หลวงสินธุสงครามชัย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 21:02, 6 พฤษภาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (Apirom ย้ายหน้า หลวงสินธุสงครามชัย (ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร) ไปยัง [[หลวงสินธุสงคราม...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง: ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


สินธุสงครามชัย : ผู้บัญชาการทหารเรือที่อยู่นานที่สุด

          เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วในบรรดาผู้บัญชาการทหารเรือที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานมากกว่าใครนั้น คือ พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย ซึ่งตอนที่ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองท่านมียศเป็นนายนาวาตรี เป็นหัวหน้าคณะผู้ก่อการสายทหารเรือและหลังจากนั้นท่านก็อยู่ในกองทัพเรือมาต่อเนื่องแม้จะมีตำแหน่งใดภายนอกท่านก็ไม่เคยออกจากทหารเรือ จนถึงกลางปี 2494 จึงต้องออกจากกองทัพเรือเพราะรัฐบาลมีคำสั่งให้พ้นตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ และนายทหารเรือประจำการ ที่จริงตำแหน่งนอกกองทัพเรือนั้นมีทั้งตำแหน่งราชการอื่นและตำแหน่งการเมือง ที่เกี่ยวกับการเมืองท่านได้ทำงานด้านนิติบัญญัติมาตั้งแต่เริ่มมีสภาผู้แทนราษฎร โดยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเคยทำงานเป็นฝ่ายบริหารทั้งการเป็นกรรมการราษฎร และรัฐมนตรีอยู่หลายกระทรวง รวมทั้งเป็นอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดังนั้นว่าถึงบทบาททางการเมืองของท่านในช่วง 20 ปีแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงมีอยู่ค่อนข้างมาก แต่เวลาจะหมดอำนาจก็หมดพลันทันทีพร้อมกับการตกเป็นผู้ต้องหา

          หลวงสินธุสงครามชัย ชื่อเดิม สินธุ์ นามสกุล กมลนาวิน เป็นคนปากน้ำนี่เอง เกิดที่ตำบล บางบ่อ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน  ปี 2444 มีบิดาชื่อ เล็ก และมารดาชื่อ จู ทางด้านการศึกษานั้นหลังจากได้เล่าเรียนในเบื้องต้นมาแล้วจึงเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จากนั้นได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายเรือเพราะอยากเป็นทหารเรือเหมือนพี่ชายที่ชื่อ ศรี กมลนาวิน และด้วยความที่เป็นน้องชายของนายทหารเรือ ประกอบกับเรียนดีจึงได้ทุนไปเรียนวิชาทหารเรือที่ประเทศเดนมาร์กในปี 2462 ขณะที่มีอายุได้ 18 ปี ท่านได้เรียนจนจบจากโรงเรียนทหารเรือที่เดนมาร์กแล้วเรียนต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารเรืออีกจนจบรวมเวลาเรียนที่ต่างประเทศนานถึง 9 ปี จึงได้เดินทางกลับประเทศไทยตอนที่เรียนจบโรงเรียนทหารเรือท่านได้ยศเป็นว่าที่นายเรือตรี และในปี 2471 ตอนที่จบจากโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือจึงได้ยศเป็นว่าที่นายเรือเอก กลับมาเมืองไทยเข้ารับราชการเป็นทหารเรือต่อมาอีก 2 ปี ก็ได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงสินธุสงครามชัย และในปีถัดมาก็ได้รับยศเป็นนายนาวาตรี สำหรับชีวิตครอบครัว ภริยาของท่านคือคุณหญิงจินตนา กมลนาวิน

          บทบาทในการปฏิวัติปี 2475 ของหลวงสินธุสงครามชัยค่อนข้างเด่นชัด ตอนนั้นท่านเป็นนายทหารเรือระดับกลาง ยศนายนาวาตรี ที่มีพี่ชายเป็นนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่คือ พระยาราชวังสัน (ศรี) แต่ท่านไม่เคยให้พี่ชายทราบเรื่องที่คิดปฏิวัติ ตัวท่านเองได้ร่วมคิดเรื่องนี้มาตั้งแต่ตอนที่เรียนอยู่ที่เดนมาร์ก ได้เดินทางไปเยือนนครปารีสและได้ถูกชวนโดยนายทวี บุญยเกตุ ความสำคัญนั้นชัดเจนเพราะท่านเป็นหัวหน้าสายทหารเรือท่านดำเนินการหาพรรคพวกอย่างระมัดระวังมาก  หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เองเล่าว่า ได้เคยถามเรื่องนี้กับหลวงสินธุฯ ท่านก็ยังไม่บอก มารู้และชวนไปทำการยึดอำนาจก่อนทำการจริงไม่ถึง 24 ชั่วโมง กำลังทหารเรือที่นำโดยหลวงสินธุฯจึงเป็นกำลังหลักที่สำคัญทีเดียวที่ไปร่วมกับกำลังทหารบกที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

          หลังการยึดอำนาจมีการตั้งสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวประกอบด้วยสมาชิกสภาฯจำนวน  70 คน ในวันที่ 28 มิถุนายน ปี 2475 เพื่อให้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ หลวงสินธุสงครามชัยก็ได้รับแต่งตั้งด้วยคนหนึ่ง และในวันเดียวกันนั้นท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “ กรรมการราษฎร ” ซึ่งก็คือสมาชิกในคณะผู้บริหารประเทศ ครั้นต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญถาวร ฉบับแรก 10 ธันวาคม ปี 2475 หลวงสินธุฯก็ได้รับตำแหน่งผู้บริหารประเทศเปลี่ยนไปตามรัฐธรรมนูญ เป็น  “ รัฐมนตรี ” ที่ไม่ประจำกระทรวงและที่กองทัพเรือท่านก็ได้เป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารเรือและผู้อำนวยการโรงเรียนนายเรือ ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม ปี 2475

          แต่ในวันที่ 20 มิถุนายน ปี 2476 ท่านมิได้ร่วมเป็นผู้นำในการยึดอำนาจซ้ำล้มรัฐบาล พระยามโนปกรณนิติธาดาที่นำโดยพระยาพหลฯ มีนายพันโทหลวงพิบูลฯกับนาวาตรีหลวงศุภชลาศัย เป็นผู้ช่วย การยึดอำนาจครั้งนั้นเพื่อล้มรัฐบาลและเปิดประชุมสภาฯที่ถูกปิดไปโดยพราะราชกฤษฎีกา และคราวนี้พระยาพหลฯได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเอง การที่หลวงสินธุฯไม่มีชื่อเข้าร่วมนั้นอาจเป็นเพราะว่าตอนนั้นพีชายของท่านคือนายพลเรือโท พระยาราชวังสัน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลพระยามโนฯ 

          ครั้นต่อมาเมื่อเกิดกรณีกบฏบวรเดชขึ้นในเดือนตุลาคม ปี 2476 ทหารเรือก็มีสองฝ่ายโดยฝ่ายผู้บัญชาการทหารเรือ นาวาเอกพระยาวิชิตชลธี ได้วางตัวเป็นกลาง นั่นคือไม่เข้าข้างรัฐบาลกับอีกฝ่ายที่ช่วยรัฐบาลสู้กับพวกกบฏ ดังนั้นหลังปราบกบฏได้แล้วรัฐบาลจึงเล่นงานผู้บัญชาการทหารเรือและผู้ที่ขึ้นมาเป็นผู้รักษาการณ์ผู้บัญชาการทหารเรือ ในวันที่ 11 มกราคม ปี 2476 คือหลวงสินธุฯ แต่ก็เป็นอยู่เพียงระยะสั้น การที่รัฐบาลเล่นงานนายทหารเรืออาวุโสที่ไม่เข้าข้างรัฐบาลในการปราบกบฏบวรเดชจึงทำให้เกิดความขัดแย้งในกองทัพเรือและผู้นำในการขัดแย้งน่าจะเป็นระหว่าง หลวงสินธุฯกับหลวงศุภชลาศัยซึ่งเป็นผู้ก่อการฯด้วยกันทั้งคู่ อย่างไรก็ตามผลที่ออกมาย่อมแสดงว่าฝ่ายหลวงสินธุฯเป็นผู้ชนะเพราะผู้ที่ต้องย้ายออกจากกองทัพเรือมามีตำแหน่งข้างนอกคือ หลวงศุภชลาศัย โดยมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษาและจากนั้นมาหลวงศุภฯก็ไม่ได้หวนกลับไปที่กองทัพเรืออีกเลย ยิ่งไปกว่านั้นพอถึงวันที่ 1 สิงหาคม ปี 2478 หลวงสินธุฯก็ได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ  หลวงสินธุสงครามชัยเป็นเจ้ากระทรวงที่ดูแลด้านการศึกษาของประเทศต่อเนื่องยาวนานถึง 7 ปี เริ่มในสมัยนายกรัฐมนตรี นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ต่อมาถึงนายกรัฐมนตรี จอมพล  ป.พิบูลสงคราม

          สมัยที่หลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรียุคแรกนั้นเชื่อได้ว่าหลวงสินธุฯได้เป็นพันธมิตรที่สำคัญของนายกฯเลยทีเดียว ท่านเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลตั้งแต่ปี 2481 จนถึงปี 2487 และไม่ใช่เป็นรัฐมนตรีตลอดกาลของรัฐบาลหลวงพิบูลเท่านั้น แต่ยังได้ขยับโยกย้ายไปอยู่กระทรวงสำคัญๆ ถึง 3 กระทรวง คือ อยู่กระทรวงธรรมการนานกว่าที่อื่นแล้วจึงย้ายมากระทรวงเศรษฐการระยะสั้นๆ เพียงเวลาไม่ถึงเดือน จากนั้นจึงไปอยู่กระทรวงเกษตราธิการอีกกว่า 2 ปี

          เมื่อนายกฯหลวงพิบูลสงครามเป็นผู้บัญชาการทหารบกคุมกองทัพบกเองแล้ว เหลือกองทัพเรือซึ่งเป็นกองทัพที่สำคัญมีกำลังพลมากและเข้มแข็งมากด้วยที่มีหลวงสินธุฯเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้ให้การสนับสนุนหลวงพิบูลฯ จึงทำให้รัฐบาลของหลวงพิบูลฯมีเสถียรภาพมาก และในสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลฯนี่เองที่หลวงสินธุฯได้รับแต่งตั้งให้เป็น “ แม่ทัพเรือ ” ถึง 2 ครั้ง เพราะไทยได้เข้าทำสงครามอยู่ 2 กรณี ครั้งที่หนึ่งหลวงสินธุฯได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพเรือในสงครามอินโดจีนสู้รบกับฝรั่งเศสในวันที่ 13 พฤศจิกายน ปี 2483 และครั้งที่สองในวันที่ 18 พฤศจิกายน ปี 2484 ให้เป็นแม่ทัพเรือในสงครามมหาเอเซียบูรพา

          ดังนั้นในช่วงต้นที่ไทยเข้าพัวพันกับสงครามโลกครั้งที่ 2 หลวงสินธุฯจึงไม่ได้มีบทบาทในขบวนการเสรีไทยเพราะท่านเป็นพี่เขยของรัฐมนตรี วนิช ปานะนนท์ ซึ่งเป็นผู้ที่สนิทสนมกับฝ่ายญี่ปุ่นมากดังจะเห็นได้ว่าในการปฏิบัติการลับของเสรีไทยนั้นเมื่อจะใช้เรือจึงต้องใช้เรือขนาดเล็กของกรมศุลกากร แต่ก็มีข้อสังเกตว่าเครืองบินน้ำที่บินเข้ามารับเสรีไทยในอ่าวไทยหรือเรือดำน้ำที่เข้ามาในอ่าวไทยก็ทำได้อย่างน่าแปลกใจ

          ครั้นหลวงพิบูลฯต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯไปตอนปลายเดือนกรกฎาคม ปี 2487 แล้ว  นายควง อภัยวงค์ นายกฯคนต่อมากลับตั้งหลวงสินธุฯขึ้นเป็นรัฐมนตรีกลาโหม จนทำให้เชื่อกันว่าแม้จะไม่ได้ร่วมมือกับเสรีไทยในตอนต้นแต่เมื่อพ้นสมัยหลวงพิบูลฯแล้วท่านก็คงร่วมมือด้วยอย่างลับๆ ครั้นถึงสมัยรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หลวงสินธุฯจึงถอยจากวงการเมืองไปอยู่เฉพาะที่กองทัพเรือ

          เมื่อมีการยุบสภาในเดือนตุลาคมปี 2488 ฟื้นชีวิตการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งจึงมีการเปิดตัวนักการเมืองเข้าสู่สนามการเมืองกันอย่างคึกคัก ผู้ก่อการฯเองก็แยกพวกแยกฝ่ายกันลงเลือกตั้ง ถึงขนาดเพื่อนผู้ก่อการฯด้วยกันยังลงแข่งขันชนกันในเขตเลือกตั้งเดียวกันอย่างกรณีนายควง อภัยวงศ์ กับนายวิลาศ โอสถานนท์ เป็นต้น และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์กับหลวงอดุลเดชจรัส ก็แยกกันไปตั้งพรรคการเมืองมาสนับสนุน นาย ปรีดี พนมยงค์ โดยท่านแรกตั้งพรรคแนวรัฐธรรมนูญส่วนท่านหลังตั้งพรรคสหชีพแต่ก็ไม่มีข่าวว่าหลวงสินธุฯเข้าพรรคการเมืองใดหรือคิดลงเลือกตั้ง

          หลังการเลือกตั้งในวันที่ 6 มกราคม ปี 2489 นาย ควง ได้กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งแต่ได้ลาออกในเดือนมีนาคมปีเดียวกันเพราะแพ้เสียงในสภาฯ และนายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี นายปรีดีเป็นหัวหน้ารัฐบาลอยู่ถึงเดือนสิงหาคมปีเดียวกันก็ได้ลาออกทั้งๆ ที่ท่านไปชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนฯจังหวัดอยุธยามายังไม่ทันครบสามสัปดาห์ สภาฯได้เลือกให้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าพรรคแนวรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นนายกฯแทน แสดงว่าปี 2489 ประเทศไทยมีนายกฯถึง 4 คนภายในเวลาเพียง 8 เดือนเท่านั้นเอง ช่วงที่การเมืองผันผวนมากเช่นนี้หลวงสินธุฯห่างจากการเมืองคงเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ เมื่อหลวงธำรงฯซึ่งเป็นทหารเรือได้เป็นนายกฯนั้นผู้ที่เป็นอธิบดีกรมตำรวจก็มาจากทหารเรือ คือหลวงสังวรยุทธกิจ

          แต่รัฐบาลของนายกฯที่เป็นทหารเรือที่เชื่อว่าทหารเรือจะเป็นกำลังที่ยับยั้งฝ่ายทหารบกในการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจล้มล้างรัฐบาลก็ไม่จริง เพราะเมื่อเกิดความพยายามยึดอำนาจจริงๆ ในคืนวันที่ 7 ต่อเช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 กองทัพเรือที่มีหลวงสินธุฯเป็นผู้บัญชาการทหารเรือก็วางตัวเฉย ไม่เข้าร่วมการยึดอำนาจ และก็ไม่ได้ออกมาโต้การรัฐประหารในทันที เพียงแต่ให้ความคุ้มกันผู้นำสำคัญของฝ่ายรัฐบาลให้เดินทางออกไปนอกประเทศได้โดยปลอดภัยจึงมีการกล่าวกันว่าทางทหารเรือเองก็ไม่พอใจนักการเมืองในสภาฯ  กองทัพเรือภายใต้การนำของหลวงสินธุฯเองหลังการรัฐประหารแล้วก็ไม่ได้มีบทบาททางการเมืองแต่อย่างใด แม้แต่สมาชิกวุฒิสภาที่ตั้งขึ้นต่อมาก็ไม่มีชื่อหลวงสินธุฯ และนายทหารเรือในกองทัพคนใดเลย

          ความพยายามในการยึดอำนาจในวันที่ 26 มิถุนายน ปี 2492 ที่เรียกกันว่ากบฏวังหลวง ซึ่งได้มีการนัดหมายกำลังทหารเรือจากสัตหีบเข้ามาร่วมสนับสนุน นายปรีดี พนมยงค์ ที่นำกำลังส่วนหนึ่งเข้ายึดกระทรวงการคลังในพระบรมมหาราชวังนั้นล้มเหลว เพราะกำลังทหารเรือเดินทางเข้ามาช้าทำให้ทางฝ่ายรัฐบาลสามารถโต้การยึดอำนาจและปราบกบฏได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นมีทหารเรือเข้าร่วมก็จริง แต่ท่าทีของหลวงสินธุฯคือการวางตัวเฉย เชื่อกันว่าหลวงพิบูลฯและฝ่ายทหารบกน่าจะไม่พอใจหลวงสินธุฯและฝ่ายทหารเรืออยู่ด้วย แต่ยังไม่กล้าดำเนินการขั้นแตกหักเพราะตอนนั้นวุฒิสภาก็มิได้เป็นพวกรัฐบาลทั้งหมด และในสภาผู้แทนราษฎรนั้น นายควงและพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยร่วมมือกับคณะรัฐประหารมาและถูกคณะรัฐประหารบีบให้ลาออกก็เป็นฝ่ายค้านรัฐบาลไปแล้ว จนมาเกิดกบฏแมนแฮตตันตอนปลายเดือนมิถุนายน ปี 2494 ที่มีทหารเรือระดับกลางนำกำลังจับตัวนายกฯและประกาศให้รัฐบาลลาออกโดยหลวงสินธุฯไม่ได้ร่วมด้วย แต่ก็ไม่ได้สั่งปราบ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลชนะจึงได้หันมาเล่นงานหลวงสินธุฯและทหารเรืออย่างเต็มที่ หลวงสินธุฯถูกปลดจากกองทัพเรือถูกดำเนินคดี ต้องถูกคุมขังอยู่ 3 ปี

          พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน ได้มีชีวิตดูการเปลี่ยนแปลงการเมืองอยู่ต่อมาจนถึงแก่อนิจกรรมในปี 2519