วิลาศ โอสถานนท์: ประธานพฤฒสภาคนแรก
ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วิลาศ โอสถานนท์: ประธานพฤฒสภาคนแรก
เมื่อเมืองไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 คือรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 นั้น ได้กำหนดให้เมืองไทยมีสภาคู่ ได้แก่ พฤฒสภา กับสภาผู้แทนราษฎร โดยพฤฒสภา ซึ่งเป็นสภาสูงมีสมาชิกที่กำหนดคุณสมบัติเรื่องอายุให้มี “วัยวุฒิ” คือเกณฑ์อายุสูงกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของประชาชน ปรากฏว่าประธานพฤฒสภาคนแรกที่สมาชิกพฤฒสภาเลือก ชื่อ พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ คราวนี้เรามารู้จักชีวิตทางการเมืองของประธานสภาสูงคนแรกที่เป็นประธานรัฐสภาด้วยในเวลาเดียวกัน
วิลาศ โอสถานนท์ เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่บ้านริมคลองโอ่งอ่าง เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2443 เป็นบุตรคนโตของพระยาประชากิจกรจักร ( ชุบ โอสถานนท์) กับคุณหญิง นิล อันชื่อว่า วิลาศ ของท่านนี้หมายถึง "ฝรั่งอังกฤษ" ท่านมีภริยาสองคน คนแรกคือคุณหญิงอมร และคนที่สองคือนางบุญเรือน การศึกษาเบื้องต้นของคุณวิลาศเริ่มที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงตั้งแต่อายุ 10 ขวบ จบแล้วจึงได้ไปเรียนต่อที่อังกฤษ โดยทุนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้เรียนทางด้านเกษตร ศึกษาจบกลับไทยได้มาทำงานที่กระทรวงเกษตราธิการ ท่านจึงได้รู้จักเพื่อนที่อังกฤษซึ่งเรียนมาทางเดียวกัน ได้แก่นายทวี บุณยเกตุ ที่กลับมาทำงานกระทรวงเกษตราธิการด้วยกัน และนายทวีนี่เองที่เป็นผู้ชักชวนให้นายวิลาศเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 วันปฏิบัติการครั้งนั้น นายวิลาศได้ออกไปทำงานกับกลุ่มนายควง อภัยวงศ์ ในการตัดดสายโทรศัพท์ที่ศูนย์วัดเลียบ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีอำนาจในตอนนั้นติดต่อกันได้ ดังที่นายควง เคยเล่าว่า
“ต่อมาคุณประยูรกลับมาบอกว่าต้องเอารถลื้อละ ผมจึงว่าจะเอายังไง น้ำมันจะมีหรือไม่ก็ไม่รู้ เขาบอกว่า เถอะน่าไปเถอะ และเขาเอาคุณวิลาศมาด้วย คุณวิลาศแต่งตัวเป็นร้อยตรีทหารมหาดเล็กปลอม เพราะแกไม่ได้เป็นทหาร แล้วก็พากันขึ้นขับรถผม เรานั่งรถไปบ้านคุณประจวบ......เราไปถึงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯเป็นเวลาตีสี่กว่าแล้ว เขาบอกว่าเวลาตีห้าต้องเสร็จหมด คำสั่งเขามายังงั้น”
คณะของคุณควงทำงานตัดสายโทรศัพท์ได้เรียบร้อย และการยึดอำนาจโดยกลุ่มทหารของพระยาทรงสุรเดชก็สำเร็จลงด้วยดี และตำแหน่งการเมืองที่คุณวิลาศได้เป็นในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2476 ก็คือเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ซึ่งตอนนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนี้ได้แก่ พระยาโกมารกุลมนตรี วันเดียวกันนั้นเองรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ได้ตั้ง นายปรีดี พนมยงค์ กลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลด้วย ส่วนยศพันตรีของท่านนั้นได้มาตอนต้นปี 2484 ในช่วงที่ไทยทำสงครามอินโดจีน ตอนนั้นหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี
วิลาศ โอสถานนท์ ได้ร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีลอยในรัฐบาลหลวงพิบูลฯเป็นครั้งแรก ในวันที่ 4 พฤษภาคม ปี 2484 ขณะนั้นท่านเป็นอธิบดีกรมโฆษณาการอยู่ด้วย ครั้นถึงเดือนสิงหาคมก็เปลี่ยนไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แต่พอหลังวันที่ 8 ธันวาคม ปีเดียวกัน เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกไทยและรัฐบาลไทยยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศ รัฐมนตรีวิลาศก็ต้องออกจากรัฐบาลพร้อมนายปรีดี พนมยงค์ เนื่องจากฝ่ายญี่ปุ่นไม่ชอบบุคคลทั้งสอง ในโอกาสนี้คุณวิลาศก็ได้เข้าร่วมงานเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
หลังสงครามเมื่อนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ยุบสภา จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2489 พันตรีวิลาศ ก็ประกาศตนลงเลือกตั้งในพระนคร เขตเดียวกันกับที่พันตรีควง เพื่อนผู้ก่อการฯด้วยกันนั่นเอง น่าจะเป็นความแตกแยกในกลุ่มที่ไม่อาจประสานได้จนปรากฏต่อสาธารณะ และก็เป็นการแข่งขันที่เข้มข้น มีเรื่องเล่ากันว่านายควงนั้นหาเสียงโดยกล่าวว่า "เหล็กวิลาศหรือจะสู้ตะปูควง" และผลการเลือกตั้งปรากฏว่านายควงซึ่งเป็นผู้ที่พูดหาเสียงเก่งชนะได้คะแนนเสียงมากมาย และหลังเลือกตั้งนายควงก็ได้
เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน
ครั้นต่อมารัฐบาลนายควงพ้นไปมีรัฐบาลใหม่ของนายปรีดี และรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำหนดให้มีสภาสูงที่เรียกว่าพฤฒสภา จึงทำให้มีการเลือกสมาชิกพฤฒสภาครั้งแรกขึ้น คุณวิลาศได้รับเลือกเป็นสมาชิกพฤฒสภา ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2489 และในวันที่ 4 มิถุนายน ปีเดียวกัน สมาชิกพฤฒสภาก็ได้เลือกพันตรีวิลาศ เป็นประธานคนแรกของพฤฒสภา ทำให้ท่านเป็นประธานรัฐสภาด้วยในเวลาเดียวกัน แต่ในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งประมุขฝ่ายนินิบัญญัติไทยนั้นการเมืองวิกฤติ ในวันที่ 9 มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืน ต่อมามีการเปลี่ยนรัฐบาล นายปรีดีขอลาออก และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาล พันตรีวิลาศจึงลาออกจากตำแหน่งประธานพฤฒสภามาร่วมรัฐบาล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2489
แต่รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ก็อยู่มาได้ไม่นานนัก แม้จะผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ได้ ก็ไม่อาจรอดพ้นจากการยึดอำนาจของคณะรัฐประหารที่นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพรรคพวกได้ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 หลังการรัฐประหารบทบาทของคุณวิลาศจึงหมดไปจนถึง ปี 2502 หลังจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ล้มรัฐบาลหลวงพิบูลฯและตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา คุณวิลาศก็เป็นผู้ก่อการฯคนหนึ่งที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภา
วิลาศ โอสถานนท์ มีชีวิตอยู่ดูการเปลี่ยนแปลงในไทยจนท่านจากไปในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2540