การเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 23:10, 18 มีนาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "<div> ผู้เรียบเรียง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมา...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายภัทระ คำพิทักษ์


การเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

          การให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นการนำหลักการอำนาจ “อธิปไตยเป็นของประชาชน” ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นผู้ปกครองและเป็นผู้อยู่ใต้ปกครองเช่นเดียวกัน โดยหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนนั้นจะเป็นการให้สิทธิแก่ประชาชนในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ การเข้าชื่อเสนอกฎหมายจึงเป็นการให้สิทธิแก่ประชาชนในการใช้สิทธิในทางตรงอันเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอันเป็นส่วนเสริมหลักประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนราษฎร

ความเป็นมาของการเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

          หลักการเข้าชื่อเสนอกฎหมายถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในมาตรา 170 ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายตามที่กำหนดในหมวด 3 (สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย) และ หมวด 5 (แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ) แต่ทว่าการมีส่วนร่วมดังกล่าวยังคงมีอุปสรรคอยู่หลายประการในตลอดช่วงระยะเวลาที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จากการสรุปผลการดำเนินงานการเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จำนวน 16 ฉบับ ปัญหาส่วนใหญ่ คือ การจำหน่ายเรื่องเนื่องจากจำนวนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายไม่ครบ 50,000 คน และเป็นการเสนอกฎหมายไม่เป็นไปตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในหมวด 3 และ หมวด 5 รวมทั้งการสิ้นสุดไปเนื่องจากมีการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540[1]

          ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้บัญญัติเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายไว้สองส่วน คือ

(1) มาตรา 163 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด 3 (สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย) และ หมวด 5 (แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ) แห่งรัฐธรรมนูญนี้ พร้อมทั้งกำหนดให้หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อ รวมทั้งการตรวจสอบรายชื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยต่อมาได้ประกาศใช้ “พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556” เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และ

(2) มาตรา291 การให้สิทธิแก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

สรุปผลการดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายจำนวน 8 ฉบับ นอกจากนั้นเป็นเรื่องของการที่รัฐสภาไม่รับหลักการ หรือประธานรัฐสภาสั่งจำหน่ายเรื่องเนื่องจากไม่เป็นไปตามหมวด 3 หรือหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ หรือ ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หรือ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย รวมทั้งสิ้นสุดไปเนื่องจากมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 ประกอบฉบับที่ 11/2557[2]

ปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้วางหลักการเพื่อให้ประชาชนสามารถสร้างความรับรู้ความเข้าใจในหลักการและเหตุผลของรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสารัตถะของร่างรัฐธรรมนูญด้วยการเสนอแนะข้อควรแก้ไขเพิ่มเติม และให้ประชาชนได้ออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบแก่ร่างรัฐธรรมนูญ ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายด้วยการจัดให้มีกลไกการช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้สิทธิทางการเมืองโดยตรงของประชาชนในกระบวนการนิติบัญญัติ
(มาตรา 258 ค.) ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนอันเป็นการใช้สิทธิทางการเมืองโดยตรงนั้น ปรากฏในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

(1) ในการให้สิทธิทางตรงแก่ประชาชนในด้านการเข้าชื่อเสนอกฎหมายก็ยังคงหลักการเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ที่ผ่านมา กล่าวคือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ในกรณีที่เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี (มาตรา 133)

(2) กรณีการเข้าชื่อเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (มาตรา 256) แต่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐอันเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวมิได้ (มาตรา 255)

(3) กรณีการเข้าชื่อกันของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเสนอข้อบัญญัติหรือเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่นได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 254)

          สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติก็ยังคงใช้ “พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556” เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

 

ผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายและประเภทของกฎหมายที่ประชาชนสามารถเสนอได้

          สำหรับประเภทของกฎหมายที่ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอได้ หมายถึง กฎหมายในระดับ “พระราชบัญญัติ” ทั้งนี้ ประชาชนที่จะเข้าชื่อเสนอกฎหมายจึงเป็นเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติ” แก่ประธานรัฐสภาเพื่อดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนต่อไปนั่นเอง

รัฐธรรมนูญกำหนดให้ “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” เป็นผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย นอกจากนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 มาตรา 4 บัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้บุคคลที่มีคุณสมบัติให้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แก่ (1) บุคคลที่มีสัญชาติไทย และหากแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี (2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีในวันเลือกตั้ง และ (3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง (มาตรา 95)

           

วิธีการและขั้นตอนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

          พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 วางหลักในการเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือการเสนอชื่อเพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็ดีต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในวันที่ยื่นคำร้องขอต่อประธานรัฐสภา (มาตรา 5)

          ขั้นตอนในการเสนอร่างกฎหมาย พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 กำหนดไว้ดังนี้

          1 ต้องมีผู้ริเริ่มซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน รวบรวมลายมือชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (มาตรา 6) ให้ได้ตามคุณสมบัติและจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด คือ

- กรณีเสนอกฎหมายต้องเป็นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน หรือ

- กรณีขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเป็นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน 

          2 หลักฐานที่ต้องใช้สำเนาบัตรประชาชน หรือบัตรอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้และมีหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้นั้นเพื่อเป็นหลักฐานแนบในการเสนอชื่อ (มาตรา 7)

          3 เรื่องที่จะเสนอหรือขอแก้ไข (มาตรา 8)

- กรณีเสนอกฎหมายเรื่องที่จะเสนอ ได้แก่ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือ หน้าที่ของรัฐ  ข้อสังเกต พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 กำหนดให้เรื่องที่จะเข้าชื่อเสนอกฎหมายต้องเป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการเกี่ยวกับ “สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย” หรือ “แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ” ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้เรื่องที่จะเสนอกฎหมายเปลี่ยนจากแนวนโยบายแห่งรัฐเป็น “หน้าที่ของรัฐ” กรณีดังกล่าวนี้จึงต้องนำไปสู่การแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ นี้ต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

- กรณีขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องไม่ใช่เรื่องที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 255 ประกอบ พ.ร.บ.การเข้าชื่อฯ มาตรา 12)

- ในกรณีที่เป็น “ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน” จะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี

          4 ขั้นตอนตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของเอกสาร โดยเป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภาในการดำเนินการตรวจสอบและหากปรากฏว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่ถึงหนึ่งหมื่นคนหรือมีเอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนแจ้งเรื่องเป็นหนังสือไปยังผู้ริเริ่มเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนต่อไป เมื่อเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนแล้วให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประกาศรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และจัดเอกสารไว้เพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบ ณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และให้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้มีรายชื่อนั้นด้วย (มาตรา 10)

          5 ขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมาย โดยประธานรัฐสภาจะต้องดำเนินการให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (มาตรา 10 วรรคสอง)

 

รูปภาพที่ 1 วิธีการและขั้นตอนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

[[File:|751x341px|คำอธิบาย: C:\Users\PoKPaK\Desktop\Untitled.jpg]]

 

 

 

ตารางเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 2550 และ 2560 ประเด็นการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

 

ประเด็น

รัฐธรรมนูญแห่งราช
อาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

รัฐธรรมนูญแห่งราช
อาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

รัฐธรรมนูญแห่งราช
อาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

คุณสมบัติและจำนวนของประชาชน

 

มาตรา 170'ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า '50,000 คน

'มาตรา 163 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า '10,000 คน

'มาตรา 133 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า'10,000 คน

เรื่องที่จะเสนอหรือแก้ไข

มาตรา 170 ประชาชนมีสิทธิเสนอ ร่างพ.ร.บ. เฉพาะตามที่บัญญัติไว้ใน

หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของประชาชน

หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

มาตรา 163 ประชาชนมีสิทธิเสนอ ร่างพ.ร.บ. เฉพาะตามที่บัญญัติไว้ใน

หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย

หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

มาตรา 133 ประชาชนมีสิทธิเสนอ ร่างพ.ร.บ. เฉพาะตามที่บัญญัติไว้ใน

หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ

เงื่อนไขเพิ่มเติมในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

มาตรา 171 หากเป็นร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับเงินต้องได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี

มาตรา 163 หากเป็นร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับเงินต้องได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี

มาตรา 133 หากเป็นร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับเงินต้องได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี

การเสนอกฎหมายระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

 

มาตรา 254 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเสนอข้อบัญญัติหรือเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น

 

 

บรรณานุกรม

พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 130/ตอนที่ 119 ก/หน้า 1/17 ธันวาคม 2556

รัฐสภาไทย, สรุปผลการดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จำนวน 16 ฉบับ, เข้าถึงจาก https://www.parliament.go.th/, เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562.

รัฐสภาไทย, สรุปผลการดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จำนวน 51 ฉบับ, เข้าถึงจาก https://www.parliament.go.th/, เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540” (11 ตุลาคม 2540). ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 114 ตอนที่ 55 ก, น. 70.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550” (24 สิงหาคม 2550). ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 124 ตอนที่ 47 ก, น. 101-111.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” (6 เมษายน 2560). ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 134 ตอนที่ 40 ก, น. 69-70.

เอกสารอ่านเพิ่มเติม

วรชัย แสนสินะ, มุมสะท้อนความคิดนิติบัญญัติ เรื่อง สิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนจะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้ได้อย่างไร, จุลนิติ มี.ค. – เม.ย. 53, หน้า 115 – 129.

สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, เอกสารวิชาการ เรื่อง การเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน, ออนไลน์จาก http://www.parloament.go.th/library.

อ้างอิง


[1] รัฐสภาไทย, สรุปผลการดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จำนวน 16 ฉบับ, เข้าถึงจาก https://www.parliament.go.th/, เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562.

[2] รัฐสภาไทย, สรุปผลการดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จำนวน 51 ฉบับ, เข้าถึงจาก https://www.parliament.go.th/, เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562.