แชน ปัจจุสานนท์
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
แชน ปัจจุสานนท์ : เมื่อทหารเรือถอย
กองกำลังทหารเรือไทยเป็นกำลังหลักที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสำคัญ มาตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี 2475 และต่อมาในการยึดอำนาจซ้ำของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ปี 2476 และมีบทบาทสำคัญตลอดมาจนสิ้นเดือนมิถุนายน ปี 2494 จะว่าไปแล้วบทบาททหารเรือในช่วงเวลา 19 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นมีสิ่งที่น่าสนใจมาก และยังมีเรื่องที่น่ารู้แต่ยังไม่ได้รู้อีกมาก ในช่วงสุดท้ายที่บทบาททหารเรือลดลงไปมากนั้นคือหลังเกิด “ กบฏแมนแฮตตัน ” และผู้ที่บันทึกเหตุการณ์กบฏแมนแฮตตันในฐานะผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่ให้รายละเอียดที่หาอ่านยากคนหนึ่งก็คือ นายพลทหารเรือท่านหนึ่งที่ท่านระบุว่าท่านไม่ได้ร่วมก่อการหรือร่วมคิดกับการกบฏครั้งนั้น แต่ต้องตกไปอยู่ในเหตุการณ์ด้วย ได้เห็นตั้งแต่ต้นตอน น.ต.มนัส จารุภา นำกำลังทหารเข้าจู่โจมจับจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ลงเรือไปต่อหน้าต่อตาและอยู่ในเหตุการณ์ “ หน้าสิ่วหน้าขวาน ” จนกระทั่งส่งตัวจอมพล ป. คืนให้รัฐบาล แล้วท่านก็ถูกจับกุมตัวร่วมกับนายทหารเรืออีกหลายคนในคดีกบฏ ท่านผู้นี้คือ พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์
แชน ปัจจุสานนท์ เป็นคนเมืองจันท์ เกิดที่บ้านตลาดเหนือ ในอำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี มีบิดาเป็นกำนันชื่อ ปัด และมีมารดาชื่อ เชย ดังนั้นในเบื้องต้นจึงเรียนหนังสือที่วัดใกล้บ้าน และเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนดังของจังหวัด ได้แก่โรงเรียนเบญจมราชูทิศเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมต้นจนจบชั้นมัธยม ปีที่ 6 จึงได้เดินทางด้วยเรือเข้ามาพระนครมาเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในสมัยที่ครูใหญ่ยังเป็นฝรั่งชื่อนายซัดตัน ในปี 2462 ท่านต้องมาเรียนซ้ำชั้นเพื่อรอผลการสอบที่ตัวเองสอบแล้ว แต่ต้องส่งเอกสารการสอบมาตรวจที่กรุงเทพฯพอรู้ผลว่าสอบได้ก็พอดีมีเพื่อนที่เรียนด้วยกันชื่อ ศรี ดาวราย (ที่ต่อมาเป็นนายทหารเรือใหญ่โต) มาชวนไปเข้าเรียนที่โรงเรียนายเรือจึงย้ายมาเข้าเรียนที่โรงเรียนนายเรือ และท่านก็เลือกเรียนได้เหมาะสมดีเพราะปีที่เรียนจบท่านสอบได้คะแนนดีเป็นพิเศษนอกจากออกมาทำงานทหารเรือได้เงินเดือนแล้วยังได้เงินเดือนมากกว่าเพื่อนคนอื่นๆ อีกหลายคนหนึ่งขั้น ทำงานจนได้เป็นนายทหารสัญญาบัตรการรับราชการทหารเรือก็ได้รับความเจริญก้าวหน้า ถึงปี 2470 ท่านได้รับการเลื่อนยศเป็นนายเรือโท และอีก 3 ปี ต่อมาคือในปี 2473 ก็ได้เป็นนายเรือเอก แต่ในปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ.2475 ครั้งที่นายนาวาตรี หลวงสินธุ์สงครามชัย เป็นหัวหน้าสายนำทหารเรือเข้าร่วมยึดอำนาจนั้นไม่ปรากฏชื่อนายเรือเอกแชนเข้าร่วมด้วย แม้ต่อมาเมื่อมีความพยายามในการล้มรัฐบาลที่เรียกว่ากบฏบวรเดชนั้นท่านก็น่าจะอยู่กับฝ่ายรัฐบาล ครั้นถึงปี 2477 นายเรือเอก แชน ก็เป็นนายทหารเรือผู้หนึ่งที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้ถ้าดูผลการศึกษาในระดับต่างๆ ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าท่านเป็นคน “ เรียนเก่ง ” คนหนึ่ง จึงไม่น่าแปลกใจ การไปศึกษาที่ต่างประเทศของท่านครั้งนี้นานถึง 4 ปี เพราะจบจากฝรั่งเศสแล้วยังไปศึกษาดูงานที่ประเทศอังกฤษอีกด้วย กว่าจะเดินทางกลับไทยก็เข้าเดือนมกราคม ปี 2481 (ตอนนั้นปีไทยยังเริ่มต้นที่ วันที่1 เมษายน) ท่านออกไปเรียนสมัย พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี และกลับมาเมื่อหลวงพิบูลสงครามเพิ่งเริ่มเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนที่กองทัพเรือ ผู้บัญชาการคือ หลวงสินธุ์สงครามชัย กลับมาคราวนี้ท่านได้ยศเป็นนายนาวาตรี และได้แต่งงานกับภรรยาคือนางสาว ไพโรจน์ อมาตยกุล
การรับราชการในสมัยหลวงพิบูลฯเป็นนายกฯและมีหลวงสินธุ์สงครามชัย เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ของนาวาตรี แชน ก็ยังเจริญมาด้วยดี ได้เลื่อนยศเป็นนายนาวาโท ในปี 2483 และอีกปีถัดมาก็ได้เป็นนายนาวาเอก ในสมัยนายกฯชื่อหลวงพิบูลสงครามนี่เอง ไทยได้ทำสงครามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ที่เรียกกันว่า “ สงครามอินโดจีน ” ในการสู้รบทางบกนั้นกองทัพไทยได้รุกเข้าไปในดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศส ส่วนทางเรือนั้นทางฝรั่งเศสเจ้าของอาณานิคมได้ส่งกองเรือรบของตนที่ประจำอยู่ที่ฐานทัพเรือในอินโดจีน เข้ามาโจมตีเรือรบไทยจนเกิดการสู้รบกันที่เมืองตราดจนเกิด “ ยุทธนาวีที่เกาะช้าง ” เรือรบไทยได้ต่อสู้กับเรือรบฝรั่งเศสอย่างอาจหาญจนเรือรบฝรั่งเศสได้ถอยกลับ พ้นน่านน้ำไทย กระนั้นเรือรบไทยที่ต่อสู้อย่างสามารถก็ถูกยิงโดยเฉพาะเรือรบหลวงธนบุรีถูกยิงเสียหายมากมีนายทหารเสียชีวิตซึ่งรวมทั้งผู้บังคับการเรือรบหลวงธนบุรี นาวาเอก แชน เองก็เคยประจำการอยู่ที่เรือนี้ แต่ก่อนมีเหตุการณ์ได้ย้ายไปปฏิบัติงานที่อื่น หลังจากนั้นในปี 2487 ตอนนั้นไทยยังอยู่ในภาวะสงครามกับทั้งอังกฤษและอเมริกา และทหารญี่ปุ่นก็เต็มเมืองในวันที่ 1 กรกฎาคม ท่านก็ได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเรือตรี เวลาผ่านมาได้ไม่ถึงเดือนรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม แพ้เสียงในสภาฯซ้ำกันสองครั้งนายกฯจึงลาออกจากตำแหน่ง
จากปี 2487 เมื่อหลวงพิบูลฯพ้นจากตำแหน่งนายกฯแล้วได้มีนายกฯต่อมาอีกหลายคน เพราะจากภาวะสงครามในสมัยหลวงพิบูลฯ มาสู่สมัยหลังสงครามที่การเมืองไทยซึ่งเคยถูกควบคุมโดยนายทหารอย่างหลวงพิบูลฯนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากแรงบีบทางการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ชนะสงคราม และการเมืองภายในประเทศเองที่ต้องเป็นการเมืองเปิดให้ประชาชนได้ใช้สิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนที่จะมีการเลือกตั้งก็มีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีกันมาถึง 3 คนในเวลาอันสั้น คือ นายกฯควง อภัยวงศ์ นายกฯทวี บุณยเกตุ และ นายกฯม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ครั้นเลือกตั้งในวันที่ 6 มกราคม ปี 2489 เสร็จลงก็มีนายกฯตามมาอีก 3 คน คือ นายกฯควง อภัยวงศ์ นายกฯปรีดี พนมยงค์ และนายกฯพลเรือตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่อยู่ต่อมาได้ถึงแค่ปลายปี 2490 เท่านั้นเอง
เมื่อเกิดการรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 โดยคณะทหารบกที่เรียกว่า “ คณะรัฐประหาร ” เข้ายึดอำนาจเลิกล้มรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 และล้มรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นนายทหารเรือ ชื่อพลเรือนตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอยุธยา ที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2489 ด้วยนั้น ทางกองทัพเรือที่เคยมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาก่อนหน้านั้นหลายครั้งได้ “ วางตัวเฉย ” ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการยึดอำนาจเพียงแต่มีนายทหารคนสำคัญของกองทัพเรือได้ให้ความคุ้มครองแก่ผู้นำสำคัญทางการเมืองที่ทางคณะรัฐประหารต้องการตัวให้รอดพ้นจากมือของคณะรัฐประหาร และสามารถเดินทางหลบภัยออกไปนอกประเทศได้ ครั้งนั้นทหารเรือจึงเสมือนกันตัวอยู่ในเขตของตน
จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2492 ทหารเรือจึงถูกดึงเข้ามาอยู่ในเหตุการณ์ที่ฝ่ายก่อการเรียกว่า “ ขบวนการประชาธิปไตย '26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ”ที่คณะผู้ก่อการที่นำโดยนาย ปรีดี พนมยงค์ และนายทหารเรือจำนวนหนึ่งร่วมด้วยพร้อมกับนักศึกษาบางคนได้จู่โจมเข้ายึดสถานที่สำคัญของรัฐบาลร่วมทั้งกระทรวงการคลังที่ตั้งอยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง ประกาศล้มรัฐบาลที่สืบอำนาจมาจากคณะรัฐประหารที่มีจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี การยึดอำนาจครั้งนั้นทำให้มีการสู้รบระหว่างฝ่ายผู้ยึดอำนาจและฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายรัฐบาลนั้นกำลังหลักคือทหารบกและตำรวจส่วนฝ่ายผู้ก่อการฯนั้นมีกำลังทหารเรือบางส่วนเป็นหลัก ตอนแรกฝ่ายก่อการฯทำท่าจะยึดอำนาจสำเร็จถึงขนาดสามารถออกอากาศประกาศปลดนายกรัฐมนตรีและตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยได้ แต่สุดท้ายรัฐบาลเป็นฝ่ายชนะคณะผู้ก่อการฯได้ถอยออกจากกระทรวงการคลังในพระบรมมหาราชวังซึ่งทางกำลังทหารบกของรัฐบาลได้ยิงบุกเข้าไป และฝ่ายผู้ก่อการฯต้องถอยข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังเขตของทหารเรือที่ฝั่งธนบุรี เหตุการณ์ครั้งนั้นต่อมาจึงเรียกกันว่า “ กบฏวังหลวง ” ในเหตุการณ์นี้ทางรัฐบาลได้เล่นงานนายทหารเรือบางนายเป็นการเฉพาะตัว แต่ผู้นำทหารเรือก็ยังสามารถรักษาสถานะเดิมเอาไว้ได้ แต่ก็น่าจะถูกผู้นำทางการเมืองที่เป็นทหารของฝ่ายรัฐบาลเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดด้วยความระมัดระวังโดยไม่วางใจนัก แต่ที่จริงแล้วการเมืองในตอนนั้นรัฐบาลของหลวงพิบูลสงครามต้องเล่นการเมืองในรัฐสภาให้ลุล่วงไปมากกว่าเพราะในสภาผู้แทนราษฎรเอง การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2491 นั้น พรรคการเมืองที่มีผู้แทนราษฎรมากคือพรรคประชาธิปัตย์ ที่นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคเคยร่วมมือกับคณะรัฐประหารรับเป็นนายกฯตั้งรัฐบาลจัดการเลือกตั้งหลังการรัฐประหารมาแล้วนั้น ต่อมาถูกคณะรัฐประหาร “ จี้ ” ให้ออกจากตำแหน่ง ก็มาเป็นผู้นำฝ่ายค้านที่มีความสำคัญ ดังนั้นการที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทั้งตามรัฐธรรมนูญ และนอกรัฐธรรมนูญมีอยู่ดังนี้ จึงน่าจะเป็นเหตุผลที่รัฐบาลยังไม่อยากดำเนินการถึงขั้นแตกหักกับฝ่ายทหารเรือ
อีกสองปีต่อมาหลังจากมีรัฐธรรมนูญใหม่ ในปี 2492 แล้ว ครั้นถึงวันที่ 29 มิถุนายน ปี 2494 เวลาประมาณบ่ายสามโมงกว่า ในพิธีรับมอบเรือขุดแมนแฮตตันของรัฐบาลอเมริกัน โดยนายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลสงคราม ก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดหมายไว้เมื่อนายทหารเรือ นาวาตรี มนัส จารุภา จี้จับตัวนายกฯหลวงพิบูลฯต่อหน้าธารกำนัลอันมีท่านทูตหลายประเทศลงเรือเร็วไปควบคุมตัวไว้ที่เรือรบหลวงศรีอยุธยาเพื่อบีบให้รัฐบาลลาออก ดังนั้นในเหตุการณ์นี้จึงเข้ามามีบทบาทอย่างมากและมีผลกระทบที่ตามมามากด้วย บทบาทของทหารเรือครั้งนั้นดูไม่กระจ่างนัก
ท่าทีของผู้บัญชาการทหารเรือหลวงสินธ์สงครามชัยที่นี่อยู่ในพิธีรับมอบเรือขุดแมนแฮตตัน ในขณะที่ น.ต.มนัส จารุภา ยกทหารเข้าจี้จับตัวจอมพล ป. นั้นดูท่านจะไม่รู้เรื่องอะไรด้วยเลย และเมื่อเขานำตัวนายกฯไปแล้วผู้บัญชาการทหารเรือจึงได้เดินทางข้ามฟากกลับไปกองบัญชาการทหารเรือ โดยไม่แสดงทีท่าอะไรให้ปรากฏ และเมื่อทางรัฐบาลประกาศเรียกตัวท่านไปพบที่ทำเนียบรัฐบาลท่านก็ได้ให้พลเรือตรี แชน ปัจจัสานนท์ ไปแทน ไปแจ้งรัฐบาลว่า “ ขออย่าเข้าใจผิด ” นี่เป็นเรื่องที่ว่าเกิดตอนสามสิบนาทีหลังสองยามคืนวันที่ 29 มิถุนายน ปี 2494 ตอนนั้นเป็นชั่วโมงของความตึงเครียด
แต่ทางรัฐบาลเมื่อตั้งตัวได้ก็ระดมสรรพกำลังมุ่งปราบปรามอย่างรุนแรง เพราะมีความไม่พอใจมาก
“ ระหว่างเดินทาง พลโท สฤษดิ์ พูดเป็นทำนองว่า เขาโกรธมากในการที่ทหารเรือจับเอาจอมพลไป...ถ้าไม่จัดการส่งตัวจอมพลคืนมาในคืนนี้เป็นต้องโจมตีทหารเรือกันแน่ๆ พูดเป็นว่าทหารเรือจับจอมพลไปคราวนี้ดูถูกกัน ” นี่คือคำบันทึกของพลเรือนตรี แชน ปัจจุสานนท์
จากนั้นรัฐบาลก็กำหนดเส้นตายเวลาตีห้าของวันที่ 30 มิถุนายน นั้น เมื่อถึงเวลาก็ยิงถล่มกันเลย
“ ประมาณ 0.5.00 ก็มีการยิงกันใหญ่ที่สพานพุทธ ” ท่านบันทึกไว้ รวมทั้งระบุว่า
“ รล.ศรีอยุธยาได้ใช้ปืนขนาด 75 มม.ยิงไปทางพระนครเป็นมุมราบ ”
การปะทะกันครั้งนั้นจบลงที่จอมพล ป. เดินทางกลับโดยปลอดภัยและเป็นนายกรัฐมนตรีต่อมา มีผู้บาดเจ็บล้มตายจากการกบฏแมนแฮตตันหลายคน นายทหารเรือหลายคนตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารเรือ และพลเรือตรี แชน ที่ท่านยืนยันว่าท่านไม่ได้ร่วมและรู้ด้วย ต้องถูกจับคุมตัวดำเนินคดีและที่เห็นได้ต่อมาคือกองทัพเรือมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองน้อยลง
สำหรับพลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ นั้นในคดีกบฏแมนแฮตตันศาลสั่งยกฟ้องตั้งแต่กลางปี 2500 ท่านเองได้มีชีวิตอยู่ดูการเมืองไทยต่อมาอีกหลายปี จนถึงแก่กรรมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ปี 2525