หลวงอำนวยสงคราม
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
หลวงอำนวยสงคราม กับอนุเสาวรีย์หลักสี่
ถนนสายหนึ่งในพระนครที่ตัดตรงจากทางบางกระบือมาที่สะพานเกษะโกมล มีชื่อว่าถนนอำนวยสงครามโดยตั้งขึ้นตามชื่อของหลวงอำนวยสงคราม ซึ่งเคยมีนิวาศสถานอยู่ที่ริมถนนสายนี้มาเมื่อปี 2476 และสะพานที่อยู่ปลายทางที่ชื่อ “ เกษะโกมล ” นั้นก็มาจากนามสกุลของหลวงอำนวยสงครามด้วยที่ทางรัฐบาลตั้งทั้งชื่อถนนและสะพานจากนามของหลวงอำนวยสงครามเช่นนี้ย่อมแสดงว่าท่านต้องเป็นคนสำคัญของแผ่นดิน และคำตอบก็มีว่าหลวงอำนวยสงครามเป็นนายทหารคนสำคัญของฝ่ายรัฐบาลที่เสียชีวิตลงในการสู้รบระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลของนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนากับฝ่ายที่ก่อการกบฏที่นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2476 หลังจากที่รัฐบาลปราบกบฏได้สำเร็จแล้วได้มีการสร้างอนุเสาวรีย์ขึ้นสำเร็จในปี 2479 เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึงการเสียชีวิตของหลวงอำนวยสงครามและผู้เสียชีวิตของฝ่ายรัฐบาลอีก 16 คน ขึ้นที่ทุ่งบางเขน กลางวงเวียนหลักสี่ โดยมีชื่อเป็นทางการว่าอนุเสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนต่อมา ซึ่งเป็นผู้นำในการปราบกบฏครั้งนั้นได้เรียกอนุเสาวรีย์แห่งนี้ว่าอนุเสาวรีย์หลวงอำนวยสงคราม
หลวงอำนวยสงครามมีชื่อเดิมว่า ถม นามสกุล เกษะโกมล เป็นคนธนบุรี เกิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 2439 ที่บ้านริมคลองบางระมาด จังหวัดธนบุรี มีบิดาชื่อ คุ่ย และมารดาชื่อ จีน การศึกษาเบื้องต้นได้เรียนที่โรงเรียนวัดมณฑป วัดเงิน และวัดอนงคาราม จนอายุ 13 ปี จึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อปี 2457 เรียนจบออกมาได้รับยศเป็นว่าที่นายร้อยตรี ท่านได้รับราชการเป็นนายทหารบกเจริญสืบมาประมาณสิบปี จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนอำนวยสงคราม ในวันที่ 14 พฤษภาคม ปี 2468 และอีก 4 ปีต่อมาคือในปี 2472 ท่านก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นคุณหลวงในชื่อเดิม คราวนั้นท่านมียศทางทหารเป็นนายร้อยเอก ถึงปี 2473 ได้มาทำงานประจำกรมเสนาธิการที่พระนคร ในเดือนเมษายน ปี 2475 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินไม่ถึง 3 เดือน ท่านได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันตรี
ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯปี 2475 หลวงอำนวยสงครามได้ร่วมเป็นผู้ก่อการฯด้วย โดยอยู่สายทหารบกที่มีนายพันเอกพระยาพหลฯเป็นผู้นำเนื่องจากท่านเป็นเพื่อนสนิทของนายพันตรีหลวงพิบูลสงครามซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เริ่มคิดการเปลี่ยนแปลงกลุ่มแรกจำนวน 7 คน ที่ประชุมปรึกษาหารือกันอย่างจริงจังมาตั้งแต่ครั้งที่ยังศึกษากันอยู่ที่นครปารีส และเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองฯสำเร็จนายพันตรีหลวงอำนวยสงครามจึงได้รับมอบหมายตำแหน่งและหน้าที่สำคัญให้เป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 8 ที่บางซื่อ เพื่อจักได้ช่วยคณะผู้ก่อการฯควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยในพระนคร ทางด้านชีวิตครอบครัวท่านได้สมรสกับคุณสนานและเมื่อคุณสนานเสียชีวิต จึงได้สมรสกับคุณละมัย
ครั้นรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์ฯได้ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในเดือนเมษายน ปี 2476 ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง หลวงอำนวยสงครามก็ได้ร่วมกับคณะทหารที่นำโดยพระยาพหลฯ และมีหลวงพิบูลฯกับ หลวงศุภชลาศัยเป็นผู้ช่วยได้นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจซ้ำอีกครั้งในวันที่ 20 มิถุนายน ปีเดียวกันล้มรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์และเปิดสภาผู้แทนราษฎร
ต่อมาในวันที่ 11 ตุลาคม ปี 2476 นี่เองที่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายตรงข้ามได้ขยายตัวถึงขั้นแตกหัก พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกลาโหม ได้เป็นหัวหน้านำกำลังทหารหัวเมืองโดยเฉพาะกำลังหลักจากนครราชสีมาบุกเข้าพระนครและยื่นคำขาดให้รัฐบาลของพระยาหพลฯลาออก แต่รัฐบาลได้ประกาศสู้เต็มที่โดยตั้งนายพันโทหลวงพิบูลสงครามเป็นผู้บังคับกองกำลังผสมนำทหารฝ่ายรัฐบาลออกปราบปรามฝ่ายกบฏอย่างเต็มกำลังจึงกลายเป็นสงครามกลางเมืองของไทยครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ในที่สุดรัฐบาลก็ปราบกบฏได้สำเร็จโดยฝ่ายกบฏได้เสียชีวิตและถูกจับกุมคุมขังดำเนินคดีหลายคนส่วนทางฝ่ายรัฐบาลนั้นนายทหารคนสำคัญที่เสียชีวิตคือนายพันโทหลวงอำนวยสงคราม เหตุการณ์ในการสู้รบครั้งนั้นเกิดขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม ปี 2476 ที่ทุ่งบางเขนเลยสถานีรถไฟบางเขนขึ้นไปทางเหนือเล็กน้อย รถไฟของทหารฝ่ายรัฐบาลได้ถูกระดมยิง และขณะที่การสู้รบติดพันได้มีการยิงโต้ตอบกันที่สมรภูมิทุ่งบางเขนแห่งนี้นายพันโทหลวงอำนวยสงครามซึ่งบัญชาการทหารให้รบอยู่ได้ถูกยิงอย่างแรงจนล้มลง ดังที่มีผู้บันทึกเล่าเอาไว้ว่า
“ ..นายพิณ พนักงานขับรถได้ประสบเหตุเป็นคนแรกจึงได้ร้องบอกนายทหารในกองบังคับการกองรบว่า ‘ ผู้บังคับกองพันถูกกระสุนแล้ว ’ นายดาบเชื่อม นนทรักษ์ นายร้อยตรีเผ่า ศรียานนท์ นายร้อยโทโปร่ง รอดสวัสดิ์ จึงได้ไป ณ ที่นั้น ภาพที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าคือ วีรชนผู้กล้าหาญล้มคว่ำหน้า.. ”
หลังจากนั้นศพของนายพันโทหลวงอำนวยสงครามและทหารฝ่ายรัฐบาลอีก 16 นาย ก็ได้รับเกียรติให้จัดงานพระราชทานเพลิงศพ ขึ้นในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ปี 2476 ณ เมรุท้องสนามหลวง ต่อมาทางรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ได้สั่งสร้างอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงวีรกรรมของทหารฝ่ายรัฐบาลขึ้นที่ทุ่งบางเขนซึ่งเป็นสมรภูมิในการรบครั้งนั้นที่ หลวงอำนวยสงครามได้เสียชีวิต อนุเสาวรีย์นี้มีชื่อว่าอนุเสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญสร้างเสร็จและทำพิธีเปิดโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ ในวันที่ 15 ตุลาคม ปี 2479