หลวงศุภชลาศัย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:01, 3 ธันวาคม 2561 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ผู้ท...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


 

ศุภชลาศัย  : ที่มากกว่าสนามกีฬา

        ชื่อ "ศุภชลาศัย"นี้ ผู้คนที่สนใจกีฬาจะต้องรู้จัก เพราะเป็นชื่อสนามกีฬาแห่งชาติเดิมที่สร้างขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เป็นสนามใหญ่มีมานาน แต่อาจมีคนน้อยคนมากที่ทราบว่าศุภชลาศัยเป็นชื่อนายทหารเรือคนสำคัญที่ร่วมเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยครั้งสำคัญในปี 2475 และเป็นข้าราชการไทยที่ร่วมทำงานใต้ดิน เป็นเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่นในช่วงเวลาหลังวันที่ 8 ธันวาคม ปี 2484 นายทหารเรือผู้เคยทำทั้งการปฏิวัติ ยึดอำนาจ ที่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งประเภทแต่งตั้งและเลือกตั้ง เคยเป็นรัฐมนตรีสำคัญร่วมรัฐบาลหลายสมัยท่านนี้คือ นายทหารเรือ ผู้มียศและบรรดาศักดิ์ว่า นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ที่บรรดาศักดิ์ของท่านถูกใช้เป็นชื่อสนามกีฬา

      หลวงศุภชลาศัยเป็นคนเมืองหลวง บ้านเกิดอยู่บริเวณถนนพระอาทิตย์ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม ปี 2438 บิดาคือนายเบี้ยว มารดาชื่อพ่วง เดิมนั้นเมื่อแรกเกิดมีชื่อว่า  “กระบุง” เพราะถูกเอากระบุงครอบแก้เคล็ด เพื่อให้ท่านอยู่รอดปลอดภัย โตขึ้นมาชื่อจึงได้สั้นลงเหลือแค่บุง การศึกษานั้นก็เรียนที่โรงเรียนใกล้บ้าน ได้แก่ โรงเรียนวัดชนะสงคราม และก็ไปต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบ จากนั้นได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนนายเรือเมื่อปี 2455 จนจบเข้ารับราชการเป็นนายเรือตรี  บุง ในปี 2461 ขณะที่มีอายุได้ 23 ปี รับราชการด้วยดีต่อมาจึงได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงศุภชลาศัย ในปี 2475 ขณะที่มียศเป็นนายนาวาตรีได้รับการชักชวนเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ อยู่ในสายทหารเรือร่วมกับหลวงสินธุ์สงครามชัย และท่านเห็นว่าหลวงสินธุ์ฯ นั้นได้คิดร่วมงานการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือที่เมืองนอก นับว่าก่อนท่านจึงขอให้หลวงสินธุ์ฯ เป็นหัวหน้าสายทหารเรือ ตอนนั้นหลวงศุภชลาศัยบังคับบัญชาคุมเรือรบอยู่หลายลำ และสามารถนำเรือแอบออกไปร่วมปฏิบัติการคุมวังบางขุนพรหมด้วย

       หลังการยึดอำนาจและคุมสถานการณ์ที่พระนครได้เรียบร้อย คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้มอบหมายให้นายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย นำเรือรบหลวงสุโขทัย ออกเดินทางตั้งแต่เวลาห้าโมงเย็นของวันที่ 24 มิถุนายน นั่นเอง เพื่อไปยังวังไกลกังวล ไปขอเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายหนังสือของพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ขอทูลเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีเสด็จนิวัติพระนคร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญต่อไป ภารกิจนี้สำคัญต้องให้คนที่กล้าหาญแต่มีความนุ่มนวลไปปฏิบัติ แม้คณะผู้ก่อการฯจะคุมสถานการณ์ในพระนครได้ แต่กำลังทหารนอกเมืองก็ยังมีอยู่และคณะผู้ก่อการฯก็ยังคุมไม่ได้ การปฏิบัติหน้าที่ของหลวงศุภชลาศัยจึงมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย เมื่อเรือรบสุโขทัยเดินทางไปถึงตอนเช้าของวันที่ 25 มิถุนายน หลวงศุภชลาศัยก็ให้ทอดสมอเรือ ท่านเองนำนายทหารเรืออีกสองนายลงเรือเล็กเข้าฝั่ง จากนั้นนายทหารที่ตามมาด้วยก็รออยู่ที่ชายหาด หลวงศุภชลาศัยแต่ผู้เดียวถูกนำเข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับที่จะเสด็จกลับพระนคร แต่ไม่เสด็จกลับโดยเรือรบสุโขทัย ให้ทางพระนครจัดขบวนรถไฟพระที่นั่งมารับ การเข้าเฝ้าเพื่อกราบทูลเชิญเสด็จกลับพระนครในวันนั้น พระมหามนตรี ศรีองครักษสมุหะ เขียนเล่าว่าหลวงศุภชลาศัยเคยกล่าวถึงประสบการณ์ครั้งนั้นว่า

        “....มีมนุษย์ที่ไหนที่ได้ประสบชตากรรมบันดาลอย่างร้ายกาจเช่นตัวท่าน ให้ต้องเข้าเฝ้าโดดเดี่ยวเฉพาะก่อนพวกพ้อง ทั้งๆที่รู้ตัวอยู่ดีว่ามีอุกฤษโทษติดตัวมาสดๆ ร้อนๆ แต่กลับได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานอภัย และพระบรมราโชบายทั้งเยือกเย็นและสุขุม...”

ครั้งนั้น ประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ บันทึกเหตุการณ์เอาไว้ว่าทางพระนครได้รับโทรเลขจากหลวงศุภชลาศัยมีความว่า

        “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พร้อมกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินจะเสด็จกลับจากหัวหินโดยทางรถไฟ ไม่มีกองทหารติดตาม”

        หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฯหลวงศุภชลาศัยได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยคนหนึ่งในจำนวน 70 คน หลวงศุภชลาศัยได้ทำงานในสภาฯอย่างเงียบๆต่อมา จนถึงวันที่ 1 เมษายน ปี 2476 ได้มีความขัดแย้งระหว่างนายกรัฐมนตรี พระยามโนปกรณ์นิติธาดากับสมาชิกสภาจำนวนมาก จนนำไปสู่การที่รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา กับปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี เอารัฐมนตรีเดิมออกไป 5 คนและปรับรัฐมนตรีใหม่เข้ามา 3 คน ที่น่าสนใจก็ คือ รัฐมนตรีที่ตั้งใหม่คราวนี้มีหลวงศุภชลาศัยได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีลอยอยู่ด้วยคนหนึ่ง

        แต่ความขัดแย้งจนปิดสภานั้นทำให้พระยาพหลฯนำกำลังเข้ายึดอำนาจซ้ำอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 20 มิถุนายน ปี 2476 ที่น่าสังเกต ก็คือ คณะผู้นำทหารที่ประกาศตัวเป็นคณะผู้ยึดอำนาจนี้มี “นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม เลขานุการฝ่ายทหารบก และ นายนาวาโท หลวงศุภชลาศัย เลขานุการฝ่ายทหารเรือ”  โดยไม่มีชื่อหลวงสินธ์สงครามชัย ทั้งๆที่หลวงสินก็ยังมีบทบาทสำคัญ มีคนอธิบายว่าตอนนั้นหลวงศุลาศัยมีความสำคัญมากในกองทัพเรือ เพราะ “เป็นผู้บังคับการกองเรือปืน มีเรือในบังคับบัญชา 7 ลำ....” เล่ากันว่าหลวงศุภชลาศัยได้ร่วมปรึกษาหารือกับเพื่อนผู้ก่อการฯ ที่เป็นทหารหนุ่มสองนาย คือ นายพันโท หลวงพิบูลฯ และนายพันตรี หลวงอดุลเดชจรัส เพื่อวางแผนยึดอำนาจซ้ำ โดยจะมีกองเรือปืนกับหน่วยนาวิกโยธินในพระนครเป็นกำลังหลักของทหารเรือ และอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้หลวงสินธุสงครามชัยไม่ได้เป็นผู้นำร่วมจากทหารเรือ เพราะรัฐบาลที่จะถูกยึดอำนาจมีพี่ชายหลวงสินธุ์ฯคือพลเรือโท พระยาราชวังสันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพระยาราชวังสันนั้นมิได้เป็นผู้ก่อการเลี่ยนแปลงการปกครองด้วย

        การยึดอำนาจซ้ำในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 คราวนี้ คณะผู้ก่อการฯได้เปลี่ยนรัฐบาลและดำเนินการเปิดสภาผู้แทนราษฎร ที่สำคัญและต่างไปจากครั้งแรกก็คือคนในคณะผู้ก่อการฯเอง ได้แก่นายพันเอกพระยาพหลฯได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาล ในรัฐบาลชุดแรกนี้หลวงศุภชลาศัยก็ได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีลอยเช่นเดียวกันกับหลวงสินธุสงครามชัย

       รัฐบาลแรกของพระยาพหลฯ บริหารประเทศผ่านมาได้ประมาณสี่เดือน ในขณะที่อยู่ในช่วงของการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาฯครั้งแรกในประเทศไทยก็เกิดเหตุการณ์ใหญ่ที่เรียกกันต่อมาว่า “กบฏบวรเดช” ที่กองทหารต่างจังหวัดจากทางตะวันออกเฉียงเหนือพระนครโดยเฉพาะจากโคราชยกทัพเข้ามาในวันที่ 11 ตุลาคม ปี 2476 และยื่นคำขาดให้รัฐบาลลาออก ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลไม่ยอมและจัดตั้งกองกำลังผสมให้นายพันเอก หลวงพิบูลสงครามเป็นผู้บัญชาการปราบฝ่ายกบฎ ทางทหารเรือนั้นหลวงศุภชลาศัยคุมกองเรืออยู่จึงมีบทบาทสำคัญที่เข้าข้างรัฐบาล เพราะผู้บัญชาการทหารเรือ นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาล แต่ได้นำเรือรบหลวงสุโขทัยและเรือเจ้าพระยาออกสู่อ่าวไทยไปอยู่ที่จังหวัดสงขลา ด้วยเหตุนี้เมื่อทางรัฐบาลปราบปรามการกบฎได้ จึงได้ดำเนินการกับนายทหารเรือที่ขัดคำสั่งรัฐบาล มีการจับกุมผู้บัญชาการทหารเรือไปดำเนินคดี และเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ โดยหลวงศุภชลาศัยได้ขึ้นมาเป็นรองผู้บัญชาการทหารเรือ และหลวงสินธุสงครามชัยได้เป็นเสนาธิการทหารเรือ ซึ่งทั้งสองท่านนี้คือผู้มีอำนาจมากในกองทัพเรือเพราะเป็นผู้ก่อการฯที่มีบทบาทสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง และผู้บัญชาการทหารเรือนั้นไม่ใช่ผู้ก่อการฯ

        ครั้นถึงปี 2477 ทางรัฐบาลได้ตั้งกรมพลศึกษาขึ้นมาโดยให้พระยาประมวลวิชาพูล ซึ่งเป็นครูเก่าไปรักษาการเป็นอธิบดีอยู่พักหนึ่ง พอจะตั้งตัวจริงจึงมาเอาหลวงศุภชลาศัยไปเป็นอธิบดีและท่านก็เป็นอยู่นาน จนสร้างสนามกีฬาใหญ่ของประเทศที่ภายหลังในปี 2485 จึงได้ชื่อว่าสนามศุภชลาศัย ตามชื่อของอดีตอธิบดีกรมพลศึกษาท่านนี้ ที่ห้องโถงชั้นบนของอัฒจันทร์ทางด้านตะวันตกยังมีรูปปั้นครึ่งท่อนของหลวงศุภชลาศัยตั้งอยู่ แต่การออกมาเป็นอธิบดีของกระทรวงคราวนั้นเป็นการออกมาจากกองทัพเรืองของหลวงศุภชลาศัยด้วยโดยอาจไม่มีใครสังเกตจึงมีเรื่องเล่าว่ามีความขัดแย้งกันในกองทัพเรือ เพราะมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการที่ทางรัฐบาลจัดการกับนายทหารเรือระดับสูง ดังนั้น หลวงศุภชลาศัยจึงไม่ได้มีตำแหน่งต่อมาในกองทัพเรือ ท่านจึงเป็นนายนาวาเอกตลอดมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านหมดบทบาททางการเมือง

        หลวงศุภชลาศัยเป็นรัฐมนตรีลอยในคณะรัฐมนตรีของพระยาพหลฯต่อเนื่องมาทุกชุดจนถึงคณะรัฐมนตรีชุดที่ 8 ที่ตั้งขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม ปี 2480 ที่หลวงศุภชลาศัยได้ดูแลกระทรวงเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตราธิการ

          ต่อมาเมื่อเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีในปี 2481 เป็นรัฐบาลของนายกฯหลวงพิบูลสงคราม จึงปรากฏว่าหลวงศุภชลาศัยไม่ได้ร่วมรัฐบาล แต่ท่านก็ยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ ประเภท 2 ที่มาจากการแต่งตั้งอยู่สืบมา จนถึงวันที่ 8 ธันวาคม ปี 2484 ที่กองทหารญี่ปุ่นบุกเข้าไทยเพื่อขอเดินทัพผ่าน ตอนนั้นท่านยังเป็นอธิบดีกรมพลศึกษาอยู่ ท่านมีสิ่งที่ฝังใจกับทหารญี่ปุ่นดังที่ท่านเล่าและมีบันทึกไว้ใน “ตำนานเสรีไทย” ตอนหนึ่งว่า

        “...วันรุ่งขึ้นจากการบุกขึ้นประเทศไทยและรัฐบาลได้สั่งยอมแพ้แล้ว นายทหารญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งคาดดาบซามูไรสะพรึบหมดทุกคน ได้บุกตรูเข้ามาในห้องทำงานข้าพเจ้าที่กรมพละศึกษา..และไล่ตะเพิดให้ข้าพเจ้าออกไปจากที่นั้น...ข้าพเจ้าไม่ยอมออกไป...มันจะฟันคอข้าพเจ้าให้ขาดกระเด็นย่อยยับลงไป อารามที่ข้าพเจ้าบรรดาลโทสะสุดขีด ข้าพเจ้าได้คว้าตุ๊กตาเหล็กตัวใหญ่จะฟาดกระบาลมันมันลงไป แต่แล้วอะไรเล่าที่ทำให้ข้าพเจ้าง่วงผลอยลงไป ข้าพเจ้าหมดสติเสียแล้ว...กรมพละศึกษาของข้าพเจ้าถูกยึด นี่จึงเป็นสาเหตุและปฐมเหตุให้ข้าพเจ้าต้องกระโจนเข้าทำหน้าที่เสรีไทยร่วมกับนายปรีดี พนมยงค์ ...ข้าพเจ้าได้รับหน้าที่ให้เป็นแม่ทัพฝ่ายพลเรือน...”

        จอมพล ป. นายกฯ จะทราบเรื่องงานใต้ดินของหลวงศุภชลาศัยหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ ที่น่าสังเกตก็คือ ท่านเกือบถูกญี่ปุ่นฟันคอมาได้เพียง 3 เดือนกว่า ในเดือนมีนาคม ปี 2485 หลวงศุภชลาศัยก็ได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการแล้วย้ายไปกระทรวงคมนาคม ร่วมรัฐบาลจนจอมพล ป. ลาออกจากนายกฯในปลายเดือนกรกฎาคม ปี 2487 แม้จะเปลี่ยนนายกฯเป็นคนละขั่ว คือเป็นนายควง อภัยวงศ์ หลวงศุภชลาศัยก็ยังได้ร่วมรัฐบาล คราวนี้เป็นรัฐมนตรีสำคัญคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลนี้อยู่มาประมาณหนึ่งปีเปลี่ยนตัวนายกฯมาเป็นนายทวี บุณยเกตุ หลวงศุภชลาศัยก็ยังเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเดิมร่วมรัฐบาล มาเว้นไปเพียงหกเดือนสมัยรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

        การทำงานเสรีไทยของหลวงศุภชลาศัยนั้นมีความสำคัญมาก เพราะเป็น “หัวหน้าบัญชาการในการต่อต้าน” คนหนึ่งในจำนวน 6 คน ที่นายปรีดี พนมยงค์ กล่าวขอบคุณในการกล่าวคำปราศรัยเมื่อวันที่ 25 กันยายน ปี 2488 แต่หลังสงครามแล้วรัฐบาลที่หลวงศุภชลาศัยเข้าร่วมคือรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ทั้งสามชุดเท่านั้น คือเมื่อปี 2489 ปี 2490 และปี 2491 โดยเว้นไม่ได้ร่วมทั้งรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ และรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ในตอนนั้น

          นี่ก็แสดงว่าหลวงศุภชลาศัยจะเข้ากันได้ดีทางการเมืองกับนายควง อภัยวงศ์ แม้เมื่อท่านลงเลือกตั้งท่านก็ร่วมทีมเดียวกันกับคุณควง ลงเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ที่กรุงเทพฯ และชนะได้เป็นผู้แทนราษฎรฯเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ปี 2500 ด้วย ชีวิตสมรสของท่านนั้น ท่านมีภรรยาคนแรกคือคุณ สวาสดิ์ ซึ่งเสียชีวิตไปเร็ว ต่อมาท่านได้สมรสกับ ม.จ.จารุพัตรา อาภากร (สกุลเดิม)

        นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ได้มีชีวิตดูการเมืองต่อมาจนถึงวันที่ 26 ตุลาคม ปี 2508 จึงได้ถึงแก่อนิจกรรม