ประธานสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว
ผู้เรียบเรียง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ
ความนำ
ภายหลังการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 และมีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่แล้วเสร็จนั้น ขั้นตอนสำคัญหลังได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็คือ รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา และการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม สำหรับกระบวนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ในคราวการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกนั้น กำหนดให้ผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดของสมาชิกทำหน้าที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว ซึ่งการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ครั้งแรก นายชัย ชิดชอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับ 2 พรรคภูมิใจไทย ได้ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวในครั้งแรกเริ่มนี้ เพื่อดำเนินการสำหรับการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
“อายุมาก” ไม่ได้เป็นแค่ธรรมเนียม แต่เป็นข้อบังคับ
โดยปกติแล้ว การประชุมกิจการใด ๆ ก็แล้วแต่ มักจะดำเนินไปด้วยธรรมเนียมปฏิบัติแบบปกติของกิจกรรมนั้น ๆ แต่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรกที่ยังอยู่ในระหว่างการคัดเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 128 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎรได้ตราข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร โดยในหมวด 1 ซึ่งเป็นการเลือกประธานสภาและรองประธานสภา ได้ระบุว่า การเลือกประธานสภาและรองประธานสภาครั้งแรก ให้เลขาธิการเชิญสมาชิกผู้มีอายุสูงสุดซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม[1] เพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการ เลือกประธานสภาและรองประธานสภา และเพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการในเรื่องอื่นที่จำเป็นจะต้องประชุมปรึกษาในการประชุมครั้งนั้นด้วย
สำหรับเหตุการณ์การทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว ครั้งล่าสุด (พ.ศ. 2562) นั้น เริ่มจากวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้กราบเรียนเชิญ นายชัย ชิดชอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีความอาวุโสสูงสุดด้วยวัยวุฒิ 92 ปี ให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว[2] ซึ่งสื่อมวลชนมักเรียกนายชัย ชิดชอบ ว่า “ปู่ชัย” เนื่องจากมีอายุมาก[3] ซึ่งในการทำหน้าที่วันแรก นายชัย ชิดชอบได้กล่าวถ้อยคำที่สร้างความน่าสนใจต่อการประชุม โดยกล่าวต่อที่ประชุมกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราว เมื่อนายธนาธรได้ยกมือขอพูดต่อที่ประชุมสภา แต่นายชัย ในฐานะประธานสภาชั่วคราวไม่อนุญาต นายธนาธรก็รับทราบและขอเดินออกจาจากห้องประชุม โดยมีสมาชิกสภาฝั่งที่สนับสนุนต่างก็มือสัญลักษณ์สามนิ้ว และปรบมือให้กับนายธนาธร จนนายชัยกล่าวต่อที่ประชุมว่า “ที่นี่ไม่ใช่โรงละคร แต่เป็นสภา” ซึ่งนับว่าเรียกความน่าสนใจให้กับการประชุมที่กำลังจะตึงเครียดได้[4]
ต่อมาในวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 ได้มีกำหนดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่เป็นครั้งแรก ซึ่งมีวาระสำคัญ ก็คือ เลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมจะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อ นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ มีกระแสข่าวจะเสนอชื่อ นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสข่าวว่าถ้าตกลงกับประชาธิปัตย์ลงตัว นายสุชาติ จะเป็นรองประธานคนที่ 1 แทน ขณะที่อีก 7 พรรคพันธมิตรที่รวมตัวกันภายใต้แนวทางต่อต้านการสืบทอดอำนาจ มีการนัดหมายประชุมด่วน และมีข่าวลือว่าพันธมิตรฝ่ายค้านมติร่วมกันที่จะเสนอตัวแทนเข้าชิงตำแหน่ง ก็คือ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย พร้อมทั้งตกลงกันว่าจะโหวตไปในทิศทางเดียวกัน[5]
แม้บรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันแรกจะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มีเหตุการณ์ในการประชุมหลายอย่างที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอน เมื่อพรรคพลังประชารัฐจะขอเลื่อนวาระการประชุมออกไป เนื่องจากมีการประท้วงจากกรณีที่มติพรรคยังไม่นิ่ง แต่สุดท้ายที่ประชุมก็ต้องดำเนินการเลือกตั้งประธานสภาฯ ต่อไปด้วยมติสภาฯ 248 ต่อ 246 งดออกเสียง 2 เห็นชอบให้ไม่มีการเลื่อนวาระการประชุม ซึ่งสื่อมวลชนมองว่า นายชัยพยายามดำเนินการประชุมด้วยลักษณะ “ดึงเกม” ด้วยการอ่านอารัมภบท ทักทายสมาชิก และให้สื่อมวลชนได้ถ่ายภาพเป็นเวลากว่าสิบนาที โดยมีกระแสข่าวว่าที่นายชัยใช้เวลากล่าวอารัมภบทนานเป็นพิเศษ เนื่องจากยังมีสมาชิกสภาเข้าประชุมไม่ครบ เพราะมีปัญหาการเจรจาระหว่าง ส.ส. และแกนนำพรรคการเมืองในการรวมคะแนนเสียง[6]
ภายหลังการโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรแบบลับ นายชวน หลีกภัย ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้รับการลงคะแนนเสียงได้รับเลือกให้ดำรงประธานสภาผู้แทนราษฎร ด้วยคะแนนเสียง 258 เสียง ขณะที่ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ได้รับเสียง 235 เสียง[7] โดยมี นายชัย ชิดชอบ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีความอาวุโสสูงสุดด้วยอายุ 92 ปี ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว เพื่อการประชุมในวาระเลือกประธาน และรองประธาน
“ปู่ชัย ชิดชอบ” กับบทบาทของประธานสภาชั่วคราว
หากกล่าวถึงหนึ่งในประธานสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวที่มีบทบาทและบุคลิกส่วนตัวโดดเด่น คงหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงบทบาททางการเมืองของนายชัย ชิดชอบ ไม่ได้ สำหรับ นายชัย ชิดชอบ เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2471 ที่จังหวัดสุรินทร์ จบการศึกษาชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนสุรวิทยาคารจังหวัดสุรินทร์ เริ่มเข้าสู่อาชีพการเมืองโดยได้รับเลือกตั้งเป็นกำนันตำบลอีสาน อำเภอเมืองบุรีรัมย์ และทำธุรกิจโรงโม่หิน ชื่อโรงโม่หินศิลาชัย ที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ สมรสกับนางละออง ชิดชอบ มีบุตรชาย 5 คน หญิง 1 คน แม้ว่าจะมีภูมิลำเนาดั้งเดิมเป็นคนจังหวัดสุรินทร์ แต่ด้วยภาระหน้าที่ บทบาททางการเมืองและธุรกิจ นายชัยกลับเติบโตบนเส้นทางทางการเมืองและธุรกิจในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2512 และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. อีกหลายสมัย (นับตั้งแต่ พ.ศ. 2512 2522 2526 2529 2535 2538 2539 2550) และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พ.ศ. 2548 หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2549 ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดบุรีรัมย์[8]
แม้ นายชัย จะด้รับการเลือกให้ทำหน้าที่ประธานสภาชั่วคราวเนื่องด้วยความอาวุโส แต่แท้จริงแล้วบทบาททางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรของนายชัย นอกจากจะทำหน้าที่ ส.ส. แล้ว มักจะได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมาธิการในการพิจารณางบประมาณแผ่นดินในหลายครั้ง และยังเคยทำหน้าที่ประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติเต็มตัวอีกด้วย กล่าวคือ นายชัย ชิดชอบ ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาคนที่ 24 ด้วยวิธีการลงคะแนนลับ ด้วยคะแนน 283 ต่อ 158 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2551 ทั้งนี้ สำหรับเส้นทางการเมืองของนายชัย ชิดชอบ ภายหลังจากเหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน เมื่อ 2551 ก็ได้ย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย[9] อันเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่โดย “กลุ่มเพื่อนเนวิน” และ "กลุ่มมัชฌิมา" ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน[10]
แม้การทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรของนายชัย ชิดชอบ จะเป็นการทำหน้าที่ในตำแหน่งชั่วคราว แต่ดังที่ทราบกันว่านายชัย ชิดชอบ เคยผ่านประสบการณ์การทำหน้าที่ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติมาแล้วถึง 2 วาระ คือ ในคราวดำรงตำแหน่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 24 และประธานรัฐสภา คนที่ 28 อย่างไรก็ตาม มีเหตุการณ์ที่อาจจะไม่ได้เกิดให้เห็นกันบ่อยมากนักในหน้าข่าว คือ เมื่อคราวที่นายชัย เข้ารับพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2551 ขณะที่กำลังจะคุกเข่าเพื่อทำพิธีนั้น ปรากฏว่านายชัย ชิดชอบเกิดอาการเดินเซจนเกือบล้ม ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จพิธี นายชัย ชิดชอบ พยายามจะลุกขึ้นยืน แต่ปรากฏว่าไม่สามารถพยุงตนเองให้ยืนขึ้นได้ ขณะที่นายนิสิต สินธุไพร ส.ส. ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชาชน ที่ร่วมอยู่ในพิธีด้วยต้องรีบเข้าไปพยุงตัวนายชัยให้ยืนขึ้นและเดินกลับไปยังห้องประชุม[11]
ด้วยความอาวุโสสูงสุด นายชัย ชิดชอบ จึงได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า "ปู่ชัย" และถือว่าการทำหน้าที่บทบาทประธานสภาชั่วคราวของนายชัย มี “ลูกล่อลูกชน” สอดแทรกมุกตลกแพรวพราว สามารถเรียกเสียงหัวเราะจากผู้เข้าประชุมได้เสมอ แม้กระทั่งเวลาทำหน้าที่ประธานอย่างแข็งขันก็มักจะเป็นไปในลักษณะผู้อาวุโสกล่าวตักเตือนลูกหลาน จนในปี พ.ศ. 2552 นายชัย ได้รับฉายาของประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า "ตลกเฒ่าร้อยเล่ห์" จากธรรมเนียมปฏิบัติประจำปีของสื่อมวลชนประจำรัฐสภาที่จะตั้งฉายาให้กับนักการเมือง เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกและการทำงานของนักการเมือง เพราะขณะนั้นสถานการณ์ทางการเมืองมีความขัดแย้งวุ่นวายแบ่งออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน ทำให้นายชัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องรับบทบาทในการควบคุมและกำกับการประชุมที่เต็มไปด้วยการประท้วง ความขัดแย้ง การถกเถียงอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลตลอดระยะเวลาที่ทำหน้าที่ประธานสภา แต่ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมานานในสนามการเมือง นายชัย ได้ใช้การพูดคุยที่มีทั้งไม้แข็งและไม้นวม ใช้การประนีประนอม ใช้ความอาวุโสในลักษณะที่สื่อมวลชนเรียกว่า “พ่อเฒ่า” เจรจาพูดคุยหลอกล่อกับสมาชิกสภาจนเกิดการสับสน หลงประเด็น และมีการพูดจาตลกขบขัน สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดระหว่างการประชุมได้เป็นอย่างดี ช่วยประคับประคองการประชุมให้สามารถดำเนินต่อไปได้จนลุล่วงในหลายครั้งจนทำให้ได้รับฉายาดังกล่าว[12] นอกจากนั้น อีกฉายาที่มีสื่อมวลชนตั้งให้ คือ “ชัย ชวนชื่น” ก็มาจากบทบาทการควบคุมการประชุมสภาที่เมื่อใดที่เริ่มจะเกิดความตึงเครียด นายชัย ก็มักใช้ความอาวุโสและการพูดจาตลกขบขันเข้าช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ได้[13]
ประธานสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว : ประมุขของ “โรงละครทางการเมือง”
แม้ว่าการทำหน้าที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวจะมีวาระการทำงานสั้นๆ ไม่ได้มีผลในทางนโยบายและการปฏิบัติงานของรัฐบาลมากนัก แต่ก็เป็นหน้าที่สำคัญ เนื่องจากต้องทำหน้าที่ควบคุมการประชุมสภาในห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะภายหลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะต้องมีรัฐพิธีเปิดประชุม และประชุมเพื่อเลือกประธานและรองประธาน ทำให้ผู้ที่จะมาทำหน้าที่ในการประชุมนั้นจะต้องเป็นผู้ที่อาวุโสสูงสุดด้วยวัยวุฒิ ทั้งนี้ การทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรของนายชัย จึงไม่ใช่เพียงการกำกับและควบคุมการประชุมให้อยู่ในระเบียบของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่และเวทีที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้และวัดพลังทางการเมืองของขั้วการเมืองในขณะนั้นด้วย[14] เนื่องจากการว่างเว้นจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาอย่างยาวนานหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อีกทั้งการอยู่ในอำนาจยาวนานของ คสช. ถึง 5 ปี ที่มุ่งเน้นมาตรการด้านความมั่นคงและการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ กลับดูจะไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งทางความคิดสลายหายไปอย่างสิ้นเชิง ยิ่งไปกว่านั้น ความแตกต่างด้านความคิดทางการเมืองยังถูกเปลี่ยนรูปจากเดิมที่แสดงออกอย่างเด่นชัดผ่านการเดินขบวนประท้วงทางการเมือง จัดกิจกรรมต่อต้าน เรียกร้อง และกดดันทางการเมืองโดยมวลชนบนท้องถนน ได้กลายมาเป็นการต่อสู้แข่งขันในระบบรัฐสภา ผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมือง การทำหน้าที่ประธานสภาฯ ชั่วคราวของนายชัย จึงไม่เพียงเป็นการทำหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงตามขั้นตอนปฏิบัติทางรัฐสภาเท่านั้น หากยังเป็นชั้นเชิงทางการเมืองเพื่อที่จะชิงความได้เปรียบทางการเมืองในห้วงแรกของการประชุมสภา จึงได้รับการจับตามมองจากสื่อมวลชนและสังคมวงกว้าง
บรรณานุกรม
“ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562.” เล่ม 136 ตอนพิเศษ 216 ง. ราชกิจจานุเบกษา. 29สิงหาคม 2562.
“ฉายาสภาผู้แทนฯ ถ่อยเถื่อนถีบ เฉลิมดาวดับปี52.” ไทยรัฐออนไลน์ (27 ธันวาคม 2552). เข้าถึงได้จาก <https://www.thairath.co.th/content/55424>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
““ชวน” ชนะโหวตประธานสภา ส่อมีงูเห่าเสียง 7 พรรคพันธมิตรแหว่ง.” เวิคพ้อยท์นิวส์ (25 พฤษภาคม 2562) เข้าถึงได้จาก <https://workpointnews.com/2019/05/25/parliament-6/>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
“ชัย ชิดชอบ.” สถาบันพระปกเกล้า. เข้าถึงได้จาก <http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ชัย ชิดชอบ>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
“ชัย นั่งบัลลังก์ก่อนรับพระบรมราชโองการฯ ช่วงทำพิธีล้มหัวคะมำ.” ผู้จัดการออนไลน์ (15 พฤษภาคม 2551). เข้าถึงได้จาก <https://mgronline.com/politics/detail/9510000056909>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
“เชิญปู่ชัยนั่งประธานสภาชั่วคราว”. ไทยพีบีเอส (16 พฤษภาคม 2562) เข้าถึงได้จาก <https://news.thaipbs.or.th/content/280093>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
“ประธานสภาสำคัญอย่างไร.” ไทยพีบีเอส (25 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://news.thaipbs.or.th/content/280334>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
“‘ปู่ชัย’ ประธานสภาฯ ชั่วคราว ผู้สร้างเสียงฮือปนฮาให้กับการประชุมสภาฯ นัดแรก.” The Standard (25 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://thestandard.co/chai-chidchob/>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
““ปู่ชัย” ดึงเกมรอใคร? ก่อนอ่านคำสั่งศาลคดีหุ้นสื่อ “ธนาธร” ออกจากที่ประชุม-ประท้วงวุ่น.” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (25 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.prachachat.net/politics/news-330834>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
“ปูมหลัง “ปู่ชัย” ตลกเฒ่าร้อยเล่ห์ แพรวพราว เนวินลูกจ๋า ขาใหญ่ “เมืองรัมย์”.” ไทยรัฐออนไลน์ (25 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1576153>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
“ย้อนอดีต มองอนาคต จับชีพจร‘ภูมิใจไทย’ทําไมเนื้อหอม." มติชนออนไลน์ (6 ธันวาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1259559>. เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562.
“ศึกชิงประธานสภาผู้แทน “สมพงษ์-ชวน-สุชาติ” ชี้วัดอนาคตรัฐบาลใหม่.” เวิร์คพอยท์นิวส์ (24 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://workpointnews.com/2019/05/24/parliament-2/>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
“สภาผู้แทนราษฎรในอดีต.” สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. เข้าถึงได้จาก<https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_news.php?nid=993&filename=index>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
““สภาฯ” เชิญ “ธนาธร” ออกจากที่ประชุม หลังจากปฏิญาณตน.” พีพีทีวีออนไลน์ (25 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงได้จาก <https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/103607>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
อ้างอิง
[1] “ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562,” เล่ม 136 ตอนพิเศษ 216 ง, ราชกิจจานุเบกษา, 29สิงหาคม 2562, หน้า 23-24.
[2] “เชิญปู่ชัยนั่งประธานสภาชั่วคราว”, ไทยพีบีเอส (16 พฤษภาคม 2562) เข้าถึงได้จาก <https://news.thaipbs.or.th/content/280093>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
[3] “‘ปู่ชัย’ ประธานสภาฯ ชั่วคราว ผู้สร้างเสียงฮือปนฮาให้กับการประชุมสภาฯ นัดแรก,” The Standard (25 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงได้จาก <https://thestandard.co/chai-chidchob/>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
[4] “สภาฯ” เชิญ “ธนาธร” ออกจากที่ประชุม หลังจากปฏิญาณตน,” พีพีทีวีออนไลน์ (25 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงได้จาก <https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/103607>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
[5] “ศึกชิงประธานสภาผู้แทน “สมพงษ์-ชวน-สุชาติ” ชี้วัดอนาคตรัฐบาลใหม่,” เวิร์คพอยท์นิวส์ (24 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงได้จาก <https://workpointnews.com/2019/05/24/parliament-2/>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
[6] “ปู่ชัย” ดึงเกมรอใคร? ก่อนอ่านคำสั่งศาลคดีหุ้นสื่อ “ธนาธร” ออกจากที่ประชุม-ประท้วงวุ่น,” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (25 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงได้จาก <https://www.prachachat.net/politics/news-330834>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
[7] “ชวน” ชนะโหวตประธานสภา ส่อมีงูเห่าเสียง 7 พรรคพันธมิตรแหว่ง,” เวิคพ้อยท์นิวส์ (25 พฤษภาคม 2562) เข้าถึงได้จาก <https://workpointnews.com/2019/05/25/parliament-6/>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
[8] “สภาผู้แทนราษฎรในอดีต,” สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, เข้าถึงได้จาก<https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_news.php?nid=993&filename=index>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
[9] “ชัย ชิดชอบ,” สถาบันพระปกเกล้า, เข้าถึงได้จาก <http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ชัย ชิดชอบ>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
[10] "ย้อนอดีต มองอนาคต จับชีพจร‘ภูมิใจไทย’ทําไมเนื้อหอม," มติชนออนไลน์ (6 ธันวาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/politics/news_1259559>. เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562.
[11] “ชัย นั่งบัลลังก์ก่อนรับพระบรมราชโองการฯ ช่วงทำพิธีล้มหัวคะมำ,” ผู้จัดการออนไลน์ (15 พฤษภาคม 2551), เข้าถึงได้จาก <https://mgronline.com/politics/detail/9510000056909>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
[12] “ฉายาสภาผู้แทนฯ ถ่อยเถื่อนถีบ เฉลิมดาวดับปี52,” ไทยรัฐออนไลน์ (27 ธันวาคม 2552), เข้าถึงได้จาก <https://www.thairath.co.th/content/55424>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
[13] “ปูมหลัง “ปู่ชัย” ตลกเฒ่าร้อยเล่ห์ แพรวพราว เนวินลูกจ๋า ขาใหญ่ “เมืองรัมย์”,” ไทยรัฐออนไลน์ (25 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงได้จาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1576153>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.
[14] “ประธานสภาสำคัญอย่างไร,” ไทยพีบีเอส (25 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงได้จาก <https://news.thaipbs.or.th/content/280334>. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562.