พระยาวิทูรธรรมพิเนต
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พระยาวิทูรธรรมพิเนต : ขอให้มีกฎหมายพรรคการเมือง
ยี่สิบสามปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประเทศไทยจึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง ฉบับแรกของไทย ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2489 แต่ในเวลา 23 ปี ที่พยายามสร้างประชาธิปไตยกันอยู่นั้น มิใช่ว่าจะไม่มีนักการเมืองที่ต้องการให้มีทั้งการตั้งพรรคการเมือง และบัญญัติกฎหมายพรรคการเมืองออกมาบังคับใช้ หากแต่ว่าไม่ประสบความสำเร็จ
ที่น่าสังเกตก็ คือนักการเมืองสมัยนั้นที่ออกมาเสนอให้มีกฎหมายพรรคการเมืองนั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเป็นตัวหลัก และบางท่านเมื่อต่อมาเป็นฝ่ายรัฐบาลแล้ว แม้จะมาจากการเลือกตั้งก็มีความคิดเปลี่ยนไปไม่อยากให้มีการตั้งพรรคการเมืองได้เหมือนกัน ในบรรดานักการเมืองรุ่นเก่าที่มาจากการเลือกตั้งสมัยเมื่อ 80 ปีก่อนนั้น มีนักกฎหมายฝีมือดีท่านหนึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาลาออกจากราชการตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 40 ปี ต่อมาลงเลือกตั้ง และชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนราษฎรที่ต่างจังหวัด ได้เคยเสนอร่างกฎหมายพรรคการเมืองต่อสภาผู้แทนราษฎร ในปี 2487 แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะรัฐบาลยังไม่เห็นด้วย ผู้แทนราษฎรท่านนี้คือ พระยาวิทูรธรรมพิเนต ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุทัยธานี นั่นเอง
พระยาวิทูรธรรมพิเนต เป็นคนเมืองอุทัยธานี เกิดที่บ้านสะแกกรัง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี มีชื่อเดิมว่า โต๊ะ ท่านมีบิดาชื่อหลวงศรีทิพบาล การศึกษาเบื้องต้นได้เรียนที่ โรงเรียนวัดอุโปสถาราม หรือวัดโบสถ์มโนรมย์ ต่อมาบิดาได้นำมาถวายตัวไว้กับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิ์วัฒน์วิศิษฐ์ การเข้ามาอยู่ในพระนคร จึงทำไห้ได้มีโอกาสเรียนกฎหมาย ต่อมาขณะที่มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงนารถบัญชา อายุได้ 24 ปี ท่านได้ออกเดินทางในเดือนสิงหาคม ปี 2460 ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เมืองนิวยอร์ค โดยเรียนต่อทางด้านกฎหมาย มีบันทึกบอกเล่าว่าท่านเป็น “ คนไทยคนแรกที่สำเร็จวิชากฎหมายสูงสุดจากสหรัฐอเมริกา ” และขณะที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียนั้น มีเรื่องเล่ากันอีกว่า International House ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของนักเรียนต่างชาติที่เรียนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียนั้น หลวงนารถบัญชาได้เป็นผู้ริเริ่มเรียกร้องให้มีขึ้น และสถานที่นี้ก็ยังมีอยู่จนทุกวันนี้ ท่านเรียนอยู่ที่สหรัฐฯ 6 ปี จึงได้เดินทางกลับไทยในปี 2466 ขณะที่มีอายุได้ 30 ปี มารับราชการที่กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้พิพากษา ท่านกลับมาทำงานได้ประมาณ 2 ปี ก็สิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาวิทูรธรรมพิเนต ได้รับราชการสืบต่อมา ในช่วงเวลาที่รับราชการทั้งในแผ่นดินทั้งสองรัชกาล ท่านก็ได้รับความเจริญในหน้าที่และตำแหน่ง จากผู้พิพากษาท่านยังเคยเป็นเจ้ากรมกองฎีกา กรมราชเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการแผนกกฤษฎีกา อธิบดีกรมกฤษฎีกา และยังเคยเป็นองคมนตรีด้วย ส่วนบรรดาศักดิ์ก็ได้เลื่อนสูงขึ้น จนท้ายที่สุดได้เป็นพระยาวิทูรธรรมพิเนต จนถึงปี 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ตอนนั้นท่านอายุได้ 39 ปี อันเป็นอายุที่ระบุว่า ท่านออกจากราชการ จึงเชื่อได้ว่าท่านคงออกจากราชการหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ปี 2475
ส่วนการเข้าสู่วงการเมืองและลงแข่งขันในการเลือกตั่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ไม่ใช้การเลือกตั้งครั้งแรกของไทยในปี 2476 แต่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 ในวันที่ 7 พฤศจิกายน ปี 2480 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เพราะให้ประชาชนออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งโดยตรง เจ้าคุณวิทูรฯกลับไปลงเลือกตั้งที่บ้านเกิดของท่านที่จังหวัดอุทัยธานี ลงเลือกตั้งครั้งแรกท่านก็ชนะได้เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดอุทัยธานี สมความตั้งใจ แต่อายุสภาฯครั้งนั้นสั้น อยู่ได้ประมาณปีเดียว เพราะรัฐบาลแพ้มติในสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีพระยาพหลพลพยุหเสนา จะลาออก แต่ประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯเห็นว่าสถานการณ์การเมืองโลกไม่มั่นคง ให้นายกฯเลือกทางยุบสภาแทนจึงได้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 3 ในวันที่ 12 พฤศจิกายน ปี 2487 พระยาวิทูรฯยังสนุกกับงานการเมือง จึงลงเลือกตั้งอีกที่จังหวัดเดิม และท่านก็ชนะได้เป็นผู้แทนกลับเข้าสภาฯอีกครั้ง คราวนี้อยู่ได้นาน เพราะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้มีการขยายวาระให้ยาวขึ้นเนื่องจากมีสถานะสงคราม
ในปี 2487 ในสมัยรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ เป็นสมัยที่การเมืองผ่อนคลายกว่าสมัย จอมพล ป. เป็นนายกฯ ผู้แทนฯจึงกล้าเสนอความคิดเห็นอย่างอิสระ คราวนี้เรื่องพรรคการเมืองที่เคยถูกค้านก็ได้รับการเสนอโดยพระยาวิทูรฯเป็นร่างพระราชบัญญัติตั้งพรรคการเมือง เข้า สภาฯในวันที่ 30 พฤศจิกายน ปี 2487 เรื่องนี้มีการอภิปรายกันมากถึง 3 วัน ท้ายที่สุดสภาฯก็มีมติไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้ของพระยาวิทูรฯด้วยคะแนน 54 ต่อ 22 เสียง
พระยาวิทูรฯได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสืบต่อมา ครั้นนายควง อภัยวงศ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตอนกลางปี 2488 นายทวี บุณยเกตุ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็มาถึงนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงมีประกาศยุบสภา ท่านจึงพ้นจากการเป็นผู้แทนฯ ในการเลือกตั้งครั้งต่อมาในวันที่ 6 มกราคม ปี 2489 นั้นไม่ทราบแน่ชัดว่าท่านลงสมัครรับเลือกตั้งอีกหรือไม่ แต่ต่อมาก็ไม่ได้มีชื่อท่านเป็นผู้แทนราษฎรอีกเลย แม้จะมีการเลือกตั้งตามมาอีกหลายครั้งในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่
แม้จะไม่ได้เข้าอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร พระยาวิทูรธรรมพิเนต ก็ได้มีชีวิตอยู่ดูการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยต่อมาอีกกว่า 25 ปี จึงได้รู้ได้เห็นการมีกฏหมายพรรคการเมือง ฉบับแรกที่ประกาศใช้ในปี 2498 และมีพรรคการเมืองจำนวนมากเกิดขึ้น เพราะพระยาวิทูรฯได้มีชีวิตอยู่จนถึงแก่อนิจกรรมในปี 2514