คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 23:53, 18 มีนาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "<div> ผู้เรียบเรียง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมา...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายภัทระ คำพิทักษ์


1. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายกรัฐมนตรี และ คณะรัฐมนตรี

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน (มาตรา 158 วรรคแรก) ดังนี้ รัฐธรรมนูญจึงกำหนดคุณสมบัติของรัฐมนตรีไว้ในมาตรา 160 กล่าวคือ

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี

(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

(4) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 โดยในส่วนนี้ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคสอง ยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) มาใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง ทั่วไปครั้งแรก

(7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากรัฐมนตรีเป็นบุคคลที่ไม่ควรจะต้องมีเหตุมัวหมองและไม่เหมาะสมในการบริหารราชการแผ่นดิน

(8) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดห้ามมิให้ข้าราชการและพนักงานของรัฐซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง จะเป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นมิได้ (มาตรา 181) หมายความว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าจะต้องไม่เป็นข้าราชการและพนักงานของรัฐที่มีเงินเดือนประจำหรือข้าราชการการเมืองอื่น ๆ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่เข้าลักษณะตาม (1)-(18) เช่น

  • เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
  • เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  • เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี
  • เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

          ข้อสังเกต รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดคุณสมบัติในการของรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น ผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีอาจจะมาจากผู้ที่ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เช่นเดียวกับกรณีของนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

คุณสมบัติของสมาชิกรัฐสภาไทย

          สมาชิกรัฐสภาของประเทศไทยเป็นระบบสภาคู่ ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภาทำหน้าที่เป็นสภาเติมเต็มหรือสภาพลเมืองให้แก่สภาผู้แทนราษฎร[1] ดังนั้น ในส่วนนี้จึงต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ สมาชิกวุฒิสภา ดังนี้

1. คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

          รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 97 ถึงคุณสมบัติของบุคคลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ

          (1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

          (2) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง

          (3) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภาระยะเวลาเก้าสิบวันดังกล่าวให้ลดลงเหลือสามสิบวัน

          (4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย

          (ก) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

          (ข) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง

          (ค) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีการศึกษา

          (ง) เคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี

2. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภา

รัฐธรรมนูญกำหนดที่มาของสมาชิกวุฒิสภาไว้ 3 กรณี คือ

          2.1 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจัดให้มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 200 คน โดยคัดเลือกจากผู้ที่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามไว้ในมาตรา 108 ดังต่อไปนี้

ก. คุณสมบัติ

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีในวันสมัครรับเลือก

(3) มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่าสิบปีหรือเป็นผู้มีลักษณะตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

(4) เกิด มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ทำงาน หรือมีความเกี่ยวพันกับพื้นที่ที่สมัครตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

ข. ลักษณะต้องห้าม

(1) เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 98 (1) (2) (3) (4) (4) (6) (7) (8) (9) (10) (11) (14) (16) (17) หรือ (18)

(2) เป็นข้าราชการ

(3) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก

(4) เป็นสมาชิกพรรคการเมือง

(4) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่ได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก

(6) เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก

(7) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก

(8) เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในคราวเดียวกันหรือผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญหรือในองค์กรอิสระ

(9) เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้

          2.2 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภาในการคัดเลือกโดยคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา

          ภายหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดบทเฉพาะกาล ไว้ในมาตรา 269 ในวาระเริ่มแรกให้วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยห้าสิบคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ โดยในการสรรหาวุฒิสภาเป็นหน้าที่ของ “คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา” จำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบสองคน ทำหน้าที่ดำเนินการสรรหาบุคคลซึ่งสมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศมีจำนวนไม่เกินสี่ร้อยคน แล้วนำรายชื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติคัดเลือกผู้ได้รับเลือก

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 269 วรรคหนึ่ง (2) ได้กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการสรรหา “มิให้นำความในมาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (6) ในส่วนที่เกี่ยวกับการเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับสรรหา

          2.3 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง

          รัฐธรรมนูญมาตรา 269 กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง 6 ตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 269 วรรคหนึ่ง (2) ได้กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง “มิให้นำความในมาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (2) มาตรา 184 (1) และมาตรา 184 มาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง” ดังนั้น คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของวุฒิสภาโดยตำแหน่งจึงไม่นำบทบัญญัติในเรื่องดังต่อไปนี้มาเป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ดังนี้

  • เป็นข้าราชการ (มาตรา 108 ข.(2)    
  • ไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (มาตรา 184 (1))
  • การใช้สถานะหรือตำแหน่งในการปฏิบัติราชการหรือดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น (มาตรา 185)

บรรณานุกรม

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ, คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เล่มที่ 1, 12 เมษายน 2559, หน้า 24.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. (6 เมษายน 2560). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก.

 

อ้างอิง


[1] คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ, คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เล่มที่ 1, 12 เมษายน 2559, หน้า 24.