การพัฒนาการศึกษา/การพัฒนาคนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ผู้เรียบเรียง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายภัทระ คำพิทักษ์
เจตนารมณ์การบัญญัติด้านการพัฒนาด้านการศึกษา/คนตามราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
สิทธิด้านการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญทุกกฉบับได้บัญญัติไว้เพื่อให้ทุกคนในประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้มีความรู้ มีความสามารถอันสามารถทำให้ประเทศชาติได้รับการพัฒนารุดหน้ายิ่งขึ้นไปเท่าเทียมกับ
อารยนานาประเทศ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลจะต้องกำหนดนโยบายและบัญญัติกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม แต่อย่างไรก็ดี แม้จะได้มีการบัญญัติด้านการศึกษาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน แต่ปัญหาด้านการศึกษายังไม่ได้รับการพัฒนาส่งเสริมอย่างเต็มที่เต็มตามสรรพกำลังที่ควรจะเป็น โดยปัญหาที่เกิดขึ้น อาทิ
1) ความล่าช้าในการพัฒนาคุณภาพทางด้านการศึกษา
2) ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายอันเนื่องมากจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง
3) การรวมศูนย์อำนาจทางการศึกษาไว้ที่ส่วนกลางจึงขาดการกระจายทางการศึกษาอย่างแท้จริง
4) การขาดแคลนบุคลาการทางการศึกษา เช่น การขาดแคลนอัตรากำลังครูในสาขาที่จำเป็น
5) การผลิตและการพัฒนาคนจากสถานศึกษาไม่ตรงหรือสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการ/ตลาดแรงงานและทิศทางการพัฒนาประเทศ
6) ความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพและทันสมัย
7) การขาดวิสัยทัศน์ของผู้กำหนดทิศทางของทางการศึกษา ฯลฯ
8) การเข้าถึงการบริหารจัดการงบประมาณ
จากปัญหาในหลาย ๆ ประการที่เกิดขึ้น จึงได้มีการกำหนดทิศทางด้านการศึกษารวมถึงการปฏิรูปด้านศึกษาให้ชัดเจนขึ้นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้เกิดความเสมอภาค เป็นธรรม มีคุณภาพและทั่วถึง
สาระสำคัญด้านการพัฒนาการศึกษา/คนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2562 ได้กำหนดทิศทางของการพัฒนาด้านการศึกษาไว้ในมาตรา 54 เป็นบทหลักและในมาตรา 258 จ และ 261 เป็นบทรองเพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาด้านการศึกษา ดังนี้[1]
ประเด็น/หัวข้อที่สำคัญ |
เนื้อหา/รายละเอียด |
1) ผู้ที่ต้องได้รับการพัฒนาด้านการศึกษา |
1)เด็กทุกคนต้องมีหน้าที่เข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ[2] |
2) กรณีการศึกษาภาคบังคับ:ระยะเวลาที่เข้ารับการศึกษาภาคบังคับ |
1) เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนไปจนครบภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาให้เหมาะสมกับวัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย |
3) เป้าหมาย |
1) ให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ มีความเชี่ยวชาญตามความถนัดของตนเองและมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศ 2) เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการและการเรียนรู้ตลอดชีวิต |
4) วิธีการดำเนินการ/กระบวนการ/ รูปแบบในการดำเนินการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดผล |
1) รัฐต้องดำเนินการ โดยจัดให้มีความร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนให้การจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ให้มีกฎหมายว่าการศึกษาแห่งชาติ มีบทบัญญัติให้จัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติไว้ด้วย 2) จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ โดยรัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษี รวมทั้งให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย 3) จัดให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาครู เพื่อให้ครูมีจิตวิญญาณของความเป็นครูและ มีความรู้ความสามารถที่แท้จริง ทั้งให้ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม 4) จัดให้มีกลไกที่สร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู 5) ปรับปรุงการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามถนัด 6) ปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยให้สอดคล้องกันในทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ |
เปรียบเทียบบทบัญญัติด้านการศึกษาตามรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 |
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 |
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 |
หมายเหตุ (ประเด็นที่มีการปรับเปลี่ยนแก้ไข/เพิ่มเติม) |
หมวด 4 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 42 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอนและการวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มาตรา 43 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย การจัดการศึกษาอบรมของรัฐต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพและเอกชนภายใต้การกำกับดูแลของรัฐย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ |
หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ส่วนที่ 8 สิทธิและสิทธิในการศึกษา มาตรา 50 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มาตรา 49 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบากต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่งและการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ |
หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50 บุคคลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (4) เข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ |
1) กำหนดให้เป็นหน้าที่แทนของเดิมที่เป็นเคยเป็นสิทธิและเสรีภาพ โดยการกำหนดหน้าที่เป็นหลักเพื่อให้ควบคู่กับสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับรองไว้ในหมวด 3 2) เป็นการเพิ่มเติมให้เห็นอย่างชัดถึงหน้าที่ในด้านการศึกษาอันแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับ ๆ จึงเป็นผลให้มีการบังคับว่าเด็กทุกคนต้องมีหน้าที่เข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ จึงเป็นหน้าที่ของบิดามารดาหรือผู้ปกครองที่จะต้องนำเด็กเข้าไปรับการศึกษาอบรม |
หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 81 รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างเสริมความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยในศิลปะวิทยาการต่าง ๆ เร่งรัดพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาวิชาชีพครู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ |
หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 80 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม ดังต่อไปนี้ (1) คุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน สนับสนุนการอบรมเลี้ยงดูและการศึกษาปฐมวัย ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของสถาบันครอบครัวและชุมชน รวมทั้งต้องสงเคราะห์และจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพและผู้อยู่ในสภาวะยากลำบากให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้... (3) พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จัดให้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ จัดให้มีการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก รวมทั้งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกของความเป็นไทย มีระเบียบวินัย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (4) ส่งเสริมและสนับสนุนการกระจายอำนาจเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน องค์การทางศาสนา และเอกชน จัดและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนามาตรฐานคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมและสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ (5) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยในศิลปวิทยาการแขนงต่าง ๆ และเผยแพร่ข้อมูลผลการศึกษาวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยจากรัฐ
|
หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่ง เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับและโดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการกำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติและการดำเนินการและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ ในการดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาตามวรรคสอง หรือให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามวรรคสาม รัฐต้องดำเนินการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามความถนัดของตน ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุน หรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษีรวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกฎหมายดังกล่าว อย่างน้อยต้องกำหนดให้การบริหารจัดการกองทุนเป็นอิสระและกำหนดให้มีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อบรรลุประสงค์ดังกล่าว |
1) รัฐธรรมนูญกำหนดเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ในเรื่องหน้าที่ของรัฐ ที่รัฐจะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญนี้ 2) สาเหตุที่กำหนดเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ให้แตกต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับ ๆก่อน เนื่องจากเนื้อหาในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๆ มีลักษณะเป็นนามธรรมส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ตามกฎหมายอย่างแท้จริง จึงได้มีการมีการนำเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการศึกษามาบัญญัติไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐแทนเพื่อให้การดำเนินงานของรัฐ หน่วยงานของรัฐ สามารถตอบสนองต่อประโยชน์ตามกฎหมายของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งหมายที่จะขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและให้โอกาสทางการศึกษาให้มีความทัดเทียมกันอย่างแท้จริง ฉะนั้นผลของกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ จึงทำให้รัฐต้องมีหน้าที่จากเดิมที่เป็นเพียงรัฐพึงปฏิบัติ 3) ในส่วนที่กำหนดไว้ในมาตรา 54 นั้นเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาที่มีความเสมอภาคแก่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะและทุกพื้นที่ โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเข้ามาดูแลและพัฒนาตั้งแต่เด็กเล็กก่อนวัยเรียนให้สามารถมีสติปัญญาที่เหมาะสมกับช่วงวัย อีกทั้งฝึกฝนด้านวินัยที่ดีงาม รวมถึงกำหนดแนวคิดของการศึกษาในมหาวิทยาลัยใหม่โดยให้มีการศึกษาไปตามความถนัดอย่างแท้จริง และมีการส่งเสริมให้เกิดการตั้งกองทุนเพื่อเป็นแหล่งเงินในการสนับสนุนทางการศึกษาแก่ผู้เรียน จึงจะเป็นได้ว่ารัฐธรรมนูญใหม่นี้ มีการกำหนดวางแผนการศึกษาอนาคตของชาติอย่างเป็นขั้นตอนและระยะยาว |
|
|
หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผล ดังต่อไปนี้ จ. ด้านการศึกษา (1) ให้สามารถเริ่มดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา ตามมาตรา 54 วรรคสอง เพื่อให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาให้สมกับวัยโดยเก็บค่าใช้จ่าย (2) ให้ดำเนินการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนตามมาตรา 54 วรรคหก ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ (3) ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู (4) ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัดและปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ มาตรา 261 ในการปฏิรูปตามมาตรา 258 จ.ด้านการศึกษา ให้มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระคณะหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และให้คณะกรรมการดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง |
1) บทบัญญัติในหมวดนี้เป็นการบัญญัติขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นกลไกที่สำคัญให้เกิดกระบวนการปฏิรูปได้อย่างแท้จริง ทั้งจะเป็นการขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวหน้าไปอย่างมั่นคงหากทุกคนมีพื้นฐานการศึกษาที่ดี มีความทัดเทียมกันและมีความรู้ความสามารถ มีเชี่ยวชาญตามสาขาวิชาที่ตนถนัด ในหมวดนี้จึงบัญญัติกรอบเวลาในการฏิรูปไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งมีบทบังคับในตัวเองเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ |
บรรณานุกรม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 260.
สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. บทบัญญัติด้านการศึกษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร
ไทย พุทธศักราช 2560. Academic Focus มีนาคม 2561.http://www.parliment.go.th/library.