บุญมาก เทศบุตร
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
บุญมาก เทศบุตร : เสรีไทยคู่หูของวิมล
พลพรรคเสรีไทยสายอเมริกาที่จะถูกส่งเข้ามาทำงานยามสงครามให้ไทยและสหรัฐอเมริกานั้น ถูกกำหนดหรือจับคู่เป็น “เพื่อนตาย” ออกมาทำงานร่วมกัน และในบรรดานักเรียนไทยในอเมริกาที่อาสาศึกเป็นเสรีไทยรุ่นแรกนั้น เพื่อนคู่หูของวิมล วิริยะวิทย์ คือ ร.ท.บุญมาก เทศบุตร ทั้งสองคนเรียนอยู่ที่เดียวกัน ที่สถาบันเอ็มไอที เมื่อมีการประชุมหารือระหว่างเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยในกรุงวอชิงตันและนักเรียนไทย ในอเมริกาแล้ว ทั้งสองท่านได้อาสาศึกร่วมเป็นเสรีไทย โดยได้รับการฝึกในการสู้รบทางยุทธวิธีต่างๆ มากพอสมควร ยกเว้นการฝึกโดดร่มจากเครื่องบิน ที่ท่านเรียนจากเอกสารคู่มือ และฝึกโดดจากถังน้ำมันเตี้ยๆ ก่อนหน้าเดินทางไม่เกินสามวัน ทั้งสองท่านได้มาโดดร่มลงในแผ่นดินไทยพร้อมกัน ในเขตที่อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เมื่อต้นเดือนกันยายนปี 2487
บุญมากถูกชาวบ้านจับได้ แต่หลบหนีออกมาได้ภายหลัง เมื่อทั้งสองคนหาตัวกันและกันไม่พบ วิมลจึงออกมาพบชาวบ้านเอง ส่วนบุญมาก เทศบุตรนั้นหลบหนีจากชาวบ้านแล้ว เลยหนีกลับเข้าไปในป่า “และเดินทางเข้าตัวจังหวัดแพร่ซึ่งคุ้นเคยมาก่อน และได้รับการอนุเคราะห์จาก ‘คุณครูบัวเขียว’ (เข้าใจว่าเป็นคุณหญิงบัวเขียว รังคสิริ ) ให้หลบซ่อนอยู่” จนวิมลเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ได้พบกับผู้ใหญ่ฝ่ายขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและได้แจ้งให้ทราบว่าตนโดดร่มลงมาพร้อมกับบุญมาก และบุญมากแม้จะโดดร่มลงมาปลอดภัย แต่ได้หลบหนีชาวบ้านหายตัวไปพร้อมกับอุปกรณ์เครื่องรับส่งวิทยุ นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้ให้พลพรรคเสรีไทยที่จังหวัดแพร่ ตามหาตัวจนพบและพาบุญมาก เทศบุตร ลงมากรุงเทพฯ และมอบหมายงานให้ทำ
บุญมาก เทศบุตร เป็นคนเมืองลพบุรี เกิดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมปี 2457 ที่ตำบลบ้านศาลาสูง อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี บิดา คือ ร้อยโทแม้น เทศบุตร มารดาชื่อ พริ้ง สำหรับการศึกษาของท่านนั้นได้มาเรียนในกรุงเทพฯที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แล้วจึงเข้าเรียนที่โรงเรียนในร้อยทหารบก เรียนจบจากโรงเรียน นายร้อยทหารบก ออกมารับราชการเป็นนายทหารปืนใหญ่ในปี 2477 เข้ารับราชการแล้วก็ยังได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนนายทหารวิทยาศาสตร์เป็นรุ่นแรกอีกด้วย จนจบออกมาในปี 2482 เนื่องจากเป็นนายทหารที่เรียนเก่ง ขณะที่ท่านมียศเป็นนายร้อยโท ท่านได้สอบชิงทุนกระทรวงกลาโหมได้ ไปศึกษาที่สถาบันเอ็มไอทีในสหรัฐอเมริกาและได้พบกับวิมล วิริยะวิทย์ เพื่อนนักเรียนรุ่นน้อง ที่ต่อมาในงานเสรีไทยอาสาศึกได้เป็นเพื่อนคู่หูที่ถูกส่งให้ไปโดดร่มปฏิบัติงานเสี่ยงตายในแผ่นดินแม่
เมื่อเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ได้พบผู้นำเสรีไทยในประเทศทั้ง พล ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดี
กรมตำรวจ และนายปรีดีพนมยง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้ว ร.ท.บุญมาก ได้ไปทำงานอยู่ที่บ้านมะลิวัลย์ซึ่งเป็นอาคารหลังใหญ่บนถนนพระอาทิตย์ ที่หันหน้าลงแม่น้ำเจ้าพระยา สถานที่นี้อยู่ใกล้มากกับ “ทำเนียบท่าช้าง” หรือบ้านพักของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็น “ศูนย์กลางในการติดต่อประสานงานกับฝ่ายอเมริกัน รวมทั้งการติดต่อระหว่างนาย ปรีดี พนมยงค์ หรือ ‘รูธ’ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย กับหน่วย โอ.เอส.เอส. ที่ศูนย์ปฏิบัติการที่แคนดี”
นอกจากได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ติดต่อกับสหรัฐอเมริกาแล้ว ร้อยโท บุญมาก ยังเคยได้รับหน้าที่ควบคุมเรือศุลกากรไปรับส่งพลพรรคเสรีไทยที่เดินทางเข้าออกไปขึ้นเครื่องบินทะเลในอ่าวไทยด้วย ดังกรณีที่ร้อยโท บุญมากได้ตกลงนัดหมายกับทางฝ่ายอเมริกาให้ส่ง พ.ต.ดิค กรีนลี และ ร.อ.จอห์นเวสเตอร์ สองนายทหารอเมริกันหน่วยแรกที่เข้ามาในไทยโดยเครื่องบินทะเล บุญมากได้เดินทางไปรับที่บริเวณเกาะกระดาษ ในวันที่ 26 มกราคมปี 2488 ซึ่งในครั้งนั้นท่านยังนำนายกนต์ธี ศุภมงคล ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศของไทยซึ่งเป็นผู้แทน ของนายปรีดี พนมยงค์ ให้ติดเครื่องบินทะเลเดินทางออกไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรและไปถึงสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
เสร็จสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเดือนกันยายนปี 2488 บุญมากได้รับพระราชทานยศชั่วคราวเป็นพันตรี ในช่วงเวลาที่ต้องทำงานร่วมกับกองทหารของสัมพันธมิตรที่ประจำอยู่ในราชอาณาจักรไทย และเมื่อหมดภาระหน้าที่แล้ว ท่านก็เดินทางกลับไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาจนจบปริญญาตรีวิชาเคมี จากนั้นจึงได้เดินทางกลับมารับราชการเป็นทหารบกต่อ โดยได้ยศเป็นร้อยเอกในปี 2490 การทำงานในกองทัพบกของท่านก็ได้รับความเจริญก้าวหน้ามาตามลำดับในปี 2493 ได้เลื่อนยศเป็นพันตรี และได้ไปเป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกประจำประเทศอินเดีย อีกหนึ่งปีต่อมาก็ย้ายไปเป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ประจำประเทศพม่า
ในปี 2498 บุญมากได้ยศเป็นพันเอก มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกกรมข่าวทหารบก เชื่อกันว่าการฝึกอย่างหนักและเข้มข้นก่อนที่จะเตรียมตัวปฏิบัติงานเสรีไทย ทำให้ท่านมีความสามารถทำหน้าที่ในกรมข่าวทหารได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ท่านจึงก้าวหน้าในงานสายนี้ จนได้มีตำแหน่งเป็นรองอธิบดีกรมประมวลข่าวกลางสำนักนายกรัฐมนตรีในเดือนเมษายนปี 2502 โดยยังไม่ขาดจากหน่วยงานของกระทรวงกลาโหม ครั้นถึงปี 2504 ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้โอนมารับราชการเป็นรองอธิบดีที่สำนักนายกรัฐมนตรีเพียงที่เดียว จนถึงปี 2510 สมัยนายกรัฐมนตรีจอมพล ถนอม กิตติขจร พลตรี บุญมากก็ได้เป็นอธิบดีกรมประมวลข่าวกลาง และได้ดำรงตำแหน่งต่อมาจนเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน ปี 2517
พลตรีบุญมาก เทศบุตร เสรีไทยสายอเมริกาผู้นี้ได้มีชีวิตหลังเกษียณอายุราชการต่อมาอีก 15 ปี จึงได้ถึงแก่กรรมในวันที่ 13 เมษายน ปี 2532