หน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 23:19, 18 มีนาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "<div> = '''แนวคิด “หน้าที่ของรัฐ” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

แนวคิด “หน้าที่ของรัฐ” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

        รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดให้มีหมวดว่าด้วย “หน้าที่ของรัฐ” ขึ้นเป็นหมวดใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ประชาชนว่า รัฐต้องดำเนินการอันเป็นหน้าที่ของรัฐตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดตามกำลังความสามารถทางการเงินการคลังของรัฐ เพื่อให้สิทธิของประชาชนในเรื่องสำคัญ ๆ เกิดเป็นรูปธรรมขึ้น และ ให้เกิดความสอดคล้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ กล่าวคือ สิ่งใดที่รัฐกำหนดให้เป็นสิทธิ หมายความว่า รัฐมีหน้าที่โดยเฉพาะเจาะจงที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ ในขณะที่สิ่งใดเป็นเสรีภาพ หมายความว่า รัฐมีหน้าที่ทั่วไปที่จะงดเว้นไม่ขัดขวางการใช้เสรีภาพนั้นของประชาชน แต่รัฐไม่มีหน้าที่โดยเฉพาะเจาะจงที่จะต้องจัดหาสิ่งที่เป็นเสรีภาพให้ ดังนั้น ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นหน้าที่ของรัฐในการพิทักษ์ ปกป้อง คุ้มครอง สิทธิ เสรีภาพของประชาชนทุกคนภายในรัฐเป็นหลักประกันว่าคนทุกคนภายในรัฐจะได้รับการปกป้อง คุ้มครอง ดูแลสิทธิ เสรีภาพ อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน  

        การบัญญัติหน้าที่ของรัฐในหมวดนี้เกิดจากแนวคิดที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ทบทวนหมวดสิทธิและเสรีภาพ และหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ประกอบกับสิทธิ เสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่รัฐมีหน้าที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดให้ “รัฐมีหน้าที่ต่อประชาชน” ด้วยเพื่อให้รัฐต้องดำเนินการในเรื่องที่กำหนดให้แก่ประชาชน “ทุกคน” หรือ “ทุกชุมชน” เป็นการทั่วไป โดยที่ประชาชนแต่ละคนหรือแต่ละชุมชน “ไม่ต้องใช้สิทธิร้องขอ” โดยนําเอาเฉพาะเรื่องที่มีความสําคัญมาบัญญัติไว้เท่านั้น เพื่อให้มีสภาพบังคับให้รัฐต้องทําตามหน้าที่ ถ้ารัฐไม่กระทำตามหน้าที่ ก็จะเป็นกรณีจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ หรือถ้ากระทำหน้าที่ไม่ดี ประชาชนและชุมชนย่อมมีสิทธิติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ และฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดให้ประชาชนหรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้นได้[1] (มาตรา 51) ทั้งนี้ เพื่อบริการประชาชนและเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป

 

ประเภทของ “หน้าที่ของรัฐ” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

        จากแนวคิดดังกล่าวข้างต้นจึงได้มีการบัญญัติหน้าที่ของรัฐไว้ในหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบด้วย หน้าที่พื้นฐานของรัฐ และ หน้าที่ของรัฐในการทําให้สิทธิของประชาชนเกิดผลได้จริง สาระที่บัญญัติไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐให้มีสภาพบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติ ไม่เช่นนั้นอาจเป็นเหตุฟ้องร้องบังคับให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติได้ ดังนั้น จึงบัญญัติเฉพาะหลักการสาคัญและจำเป็น ดังจะเห็นได้ว่าการใช้ถ้อยคำจะใช้ว่า “รัฐต้อง ...” ซึ่งมีนัยสำคัญว่าเป็นการบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติ รายละเอียดดังนี้

 

1. หน้าที่พื้นฐานของรัฐ

        1.1 “'รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย' บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน” ทั้งนี้ ความว่า “บูรณภาพแห่งอาณาเขต” แปลว่า ความครบถ้วนสมบูรณ์ของอาณาเขต ซึ่งรัฐจักต้องรักษาไว้ให้ครบถ้วนสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลาโดยจะบกพร่องมิได้ โดยอาณาเขตหมายความรวมถึงบนท้องฟ้า ใต้น้ำ ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะ เป็นต้น ส่วนความว่า “เขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย”
มีความหมายรวมถึงสิทธิพิเศษในการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ของรัฐชายฝั่ง[2]

        “กำลังทหารให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้วย” บทบัญญัติในวรรคสองบัญญัติขึ้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนให้กำลังทหารสามารถพัฒนาประเทศได้เพื่อไม่ให้ขัดต่อหลักเสรีภาพของบุคคลหรือไม่ รวมทั้งการใช้งบประมาณในด้านการพัฒนา

        1.2 “รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด” รัฐธรรมนูญมุ่งหมายให้กฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างจริงจังและเข้มงวด แนวคิดดังกล่าวนี้เป็นการสร้างความเข้มงวดกวดขันให้เกิดขึ้นแก่ทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชน ในขณะเดียวกันก็ให้อำนาจประชาชนในอันที่จะติดตามการปฏิบัติหน้าที่

ของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ด้วย[3]

2. หน้าที่ของรัฐในการทําให้สิทธิของประชาชนเกิดผลได้จริง     

        2.1 “หน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการศึกษา” เป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รัฐยังมีหน้าที่ต้องพัฒนาเด็กเล็กก่อนเข้ารับการศึกษาภาคบังคับในด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย ในส่วนของกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และการดำเนินการและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ตลอดทั้งต้องจัดตั้งกองทุนและจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษีรวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย หน้าที่ในด้านการศึกษาของรัฐนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และทำให้โอกาสทางการศึกษาของทุกคนทัดเทียมกันอย่างแท้จริง (มาตรา 54)

        2.2 “หน้าที่ด้านบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน” รัฐต้องให้บริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ และมีมาตรฐาน พร้อมทั้งเสริมสร้างความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค
และ การพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทย (มาตรา 55) นอกจากบทบัญญัติในมาตรานี้แล้ว บทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองและการอนุเคราะห์บุคคลในเรื่องสุขภาพอนามัย ยังมีบัญญัติไว้ในมาตราอื่นอีก คือ มาตรา 47 มาตรา 48 มาตรา 71 มาตรา 258 ช. (4)

        2.3 “หน้าที่ด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน” ดังนั้น รัฐต้องพัฒนาโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ เน้นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการวางแผนการพัฒนาพร้อมทั้งคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้ ทั้งนี้ ฐต้องดูแลมิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร (มาตรา 56)

        2.4 “หน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมและศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม” รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐและขณะเดียวกันก็ได้รับรองสิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีอันดีงาม ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ (มาตรา 57) อนึ่ง บทบัญญัติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรม ต้องพิจารณาประกอบกัน 4 มาตรา คือ มาตรา 43 มาตรา 50 (8) มาตรา 57 และมาตรา 58

        2.5 “หน้าที่ด้านการพิจารณาอนุญาตต่อการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ คุณภาพชีวิตของประชาชน” รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน (EHIA) และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ
ถ้ามีผลกระทบเกิดขึ้น รัฐต้องเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม และโดยไม่ชักช้า (มาตรา 58)

        2.6 “หน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะ” ในครอบครองของหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการและต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก (มาตรา 59) อนึ่ง การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้
จะบัญญัติอยู่ทั้ง 2 หมวด กล่าวคือ ในมาตรา 41(1) เป็นการบัญญัติรับรองถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารสาธารณะที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ และ อีกส่วนตามมาตรา 59 นี้ ด้วยการกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้น ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติจึงต้อพิจารณาพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ
พ.ศ. 2544 ประกอบ

        2.7 “หน้าที่รักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ”
การจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ
และประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ รัฐต้องจัดให้มีองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ (มาตรา 60)

        สำหรับที่มาของหน้าที่ในส่วนของวงโคจรของดาวเทียมนั้นเป็นเรื่องการตกลงระหว่างประเทศในการใช้สิทธิในวงโคจร จึงถือเป็นสมบัติของชาติที่รัฐต้องดูแลประโยชน์ในส่วนดังกล่าวนี้ด้วย

        2.8 “หน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค” ด้านการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นธรรมในการทำสัญญา หรือด้านอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค (มาตรา 61) เพื่อให้รัฐดำเนินการอย่างจริงจังและให้เกิดผลในการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ

        2.9 “หน้าที่กษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด” เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และจัดระบบภาษีให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม (มาตรา 62) อนึ่ง การรักษาวินัยการเงินการคลังนี้จะมีบัญญัติไว้ในมาตราอื่น ๆ อีกหลายมาตรา เช่น มาตรา 140 มาตรา 142 และมาตรา 164 (2) เป็นต้น

        2.10 “หน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน” และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ (มาตรา 63)

 

บรรณานุกรม

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ, คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เล่มที่ 1, 12 เมษายน 2559.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. (6 เมษายน 2560). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. พฤษภาคม 2562.

 

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

บทความวิชาการ เรื่อง หน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560, ออนไลน์ https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2560/hi2560-061.pdf, สิงหาค ม 2560.

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. สาระน่ารู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ชุด “สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของปวงชนชาวไทย”. พฤศจิกายน 2560.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. พฤษภาคม 2562.

อ้างอิง

[1] คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ, คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เล่มที่ 1, 12 เมษายน 2559.

[2] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. พฤษภาคม 2562, หน้า 37.

[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 78.