ยุทธศาสตร์ชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 22:26, 18 มีนาคม 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "<div> ผู้เรียบเรียง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมา...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายภัทระ คำพิทักษ์


ความหมายของคำว่า “ยุทธศาสตร์”

          มีการให้ความหมายของคำว่ายุทธศาสตร์ในหลายแนวทาง เช่น 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า “ยุทธศาสตร์” ไว้ 2 ลักษณะ หมายถึง วิชาว่าด้วยการพัฒนาและการใช้อำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ จิตวิทยา และกำลังรบทางทหารตามความจำเป็นทั้งในยามสงบและยามสงคราม หรือ ยุทธศาสตร์ หมายถึง ที่มีความสำคัญทางการเมือง เศรษฐกิจ จิตวิทยา และกำลังรบทางทหาร ทั้งในยามสงบและยามสงคราม เช่น จุดยุทธศาสตร์[1]

          Joint Chieft of Staff Pub. I. ยุทธศาสตร์ คือ ศิลปะและศาสตร์ในการพัฒนา และการใช้อำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ จิตวิทยา และทางการทหารของชาติ ในยามสงบและยามสงคราม โดยให้การ สนับสนุนอย่างสูงสุดต่อนโยบายของชาติ เพื่อเพิ่มพูนโอกาสและความได้เปรียบที่จะได้มา ซึ่งชัยชนะ และลดโอกาสที่จะประสบปัญหากับความพ่ายแพ้ให้น้อยลง[2]

          ยุทธศาสตร์ หมายถึง วิชาการหรือแผนการที่คิดขึ้นอย่างรอบคอบ มีลักษณะเป็นขั้นตอนมีความยืดหยุ่นพลิกแพลงได้ตามสถานการณ์ มุ่งหมายเพื่อเอาชนะคู่แข่งขันหรือเพื่อหลบหลีกอุปสรรค์ต่าง ๆ จนสามารถบรรลุเป้าหมายที่ต้องการเพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่งขันหรือเพื่อประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้[3]

          สรุปได้ว่า ยุทธศาสตร์ คือ กลยุทธ์หรือแนวทางในการดำเนินการในแต่ละด้านเพื่อให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เมื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ “ยุทธศาสตร์ชาติ” จึงเป็นเป้าหมายหรือเข็มทิศในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าในหลักปรัชญาที่กำหนดให้ประเทศไทยมีความมั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในหลักธรรมาภิบาล

ยุทธศาสตร์ชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

          นับเป็นครั้งแรกของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ได้วางหลักการใหม่อันพึงให้รัฐจัดให้มี “ยุทธศาสตร์ชาติ” ขึ้นเพื่อกำหนดแผนการพัฒนาประเทศในมาตรา 65 ภายใต้หมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ เพื่อกำหนดให้รัฐต้องพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล โดยการกำหนดกรอบระยะเวลาพร้อมทั้งแนวทางในการพัฒนาหน่วยงานของรัฐภาคส่วนต่าง ๆ ให้ต้องปฏิบัติอันนำไปสู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตาม พร้อมทั้งบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมกันนี้เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดให้การดำเนินงานดังต่อไปนี้ต้องพิจารณาถึงความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย กล่าวคือ

                    1 ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณต้องมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่าง ๆ  (มาตรา 142)

                    2 การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของคณะรัฐมนตรีเพื่อเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย (มาตรา 162

                    3 ให้วุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ (มาตรา 270)

          ยุทธศาสตร์ชาติจะกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) ของชาติ และ แผนยุทธศาสตร์ (Strategic Plan) ที่ประชาชนทุกภาคส่วนและรัฐเห็นพ้องร่วมกัน และร่วมมือกันเพื่อเป็นพลังในการช่วยกันทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนของชาติในระยะยาว โดยมีตัวชี้วัดผลความคืบหน้าในการดำเนินการและความสำเร็จที่ชัดเจนและเป็นสากล ซึ่งการจัดทำ เปลี่ยนแปลง ทบทวนยุทธศาสตร์ชาติต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติและประชาชนทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึงด้วย[4]

การจัดทำ การกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมและต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย (มาตรา 65 วรรคสอง) พร้อมกันนี้ เพื่อให้การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติสำเร็จเกิดผลใช้บังคับได้อย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการจัดให้มีกฎหมายตามมาตรา 65 วรรคสอง ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎหมายดังกล่าวใช้บังคับ (มาตรา 275) ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

 

พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พุทธศักราช 2560 และ ประกาศ เรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580)

          เจตนารมณ์ในการออก “พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พุทธศักราช 2560” เนื่องจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 65 กำหนดให้รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้กำหนดให้การจัดทำ การกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุ เป้าหมาย และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ และกฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ได้มีการตราพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560[5] มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 โดยกำหนดให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” เพื่อรับผิดชอบในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดวิธีการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ ในการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผล รวมทั้งกำหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกภาคส่วนดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

          เพื่อให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่าง ๆ รวม 6 คณะ อันประกอบด้วย

  • คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง
  • คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
  • คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
  • คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
  • คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

เพื่อรับผิดชอบในการดำเนินการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด ตลอดจนได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580)[6] คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้ดำเนินการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบกับในคราวประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ที่ประชุมได้ลงมติให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติแล้ว

 

สาระสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ

          ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) เป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาประเทศ ด้วยการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลายมิติ พัฒนาคน คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม โดยการประเมินผลการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย

1) ความอยู่ดีมีสุขของคนไทยและสังคมไทย

2) ขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาเศรษฐกิจและการกระจายรายได้

3) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ

4) ความเท่าเทียมและความเสมอภาคของสังคม

5) ความหลากหลายทางชีวภาพ คุณภาพสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ

6) ประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการเข้าถึงการให้บริการของภาครัฐ

การพัฒนาประเทศในช่วงระยะเวลาของยุทธศาสตร์ชาติ จะมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

1) ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ประกอบด้วย 5 ประเด็น ได้แก่ การรักษาความสงบภายในประเทศ การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง การพัฒนาศักยภาพของประเทศให้พร้อมเผชิญภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ การบูรณาการความร่วมมือด้านความมั่นคงกับอาเซียนและนานาชาติ และ การพัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม

2) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประกอบด้วย 5 ประเด็น คือ การเกษตรสร้างมูลค่า อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต สร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมไทย เชื่อมโลก และ พัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานผู้ประกอบการยุคใหม่

3) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ประกอบด้วย 7 ประเด็น ได้แก่ การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ในศตวรรษที่ 21 การตระหนักถึงพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย การเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี ครอบคลุมทั้งด้านกาย ใจ สติปัญญา และสังคม การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และ การเสริมสร้างศักยภาพการกีฬาในการสร้างคุณค่าทางสังคมและพัฒนาประเทศ

4) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ประกอบด้วย 4 ประเด็น ได้แก่ การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ การกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี การเสริมสร้างพลังทางสังคม การเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งตนเองและการจัดการตนเอง

5) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 6 ประเด็น ได้แก่ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ พัฒนาพื้นที่เมือง ชนบท เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มุ่งเน้นความเป็นเมืองที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง พัฒนาความมั่นคงน้ำ พลังงาน และเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ ยกระดับกระบวนทัศน์เพื่อกำหนดอนาคตประเทศ

6) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ประกอบด้วย 8 ประเด็น ได้แก่ ภาครัฐที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตอบสนองความต้องการ และให้บริการอย่างสะดวกรวดเร็ว โปร่งใส ภาครัฐบริหารงานแบบบูรณาการโดยมียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายและเชื่อมโยงการพัฒนาในทุกระดับ ทุกประเด็น ทุกภารกิจ และทุกพื้นที่ ภาครัฐมีขนาดเล็กลง เหมาะสมกับภารกิจ ส่งเสริมให้ประชาชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ภาครัฐมีความทันสมัย บุคลากรภาครัฐเป็นคนดีและเก่ง ยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสำนึกมีความสามารถสูง มุ่งมั่น และเป็นมืออาชีพ ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ กฎหมายมีความสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ และมีเท่าที่จำเป็น และ กระบวนการยุติธรรมเคารพสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติต่อประชาชนโดยเสมอภาค

 

บรรณานุกรม

กองวิชาฝ่ายอำนายการและวิชาทั่วไป ส่วนวิชาทหารโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, เอกสารประกอบการศึกษาวิชา ยุทธศาสตร์, หน้า 27.

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. การคิดเชิงกลยุทธ์. กรุงเทพฯ : ซัคเซสมีเดีย, 2546, หน้า 2-3.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. พฤษภาคม 2562.หน้า  99.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554, ออนไลน์ เข้าถึงจาก http://www.royin.go.th/
dictionary/, เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562.

ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 134 ตอนที่ 79 ก ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560.

ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 135 ตอนที่ 82 ก ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2561.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. (6 เมษายน 2560). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก.

 

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

          สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) ฉบับประกาศราชกิจจานุเบกษา. พิมพ์ครั้งที่ 1. ตุลาคม 2561.

          บุญร่วม เทียมจันทร์ และ ศรัญญา วิชชาธรรม. ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) พร้อมหัวข้อเรื่องทุกมาตรา ฉบับสมบูรณ์. สำนักพิมพ์ The Law Group.

 

อ้างอิง


[1] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554, ออนไลน์ เข้าถึงจาก http://www.royin.go.th/dictionary/, เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562.

[2] กองวิชาฝ่ายอำนายการและวิชาทั่วไป ส่วนวิชาทหารโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, เอกสารประกอบการศึกษาวิชา ยุทธศาสตร์, หน้า 27.

[3] เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. การคิดเชิงกลยุทธ์. กรุงเทพฯ : ซัคเซสมีเดีย, 2546, หน้า 2-3.

[4] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. พฤษภาคม 2562.หน้า  99.

[5] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 134 ตอนที่ 79 ก ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560.

[6] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 135 ตอนที่ 82 ก ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2561.