รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ
ผู้เรียบเรียง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ
ความนำ
รัฐบาล “เสียงปริ่มน้ำ” เป็นอุปมาที่สะท้อนถึงปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล อันเนื่องมากจากการที่ฝ่ายรัฐบาลมีสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจำนวนใกล้เคียงหรือมากกว่าฝ่ายค้านเพียงเล็กน้อย โดยมักเกิดขึ้นกับรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสม ส่งผลให้นอกจากรัฐบาลจะต้องคอยประคับประคองเสียงของตนในสภาผู้แทนราษฎรมิให้แพ้โหวตฝ่ายค้าน รัฐบาลยังต้องคอยตรวจตราและเฝ้าระวังสมาชิกของตนให้อยู่ในแนวทางเดียวกัน กระทั่งคอยระวังมิให้เกิดปัญหา “งูเห่า” ที่อาจส่งผลสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลอีกด้วย ในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2562 ด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 อันส่งผลมิให้มีพรรคใดพรรคหนึ่งครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎร[1] ทำให้พรรคพลังประชารัฐที่แม้ว่าจะสามารถรวมคะแนนเสียงจากพรรคการเมืองต่างๆ จัดตั้งขึ้นเป็นรัฐบาลได้สำเร็จ แต่รัฐบาลผสมซึ่งมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำมีจำนวนเสียง 254 เสียง มากกว่าฝ่ายค้านที่มี 246 เสียง[2] เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ยังมิหักลบตำแหน่งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องวางตัวเป็นกลางในการประชุม ทำให้เป็นที่จับตากันว่ารัฐบาล และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะสามารถประคองรัฐนาวาซึ่งมีเสียงปริ่มน้ำดังกล่าวให้สามารถฟันฝ่าคลื่นมรสุมไปได้ไกลเพียงใด
รัฐบาลกับเสถียรภาพในสภาผู้แทนราษฎร
หากเปรียบเทียบรัฐบาลผสม 19 พรรค ของขั้วพรรคพลังประชารัฐก็คงเป็นรองแต่เพียงในสมัยรัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อปี พ.ศ.2518 เท่านั้น โดยในครั้งนั้นพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค สามารถเอาชนะการเลือกตั้งด้วยลำดับที่หนึ่งด้วยด้วยจำนวน 72 เสียง แต่เสียงดังกล่าวไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อสภาผู้แทนราษฎรโหวตลงคะแนนเลือกหม่อมราชวงศ์เสนีย์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทันทีเมื่อรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา รัฐบาลกลับถูกคว่ำโดยแพ้โหวตกลางสภา ทำให้พรรคกิจสังคมของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ซึ่งแม้จะได้คะแนนเสียงมาเป็นลำดับที่ห้า โดยมีอยู่เพียง 18 เสียง แต่สามารถรวมเสียงจากพรรคต่างๆ ได้ทั้งหมด 135 เสียง จัดตั้งเป็นรัฐบาลผสม 23 พรรค ทว่ารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำของ
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ก็บริหารประเทศอยู่ได้เพียง 1 ปี เท่านั้น จากปัญหาความขัดแย้งภายในรัฐบาลในที่สุดก็นำมาสู่การยุบสภา และพรรคประชาธิปัตย์ของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ได้รับเลือกกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง[3]
ปัญหารัฐบาลผสมหลายพรรคการเมืองและรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ซึ่งส่งผลทำให้รัฐบาลอ่อนแอ ไม่สามารถอยู่ในวาระเพื่อบริหารประเทศให้เกิดความต่อเนื่องได้ เป็นปัญหาซึ่งอยู่คู่การเมืองไทยมาตลอดช่วงก่อนหน้าที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกร่างขึ้นด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการแก้ไขปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมือง โดยรัฐบาลผสมเสียงปริ่มน้ำนับเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญ กลไกของรัฐธรรมนูญจึงเอื้อให้เกิดรัฐบาลที่เข้มแข็ง และเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 คือเมื่อปี พ.ศ.2544 พรรคไทยรักไทยของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร สามารถเอาชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งเป็นรัฐบาล ภายใต้การบริหารงานของพรรคไทยรักไทย รัฐบาลถือได้มีความเข้มแข็งและเป็นรัฐบาลแรกที่อยู่จนครบวาระ 4 ปี โดยในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี พ.ศ.2548 พรรคไทยรักไทยก็ยังสามารถเอาชนะการเลือกด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายถึง 376 เสียง ขณะที่พรรคการเมืองคู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง 96 เสียงเท่านั้น นับเป็นการสร้างปรากฎการณ์ที่พรรคการเมืองได้รับเลือกด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรและสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ภายใต้การบริหารงานของพรรคไทยรักไทยและนายกรัฐมนตรีทักษิณ ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ซึ่งต่อมาได้ขยายกลายเป็นขบวนการต่อต้านรัฐบาล กล่าวคือ นอกจากรัฐบาลจะดำเนินนโยบายเพื่อยึดกุมฐานเสียง โดยเฉพาะจากบรรดาเกษตรกรและแรงงานทั้งในและนอกระบบ อันถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ในลักษณะของการดำเนินนโยบายที่เรียกว่า “ประชานิยม” เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับรัฐบาล รัฐบาลยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานที่มีลักษณะผูกขาดอำนาจ ฉวยใช้ประโยชน์จากระบบราชการและกลไกต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ปิดกั้นการตรวจสอบทั้งจากฝ่ายค้าน วุฒิสภา รวมถึงองค์กรอิสระ เมื่อกระแสต่อต้านรัฐบาลทวีความรุนแรงขึ้น ในที่สุดจึงได้นำมาสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549
ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 ซึ่งดำเนินอยู่ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งใหม่ โดยใช้ระบบเลือกตั้งที่เรียกว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” (Mixed-Member Apportionment System : MMA) ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดการผูกขาดที่นั่ง หรือ คะแนนเสียงโดยพรรคใดพรรคหนึ่ง และยังเพื่อเป็นการแก้ปัญหา “คะแนนเสียงตกน้ำ” โดยทำให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนถูกนำมาคิดคำนวณเป็นที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร[4] อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบเลือกการเลือกตั้งใหม่เช่นนี้ก็ถูกมองว่าจะนำพาการเมืองกลับคืนสู่วังวนปัญหาเดิม นั่นคือ เกิดปัญหารัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพ อันเนื่องมาจากระบบเลือกตั้งใหม่จะทำให้ไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงชนะขาดพรรคการเมืองอื่น ๆ อีกต่อไป ดังนั้น รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นจึงเป็นรัฐบาลผสม และโดยเฉพาะภายใต้บรรยากาศของการต่อสู้แข่งขันระหว่างขั้วพรรคการเมืองที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ไม่ว่าฝ่ายใดสามารถรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้ก็จะเป็นรัฐบาลที่มี “เสียงปริ่มน้ำ” ในมุมมองของบรรดานักวิชาการและนักสังเกตการณ์ทางการเมืองต่างคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะประสบปัญหาการบริหารงาน และเป็นการยากที่รัฐบาลจะอยู่จนครบวาระภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว[5]
รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ
เมื่อพรรคพลังประชารัฐซึ่งสามารถรวมเสียงจากพรรคต่าง ๆ ได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรและขึ้นเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นเป็นรัฐบาลผสม ประกอบด้วย 19 พรรคการเมือง โดยมีพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคอันดับต้นในฝั่งรัฐบาลที่มีจำนวนที่นั่งมากที่สุด คือ 97 ที่นั่ง 52 ที่นั่ง และ 51 ที่นั่ง ตามลำดับ ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลซึ่งมีที่นั่งรวม 254 ที่นั่ง ขณะที่ฝ่ายค้านมี 246 ที่นั่ง ทำให้ถูกมองว่ารัฐบาลจะประสบปัญหาในแง่ของการขาดเสถียรภาพและเอกภาพ นอกจากนั้น บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลยังอาจมีการต่อรองผลประโยชน์และตำแหน่งทางการเมืองต่าง ๆ ซึ่งในมุมมองของนักวิชาการมีทัศนะต่อสภาพการเมืองในลักษณะดังกล่าวว่า พรรคการเมืองขนาดเล็ก หรือโดยเฉพาะ “พรรคขนาดจิ๋ว” จะกลายมาเป็นตัวแปรหลัก ภายใต้ห้วงยามที่รัฐบาลต้องการความพร้อมเพรียงของทุกคะแนนเสียงเพื่อไม่ให้แพ้เสียงโหวตในสภา โดยหลังจากนี้คะแนนเสียงอาจมีการขยับไปมา ยิ่งเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับพรรคขนาดเล็ก หรือ ขนาดจิ๋วในการต่อรองผลประโยชน์กับรัฐบาลมากยิ่งขึ้น[6]
ดังนั้น การเมืองของรัฐบาลผสมที่รัฐบาลจำเป็นต้องต้องอาศัยทุกคะแนนเสียงของพรรคร่วม จึงเป็นภาพการเมืองที่พรรคขนาดกลาง และ ขนาดเล็กมีอำนาจต่อรองสูง รัฐบาลจำเป็นต้องเอาใจพรรคเหล่านี้มิให้ตีตัวออกห่าง หรือกระทั่งย้ายขั้วซึ่งจะทำให้รัฐบาลเกิดความสั่นคลอน โดยเฉพาะเมื่อมีการออกเสียงลงคะแนนในมติที่มีความสำคัญ มิฉะนั้นจะเกิดภาพดังเช่นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2562 ที่ฝ่ายรัฐบาลแพ้เสียงโหวตต่อฝ่ายค้าน กล่าวคือ ในการประชุมวาระพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ประธานการประชุม เมื่อวาระพิจารณามาถึงข้อที่ 9 ที่ระบุถึงการทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องวางตัวเป็นกลาง เกิดการถกเถียงกันระหว่างสมาชิกฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล โดยที่สมาชิกฝ่ายค้านเห็นควรให้มีการแก้ไขข้อบังคับฯ โดยเพิ่มถ้อยคำว่าประธาน “ต้องเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่” ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเพิ่มถ้อยคำดังกล่าว เมื่อมีการลงมติปรากฎว่าฝ่ายค้านชนะไปด้วยคะแนน 205 ต่อ 204 เสียง เห็นด้วยกับการแก้ไขข้อบังคับของกรรมาธิการที่กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ต้องมีความเป็นกลาง[7] การลงมติเกี่ยวกับข้อบังคับฯ ดังกล่าวแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่กลับเป็นสัญญาณที่ชัดเจนอันส่งไปยังรัฐบาลให้ต้องเพิ่มความระมัดระวัง และรัดกุมในการดูแลควบคุมคะแนนเสียงของฝั่งตนเอง เพราะมิเช่นนั้นเมื่อถึงคราวต้องอภิปราย หรือ ลงมติในประเด็นที่มีความสำคัญ อาจส่งผลให้รัฐบาลเกิดความสั่นคลอน หรือแม้กระทั่งรัฐบาลล้มลงก็เป็นได้[8]
บรรณานุกรม
“จับตา อย่ากะพริบ งูเห่ากำลังวิ่งพล่าน ตัวช่วยรัฐบาล สำลักเสียงปริ่มน้ำ." ไทยรัฐออนไลน์. (20 สิงหาคม 2562).เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1642070>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม.
“เช็คเสียงปริ่มน้ำตั้งรัฐบาล 254 + 250 ส.ว.." สปริงนิวส์ออนไลน์. (5 มิถุนายน 2019). เข้าถึงจาก <https://www.springnews.co.th/politics/505473>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
ณัชชาภัทร อมรกุล, "เลือกตั้งครั้งใหม่ ต้องเจออะไรบ้าง?." มติชนออนไลน์. (2 กันยายน 2560). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/article/news_650393>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ. "ความท้าทายของรัฐบาลปริ่มน้ำ." (12 สิงหาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.chula.ac.th/cuinside/22137/>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
“ปริ่มน้ำแผลงฤทธิ์! ส.ส.รัฐบาล แพ้โหวตฝ่ายค้าน ครั้งแรก!! หลังพรรคจิ๋วตีจาก." ข่าวสดออนไลน์. (8 สิงหาคม2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_2784310>. เมื่อวันที่ 31สิงหาคม.
“พลิกปูมรัฐบาลปริ่มน้ำ อยู่ไม่ยืด “บิ๊กตู่” คุม 254 นักการเมืองเขี้ยวลากดิน." ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (14 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-337854>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
“รัฐบาลใหม่เสียงปริ่มนํ้า อยู่ได้ 2 ปี ก็นับว่าเก่ง." ฐานเศรษฐกิจออนไลน์. (17 Apr 2019). เข้าถึงจาก <http://www.thansettakij.com/content/399207>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
[1] บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, "ความท้าทายของรัฐบาลปริ่มน้ำ," (12 สิงหาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.chula.ac.th/cuinside/22137/>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
[2] "เช็คเสียงปริ่มน้ำตั้งรัฐบาล 254 + 250 ส.ว.," สปริงนิวส์ออนไลน์, (5 มิถุนายน 2019). เข้าถึงจาก <https://www.springnews.co.th/politics/505473>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
[3] "พลิกปูมรัฐบาลปริ่มน้ำ อยู่ไม่ยืด “บิ๊กตู่” คุม 254 นักการเมืองเขี้ยวลากดิน," ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, (14 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-337854>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
[4] ณัชชาภัทร อมรกุล, "เลือกตั้งครั้งใหม่ ต้องเจออะไรบ้าง?," มติชนออนไลน์, (2 กันยายน 2560). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/article/news_650393>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
[5] "รัฐบาลใหม่เสียงปริ่มนํ้า อยู่ได้ 2 ปี ก็นับว่าเก่ง," ฐานเศรษฐกิจออนไลน์, (17 Apr 2019). เข้าถึงจาก <http://www.thansettakij.com/content/399207>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.
[6] "จับตา อย่ากะพริบ งูเห่ากำลังวิ่งพล่าน ตัวช่วยรัฐบาล สำลักเสียงปริ่มน้ำ," ไทยรัฐออนไลน์, (20 สิงหาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/politic/1642070>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม.
[7] "ปริ่มน้ำแผลงฤทธิ์! ส.ส.รัฐบาล แพ้โหวตฝ่ายค้าน ครั้งแรก!! หลังพรรคจิ๋วตีจาก," ข่าวสดออนไลน์, (8 สิงหาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_2784310>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม.
[8] บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, "ความท้าทายของรัฐบาลปริ่มน้ำ," (12 สิงหาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.chula.ac.
th/cuinside/22137/>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.