พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง :  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว และ ชุติเดช เมธีชุติกุล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์

          เราคงไม่ค่อยคุ้นชื่อของ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ เพราะในด้านการเมืองนั้นพลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ก็จะถูกบุคคลสำคัญอย่างจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียรบดบังไป ถึงแม้ตัวพลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์จะมีบทบาทสำคัญมากมายทั้งในตำแหน่งเลขาธิการพรรคสหประชาไทยที่สนับสนุนจอมพลถนอม กิตติขจร และบทบาททางการทหารในฐานะไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรัฐมนตรีกลาโหมหลายสมัย แต่เขาคนนี้กลับมีบทบาทเด่นในเรื่องการกีฬาโดยเฉพาะการเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยกว่า 20 ปี เราลองมารู้จักพลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์กัน

 

ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว

          พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ หรือคนจะเรียกกันทั่วไปว่า “เสธ.ทวี”[1] เกิดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2457 และถึงแก่อนิจจกรรมเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 อายุ 82 ปี เกิดที่บ้านวัดทองเพลง อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรของรองอำมาตย์โทหรุ่น และนางจ่าง จุลละทรัพย์ สมรสกับคุณหญิงอารี จุลละทรัพย์ (สกุลเดิม ปิ่นแสง รองนางสาวไทยประจำปี พ.ศ. 2483)มีบุตรธิดา 5 คน ได้แก่ นางวีระอนงค์ อำมฤต พ.อ.เทพพนม จุลละทรัพย์ นางศิริบุปผา ธนะโสภณ นายบุญฤทธิ์ จุลละทรัพย์ และ น.ส.จุติมาฆ์ จุลละทรัพย์[2] พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนการบิน และศึกษาวิชาการบิน และเสนาธิการ จากประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา เคยเป็นนายทหารเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา[3]

 

หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ

          พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ในอดีตเคยเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุด อดีตเสนาธิการทหารอากาศ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ เข้าทำงานการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2512 เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสหประชาไทย มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค พลอากาศเอกทวี เป็นเลขาธิการพรรค เคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีสมัยแรก พ.ศ. 2506 ในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อมาใน พ.ศ. 2512 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในปี พ.ศ. 2515 ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทั่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หลังการชุมนุมของนักศึกษาและเกิดการปะทะระหว่างตำรวจ ทหารกับนักศึกษา จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ลงจากอำนาจและตำแหน่งในคณะรัฐบาลทั้งหมด ศูนย์อำนาจจึงย้ายไปอยู่กับกลุ่มของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พล.ต.อ.ประจวบ สุนทรางกูร อธิบดีกรมตำรวจ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเมื่อได้มีการแต่งตั้งในนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพลถนอม ในปี พ.ศ.2516 นอกจากนี้
          พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ ยังมีบทบาทสำคัญต่อการช่วย พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ซึ่งในช่วงนั้น พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ใกล้จะเกษียณอายุราชการ เขาจึงวางแผนเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีแทน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยร่วมกับนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ช่วยกันประสานพรรคอื่นๆ แต่ก็ไม่สบความสำเร็จ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รู้แผนดังกล่าวก่อนจึงชิงประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ซึ่งก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ.2518 มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น
          พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เป็นบุคคลสำคัญที่ได้รวบรวมพรรคขนาดกลางและเล็ก 10 พรรค สนับสนุน
          ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แห่งพรรคกิจสังคมเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่พรรคกิจสังคมมี ส.ส.พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งแค่ 18 คนเท่านั้น ในเวลาต่อมา พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ ยังคงมีบทบาทในทางการเมืองอยู่ตลอดมา และได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในปีพ.ศ.2519 สมัย
          ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช[4] นอกจากนี้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ยังเป็นบุคคลสำคัญที่ผลักดันให้
พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เข้ามามีบทบาททางการเมืองจนเขาสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ.2522 และ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีในสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อีกด้วย อีกทั้งยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแม่ฮ่องสอน ใน พ.ศ.2519 และ 2522 และเคยเป็นพระเอกภาพยนตร์ของ กองภาพยนตร์ทหารอากาศ เรื่อง "บ้านไร่นาเรา" เมื่อ พ.ศ. 2484[5]

          พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ เป็นบุคคลสำคัญในวงการกีฬาของไทย ได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2516 สืบต่อจากจอมพลประภาส จารุเสถียร และดำรงตำแหน่งติดต่อกันหลายสมัย (2516-2539) ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในคณะกรรมการโอลิมปิกระหว่างประเทศ (International Olympic Committee: IOC) และสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย เมื่อ พ.ศ. 2538 นอกจากนี้ยังเคยเป็นนักกีฬาเรือใบ เคยได้เหรียญทองจากการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 5 และเหรียญเงินจากการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 8 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ[6]

ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง[7]

          ผลงานสำคัญของพลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์นั้นที่สำคัญจะเป็นเรื่องกีฬามากกว่าการเมือง ถึงแม้ว่าเขาจะมีตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญมากมายจนถึงขั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีก็ตามโดยบทบาทด้านกีฬาของพลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์เริ่มใน พ.ศ. 2522 เมื่อพลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีในยุค พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ซึ่งช่วงนี้ผลงานด้านกีฬาในฐานะเป็นเจ้าของเหรียญทองและเหรียญเงิน บวกกับเป็นที่รู้จักของคนในวงการ ทำให้พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานโอลิมปิกแห่งประเทศไทย (Olympic Committee of Thailand: OCT) ต่อจากจอมพลประภาส จารุเสถียรที่หมดวาระลง

          พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์รั้งตำแหน่งประธานโอลิมปิกแห่งประเทศไทยมากว่า 20 ปีที่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 จนถึงถึงแก่อนิจกรรม ซึ่งพลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์มีผลงานที่เห็นกันชัดเจนอาทิ ไทยได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันซีเกมส์ 5 ครั้ง คือครั้งที่ 1(2504), 5(2512), 6(2514), 8(2518), และครั้งที่ 10(2522) และยังมีผลงานในการเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์อีกด้วยนอกจากบทบาทต่อประเทศไทยแล้ว พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ ยังมีบทบาทในงานกีฬาระดับโลกทั้งโอลิมปิกเกมส์ เอเชียนส์เกมส์ และซีเกมส์ ในฐานะที่ท่านเป็นมือขวาของเชค อาห์หมัด อัลซาบาร์ ประธานโอลิมปิกเอเชีย (Olympic Committee of Asia: OCA) และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (Olympic Committee of National: OCN) นอกจากนี้แล้วในกรณีที่ไทยขอเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ปี พ.ศ.2541 หลายประเทศออกมาโวยวายว่าประเทศไทยไม่พร้อม ไม่เหมาะกับการจัดแข่งขันครั้งนี้ แต่ด้วยความสนิทสนมอย่างแน่นแฟ้นกับพระราชบิดาของเชค อาห์หมัด อัลซาบาร์ ประธานโอลิมปิกเอเชียของพลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ทำให้ปัญหานี้หายไปพร้อมกับการเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ พ.ศ. 2541 เหมือนเดิม ซึ่งมีอีกหลายครั้งในกรณีพิพาทระหว่างประเทศเช่นนี้ ล้วนเสร็จสิ้นไปด้วยดีทุกครั้งด้วยฝีมือของพลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์[8]

 

บรรณานุกรม

กฤชติน สุขศิริ, ความขัดแย้งทางการเมืองในสมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,2545)

ข่าวสด, การเมือง การทหาร กรณี เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รัฐธรรมนูญ 2521, https://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRRd05EUTRPVEF6TVE9PQ==&catid=06, เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2559.

ถวิล เปลี่ยนศรี, เสถียรภาพรัฐบาลผสมของไทย : ศึกษาเปรียบเทียบรัฐบาลชุด ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช (17 มีนาคม 2518-12 มกราคม 2519) กับรัฐบาลชุด ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (20 เมษายน - 6 ตุลาคม 2519), (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2523)

ประชา บูรพาวิถี, 'ขุนศึก'ในรอยจำเดือนตุลา, http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635864, เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2559.

สุชาติ สวัสดิยานนท์ และ วรสิทธิ ใจงาม, พล. อ. อ. ทวี จุลละทรัพย์ "ทุเรียนเหล็กแห่งบ้านอัมพวัน" ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย, http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=5452, เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2559.

'อนุสรณ์พิธีพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ วันเสารที่ '18 พฤษภาคม 2539 ณ วัดเทพศิรินทราวาส วรวิหาร, (กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., 2539)

 

อ้างอิง

[1] สุชาติ สวัสดิยานนท์ และ วรสิทธิ ใจงาม, พล. อ. อ. ทวี จุลละทรัพย์ "ทุเรียนเหล็กแห่งบ้านอัมพวัน" ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยม http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=5452, เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2559.

[2] อนุสรณ์พิธีพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ วันเสารที่ 18 พฤษภาคม 2539 ณ วัดเทพศิรินทราวาส วรวิหาร, (กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., 2539), น.19.

[3] เพิ่งอ้าง, น.20-21.

[4] ประชา บูรพาวิถี, 'ขุนศึก'ในรอยจำเดือนตุลา, http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635864, เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2559.

[5] อ้างแล้ว, อนุสรณ์พิธีพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์, น.20-21; ข่าวสด, การเมือง การทหาร กรณี เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รัฐธรรมนูญ 2521, https://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRRd05EUTRPVEF6TVE9PQ==&catid=06, เข้าถึงเมื่อ 25 มีนาคม 2559.

[6] เพิ่งอ้าง, น.20-21, 94-106.

[7] อ้างแล้ว, สุชาติ สวัสดิยานนท์ และ วรสิทธิ ใจงาม; อ้างแล้ว, อนุสรณ์พิธีพระราชทานเพลิงศพ
พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์, น.20-21, 94-106.

[8] อ้างแล้ว, สุชาติ สวัสดิยานนท์ และ วรสิทธิ ใจงาม