ลม้าย อุทยานานนท์
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ลม้าย อุทยานานนท์ :ผู้นำรถถังยึดทำเนียบท่าช้าง
คืนวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 กลุ่มนายทหารหนุ่มซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่คุมกำลังทหารในกรุงเทพฯ ที่ตกลงใจกันนำทหารออกมายึดอำนาจล้มรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์นั้น มีชื่อนายทหารยศพันโทท่านหนึ่ง ชื่อ ลม้าย อุทยานานนท์ รวมอยู่ด้วย ท่านได้นำรถถังออกมาเพื่อปฏิบัติการ แต่ก็ถูกผู้บัญชาการทหารบกพลเอก อดุล อดุลเดชจรัส ออกมาสกัด และให้ถอดกระสุนปืนออก จากนั้นไล่ให้นำรถถังกลับเข้ากรมกอง
อย่างไรก็ตาม รถถังคันนั้นที่เลี้ยวกลับเหมือนว่าจะเข้ากรมกองดังที่ถูกสั่ง กลับยังหาทางหลบออกมายึดอำนาจ โดยเป้าหมายอยู่ที่ทำเนียบท่าช้างหรือบ้านพักของรัฐบุรุษอาวุโส นายปรีดี พนมยงค์ บนถนนพระอาทิตย์ ฝากริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงขนาดมีการยิงปืนเข้าไปที่บ้านพัก ก่อนที่ทหารจะบุกเข้าไป แต่ก็จับกุมตัวนายปรีดี ไม่ได้เพราะนายปรีดีได้หลบออกจากบ้านไปทางเรือแจวก่อนหน้านั้นเพียงเล็กน้อยแล้ว กระนั้น ในเช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 คณะนายทหารที่เรียกตัวเองว่า “คณะรัฐประหาร” นำโดยนายทหารนอกราชการ พลโท ผิน ชุณหะวัณ ก็ยึดอำนาจล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้สำเร็จ
ลม้ายเป็นคนแปดริ้ว เกิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ปี 2451 ที่บ้านหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา บิดา คือ พันโท พระเสนางควิจารณ์ (นิล อุทยานานนท์ ) มารดาชื่อ ใหญ่ ด้านการศึกษา ท่านได้เข้าโรงเรียนในร้อยทหารบก เมื่อวันที่ 14 กันยายน ปี 2464 เรียนจบนายร้อยได้ในปี 2472 และได้เข้ารับราชการทหารเป็นนายร้อยตรีในวันที่ 2 ธันวาคมปี 2473 ท่านก็เจริญก้าวหน้าในราชการทหารมาด้วยดี แม้จะไม่ได้เข้ามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 และก็ไม่ได้พัวพันกับกรณีกบฏบวรเดช ปี 2476 จนถึงปี 2488 ท่านก็ได้ยศเป็นพันโท และในวันที่ 19 มกราคม ปี 2489 ได้มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับกองพันที่2 กรมทหารราบ 11 ดังนั้น ในวันที่ทำการรัฐประหารจึงเป็นนายทหารผู้กุมกำลังสำคัญคนหนึ่งส่วนชีวิตสมรสนั้นท่านได้แต่งงานกับนางสาววิเชียร ชังคานนท์
เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้แล้วในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 แต่ก็ยังไม่กล้าเข้ามาเป็นรัฐบาลเอง จึงได้ขอให้นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในรัฐบาลก่อน ให้มารับเป็นนายกรัฐมนตรีจัดการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้นานาชาติให้การรับรองเสียก่อน เมื่อเลือกตั้งเสร็จ นายควง อภัยวงศ์ ก็ได้กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยความเห็นชอบของสภาฯ แต่ก็เป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน ถึงวันที่ 6 เมษายน ปี 2491 นายทหารบกระดับนายพัน 4 นาย จากคณะรัฐประหารก็เดินทางไปยื่นคำขาดที่บ้านนายกรัฐมนตรี ให้นายกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งนายควงก็ยอมลาออกจากนายกรัฐมนตรีหลังจากนั้นสองวัน นายทหารคนหนึ่งในจำนวน 4 นายที่เข้าไปจี้ให้นายกรัฐมนตรีลาออก
ในวันนั้นมีพันโท ลม้าย อุทยานานนท์ รวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง จึงแสดงว่าท่านเป็นนายทหารที่มีบทบาทสำคัญมากในคณะรัฐประหารในวันนั้น แต่หลังจากวันที่บีบให้นายกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว พันโท ลม้ายก็อยู่กับกองทัพบกอีกไม่นาน คณะรัฐประหารได้ส่งท่านไปรับราชการที่กรมตำรวจตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2492 เพราะคณะรัฐประหารต้องการมีคนที่ไว้วางใจอย่างใกล้ชิดไปคุมกรมตำรวจ แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ อีก 6 เดือนต่อมา ท่านก็ถูกโอนกลับมาเป็นทหารอยู่กองทัพบกอีก จากนั้นต่อมาอีก 6 เดือน ท่านก็ถูกโอนกลับไปกรมตำรวจอีกครั้ง จึงเป็นที่น่าสังเกตมากว่า น่าจะมีความขัดแย้งในหมู่ทหารด้วยกัน
ความมั่นคงของคณะรัฐประหาร และนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงครามปรากฏแน่ชัดหลังการปราบกบฏแมนแฮตตัน ในเดือนมิถุนายน ปี 2494 เพราะหลังจากนั้นไม่กี่เดือน คณะผู้นำทหารระดับสูงจาก 3 กองทัพก็ร่วมมือกันยึดอำนาจซ้ำในวันที่ 29 พฤศจิกายนปี 2494 ทำให้เห็นได้ว่าคณะทหารสามารถคุมสถานการณ์ได้มั่นคง หลังการยึดอำนาจครั้งนี้ พลตำรวจตรี ลม้าย อุทยานานนท์ จึงได้รับการแต่งตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ด้วย ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน ปี 2494 และเมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในรัฐบาลใหม่คราวนี้ พลตำรวจตรี ลม้าย ก็ได้ร่วมรัฐบาลเป็นครั้งแรก ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตราธิการ โดยดำรงตำแหน่งสืบมาหลังการเลือกตั้งในปี 2495 ด้วย แถมต่อมาตอนกลางปี 2495 ยังได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสหกรณ์ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ท่านควบตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการสองกระทรวงอยู่จนถึงปลายปี 2496 จึงได้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสหกรณ์ คงเหลือเพียงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
ที่อยู่ไปจนสิ้นอายุรัฐบาล ของจอมพล ป.พิบูลสงครามในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2500 คือก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันนั่นเอง ก่อนหน้านี้ในวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 2499 พลตำรวจตรี ลม้าย ได้ลาออกจากราชการเพื่อไปสมัครเป็นผู้แทนราษฎร แต่ก็ไม่มีข่าวว่าท่านได้เป็นผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้ง
เมื่อพรรคเสรีมนังคศิลาชนะเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 หลวงพิบูลสงครามจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อมา และพลตำรวจตรี ลม้าย ก็ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตราธิการต่อมาด้วย แต่รัฐบาลก็เจอการประท้วงว่าเลือกตั้งสกปรก จนนำไปสู่การยึดอำนาจโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ 16 กันยายน ปี 2500 พล ต.ต.ลม้าย จึงพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง เมื่อพ้นจากวงการเมืองไทยแล้ว ท่านจึงขอกลับเข้ารับราชการโดยไปสำรองราชการอยู่ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2502 ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ และท่านก็ได้อยู่ในราชการทหารจนเกษียณอายุ จากกองทัพ พลตรีลม้าย อุทยานานนท์ ได้ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 13 ธันวาคม ปี 2507