ไชย ประทีปเสน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 20:57, 6 พฤษภาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เขียน : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤตฃ


ไชย ประทีปเสน : เลขาฯคู่ใจหลวงพิบูลฯ


          สมัยที่หลวงพิบูลสงครามเรืองอำนาจขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกนั้น ท่านเป็นทั้งนายกฯคือผู้นำรัฐบาล และเป็นทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกับผู้บัญชาการทหารบกไปพร้อมกัน ท่านจึงเป็นผู้มีอำนาจมากและมีศัตรูพอสมควรด้วย ก่อนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีก็ถูกลอบยิงมาแล้ว จึงต้องคุ้มกันรักษาความปลอดภัยกันมาก ช่วงสงครามนั้นท่านนายกถึงกับต้องเอาอาหารจากบ้านมากิน เพื่อป้องกันถูกวางยาพิษ เพราะเคยถูกวางยามาแล้ว ดีว่าแก้ไขได้ทัน นายทหารคนสนิทที่รับใช้ในตอนนั้นก็มีหลายคน แต่นายทหารคนหนึ่งที่ทำหน้าที่เลขานุการนายกฯอย่างใกล้ชิด ถึงขนาดวางใจให้คุมเรื่องอาหารด้วยนั้นคือ พลตรี ไชย ประทีปเสน นายทหารบกรุ่นน้องที่เคยเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯมาด้วยกัน และร่วมช่วยงานด้านต่างๆให้หลวงพิบูลฯมานาน ดังนั้นครั้งนี้จึงน่าจะมารู้จักพลตรี ไชย ประทีปเสน กัน

          ไชย ประทีปเสน เป็นคนกรุงเทพฯ มีบ้านเกิดอยู่ที่อำเภอสัมพันธวงศ์ บิดาคือมหาอำมาตย์ตรี พระยาวิสูตรสาครดิษฐ์ (เทียน) แม่ชื่อเนื่อง เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน ปี 2449 การศึกษาเบื้องต้นนั้นได้เรียนที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ต่อมาจึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก สมัยนั้นอายุ 14 ปีก็เข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยฯได้แล้ว เรียนจบได้เข้ารับราชการเป็นนายร้อยตรี ในวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2470 ถึงปี 2474 ในวันที่ 1 เมษายน  ได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยโท จากนั้นในเดือนเมษายน ปีถัดมาได้ถูกย้ายไปทำงานที่โรงเรียนนายทหารม้าที่มีนายร้อยเอก หลวงทัศนัยนิยมศึกเป็นหัวหน้า ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ ร.ท.ไชย ได้เข้าร่วมงานเปลี่ยนแปลงการปกครองฯด้วย เพราะหลวงทัศนัยฯนั้นเป็นผู้ก่อการฯสำคัญคนหนึ่ง เพื่อนรุ่นเดียวกันที่ร่วมก่อการฯและเป็นนายทหารม้าด้วยกันอีกสองคน คือ ร.ท.น้อม เกตุนุติ และ ร.ท.ทวน วิชัยขัทคะ หลวงทัศนัยฯได้นำนายทหารม้าทั้งสามออกปฏิบัติการตอนเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2475 หลังการปฏิวัติ ร.ท.ไชย ได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยเอกในเดือนเมษายน พ.ศ.2476

          เมื่อนายกฯพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาฯจนเป็นเหตุนำไปสู่การยึดอำนาจอีกครั้งในวันที่ 20 มิถุนายน ปี 2476 ที่นำโดยพระยาพหลฯ และหลวงพิบูลฯกับหลวงศุภชลาสัย ร.อ.ไชย ก็อยู่ด้วยกับคณะผู้ยึดอำนาจ ครั้นเกิด “กบฏบวรเดช” ในเวลาอีกสี่เดือนต่อมา ร.อ ไชย ก็อยู่ฝ่ายรัฐบาลภายใต้การนำของผู้บัญชาการกองกำลังผสม คือ นายพันเอกหลวงพิบูลฯ ร.อ.ไชย ได้นำกำลังกองร้อยรถรบเข้าร่วมในการต่อสู้กับฝ่ายกบฎ ซึ่งเหตุการณ์นี้ทางรัฐบาลเป็นฝ่ายชนะ ครั้นถึงกลางปี 2477 ร.อ .ไชย ได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาเพิ่มเติมทางทหารทั้งที่โรงเรียนนายทหารม้าและโรงเรียนเสนาธิการทหารบกฝรั่งเศส สำเร็จการศึกษาจากฝรั่งเศสแล้วจึงกลับมาประจำกองบังคับการกรมเสนาธิการทหารบก พร้อมกับไปรักษาการผู้บังคับกองรถรบ ในเดือนมกราคม ปี 2481 ที่จริงก่อนหน้านี้ไม่ถึงเดือน ท่านก็ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ในวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2481 ชีวิตสมรสของท่านอาจล่าไปบ้าง ท่านได้สมรสกับนางสาวฟูเกียรติ ในวันที่ 20 กันยายน ปี 2483

          การเมืองในปี 2481 ในรัฐสภาค่อนข้างจะท้าทายรัฐบาล จนนายกฯได้ยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่ หลังการเลือกตั้งได้มีการเปลี่ยนตัวนายกฯมาเป็นนายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ประเทศไทยได้เข้าสู่ภาวะสงครามตั้งแต่ปลายปี 2483 พอต้นปี 2484 ไทยก็รบกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ที่มีผลให้ไทยได้ดินแดนที่เคยเสียไปให้ฝรั่งเศสและอังกฤษคืนมา พอถึงปลายปีเดียวกันนี้ ไทยต้องยอมให้กองทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทย ปีถัดมารัฐบาลไทยก็ประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตร ในผลงานจากสงครามอินโดจีน พ.ต.ไชย ได้เลื่อนยศเป็นพันโท ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนไทยในคณะกรรมการผู้ช่วยในการปักปันเขตแดนใหม่ไทยกับอินโดจีน และได้เป็นนายทหารประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

          ต้นปี 2485 ในเดือนมกราคม นายกฯซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศด้วยได้ย้ายท่านมาช่วยงานที่กระทรวงการต่างประเทศด้วย และแต่งตั้งให้เป็นรองปลัดกระทรวง ถึงตอนปลายปีนั้นก็ตั้งให้เป็นอัครราชทูตประจำกระทรวง ตำแหน่งสำคัญในกระทรวงนี้ที่ท่านได้เป็นในเวลาต่อมาในวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 2486 คือ รัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการต่างประเทศ ตอนนั้นมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นรัฐมนตรีว่าการ และในปีนี้เองเมื่อนายทวี บุณยเกตุ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีขัดแย้งกับนายกฯ จนต้องลาออก นายกฯหลวงพิบูลฯก็เลือกเอาพลตรี ไชย ประทีปเสน เข้ามาเป็นแทน ดังนั้นในเวลานั้นท่านจึงเป็นบุคคลที่นายกฯหลวงพิบูลไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่ง การติดต่อกับนายกฯในเรื่องงานต้องผ่านท่าน แต่การเมืองมีความไม่แน่นอน นายกฯหลวงพิบูลฯซึ่งมีความเป็นผู้นำสูงก็พ่ายได้ เมื่อแพ้เสียงในสภาฯติดต่อกันถึงสองครั้ง ท่านจึงลาออกจากนายกฯในเดือนกรกฎาคม ปี 2487 และนายควง อภัยวงศ์ ผู้ก่อการสายพลเรือนก็ขึ้นมาเป็นนายกฯจัดตั้งรัฐบาล พลตรี ไชย จึงพ้นจากตำแหน่งเกือบทั้งหมด แต่คงเป็นสมาชิกสภาฯต่อไป ต่อมาท่านก็ลาออกจากราชการเพื่อรับบำนาญ แต่เมื่อมีพฤฒสภาในปี 2489 ผู้แทนราษฎรก็เลือกท่านให้เป็นสมาชิกพฤฒสภา แม้ท่านจะไม่ใช่พวกรัฐบาล ซึ่งแสดงว่าท่านต้องเป็นที่ชอบพอของผู้แทนฯที่มาจากการเลือกตั้งด้วย

          ออกจากราชการแล้วท่านก็หันไปใช้ความรู้ความสามารถทำมาค้าขาย แม้หลังการรัฐประหารปี 2490 ทำให้หลวงพิบูลฯกลับมาเป็นนายกฯ พลตรี ไชย ก็ไม่ได้กลับเข้ารับราชการหรือเข้าวงการเมือง จนถึงปี 2497 สมัยนายกฯพิบูลฯ ท่านจึงกลับเข้ารับราชการไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำฝรั่งเศสจนถึงปี 2503 ท่านพ้นตำแหน่งทูตมาได้เพียงปีเดียว ท่านก็ถึงแก่กรรม ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2504