องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายภัทระ คำพิทักษ์


องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

 

1. ความหมายขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

แนวความคิดของ “องค์กรอิสระ” ปรากฏขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยการบัญญัติให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระประเภทต่าง ๆ แยกต่างหากจากองค์กรของรัฐที่มีอยู่แต่เดิม กำหนดให้มีสถานะที่อิสระนอกเหนือจากรัฐสภาฝ่ายนิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นองค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร และศาลซึ่งเป็นองค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการ โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้บัญญัติให้มีองค์กรของรัฐขึ้นเป็น 2 กลุ่ม คือ

          1) องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญโดยตรง ที่แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้เรียกชื่อโดยตรงว่า “องค์กรอิสระ” แต่ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์กรอิสระ เนื่องจากมีการระบุลงไปในรัฐธรรมนูญเลยว่าองค์กรใดบ้างที่จะให้มีสถานะเป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ ซึ่งจะทำให้องค์กรเหล่านั้นมีสถานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญไปในตัวด้วย ประกอบด้วย 5 องค์กร อันได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

                    2) องค์กรอิสระที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีการจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างกว้าง ๆ เฉพาะสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ ส่วนการดำเนินงานและสถานะขององค์กรของรัฐที่เป็นอิสระนั้นก็ให้ออกเป็นพระราชบัญญัติเป็นเรื่อง ๆ  ตามที่กฎหมายบัญญัติ

          2.1 “องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ” (มาตรา 40 วรรคสอง) องค์กรอิสระเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่ไว้ในรัฐธรรมนูญ

          2.2 “องค์การอิสระ” มี 2 องค์การ คือ องค์การอิสระเพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นทางสิ่งแวดล้อม (มาตรา 56 วรรคสอง) และ องค์การที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค (มาตรา 57 วรรคสอง)   

อย่างไรก็ดี ในรัฐธรรมนูญฯ ฉบับดังกล่าวนี้ก็ยังไม่ได้ให้ความหมายที่ชัดเจนของคำว่าองค์กรอิสระ จนกระทั่งมีคดีพิพาทเกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญขึ้นตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 58-62/2543 ให้ความหมายของ “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” หมายถึง องค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญและกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญ มิใช่องค์กรที่เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหารที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ[1] โดยคำวินิจฉัยดังกล่าวก็มิได้ให้ความหมายที่ชัดเจนตามตัวของคำว่าองค์กรอิสระโดยเฉพาะ

จากความไม่ชัดเจนดังกล่าว ทำให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กำหนดให้มีหมวด “องค์กรอิสระ” ขึ้นเป็นหมวดที่ 11 (มาตรา 229 ถึงมาตรา 258) โดยการเปลี่ยนชื่อเรียนใหม่เป็น “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1) “องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” (ส่วนที่ 1) ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และ

2) “องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ” (ส่วนที่ 2) ได้แก่ องค์กรอัยการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติโดยที่ทั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และ องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ต่างก็ถือเป็นองค์กรอิสระทั้งสิ้น

การจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฯ ยังคงเน้นย้ำถึงความเป็นองค์กรอิสระแยกต่างหากจากองค์กรอื่นของฝ่ายบริหาร ด้วยการหันกลับมาใช้คำว่า “องค์กรอิสระ” แทนคำว่า “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” ด้วยการบัญญัติไว้ในหมวดที่ 12 นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฯ ฉบับปัจจุบันนี้ยังได้แบ่งแยกองค์กรอัยการออกจากหมวดองค์กรอิสระอีกด้วย

จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ผ่านมาในส่วนขององค์กรอิสระ จึงพอให้ความหมายของคำว่า “องค์กรอิสระ” หมายถึง องค์กรที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเกี่ยวกับภารกิจของรัฐตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย (กฎหมายในที่นี้หมายถึงกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญ ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ และ พระราชกำหนด หรือ กฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับเสมอพระราชบัญญัติ) เป็นองค์กรของรัฐที่มีสถานะพิเศษ คือ ความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อเป็นหลักประกันให้สามารถปฏิบัติภารกิจหน้าที่โดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ ทั้งยังปลอดจากการแทรกแซงขององค์กรของรัฐอื่นหรือสถาบันการเมืองอื่น รวมทั้งอยู่เหนือกระแสและการกดดันใด ๆ ที่เกิดขึ้นภายในสังคม[2]

 

2. ลักษณะขององค์กรอิสระ

การให้ความหมายขององค์กรอิสระตามข้างต้น ทำให้สามารถแบ่งลักษณะขององค์กรอิสระออกได้เป็น 2 ประการ ประกอบด้วย

1. สถานะเป็น “องค์กร” หมายถึง บุคคล กลุ่มบุคคล คณะบุคคล ในรูปแบบของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ อันเป็นองค์กรของรัฐที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายในความหมายของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด หรือ กฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับเสมอพระราชบัญญัติ

กฎหมายที่ให้อำนาจในการจัดตั้งองค์กรอิสระจึงแยกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ องค์กรอิสระที่ถูกจัดตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ องค์กรอิสระที่ถูกจัดตั้งตามกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด หรือ กฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับเสมอพระราชบัญญัติ

2. การทำงานที่เป็น “อิสระ” หมายถึง การทำงานได้โดยอิสระ ปราศจากการควบคุมจากองค์กรอื่น เพื่อให้เกิดความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ กฎหมายจึงกำหนดที่มาและการดำเนินงานไว้แตกต่างจากองค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร ดังต่อไปนี้

          2.1 ที่มา และ การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2560) ได้บัญญัติคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไว้ โดยคุณสมบัติสำคัญที่กรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต้องมี คือ ต้องเป็นบุคคลที่เป็นอิสระจากการเมืองและหน่วยงานของรัฐฝ่ายบริหาร ตลอดทั้งไม่อยู่ในตำแหน่งใดในทางธุรกิจเอกชนที่มุ่งหาผลกำไร (มาตรา 216)

            2.2 การสรรหาและการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2560) ได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่และอำนาจของ “คณะกรรมการสรรหา” (มาตรา 217)

          2.3 ความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2560) บัญญัติให้องค์กรอิสระแต่ละแห่งให้มี “หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการ ดำเนินการ และอำนวยความสะดวก” เพื่อให้องค์กรอิสระบรรลุภารกิจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎหมาย โดยที่หน่วยงานเหล่านั้นตะรับผิดชอบขึ้นตรงต่อองค์กรอิสระเพื่อให้เกิดความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งเป็นไปด้วยความอิสระอย่างแท้จริง (มาตรา 220) ทั้งยังบัญญัติให้องค์กรอิสระต้องร่วมมือและช่วยเหลือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กรอีกด้วย (มาตรา 221)

 

3. ประเภทขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2560) ได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไว้ 2 ประเภท ได้แก่ องค์กรอิสระที่ถูกจัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ และ องค์กรอิสระอื่นตามรัฐธรรมนูญ

 

3.1 องค์กรอิสระที่ถูกจัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2560) ได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระไว้ทั้งสิ้น 5 องค์กร ได้แก่  คณะกรรมการเลือกตั้ง (มาตรา 222-227) ผู้ตรวจการแผ่นดิน (มาตรา228-231)  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (มาตรา 232-237) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (มาตรา 238-245) และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (มาตรา 246-247)

          ความพิเศษของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือการกำหนดรายละเอียดที่ต้องใช้รวมกันระหว่างองค์กรอิสระไว้ในหมวด 12 ส่วนที่ 1 “บททั่วไป” ประกอบด้วย ความหมายขององค์กรอิสระ คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ การพ้นจากตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ การกำหนดให้มีหน่วยงานธุรการในการช่วยเหลืองานของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และ การกำหนดให้องค์กรอิสระให้ความร่วมมือและช่วยเหลือกัน

 

3.2 องค์กรอิสระอื่นตามรัฐธรรมนูญ

คือ องค์กรที่มีอิสระในการบริหารงาน ถือเป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ หรือ กฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับเสมอกับพระราชบัญญัติ วัตถุประสงค์ของการนำองค์กรอิสระอื่นมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญต้องการยกระดับขององค์กรให้มีหลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ จึงนำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2560) ได้บัญญัติให้มีองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ (มาตรา 60 วรรคสาม) องค์กรนี้ได้แก่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (มาตรา 274)

 

4. คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

องค์กรอิสระถือเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ และเป็นองค์กรที่มีสถานะพิเศษ ได้รับหลักประกันให้สามารถปฏิบัติภารกิจหน้าที่ได้โดยอิสระ ปลอดพ้นจากการแทรกแซงจากองค์กรอื่นของรัฐหรือสถาบันการเมืองอื่น สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันได้กำหนดเรื่องใหม่ที่ไม่เคยกำหนดในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ในสองเรื่อง คือ

1) การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรต่าง ๆ ตั้งแต่ ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ คณะรัฐมนตรี รัฐสภา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ไปจนถึงหัวหน้าหน่วยงานธุรการในศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ

2) การกำหนดให้องค์กรอิสระร่วมมือและช่วยเหลือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กร และถ้าองค์กรอิสระใดเห็นว่ามีผู้กระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่น ให้แจ้งองค์กรอิสระนั้นทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทุกองค์กรไว้ในมาตรา ๒๑๖ ดังนี้

๑) ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทุกองค์กรจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปี แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปี

๒) มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๐๑ (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด (๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า (๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (๕) มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๓) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๐๒ ด้วยการนำลักษณะต้องห้ามของตุลากการศาลรัฐธรรมนูญมาใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทุกองค์กรด้วย

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังได้มีการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามไว้เป็นการเฉพาะในแต่ละองค์กรไว้ในมาตราอื่น ๆ แล้วแต่ภารกิจขององค์กรนั้น ๆ เป็นสำคัญจึงจำเป็นต้องพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่นในองค์กรอิสระแต่ละองค์กรด้วย

 

5. เปรียบเทียบองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในฉบับที่ผ่านมา

         รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2560) แตกต่างจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับต่าง ๆ เท่าที่เคยมีมาอยู่ 3 ประการ ได้แก่

          ประการที่หนึ่ง การกำหนดให้มี “บททั่วไป” เพื่อใช้กับองค์กรอิสระทุกองค์กร โดยการบัญญัติเน้นให้เห็นความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตีความหมายได้ว่าองค์กรอิสระอื่นใดที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือ องค์กรอิสระที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายก็ยังคงมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่อยู่เช่นเดิม พร้อมกับการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การสรรหา การพ้นจากตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทุกองค์กรจะต้องเป็นไปตามบททั่วไป พร้อมกัยการกำหนดให้องค์กรอิสระทุกองค์กรต้องร่วมมือและช่วยเหลือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กร

          ประการที่สอง การตัด “องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ” ทิ้งไป เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับองค์กรอิสระ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติให้ “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ไว้ในส่วนขององค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญจึงให้เกิดความเข้าใจที่สับสนในทางวิชาการเนื่องจาก โดยแท้จริงแล้ว “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ตามหลักทางวิชาการแล้วถือว่าเป็นองค์กรอิสระ

          ประเด็นที่สาม การพิจารณาถึงความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในกรณี “องค์กรอัยการ” ถือเป็นองค์กรอิสระหรือไม่ กรณีดังกล่าวนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติให้ “องค์กรอัยการ”อยู่ในหมวด 13 มาตรา 248 ทำให้เห็นว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีความประสงค์จะแยกองค์กรของรัฐให้มีความชัดเจนด้วยการกำหนดให้มี รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และ องค์กรอัยการ ซึ่งจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้แยกศาลรัฐธรรมนูญออกจากศาล[3] และ แยกองค์อัยการออกจากองค์กรอิสระ อย่างไรก็ดีองค์กรอัยการก็ถือเป็นองค์กรอิสระอื่นตามรัฐธรรมนูญที่มีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง และไม่ให้ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง

 

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบ “องค์กรอิสระ” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540, 2550, 2560

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2540)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2550)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2560)

หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย

มาตรา 40 องค์กรอิสระเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่

มาตรา 56 องค์การอิสระทำหน้าที่ให้ความเห็นทางสิ่งแวดล้อม

มาตรา 57 องค์การอิสระที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย

มาตรา 47 องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระในการจัดสรรคลื่นความถี่

มาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

มาตรา 67 องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ

มาตรา 60 วรรคสาม องค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ ประกอบมาตรา 274 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

 

หมวด 6 รัฐสภา

ส่วนที่ 4 คณะกรรมการการเลือกตั้ง

ส่วนที่ 7 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

ส่วนที่ 8 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

หมวด 11 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนที่ 1 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

1. คณะกรรมการการเลือกตั้ง

2. ผู้ตรวจการแผ่นดิน

3. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

4. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

ส่วนที่ 2 องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ

1. องค์กรอัยการ

2. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

3. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

หมวด 12 องค์กรอิสระ

ส่วนที่ 1 บททั่วไป

ส่วนที่ 2 คณะกรรมการการเลือกตั้ง

ส่วนที่ 3 ผู้ตรวจการแผ่นดิน

ส่วนที่ 4 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ส่วนที่ 5 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

ส่วนที่ 6 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

หมวด 10 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

ส่วนที่ 2 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

 

หมวด 13 องค์กรอัยการ

 

6. บรรณานุกรม

ชาญชัย แสวงศักดิ์, องค์กรอิสระ : ข้อพิจารณาทางกฎหมายมหาชน, กรุงเทพ : วิญญูชน, 2561, หน้า 54.

นพดล เฮงเจริญ, องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ, [online : www.pub-law.net], 6 มิถุนายน 2562.

นิพนธ์ ฮะกีมี, องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ, เอกสารการสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมืองชั้นสูง หน่วยที่ 11 , มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, หน้า 11-14.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ราชกิจจานุเบกษา ๒๕๔๔/๗๓ก/๑/ ๒ กันยายน ๒๕๔๔

 

7. หนังสือแนะนำ

ชาญชัย แสวงศักดิ์. องค์กรอิสระ : ข้อพิจารณาทางกฎหมายมหาชน. กรุงเทพ : วิญญูชน. 2561.

มานิตย์ จุมปา. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2550). กรุงเทพ : บริษัทแอคทีฟ พริ้นท์ จำกัด. 2553.

 

อ้างอิง

[1] ราชกิจจานุเบกษา ๒๕๔๔/๗๓ก/๑/ ๒ กันยายน ๒๕๔๔

[2] นพดล เฮงเจริญ, องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ, [online : www.pub-law.net], 6 มิถุนายน 2562.

[3] ชาญชัย แสวงศักดิ์, องค์กรอิสระ : ข้อพิจารณาทางกฎหมายมหาชน, กรุงเทพ : วิญญูชน, 2561, หน้า 54.