การมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:11, 29 มีนาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายภัทระ คำพิทักษ์


บทนำ

          การมีส่วนร่วม (Participation) หมายถึง การเข้าไปเกี่ยวข้องหรือการมีส่วนร่วมแบบทางตรง หรือทางอ้อมในการทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ระดับของการมีส่วนร่วมจึงเริ่มตั้งแต่การให้ข้อมูลแก่ประชาชน การปรึกษาหารือประชาชน การเชิญประชาชนให้เข้าร่วมทำงาน ตลอดจนการให้อำนาจแก่ประชาชนในการตัดสินใจเรื่องหนึ่งเรื่องใด เพื่อให้การดำเนินการตอบสนองต่อความพึงพอใจของสมาชิกในสังคม ตลอดจนเป็นการสร้างการยอมรับแก่สมาชิกและยังสามารถเป็นวิธีการที่ผู้นำสามารถนำมาปรับใช้ในการจูงใจและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่สมาชิก

ระดับการมีส่วนร่วม[1]

          ระดับที่ 1 การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนเกี่ยวกับกิจกรรม หรือ สิทธิต่าง ๆ ของประชาชน การมีส่วนร่วมในระดับนี้ถือเป็นระดับที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนน้อยที่สุด ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับงานของภาครัฐ โดยหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นจริง ถูกต้อง ทันสมัย และประชาชนสามารถเข้าถึงได้

          ระดับที่ 2 การปรึกษาหารือ (Consult) เป็นระดับการมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ความรู้สึก และความคิดเห็นประกอบการตัดสินใจ ดังนั้น ประชาชนมีบทบาทในฐานะการให้ข้อมูลการตัดสินใจเป็นของหน่วยงานภาครัฐรูปแบบการมีส่วนร่วมในลักษณะนี้ เช่น การสำรวจ ความคิดเห็น และการประชุมสาธารณะ

          ระดับที่ 3 การให้ประชาชนเข้ามามีบทบาท (Involve) ในกระบวนการทำงานเริ่มตั้งแต่การกำหนดนโยบาย การวางแผน โครงการ และวิธีการทำงานโดยหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่จัดระบบอำนวยความสะดวก ยอมรับการเสนอแนะ และ การตัดสินใจร่วมกับภาคประชาชน การมีส่วนร่วมระดับนี้มักดำเนินการในรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการ

          ระดับที่ 4 การสร้างความร่วมมือ (Collaborate) เป็นระดับของการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในระดับสูง โดยประชาชนและภาครัฐจะทำงานร่วมกันในกระบวนการของการตัดสินใจ เช่น คณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชน คณะที่ปรึกษาภาคประชาชน

          ระดับที่ 5 การให้อำนาจแก่ประชาชน (Empower) เป็นระดับที่ให้บทบาทแก่ประชาชนในระดับที่สูงสุด เพราะให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ รัฐจะดำเนินการตามการตัดสินใจนั้น ระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับสูงสุดนี้เน้นให้ประชาชนเป็นเจ้าของดำเนินภารกิจ และภาครัฐ มีหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนเท่านั้น รูปแบบการมีส่วนร่วมในระดับนี้ เช่น การลงประชามติ และ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยกระบวนการประชาคม

 

การมีส่วนร่วมประเภทต่าง ๆ ตามรัฐธรรมธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

          บทความนี้ได้จัดแบ่งประเภทของการมีส่วนร่วมของประชาชนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญตามระดับของการมีส่วนร่วมที่กล่าวไว้ในหัวข้อที่ 2 ตามข้างต้น โดยสามารถจัดแบ่งการมีส่วยร่วมในรูปแบบต่า ๆ ดังนี้

1. การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในรูปแบบ “การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน”

          รูปแบบการให้ข้อมูลข่าวสารเป็นระดับของการมีส่วนร่วมในระดับต้น ๆ ของการมีส่วนร่วม ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมีความประสงค์จะให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเพื่อให้ประชาชนรับรู้และเป็นส่วนร่วมในการบริหารประเทศไทยในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การมีส่วนร่วมรูปแบบนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงได้กำหนดทั้งในแง่ของ “สิทธิ เสรีภาพ และ หน้าที่” ให้แก่ประชาชนชาวไทย เช่น

          1) การกำหนด  “หน้าที่” ของปวงชนชาวไทยให้มีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ป้องกันประเทศ ปฏิบัติตามกฎหมาย เข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ รับราชการทหาร เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระ ร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เสียภาษีอากร และ ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ (มาตรา 50)

          2) เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในส่วนของการที่รัฐจะต้องให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนเพื่อก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงถือเป็นหน้าที่หลักของรัฐในการส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ การจัดทำบริการสาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมตลอดทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นใดบรรดาที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชน (มาตรา 78) ดังนี้ รัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดให้ภาครัฐต้องรายงานหรือให้ความรู้แก่ประชาชนในการกระทำต่าง ๆ ที่หลากหลายประเภท เช่น

          - คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องประกาศรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองส่งรายชื่อผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีให้ประชาชนทราบ (มาตรา 88)

          - รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐและต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก (มาตรา 59)

          - รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 63)

          - รายงานการประชุมและบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภาแต่ละคนต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบได้ทั่วไป เว้นแต่กรณีการประชุมลับหรือการออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ (มาตรา 120 วรรคสี่)

          - ให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเปิดเผยบันทึกการประชุม รายงานการดำเนินการ รายงานการสอบหาข้อเท็จจริง หรือรายงานการศึกษา แล้วแต่กรณี ของคณะกรรมาธิการให้ประชาชนทราบเว้นแต่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี มีมติมิให้เปิดเผย (มาตรา 129 วรรคหก)

          - ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเห็นพ้องด้วยกับผลการตรวจสอบดังกล่าว ให้ปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หากที่ประชุมร่วมเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบนั้น ให้ร่วมกันมีหนังสือแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อประชาชนเพื่อทราบด้วย (มาตรา 245 วรรคสอง)

          - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ (2) จัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศเสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี และเผยแพร่ต่อประชาชน (มาตรา 274)

          - ในการดำเนินงานในส่วนของท้องถิ่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นเปิดเผยข้อมูลและรายงานผลการดำเนินงานให้ประชาชนทราบ รวมตลอดทั้งมีกลไกให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมด้วย (มาตรา 253)

- การปฏิรูปประเทศด้านการเมืองต้องจัดให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองรวมตลอดทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รู้จักยอมรับในความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่างกันและให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งและออกเสียงประชามติโดยอิสระปราศจากการครอบงำไม่ว่าด้วยทางใด (มาตรา 258)

2. การมีส่วนร่วมในรูปแบบ “การเข้ามามีบทบาท ('Involve) และ การสร้างความร่วมมือ” (Collaborate)'

การมีส่วนร่วมในรูปแบบการเข้ามามีบทบาทและการสร้างความร่วมมือระหว่างประชาชนกับภาครัฐเป็นการมีส่วนร่วมในระดับกลางไปจนถึงระดับสูงในรูปแบบการร่วมกำหนดนโยบาย การร่วมวางแผน การเข้าร่วมกระบวนการตัดสินใจ และ การเข้าร่วมตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่มในรูปแบบการเข้ามีบทบาทและสร้างความร่วมมือดังนี้

          2.1 บทบาทและการมีส่วนร่วมใน “ด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดทั้งทรัพยากรธรรมชาติ”

          รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วมในการดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง(มาตรา 57(1))

          ในส่วนของการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน (มาตรา 57(2))
          ดังนั้น ในการการดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน (มาตรา 58) นอกจากนี้ เมื่อรัฐต้องดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากรน้ำ และพลังงานจึงต้องวางผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ รวมตลอดทั้งพัฒนาเมืองให้มีความเจริญโดยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ (มาตรา 72)  

          2.2 บทบาทและการมีส่วนร่วมในด้าน “การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ”

          การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในส่วนของการกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐ เพื่อให้ผู้บริหารประเทศมีเป้าหมายในการบริหารประเทศไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจึงต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง (มาตรา 65 วรรคสอง)

          2.3 บทบาทและการมีส่วนร่วมในด้าน “การเสนอกฎหมายและแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

รัฐธรรมนูญกำหนดให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน (มาตรา 77 วรรคสอง)

          รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดให้ประชาชนสามารถเสนอร่างกฎหมาย หรือ เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีบทบาทและเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจอธิปไตยของตนอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น แยกพิจารณาได้ดังนี้

          - การเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภาผู้แทนราษฎร ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ  ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (มาตรา 133(3))

          - การเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ต้องมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (มาตรา 256(1)) และ ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย (มาตรา 256(4))

          2.4 บทบาทและการมีส่วนร่วมใน “ด้านการตรวจสอบ”

รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ เช่น ในกรณีตามมาตรา 236 กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหาว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ใดกระทำการตามมาตรา 234 (1) กล่าวคือ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

          2.5 บทบาทและการมีส่วนร่วมใน “การแสดงความคิดเห็น”

รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน (มาตรา 34) บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ (มาตรา 35) ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ภาครัฐต้องออกกฎหมายเพื่อกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศ (มาตรา 178 วรรคสี่)

3. การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในรูปแบบ “การให้อำนาจแก่ประชาชน”

          การมีส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบการให้อำนาจแก่ประชาชนเป็นระดับที่ให้บทบาทแก่ประชาชนในระดับที่สูงสุด เนื่องจากให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในการดำเนินการต่าง ๆ ตามแนวทางระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้น การมีส่วนร่วมที่จะขาดเสียไม่ได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย คือ การเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ ทั้งนี้ รัฐะรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดรายละเอียดของการมีส่วนร่วมเพื่อให้อำนาจแก่ประชาชนไว้ดังนี้

          3.1 การให้อำนาจแก่ประชาชนในการเลือกตั้ง

          การมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งเป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชนในแง่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งและต้องทำให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยวธรรม ประชาชนจึงสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการลงสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การไปสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 95 หรือ การลงสมัครเพื่อเข้ารับการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 107 การเข้าร่วมสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง หรือ แจ้งเหตุแห่งการทุจริตการเลือกตั้ง หรือ การเข้าร่วมเป็นเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งในระดับต่าง ๆ เช่น กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง กรรมการนับคะแนน กรรมการเลือกตั้งประขำเขตเลือกตั้ง เป็นต้น

          นอกจากนี้ยังให้สิทธิประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทุจริตในการเลือกตั้ง โดยกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบ รฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ว่า “ในการจัดให้มีการเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้สภาองค์กรชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยสภาองค์กรชุมชน ชุมชน รวมตลอดทั้งประชาชนทั่วไป ให้มีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลต่อคณะกรรมการเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม[2]

          รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นภายใต้บทบัญญัติมาตรา252  วรรคสอง “ผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่นหรือในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

          3.2 การให้อำนาจแก่ประชาชนในการลงประชามติ

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้รับมติคะแนนเสียงประชามติจากประชาชนในการให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงข้างมากองผู้มาออกเสียงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติม และได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเป็นการชอบด้วยผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมข้อความบางส่วน และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการแก้ไขตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2560 บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมาแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะบางประเด็นได้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ นายกรัฐมนตรีจึงนำร่างรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสืบไป ทรงพระราชดำริว่าสมควรพระราชทานพระราชานุมัติ

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงได้กำหนดเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติของประชาชนไว้ดังกรณีต่อไปนี้

          การกำหนดให้เป็นหน้าที่ให้ประชาชน : ในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ (มาตรา 50(7))

          การขอประชามติจากประชาชนในกรณีมีเหตุอันสมควร : คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 166) ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่และอำนาจจัดให้มีการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ (มาตรา 224(1)) ตลอดทั้งการควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมและควบคุมดูแลการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 224(2)) และ หาการออกเสียงประชามติเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการเลือกตั้งหรือการเลือก หรือการออกเสียงประชามติ และสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้ง เลือก หรือออกเสียงประชามติใหม่ในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วย หรือทุกหน่วย (มาตรา 224(3))

          ด้านการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ : รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (มาตรา 256(8))

          ด้านการปฏิรูปประเทศ : รัฐธรรมนูญกำหนดให้การปฏิรูปด้านการเมืองต้องจัดให้ระชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งและออกเสียงประชามติโดยอิสระปราศจากการครอบงำไม่ว่าด้วยทางใด (มาตรา 258(1))

บรรณานุกรม

กลุ่มงานผลิตเอกสาร สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย, สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, มีนาคม 2561, หน้า 32.

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และคณะ, รายงานการศึกษา เรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบาย สาธารณะ, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : บริษัท เอ.พี.กราฟฟิค ดีไซน์และการพิมพ์ จำกัด, 2554, หน้า 18.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. (6 เมษายน 2560). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก.

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

กลุ่มงานผลิตเอกสาร สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย, สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, มีนาคม 2561, หน้า 32.

เจมส์ แอล. เครย์ตัน. คู่มือการมีส่วนร่วมของประชาชน การตัดสินใจที่ดีกว่าโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม. แปลโดย ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์, ดร.ถวิลวดี บุรีกุล, ผศ.ดร.เมธิศา พงษ์ศักดิ์ศรี. ขอนแก่น : โรงพิมพ์ศิริภัณฑ์ ออฟเซ็ท, 2551.

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และคณะ. รายงานการศึกษา เรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : บริษัท เอ.พี.กราฟฟิค ดีไซน์และการพิมพ์ จำกัด, 2554.

อ้างอิง


[1] บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และคณะ, รายงานการศึกษา เรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบาย สาธารณะ, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : บริษัท เอ.พี.กราฟฟิค ดีไซน์และการพิมพ์ จำกัด, 2554, หน้า 18.

[2] กลุ่มงานผลิตเอกสาร สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย, สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, มีนาคม 2561, หน้า 32.