หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
หลวงจักรปาณีฯ : ผู้วิจารณ์ธรรมนูญคณะราษฎร
คณะราษฎรได้นำร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองฯขึ้นทูลเกล้าฯพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับการประกาศใช้ในวันที่ 27 มิถุนายน ปี 2475 หลังจากนั้นหนึ่งเดือน ได้มีเอกสาร “ อธิบายธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ” พิมพ์ออกเผยแพร่ในวันที่ 27 กรกฎาคม ปี 2475 นับเป็นเอกสารที่วิเคราะห์ธรรมนูญการปกครองฯอย่างละเอียด และถือว่าเป็นผู้ที่กล้าออกมาแสดงความคิดเห็นที่เปิดเผยตัวเองอย่างชัดแจ้ง มองมุมหนึ่งก็ถือได้ว่าท่านเป็นนักกฎหมายที่ไม่ได้เกรงกลัวคณะราษฎรที่กำลังมีอำนาจอยู่ ผู้เขียนบอกว่า
“...จึงควรให้โอกาสราษฎรทุกคนตรวจวิจารณ์เสียโดยถ่องแท้ก่อน แต่การวิจารณ์โดยไม่มีความรู้นั้นจะทำได้โดยยาก เพื่อช่วยผดุงความรู้นี้ ข้าพเจ้าจึงเห็นสมควรเขียนหนังสือนี้ขึ้น และได้พยายามชี้ผิดและชี้ชอบอย่างตรงไปตรงมาตามหลักวิชชา โดยไม่เห็นแก่หน้าบุคคล ยึดเอาความหวังดีต่อเพื่อนร่วมชาติเป็นสรณะ ”
มองอีกมุมหนึ่งจึงแสดงว่าทางรัฐบาลของคณะราษฎรในวันนั้น กล้าเปิดทางให้คนอื่นแสดงความคิดเห็นวิจารณ์กติกาการปกครองบ้านเมืองระบบใหม่ของตนออกเผยแพร่สู่สาธารณชนได้ สำหรับนักวิจารณ์ธรรมนูญท่านนี้ เป็นนักเรียนนอกจากสำนักอังกฤษ เรียนหนังสือเก่ง ตอนที่อยู่อังกฤษก็เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “ สามัคคีสาร ” มาแล้ว ดังนั้นนอกจากความรู้ดี ท่านยังมีฝีมือเขียนหนังสือเด่นอีกด้วย และท่านก็ยังเป็นบุตรชายของนักกฎหมายสำคัญมากของแผ่นดิน ผู้วิจารณ์ท่านนี้เป็นผู้พิพากษา ชื่อ หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์
หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ เป็นคนกรุงธนบุรี เกิดที่ตำบลตึกแดง อำเภอครองสาน จังหวัดธนบุรี เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ปี 2446 มีชื่อเดิมว่าวิสุทธิ์ บิดาคือเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) มารดาคือท่านผู้หญิง กลีบ (สนธิรัตน์) ทางด้านการศึกษาเบื้องต้นนั้นบิดาจ้างครูมาสอนที่บ้าน แล้วจึงได้เข้าเรียนที่ “ โรงเรียนดัดจริต ” ที่ตั้งอยู่ในวัดราชหาติการาม ที่อยู่ใกล้บ้าน จากนั้นไปเรียนระดับประถมที่โรงเรียนอัสสัมชันอยู่ 5 ปี ถึงปี 2460 จึงย้ายไปเรียนโรงเรียนไทยที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยอีก 4 ปี จนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ในปี 2463 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ส่งไปเรียนที่ประเทศอังกฤษในปี 2464 บิดาของท่านต้องการให้เรียนกฎหมายเหมือนตน ดังนั้นต่อมาท่านจึงโอนไปเป็นนักเรียนทุนของกระทรวงยุติธรรม และได้ศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด นายวิสุทธิ์ ศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ 7 ปี กว่า แล้วจึงเดินทางกลับไทยในเดือนมีนาคม ปี 2471 และได้เข้าทำงานเป็นผู้พิพากษาฝึกหัดในปี 2472 กับได้มาเรียนกฎหมายที่โรงเรียนกฎหมาย จนสอบได้เป็นเนติบัณฑิตไทย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ปี 2475 ก่อนวันยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองฯเพียงเดือนกว่าๆ เท่านั้นเอง ส่วนชีวิตครอบครัวท่านได้สมรสกับ คุณถนิต ณ สงขลา ธิดาของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ
หนังสือคำอธิบายธรรมนูญการปกครองฯที่หลวงจักรปาณีฯเขียนเมื่ออายุ 29 ปี ออกเผยแพร่ในวันที่ 27 กรกฎาคม ปี 2475 นั้นเป็นหนังสือที่ผู้สนใจเรื่องที่มาของกติกาการปกครอง หรือความเป็นมาของระบอบการเมืองไทยน่าจะลองอ่านดู หลวงจักรปาณีฯได้อธิบายเรียงเรื่องไปตามลำดับให้เข้าใจ โดยแสดงความคิดเห็นของตัวท่านเองประกอบด้วยบ้าง ที่อยากจะยกเอามาให้สังเกตในที่นี้ก็คือความในปัจฉิมกถาที่สรุปความเห็นหลักของท่านไว้ว่า
“ ในส่วนตัวข้าพเจ้าเห็นว่า เมื่อได้ระลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆที่บังคับอยู่โดยรอบแล้ว ธรรมนูญนี้ร่างขึ้นดีเกินคาด...ข้อที่ข้าพเจ้าเห็นว่าธรรมนูญนี้ขาดไปอย่างสำคัญมีอยู่ข้อเดียวคืออำนาจยุบสภา ซึ่งเป็นเครื่องประกันสิทธิของราษฎรอย่างเอก ”
นอกจากนั้นท่านยังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานด้วยคณะกรรมการ ความว่า “ นอกจากนี้แล้วต้องยอมรับความคิดของคณะราษฎร ที่นำเอาลัทธิใหม่ๆมาใช้ เช่นการปกครองโดยมีกรรมการหลายคนเป็นผู้ใช้อำนาจแทนที่คนๆเดียว ทุกหนทุกแห่งนั้นเป็นความคิดที่กล้ามาก ...”
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ หลวงจักรปาณีฯก็ยังทำงานอยู่ต่อมาในกระทรวงยุติธรรม ไม่ได้เดือดร้อนแต่ก็ไม่รุ่งเรืองนัก ความเป็นนักวิชาการท่านจึงได้ไปสอนหนังสือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางด้านวิชากฎหมาย ตั้งแต่ปี 2476 ครั้นมีการเปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในปี 2477 ท่านก็ได้มาสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย ท่านสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่นานและเป็นที่ยอมรับ เมื่อท่านวายชนม์ มหาวิทยาลัยจึงได้จัดพิมพ์หนังสือออกในวันพระราชทานเพลิงศพท่าน
สำหรับงานด้านตุลาการของท่านนั้น ปรากฏว่าในปี 2485 สมัยนายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลสงคราม หลวงจักรปาณีฯ ได้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษ์ศาลอุทธรณ์ และต่อมาอีก 4 ปี ในวันที่ 1 มิถุนายน ปี 2489 สมัยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านก็ได้ขึ้นเป็นข้าหลวงยุติธรรม ภาค 1 โดยอีกปีถัดมา ในสมัยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี หลวงจักรปาณีฯก็ได้ย้ายไปเป็นข้าหลวงยุติธรรม ภาค 4 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงนั้นนายกรัฐมนตรีทั้งสามท่านล้วนแต่เป็นผู้ก่อการฯหรือคนในคณะราษฎรทั้งสิ้น
จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม ปี 2501 ในสมัยรัฐบาลที่มี พลโท ถนอม กิตติขจร ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ก่อการฯเป็นนายกรัฐมนตรี หลวงจักรปาณีฯได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา แต่แล้วท่านก็มีปัญหาสุขภาพที่ทำให้ท่านเสียชีวิตลงในวันที่ 6 ธันวาคม ปี 2501 ขณะที่ยังไม่เกษียณอายุราชการ