ผลคะแนนเลือกตั้ง 2562

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:08, 29 เมษายน 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ


ความนำ

          แม้ว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 จะมีปรากฎการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการที่มีจำนวนพรรคการเมืองลงชิงชัยแข่งขันกันมากที่สุด หรือการมีจำนวนผู้สมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา[1] แต่ภายใต้บรรยากาศของการต่อสู้ชิงชัยในเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง ระหว่างฝ่ายหนึ่งที่แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าจะสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อภายหลังการเลือกตั้ง กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยโดยมองว่าเป็นเพียงความพยายามในการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เท่านั้น พรรคการเมืองต่างๆ ที่ประกาศลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้จึงแบ่งออกเป็นฝ่ายค่อนข้างเด่นชัด โดยมีทั้งฝ่ายที่แสดงออกอย่างชัดแจ้งว่าสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย รวมไปถึงพรรคการเมืองบางส่วนที่ยังคงสงวนท่าทีโดยไม่ประกาศจุดยืนต่อประเด็นดังกล่าวอย่างชัดเจนนัก หลายฝ่ายต่างคาดหมายกันว่าคะแนนเสียงเลือกตั้งที่จะออกมานั้น ทั้งในส่วนของพรรคการเมืองสนับสนุนและไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จะมีความใกล้เคียงสูสีกัน ดังนั้น ปัจจัยในการกำหนดว่าพรรคใดจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จึงมีพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กเข้ามาเป็นตัวแปรร่วมที่สำคัญ จนกระทั่งในที่สุด เมื่อพรรคพลังประชารัฐสามารถเฉือนเอาชนะพรรคเพื่อไทยด้วยการรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และรัฐสภา ส่งผลให้เป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ทว่าเมื่อรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นเป็นรัฐบาลผสมที่รวมสมาชิกจากพรรคและกลุ่มการเมืองที่หลากหลาย จึงถูกจับตามองเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

 

กติกาใหม่และกระแสคาดการณ์ก่อนวันเลือกตั้ง

          ประเด็นหนึ่งอันเป็นที่กล่าวถึงกันมากก่อนการเลือกตั้ง คือการเลือกตั้งครั้งนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์กติกาหลายประการที่แตกต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ใช้ระบบที่เรียกว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” (Mixed-Member Apportionment System : MMA) บนหลักการสำคัญเพื่อต้องการให้ทุกคะแนนเสียงได้ถูกนำไปคิดคะแนนและแปรเป็นที่นั่งในสภา หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือเพื่อแก้ไขปัญหา “คะแนนเสียงตกน้ำ”[2] โดยระบบเลือกตั้งดังกล่าวจะให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิสามารถเลือกผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตได้ 1 คน ผ่านบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ และคะแนนเสียงของสมาชิกที่ได้รับเลือกจะถูกนำไปรวมเป็นคะแนนรวมของพรรคการเมืองที่สมาชิกสังกัด เพื่อนำมาคิดคำนวณเป็นสัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมี จำนวนดังกล่าวจะบ่งบอกว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคสามารถมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้จำนวนเท่าใด เมื่อหักลบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตที่มีอยู่แล้ว

“ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” แตกต่างจากการเลือกตั้งหลายครั้งก่อนหน้านี้ที่ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อเลือกพรรคการเมืองใบหนึ่ง และเลือกผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตอีกใบหนึ่ง ในความหมายนี้ สำหรับการเลือกตั้ง 2562 เมื่อประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเพียงกาบัตรเลือกตั้งครั้งเดียวจะ “ได้ทั้งคน ได้ทั้งพรรค” ไปพร้อม ๆ กัน[3] นอกเหนือจากระบบเลือกตั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง หลักเกณฑ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งก็ยังมีการปรับเปลี่ยนใหม่ อาทิ การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งเพื่อให้อำนาจกับคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด หรือ แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ เป็นต้น ซึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงการแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และยังถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบางพรรคการเมืองเป็นการเฉพาะอีกด้วย[4]

แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์กติกาค่อนข้างมากในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ทว่ามิได้บั่นทอนกระแสความตื่นตัวของประชาชนต่อการเลือกตั้งแต่อย่างใด ประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจข่าวคราวความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับการเลือกตั้งผ่านการเกาะติดสถานการณ์ของบรรดาสื่อมวลชนสำนักต่าง ๆ พร้อมไปกับพรรคการเมืองจำนวนมากที่ได้ประกาศตัวลงแข่งขันเพื่อชิงชัยที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองหลายพรรคประกาศจุดยืนสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นหัวหน้ารัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งที่ถูกคาดการณ์ว่ามีจำนวนใกล้เคียงกันก็เดินหน้ารณรงค์ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ ในจำนวนเหล่านี้หลายพรรคการเมืองยังได้พยายามนำเสนอนโยบายเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ รวมถึงส่งผู้สมัครซึ่งเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่เข้าชิงชัยแข่งขัน เนื่องจากในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นมีจำนวนประชาชนผู้ที่จะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก หรือที่เรียกว่ากลุ่ม First-Time Voter หรือ New Voter จำนวนมาก อันเนื่องมาจากระยะเวลาที่ว่างเว้นการเลือกตั้งมานาน โดยกระทรวงมหาดไทยได้แสดงตัวเลขจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกลุ่มนี้ไว้ถึงกว่า 7 ล้านคน[5] จึงเป็นกลุ่มคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคการเมืองพยายามช่วงชิงเพื่อเปลี่ยนเป็นที่นั่งในสภา[6]

 

การเมืองของการจับขั้ว และ การจัดตั้งรัฐบาลผสม

          เนื่องจากการเลือกตั้ง 2562 ใช้ระบบเลือกตั้งใหม่ที่เรียกว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” ทำให้เมื่อประกาศผลคะแนนเลือกตั้งออกมา จึงไม่มีพรรคใดที่ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชนะขาดเหนือพรรคการเมืองอื่น ดังที่เรียกว่าปรากฏการณ์ "แลนด์สไลด์" อย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งพรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทยในอดีต เพราะถึงแม้ว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ปรากฎว่าพรรคเพื่อไทยยังคงได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเป็นอันดับที่หนึ่ง คือ 136 ที่นั่ง[7] แต่เมื่อคิดคำนวณกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคพึงมี ทำให้พรรคเพื่อไทยจะไม่ได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในแบบบัญชีรายชื่อ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง คือ พรรคพลังประชารัฐได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเป็นอันดับที่สอง คือ 97 ที่นั่ง แต่เมื่อคิดคำนวณกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีแล้ว พรรคพลังประชารัฐจะได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในแบบบัญชีรายชื่อของพรรคอีก 18 ที่นั่ง[8] รวมเป็น 115 ที่นั่ง ทำให้ไม่มีฝ่ายใดครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในการเลือกตั้งครั้งนี้จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลโดยลำพังได้ ตัวแปรทางการเมืองจึงอยู่ที่พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงในอันดับรองลงมา โดยพรรคอนาคตใหม่ แม้ว่าจะพึ่งลงแข่งขันในการเลือกตั้งนี้เป็นสมัยแรก ทว่าก็ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับที่สาม โดยรวมจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับทั้งสิ้น 80 ที่นั่ง ตามมาด้วย พรรคประชาธิปัตย์ได้ 52 ที่นั่ง และพรรคภูมิใจไทยได้ 51 ที่นั่ง ขณะที่พรรคการเมืองอื่น ๆ ที่เคยเป็นพรรคการเมืองขนาดกลางกลับได้คะแนนเสียงไม่เกิน 10 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ และมีพรรคขนาดเล็กอีกหลายพรรคที่ได้รับ 1 ที่นั่งในสัดส่วนบัญชีรายชื่อของพรรคจากการคำนวณตามสูตรของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

          เมื่อคะแนนเสียงของพรรคที่มีศักยภาพในการจัดตั้งรัฐบาลมีความใกล้เคียงสูสีกัน กล่าวคือ แม้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าพรรคเพื่อไทยจะร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคการเมืองอื่นอีกบางส่วน แต่ก็ยังเป็นการยากที่จะทำให้ได้จำนวนที่นั่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ด้านพรรคพลังประชารัฐแม้จะมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นอันดับที่สองก็ตาม แต่หากสามารถรวมเสียงกับพรรคที่ได้คะแนนในลำดับรองลงมาอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ประกอบกับอีกหลายพรรคการเมืองที่พร้อมสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นกัน การเมืองของการพยายามจับขั้วช่วงชิงที่นั่งของพรรคต่างๆ จึงเกิดขึ้นภายใต้ข่าวคราวเกี่ยวกับการต่อรองและแบ่งสรรผลประโยชน์ ตลอดจนตำแหน่งทางการเมือง ทุกช่วงจังหวะถูกจับตามมองในฐานะของเกมการเมือง อาทิ การที่พรรคพลังประชารัฐได้เสนอชื่อและลงคะแนนให้นายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่รองประธานฯ ทั้ง 2 คนมาจากฝั่งของพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทย ที่ฝ่ายหลังถูกคาดหมายว่าเข้าร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล

          เมื่อถึงคราวจัดตั้งรัฐบาลและลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ชื่อของพลเอกประยุทธ์ได้รับการสนับสนุนจากทั้งฝั่งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย รวมถึงพรรคขนาดเล็กจำนวนมาก รวมทั้งสิ้น 19 พรรคการเมือง ขณะที่ทางฝั่งพรรคเพื่อไทยที่จับมือกับพรรคอนาคตใหม่และพรรคอื่น ๆ รวม 7 พรรคการเมือง ได้ลงคะแนนให้กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในส่วนของเสียงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผลการโหวตของรัฐสภาปรากฏว่า พลเอกประยุทธ์ได้รับเลือกจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียง 500 เสียง ขณะที่นายธนาธรได้คะแนนเสียง 244 เสียง[9] ย่อมหมายถึงเสียงสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เอาชนะทั้งในส่วนของคะแนนเสียงจากสมาชิกรัฐสภา ซึ่งนับรวมเสียงของสมาชิกวุฒิสภาไว้ด้วย และยังเอาชนะในส่วนของคะแนนเสียงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ฝั่งพรรคพลังประชารัฐสามารถจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรได้ ขณะที่ฝั่งพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ต้องทำหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน

อย่างไรก็ตาม หากนับเฉพาะในส่วนคะแนนเสียงของสภาผู้แทนราษฎรนั้น แม้พรรคพลังประชารัฐจะสามารถรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ทว่าก็มิได้มีจำนวนทิ้งห่างจากคะแนนเสียงของขั้วพรรคฝ่ายค้านเท่าใดนัก ประกอบกับการที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลผสมที่ต้องพึ่งพาคะแนนเสียงจากพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมาก จึงถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล ไม่ว่าจะในแง่การออกเสียงเพื่อลงคะแนนให้กับญัตติต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ต้องอาศัยคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร หรือการที่รัฐบาลต้องรักษาฐานเสียงโดยพยายามดึงพรรคร่วมไว้เพื่อให้มีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง หรือแม้แต่การจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีและตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลให้กับบรรดาพรรคร่วมทั้งหลาย

 

เสถียรภาพของรัฐบาลผสม

          จากผลการเลือกตั้ง 2562 ประกอบกับการต่อสู้แข่งขันเพื่อจับขั้วทางการเมืองที่ส่งผลให้พรรคพลังประชารัฐสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และผลักดันให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่ออีกวาระหนึ่ง ได้นำมาสู่ฉากทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป หากเปรียบเทียบแล้วมีสภาพคล้ายคลึงกับในช่วงของการเมืองแบบรัฐบาลผสมก่อนหน้าที่พรรคไทยรักไทยจะขึ้นเป็นรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2540 อันมีเจตนารมณ์ที่ต้องการจะทำให้เกิดรัฐบาลที่เข้มแข็งเพื่อแก้ไขปัญหาความอ่อนแอของรัฐบาลผสม ฉะนั้นเมื่อกลับมาสู่รูปแบบรัฐบาลผสมหลายพรรคอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นที่จับตากันว่ารัฐบาลของพลเอกประยุทธ์จะบริหารงาน และรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างไรภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงปัญหาเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลก็จำต้องคำนึงถึงบริบทการเมืองไทยในมิติอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย โดยช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา เสถียรภาพของรัฐบาล หรือกระทั่งเสถียรภาพทางการเมืองมิอาจประเมินได้จากการที่รัฐบาลมีจำนวนเสียงที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเพียงเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบ ทั้งยังมีความเกี่ยวโยงกับสถาบันทางการเมืองอื่น ๆ อาทิ กองทัพ ซึ่งถูกมองว่ามีบทบาทสำคัญต่อการร่วมกำหนดทิศทางการเมืองของประเทศในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา และถือเป็นตัวแปรสำคัญต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและเสถียรภาพทางการเมือง

 

บรรณานุกรม

คณะกรรมการการเลือกตั้ง. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง. 7 พฤษภาคม 2562.

คณะกรรมการการเลือกตั้ง. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ. 8 พฤษภาคม 2562.

“คสช. ใช้ ม.44 แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่-เปิดทาง คสช. มีส่วนร่วม.” iLaw online. (25 พฤษภาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/5035>. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562.

ณัชชาภัทร อมรกุล, "เลือกตั้งครั้งใหม่ ต้องเจออะไรบ้าง?." มติชนออนไลน์. (2 กันยายน 2560). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/article/news_650393>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.

“เลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี กับเรื่องที่ ‘เป็นที่สุด’.” สปริงนิวส์ออนไลน์. (20 มี.ค. 2562). เข้าถึงจาก <https://
www.springnews.co.th/news/465005
>. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562.

“เลือกนายกฯ : 500 ต่อ 244 งดออกเสียง 3 มติรัฐสภาหนุน พล.อ. ประยุทธ์ นั่งนายกฯ ต่อ.” บีบีซีไทยออนไลน์,
(6 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48530879>. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562.

“สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: รีวิว ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมของมีชัย.” iLaw online. (4 เมษายน 2559). เข้าถึงจาก <https://www.ilaw.or.th/node/4079>. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562.

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี. “เลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 มองผ่านเลนส์ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี – กุญแจสำคัญ คนรุ่นใหม่และแนวโน้มผลการเลือกตั้ง.” สัมภาษณ์โดย สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล. The Momentum. (23 มกราคม 2562) เข้าถึงจาก<https://themomentum.co/predict-election-siriphan-noksuan-sawasdee>.

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. “เลือกตั้ง 2562 : ที่สุดที่คุณอาจยังไม่รู้ก่อนเข้าคูหา.” บีบีซีไทยออนไลน์. (18 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-46902175>. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562.

อ้างอิง

[1] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, “เลือกตั้ง 2562 : ที่สุดที่คุณอาจยังไม่รู้ก่อนเข้าคูหา,” บีบีซีไทยออนไลน์, (18 กุมภาพันธ์ 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-46902175>. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562.

[2] ณัชชาภัทร อมรกุล, "เลือกตั้งครั้งใหม่ ต้องเจออะไรบ้าง?," มติชนออนไลน์, (2 กันยายน 2560). เข้าถึงจาก <https://www.matichon.co.th/article/news_650393>. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562.

[3] “สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: รีวิว ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมของมีชัย,” iLaw online, (4 เมษายน 2559). เข้าถึงจาก <https://www.ilaw.or.th/node/4079>. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562.

[4] “คสช. ใช้ ม.44 แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่-เปิดทาง คสช. มีส่วนร่วม,” iLaw online, (25 พฤษภาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/5035>. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562.

[5] “เลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี กับเรื่องที่ ‘เป็นที่สุด’,” สปริงนิวส์ออนไลน์, (20 มี.ค. 2562). เข้าถึงจาก <https://
www.springnews.co.th/news/465005
>. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562.

[6] สิริพรรณ นกสวน สวัสดี, “เลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 มองผ่านเลนส์ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี – กุญแจสำคัญ คนรุ่นใหม่และแนวโน้มผลการเลือกตั้ง,” สัมภาษณ์โดย สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล. The Momentum. (23 มกราคม 2562) เข้าถึงจาก<https://themomentum.co/predict-election-siriphan-noksuan-sawasdee>. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562.

[7] คณะกรรมการการเลือกตั้ง, ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง, 7 พฤษภาคม 2562.

[8] คณะกรรมการการเลือกตั้ง, ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ, 8 พฤษภาคม 2562.

[9] “เลือกนายกฯ : 500 ต่อ 244 งดออกเสียง 3 มติรัฐสภาหนุน พล.อ. ประยุทธ์ นั่งนายกฯ ต่อ,” บีบีซีไทยออนไลน์,
(6 มิถุนายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48530879>. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562.