แอนด์ เอ็น, 2549. หน้า 259-262.
บรรณานุกรม
คณิน บุญสุวรรณ. ปทานานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548.
“บุคคลสำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์”, [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://province.mculture.go.th/province/phetchabun/default.html. เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2552
“ประวัติย่อนายปัญจะ เกสรทอง”, [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.ipepb.bravehost.com เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552.
พีระพงษ์ สิทธิอมร. ประวัติศาสตร์การเมือง. กรุงเทพฯ : ซี แอนด์ เอ็น, 2549.
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ครั้งที่ 1 สมัยสามัญ วันพุธที่ 3 สิงหาคม 2531.
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ครั้งที่ 2 สมัยสามัญ วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม 2531.
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ครั้งที่ 17 สมัยสามัญ วันพุธที่ 19 ตุลาคม 2531.
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ครั้งที่ 18 สมัยสามัญ วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2531.
ดูเพิ่มเติม
- ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล . รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ครั้งที่ 17-18/2531. สมัยสามัญ.
- ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล . รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ครั้งที่ 18-20/2532. สมัยสามัญ.
- ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ครั้งที่ 19-22/2533. สมัยสามัญ.