พระประศาสน์พิทยายุทธ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 21:11, 6 พฤษภาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (Apirom ย้ายหน้า พระประศาสน์พิทยายุทธ (ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร) ไปยัง [[พระประศาสน์พิ...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พระประศาสน์พิทยายุทธ : ผู้ก่อการฯคนสำคัญ


          นายทหารที่มีบทบาทสำคัญมากในวันยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง. พ.ศ.2475 และท้ายที่สุดท่านก็เป็นนักการทูตสำคัญของไทยที่สามารถรื้อฟื้นความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย ที่มีคนทราบน้อยมาก ท่านผู้นี้คือ พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ นายทหารหัว “เสนาธิการ” ร่างเล็กใจใหญ่ ที่ร่วมเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งปฏิบัติการอย่างกล้าหาญในวันยึดอำนาจ ดังจะยกเรื่องราวของท่านมาให้อ่าน

        พระประศาสน์ฯเป็นคนกรุงเทพฯตั้งแต่เกิด โดยเกิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2437 บ้านซึ่งเป็นสถานที่เกิดนั้นตามประวัติระบุว่า “บริเวณวัดรังสีสุทธาวาส” ปัจจุบันคือโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ในเขตพระนครนั่นเอง ท่านเป็นบุตรของข้าราชการชั้นผู้น้อย ชื่อขุนสุภาไชย (เอื้อน ชูถิ่น ) กับนางวงษ์ ชื่อเดิมของพระประศาสน์ฯคือ วัน นามสกุล ชูถิ่น การศึกษาเบื้องต้นจึงน่าจะเรียนที่โรงเรียนที่ใกล้เคียงกับบ้านพักบริเวณบางลำพู ครั้นอายุได้. 14 ปี จึงได้เข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบก สมัยนั้นโรงเรียนนายร้อยได้รับเด็กเข้าเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย ในปี 2554 สำเร็จการศึกษาออกมาเป็นนักเรียนทำการนายร้อย

        ในปีเดียวกันนั่นเองท่านสอบชิงทุนได้ กระทรวงกลาโหมส่งไปเรียนวิชาทหารที่ประเทศเยอรมนี ได้ไปเรียนภาษาและพักอยู่บ้านเดียวกับนักเรียนทหารไทยอีกสองคน คือ พจน์ พหลโยธิน (พระยาพหลฯ) กับ เทพ พันธุมเสน (พระยาทรงฯ) เรียนอยู่ที่เยอรมนีจนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทางเยอรมนีไม่ยอมให้คนต่างชาติเรียนวิชาทหาร ท่านจึงต้องย้ายมาเรียนวิชาทหารที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่วิทยาลัยโปลิเทคนิคุม (Politeknikum) เมืองซูริค เมืองนี้ใช้ภาษาเยอรมัน เมื่อไทยประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี ท่านก็ได้สมัครเป็นทหารอาสา จนสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง จึงได้เดินทางกลับไทยในปี. 2462 มารับราชการที่โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม โดยสายงานของท่านนั้นเป็น "ครูทหาร" เปลี่ยนตำแหน่งไปมาอยู่จนถึงปี. 2474 ได้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้ยศเป็นนายพันโท ดังจะเห็นได้ว่าบรรดาศักดิ์ของท่านนั้นมีความหมายว่าเป็นผู้ให้ความรู้ทางทหารนั่นเอง ชีวิตครอบครัวนั้นท่านได้สมรสกับนางสาวเนาว์ รณกิจ
       ชีวิตทหารของพระประศาสน์ฯมาดังและมีชื่อเสียงว่าเป็นทั้งทหารกล้านักปฏิบัติการยุทธวิธีที่สำคัญในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ท่านเป็นนายทหารที่ทำให้แผนและยุทธวิธีในการยึดอำนาจของพระยาทรงสุรเดช นายทหารรุ่นพี่ที่พระประศาสน์ฯรักและนับถือได้ลุล่วงสำเร็จเป็นอย่างดี ตั้งแต่เริ่มนำคณะผู้ก่อการฯสายทหารไปขนอาวุธยุทโธปกรณ์จากกรมทหารม้ารักษาพระองค์ได้สำเร็จ นำขึ้นรถขนมาที่ลานพระบรมรูปทรงม้าซึ่งเป็นที่นัดหมายให้ทหารกลุ่มอื่นๆมาในตอนเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2475 นอกจากนี้ พระประศาสน์ฯยังเป็นผู้นำกำลังไปคุมตัวผู้รักษาพระนคร คือสมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิตจากวังบางขุนพรหมมาไว้ที่ศูนย์บัญชาการของผู้ก่อการฯที่พระที่นั่งอนันตสมาคมได้โดยไม่มีใครบาดเจ็บ ขอนำคำบอกเล่าบางตอนของพระประศาสน์ฯที่อยู่ในหนังสือเปิดบันทึกชีวิตพระประศาสน์พิทยายุทธที่พันเอก (พิเศษ) สมพงศ์ พิศาลสารกิจ รวบรวมและเรียบเรียง มาให้อ่านบ้างดังนี้

        “พอประตูกรมทหารม้าเปิดอ้าออกแล้ว เราทั้งสามคนก็พรวดเข้าไปทั้งหมด เราเข้าไปสั่งทหารรักษาการณ์ว่า ‘เฮ้ย รู้ไหม เวลานี้เกิดกบฏกลางเมืองขึ้นแล้วนะ เอารถเกราะ รถรบ ทหารม้าทั้งหมดออกช่วยเดี๋ยวนี้’ “พระประศาสน์ฯได้สรุปปฏิบัติการตอนนั้นไว้ว่า “ภายในครึ่งชั่วโมง ขบวนรถยนต์หุ้มเกราะ รถเกราะ รถบรรทุกและรถนั่งอันยาวเหยียด พร้อมด้วยทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์บรรจุกระสุนพร้อมเพรียง ก็แล่นออกจากกรมทหารม้ารักษาพระองค์ตามกันเป็นทิวแถวไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นส่วนใหญ่ มีเจ้าคุณทรงฯเป็นผู้อำนวยการ” ส่วนตอนที่ไปคุมตัวสมเด็จกรมพระนครสวรรค์นั้นพระประศาสน์ฯเล่าไว้หลายตอน ขอยกมาให้อ่านดังนี้

“เอ๊ะ” ทรงมีรับสั่ง “อีตาวันก็เป็นกบฏกับเขาด้วยหรือ”

“มิได้ ฝ่าบาท” ข้าพเจ้ากราบทูลตอบ 

“เราต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราไม่มีเจตนาสักนิดเดียวที่จะทำลายกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และมิเป็นการสมควรที่จะกราบทูลเรื่องอันเป็นความลับต่อฝ่าพระบาทด้วยเสียงดังต่อหน้าธารกำนัล ฉะนั้นเกล้ากระหม่อมขอเชิญไปเจรจาการเมืองเรื่องสำคัญอันลับอย่างยิ่งนี้ที่หน้าสนามหญ้าพระตำหนักพ่ะย่ะค่ะ”

ท้ายที่สุดสมเด็จกรมพระนครสวรรค์ก็ยอมให้พระประศาสน์ฯนำตัวไป “เอ้า กูจะไปกับมึง” ทรงดำรัสในที่สุด

        การยึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2475 สำเร็จลงได้ แต่การสถาปนาการปกครองใหม่ที่เรียกกันต่อมาว่าประชาธิปไตยนั้นก็มีปัญหาและอุปสรรค พระประศาสน์ฯเองได้เข้ามาสู่การเมืองแบบนี้ด้วย

        ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 เป็นกติกาการปกครองประเทศ หลังจากนั้นหนึ่งวันก็มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดแรกจำนวน. 70. คน พระประศาสน์ฯได้รับแต่งตั้งด้วย วันเดียวกันนี้ได้มีการตั้งพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร คือหัวหน้าอำนาจบริหาร เทียบได้กับนายกรัฐมนตรี และตั้งกรรมการราษฎรอีก 14 คน พระประศาสน์ฯ ได้รับแต่งตั้งด้วย แสดงว่าท่านเป็นผู้นำสำคัญมากในจำนวนไม่เกิน 10 คนที่มีชื่ออยู่ทั้งในอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารประเทศในวันนั้น

        ส่วนในกองทัพนั้นเชื่อกันว่าท่านเป็นเป็นผู้ที่มีอำนาจทางทหารในลำดับที่ 4 รองจากพระยาทรงสุรเดช พระยาพหลฯ และพระยาฤทธิ์อัคเนย์ เพราะหลังการยึดอำนาจแล้วท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก และเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 มีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่คณะผู้บริหารประเทศถูกเรียกว่า "คณะรัฐมนตรี" พระประศาสน์ฯก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีไม่ประจำกระทรวงต่อมาด้วยจนถึงวันที่ 1 เมษายน ปี 2476 เมื่อนายกฯ พระยามโนปกรณ์ฯออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาฯและปรับคณะรัฐมนตรี พระประศาสน์ฯอยู่ฝ่ายเดียวกับนายกฯจึงยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสืบมา แต่ความขัดแย้งในคณะผู้ก่อการฯเองทำให้ท่านลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบกในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2476 พร้อมกับพระยาทรงฯ พระยาพหลฯ และพระยาฤทธิ์ฯ อีกสองวันต่อมา พระยาพหลฯ หลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ได้นำกำลังเข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ตั้งแต่วันนั้นพระประศาสน์ฯก็หมดบทบาททางการเมืองและการทหาร

        แม้ต่อมาในสมัยรัฐบาลของพระยาพหลฯจะได้รับแต่งตั้งกลับไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท ที่ 2 ก็ตาม ยิ่งต่อมาในปี 2481 พันเอกหลวงพิบูลสงคราม ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนพระยาพหลฯ ได้มีการเล่นงานฝ่ายตรงข้าม ทำให้ทั้งพระยาทรงฯและพระยาฤทธิ์ฯถูกบีบให้ออกไปลำบากอยู่ที่ต่างประเทศ พระประศาสน์ฯเองก็เป็นเป้าหมาย เคราะห์ดีที่ทางกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีได้ดำเนินการส่งพระประศาสน์ฯออกไปเป็นอัครราชทูตไทยประจำนครเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในเดือนธันวาคม ปี 2481 เราคงไม่ลืมว่าพระประศาสน์ฯนั้นเคยเป็นนักเรียนเยอรมัน ยามนั้นมีสงครามแล้วในยุโรป การส่งทหารอย่างท่านไปเป็นทูตจึงมีความเหมาะสมอยู่ด้วย สมัยนั้นการเดินทางไปทางเรือของท่านและครอบครัวใช้เวลานาน บุตรสาวที่ชื่อนงลักษณ์ระบุว่า “การเดินทางของเรากินเวลาถึง 53
วัน”

        การเดินทางออกไปรับตำแหน่งทูตของพระประศาสน์ฯครั้งนั้น ท่านได้ตั้งใจทำงานให้ประเทศชาติด้วย มิใช่จะไปฆ่าเวลาเพื่อรอกลับบ้าน ขณะนั้นการเมืองระหว่างประเทศในยุโรปกำลังสับสน เยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ฟื้นตัวขึ้นมาเข้มแข็ง ฮิตเลอร์ซึ่งเป็นผู้นำใหม่ของเยอรมนี ได้นำเยอรมนีทำสัญญาไม่รุกรานกับสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ในตอนกลางปี 2482 ทางรัฐบาลไทยของหลวงพิบูลสงคราม ที่มีความไม่พอใจกับอังกฤษและฝรั่งเศส จึงคิดที่จะติดต่อทางการทูตกับประเทศคอมมิวนิสต์อย่างสหภาพโซเวียต และนี่เองที่งานสำคัญนี้ได้ตกมาถึงมืออัครราชทูตไทยประจำนครเบอร์ลินที่ดำเนินการเจรจากับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพโซเวียตที่มีนายโมโลตอฟเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จนประสบความสำเร็จ ทั้งสองฝ่ายคือนายโมโลตอฟกับพ.อ.พระประศาสน์ฯซึ่งเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยได้ลงนามสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหภาพโซเวียตกับไทยในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2484 ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดลงถึง 5 ปี

        ในชีวิตนักการทูตของพระประศาสน์ฯที่เจรจากับสหภาพโซเวียตสำเร็จนั้นเป็นสิ่งที่น่ายินดีและคงเป็นความสุขของคนทำงาน แต่ชีวิตทูตของพระประศาสน์ฯที่ประเทศเยอรมนีต้องเดือดร้อนแสนสาหัสด้วย เพราะเมื่อเยอรมนีแพ้สงคราม กองทัพสหภาพโซเวียตได้เข้ายึดครองเยอรมนี นครเบอร์ลิน ที่สถานทูตไทยตั้งอยู่ ท่านถูกทหารรัสเซียจับและส่งตัวไปขังที่สหภาพโซเวียต ต้องลำบากกว่าทางทหารรัสเซียจะยอมปล่อยตัวให้กลับประเทศไทยได้ในปีถัดมา คือเมื่อต้นปี 2489 ท่านกลับมามีตำแหน่งเป็นอัครราชทูตประจำกระทรวงอยู่พักหนึ่ง ครั้นถึงกลางเดือนพฤษภาคม ปี 2490 ในสมัยรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศตอนที่ส่งพระประศาสน์ฯออกไปเป็นทูต พระประศาสน์ฯก็ได้งานใหม่ ต้องย้ายกระทรวงมาเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงคมนาคม กลับมาอยู่เมืองไทยครั้งนี้ พระประศาสน์ฯได้ต้อนรับเพื่อนนายทหารเก่าที่เป็นผู้ก่อการฯสำคัญที่บ้าน 2 คน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนากับหลวงพิบูลสงคราม
        พระประศาสน์พิทยายุทธได้มีชีวิตอยู่ดูการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เห็นเพื่อนผู้ก่อการฯคือ หลวงโกวิทอภัยวงศ์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และหลวงพิบูลสงคราม ผลัดกันเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี จนท่านเองถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2492