พระยาเทพหัสดิน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:32, 30 พฤศจิกายน 2561 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ผู้ท...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พระยาเทพหัสดิน : จากนักโทษประหารมาเป็นรัฐมนตรี

          ชีวิตของพระยาเทพหัสดินนั้นเคยตกที่นั่งนักโทษผู้ถูกคำพิพากษาให้ประหารชีวิตมาแล้วจากคดีกบฏ อันเป็นเรื่องการเมืองโดยแท้ คดีกบฏที่ว่านี้ คือ กบฏ ปี 2481 ที่บางครั้งถูกเรียกว่า “กบฏพระยาทรงสุรเดช” ทั้งนี้เพราะทางรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามในสมัยนั้นมองว่าบุคคลที่มีบารมีทางทหารที่จะล้มรัฐบาลได้ คือ นายพันเอก พระยาทรงสุรเดชจึงได้คุมตัวพระยาทรงสุรเดช และให้เดินทางออกนอกประเทศ พร้อมกับมีคำสั่งปลดท่านออกจากกองทัพโดยไม่ให้เบี้ยหวัดและบำนาญ พระยาทรงฯ ต้องยอมเดินทางออกไปเขมรและเวียดนาม จากนั้นก็มีการกวาดล้าง จับกุมนายทหารผู้เป็นศิษย์หรือมิตรที่สนิทสนมกับพระยาทรงฯ รวมทั้งบุคคลสำคัญของฝ่ายอนุรักษ์นิยม มีกรมพระชัยนารถนเรนทร เป็นต้น คดีกบฏที่ว่านี้ผู้ถูกกล่าวหาหลายคนถูกศาลพิเศษที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาคดีนี้เป็นการเฉพาะ ได้ลงโทษให้ประหารชีวิต แต่พระยาเทพหัสดินเป็นนักโทษหนึ่งในจำนวนสามคนของผู้ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตที่ศาลได้ลดโทษให้เป็นจำคุกตลอดชีวิต เพราะทั้ง 3 ท่านได้เคยทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติมาก่อน สำหรับพระยาเทพหัสดินนั้นแม้จะรอดจากการถูกประหารชีวิตได้ก็ตาม แต่บุตรชายของท่าน 2 คน คือ นายดาบ ผุดพันธ์ เทพหัสดิน และนายร้อยโท เผ่าพงษ์ เทพหัสดิน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏในคดีเดียวกันก็ถูกประหารชีวิตโดยการยิงเป้าไปตามคำพิพากษา ชีวิตของพระยาพานทองอย่างเจ้าคุณเทพหัสดินจึงถูกการเมืองเล่นงานทั้งตัวท่านและครอบครัวอย่างรุนแรง แม้ว่าต่อมาท่านจะมีโอกาสกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกก็ตาม กล่าวคือได้เป็นทั้งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลกับนายกรัฐมนตรี ผู้ที่เคยเรืองอำนาจสมัยที่ท่านถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏอีกด้วย แต่ก็ไม่สามารถเอาชีวิตบุตรชายทั้งสองของท่านกลับคืนมาได้ นับว่าชีวิตของนายพลเอก พระยาเทพหัสดิน มีเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ในบ้านเมือง ที่น่าสนใจติดตามดูมากทีเดียว

          พระยาเทพหัสดิน หรือ นายผาด เป็นคนเมืองหลวง เกิดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ปี 2420  ที่บ้านสามเพ็ง (เขียนตามที่สะกดไว้ในหนังสือที่มีประวัติของท่าน) หน้าวัดจักรวรรดิ์ราชาวาส จังหวัดพระนคร มีบิดาคือ หลวงฤทธิ์นายเวร มหาดเล็ก (พุด เทพหัสดิน ) กับคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ ตามประวัติเล่ากันไว้ว่า พออายุได้ 5 ขวบ หลวงฤทธิ์นายเวรรับราชการอยู่ในวัง ผู้เป็นบิดาได้นำตัวท่านไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5  พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาฯ ให้ไปถวายตัวกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เพราะมี “อายุอานามไล่เลี่ยกันกับเจ้าฟ้าชายใหญ่”

          ครั้นอายุถึง 7 ขวบบิดาจึงให้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนใกล้บ้าน ได้แก่ โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข ต่อมาได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อบิดาของท่านคือหลวงฤทธิ์นายเวร ขณะที่เป็นรองผู้บัญชาการ  กรมยุทธนาธิการทหารบกได้เสียชีวิตลง พระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่ากำพร้าบิดา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ส่งไปศึกษาที่โรงเรียนทหารในประเทศฝรั่งเศส ขณะที่มีอายุได้ 13 ปี และต่อมาได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนทหารในกรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม นายผาด ได้เรียนจบและกลับมารับราชการทหาร เป็นนายร้อยตรี ในปี 2445 ตอนนั้นท่านมีอายุได้ 25 ปี ชีวิตการรับราชการทหารของท่านเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพียงเวลา 10 ปีของการเป็นทหาร ท่านก็ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลตรีของกองทัพบกสยามในปี 2456

          ถึงปี 2460 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดมหาสงครามที่เรียกว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 ในทวีปยุโรป ประเทศไทยได้เข้าร่วมสงคราม โดยประกาศสงครามกับประเทศเยอรมันนี และออสเตรีย-ฮังการี ทางการจึงได้ดำเนินการหาผู้อาสาสมัครเพื่อส่งไปสู้รบในยุโรป ได้มีผู้คนมาสมัครจำนวนมากทีเดียว ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้ พระยาเทพหัสดิน ซึ่งตอนนั้นเป็นพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ มียศเป็นนายพลตรี ดำรงตำแหน่งผู้บัญชากองพล 4 เป็นแม่ทัพไทยนำกองทหารอาสาสงครามของไทยจำนวน 1,500 คนเดินทางทางเรือไปสู่สมรภูมิที่ยุโรป ในวันที่1 มกราคม ปี 2461 การที่ออกเดินทางล่ามาก็เพราะว่าต้องจัดการฝึกทหารอาสาสงครามให้เรียนรู้เรื่องการใช้อาวุธ ไปงานราชการต่างแดน ครั้งนั้นพระยาพิไชยชาญฤทธิ์และทหารอาสาสงครามได้เดินทางกลับมาถึงไทยในวันที่ 1 พฤษภาคม ปี 2462

          กลับมาที่เมืองไทยแล้วอยู่ในกองทัพอีกไม่นาน ประมาณสักสองปีท่านก็ได้ขอลาออกจากทหาร กล่าวกันว่าเพราะมีความคิดขัดแย้งกันในเรื่องทหารในกองทัพ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ให้ย้ายไปทำงานด้านพลเรือน ไปเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ และราชบุรี โดยในปี 2465 ท่านได้บรรดาศักดิ์ใหม่เป็นพระยาเทพหัสดิน และในปีถัดมาท่านยังได้รับการเลื่อนยศทางทหารเป็นนายพลโทอีกด้วย ดังนั้น เมื่อมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 พระยาเทพหัสดินจึงมิได้อยู่ในกองทัพ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ มีนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศคนแรกที่เป็นคนกลาง คือ ไม่ได้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย ได้แก่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ได้ประมาณ 1 ปี ตามด้วยนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ที่เป็นผู้ก่อการฯ คือ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่เป็นนายกฯหลังการยึดอำนาจซ้ำในวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2476 และได้เป็นนายกฯ ต่อมาจนมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 3 ในปี 2481 หลังการเลือกตั้ง มีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมาเป็นนายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ขึ้นมามีอำนาจไม่นาน รัฐบาลก็ได้ดำเนินการกวาดล้างพวกที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้าม มีการจับกุมคนสำคัญ อดีตรัฐมนตรี และนายทหารหลายนาย ที่เรียกว่าเป็นกบฏพระยาทรงสุรเดช ที่พระยาเทพหัสดินถูกจับในข้อหากบฏด้วย และถูกดำเนินคดีและถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่ได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต

          แต่ก่อนที่พระยาเทพหัสดินจะถูกการเมืองเล่นงานในปี 2481 จนถูกลงโทษหนักนั้น ท่านได้เข้าไปเล่นการเมืองมาตั้งแต่ปี 2476 โดยลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2476 การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในปี 2476 นั้นเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมที่ราษฎรสยามซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วจะมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้แทนตำบลและผู้แทนตำบลก็จะไปเลือกผู้แทนราษฎรในแต่ละเขตอีกทอดหนึ่งโดยมีระยะเวลาในช่วงการเลือกตั้งครั้งนี้นานถึง 45 วัน เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ที่จะมีการเลือกตั้งผู้แทนตำบลเสียก่อนและจะไปจบลงที่การให้ผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือกไปเลือกผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งของตน

          ลงเลือกตั้งครั้งแรกพระยาเทพหัสดินก็ไม่ผิดหวัง ท่านชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครที่มีเพื่อนผู้แทนราษฎรอีกสองคนของจังหวัดนี้ คือ นายไต๋ ปาณิกบุตร และ ขุนสมาหารหิตะคดี พระยาเทพหัสดินเป็นผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเข้าสภาแล้วท่านก็ได้รับเลือกจากสมาชิกให้เป็นรองประมุขของอำนาจนิติบัญญัติ คือ ได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ที่มีเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นประธานในวันที่ 15 ธันวาคม ปี 2476 และได้รับเลือกในตำแหน่งเดิมนี้อีกครั้ง ในวันที่ 3 สิงหาคม ปี 2479 สมัยที่พระยามานวราชเสวีเป็นประธาน และในสมัยที่ท่านเป็นรองประธานสภาอยู่นี้ ท่านเคยถูกจับกุมตัวข้อหากบฏ ในวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2488 ไม่ได้รับการประกัน ถูกจองจำอยู่ประมาณ 3 เดือน จนศาลตัดสินยกฟ้อง ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 20 มกราคม ปี 2477

          พระยาเทพหัสดินถูกจำคุกในคดีกบฏปี 2481 นั้นนานหกปี ถึงสมัยนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้มีการอภัยโทษในวันที่ 20 กันยายน 2487 แก่ผู้ต้องคดีกบฏที่เคยมีมาตั้งแต่ต้น พระยาเทพหัสดินจึงพ้นคดี ต่อมาได้รับการนิรโทษกรรมจึงได้บรรดาศักดิ์กลับคืนมา หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ได้มีรัฐบาลต่อจากรัฐฐบาลนายควง อภัยวงศ์ อีกหลายรัฐบาลจนถึงรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้เกิดการรัฐประหารที่นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และ มีจอมพล ป.พิบูลสงครามอยู่เบื้องหลัง เข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่และได้แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาปรากฏว่าพระยาเทพหัสดินได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วย ดังนั้น ถือได้ว่าท่านเป็นผู้ที่ได้กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง และกล่าวกันว่าท่านเป็นผู้ที่เรียกร้องให้ จอมพล ป.พิบูลสงครามกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่ง จอมพล ป. ก็ได้กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2491 หลังจากที่คณะรัฐประหารบีบให้นายควงลาออกจากตำแหน่งนายกฯ

          ดังนั้นผู้คนที่รู้เรื่องการเมืองไทยจึงอาจมีความแปลกใจบ้างว่าเหตุใดเจ้าคุณเทพหัสดินจึงกลับมานิยมหลวงพิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยเล่นงานท่านด้วยข้อหากบฏจนต้องติดคุกนานและทำให้ลูกชายของท่านถึงสองคนถูกคดีกบฏจนถูกประหารชีวิต ซึ่งต่อมาในเดือนเมษายน ปี 2491 หลวงพิบูลสงครามก็ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี และในรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามชุดนี้เองที่มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญสภาแรกขึ้น พระยาเทพหัสดินในฐานะสมาชิกวุฒิสภาก็ได้รับการเลือกจากทางวุฒิสภาให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูนด้วยคนหนึ่งในจำนวน 10 คนของสมาชิกวุฒิสภาและในจำนวน 40 คนจากสมาชิกทั้งหมดของสภาร่างรัฐธรรมนูญ และสภาแห่งนี้ได้เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูนฉบับพ.ศ. 2492 นับว่าพระยาเทพหัสดินได้กลับมามีบทบาททางการเมืองมาก และในปี 2493 ท่านยังได้เลื่อนยศทหารเป็นนายพลเอกด้วย

          ต่อมาในวันที่ 30 พฤศจิกายนปี 2491 ได้มีการปรับรัฐมนตรีบางกระทรวง รวมทั้งกระทรวงคมนาคมด้วย ปรากฏว่าพระยาเทพหัสดินได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแทนพันเอกพระยาศรีพิชัยสงคราม มีคนตั้งข้อสังเกตกันว่าหลวงพิบูลสงครามกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ได้พยายามแสวงหาความปรองดองกับศัตรูทางการเมืองที่เคยขัดแย้งในสมัยที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงแรกเป็นอย่างมาก ได้เชิญอดีตนักการเมืองที่เคยถูกเล่นงานว่าเป็นกบฏและถูกจับเข้าคุกมาแล้วให้มาเป็นรัฐมนตรีช่วยกันทำงานให้บ้านเมือง นอกจากพระยาเทพหัสดินแล้วอีกท่านหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือพระยาโทณวณิกมนตรี ที่หลวงพิบูลสงครามได้นำมาร่วมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง สำหรับพระยาเทพหัสดินนั้นได้ร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมครั้งแรก อยู่จนถึงวันที่ 15 มิถุนายนปี 2492 จึงพ้นตำแหน่งเพราะนายกรัฐมนตรีลาออก และ และเมื่อหลวงพิบูลสงครามได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาพระยาเทพหัสดินก็ได้เป็นรัฐมนตรีคมนาคมสืบต่อมาเช่นกัน จนกระทั่งถึงวันที่ 1 มกราคม ปี 2494 ท่านจึงได้ขอลาออก บางท่านว่าท่านลาออกเพราะป่วย แต่คุณเศวต เปี่ยมพงศ์สานต์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในตอนนั้นเขียนเล่าว่า เหตุน่าจะเป็นเพราะท่านถูกท้วงเรื่องงบประมาณของกระทรวงคมนาคม

          “ในเรื่องของกระทรวงคมนาคมนี้ ข้าพเจ้ากล่าวว่าเราต้องคำนึงว่าเรื่องที่เสนอขึ้นมานี้ดีหรือไม่ดีอย่างไรเพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับเงินจำนวนมากเราต้องพิจารณารายละเอียดต่างๆ และต้องคำนึงถึงเงินที่เรามีอยู่ด้วยว่ามีให้ได้มากน้อยเพียงไร

          เมื่อข้าพเจ้าพูดจบลง พระยาเทพหัสดินได้ลุกขึ้นยืนหันหน้าไปทางจอมพล ป.พิบูลสงคราม พูดเบาๆ อย่างชัดถ้อยชัดคำว่า ‘ผมขอลาออก’ แล้วเดินออกจากห้องประชุมไป ...”

          หลังจากลาออกรัฐมนตรีไม่นาน ในวันที่ 7 กรกฎาคม ปี 2494 พระยาเทพหัสดินได้ถึงแก่อนิจกรรม