ทศ พันธุมเสน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:39, 27 พฤศจิกายน 2561 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ผู้ท...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ทศ พันธุมเสน : เสรีไทยผู้เป็นทายาทผู้ก่อการ

           ผู้คนที่อาสาเข้ามาทำงานเสรีไทยเพื่อชาติและบ้านเมืองไทยได้มีมาจากหลายพวกหลายเหล่ากระจายกันออกไป สำหรับเสรีไทยสายอังกฤษที่อยู่ในประเทศอังกฤษนั้น มีบุรุษหนุ่มวัยยังไม่ครบเบญจเพสดีท่านหนึ่งที่เป็นบุตรชายของผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 คือทศ พันธุมเสน ผู้ซึ่งเป็นนักเรียนทุนของรัฐบาลไทยที่ศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ อยู่ในมหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งได้สมัครเข้าเป็นเสรีไทยและเป็นทหารเพื่ออกปฏิบัติการด้วย ทศ พันธุมเสน ได้ให้เหตุผลถึงการที่ท่านสมัครเข้าเป็นทหารเสรีไทย มีความว่า

           “...ผมสารภาพว่าแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ผมผละจากงานเหมือง เพื่อสมัครเป็นทหารนั้นเป็นเหตุส่วนตัวเนื่องจากมีความกลัวเกรงว่าพ่อผม ผู้เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 จะเสียใจว่าผมทำตนไม่สมกับเป็นลูกของท่าน เมื่อท่านทราบว่าผมหลีกเลี่ยงการเป็นทหาร ”

           บิดาของ ทศ พันธุมเสน นั้นเป็นนายทหารคนสำคัญที่มีบทบาทในการวางแผนและปฏิบัติการในเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน ปี 2475 คือ นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช นั่นเอง พระยาทรงสุรเดชผู้นี้เป็น “ มันสมอง ” ที่วางแผนนำทหารจากหลายหน่วยของกองทัพบกในพระนครเข้ามาชุมนุมพร้อมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้ากับนายทหารเรืออีกส่วนหนึ่ง ที่มาร่วมปฏิบัติการจนประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจครั้งนั้น ดังนั้นลองมาดูชีวิตและงานของ ทศ พันธุมเสน เสรีไทยสายอังกฤษผู้นี้กันต่อไป

           ทศ พันธุมเสน เกิดที่โคราชหรือนครราชสีมา ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ปี 2461 บิดาของท่าน เทพ พันธุมเสน มียศเป็นนายร้อยเอกหลวงรณรงค์สงคราม ส่วนมารดาชื่อ จำปี ตอนนั้นบิดาของท่านได้รับแต่งตั้งให้ไปคุมงานก่อสร้างทางรถไฟโดยอยู่ที่นครราชสีมา แม้ท่านจะเกิดที่ต่างจังหวัดแต่ก็ได้เข้ามาศึกษาที่โรงเรียนสำคัญในพระนครคือโรงเรียนเทพศิรินทร์ ในปี 2471 ตอนนั้นท่านอายุได้ 10 ปี และเรียนจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา โดยสอบได้คะแนนเป็นที่ 1 ของประเทศ นับว่าเรียนเก่งมาก จากนั้นจึงได้สมัครเข้าไปเรียนต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อไปสอบชิงทุนรัฐบาลเพื่อไปเรียนต่อต่างประเทศจนท่านก็สอบได้ทุนให้ไปเรียนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี 2480 ตอนนั้นบิดาของท่านได้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีมาแล้ว โดยได้ลาออกมาตั้งแต่วันที่20 มิถุนายน ปี 2476 ดังนั้นการได้ทุนของ ทศ พันธุมเสน จึงเป็นเรื่องของฝีมือและความเก่งของตัวท่านเอง เมื่อได้ทุนบิดายังให้ไปลานาย ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งยังเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา และในวันที่ ทศออกเดินทางนั้นนายปรีดียังไปส่งที่สถานีรถไฟหัวลำโพง นี่ย่อมแสดงว่าพระยาทรงฯและนายปรีดีมิได้มีอะไรขัดเคืองใจกันแต่อย่างใด และทศ จึงเป็นคนที่เคยรู้จักและพบกับหัวหน้าใหญ่เสรีไทย นายปรีดี พนมยงค์ มาก่อนที่จะมีเสรีไทยเสียอีก ทศไปเรียนที่อังกฤษได้ประมาณหนึ่งปี บิดาก็ตกที่นั่งลำบากถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏในเดือนมกราคม ปี 2481 ถูกปลดออกจากนายทหารโดยไม่ได้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ถูกบีบให้ลาออกจากสมาชิกสภาฯ และต้องรีบเดินทางออกนอกประเทศไปเขมรทันที มิฉะนั้นอาจถูกจับกุมคุมตัวได้

           เมื่อทศ พันธุมเสน สมัครเข้าเป็นเสรีไทยจึงต้องลาออกจากงานที่เหมือง เพื่อเข้ารับการฝึกทหารทั้งที่ในอังกฤษและนอกประเทศที่อินเดียตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2486 ในช่วงเวลานั้นท่านน่าจะติดต่อกับทางบิดาของท่านได้ยาก และในช่วงนี้เองที่บิดาของท่านได้เสียชีวิตลงขณะที่ลี้ภัยการเมืองอยู่ในกรุงพนมเปญ ดินแดนเขมร เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2487 ก่อนที่พระยาทรงฯจะเสียชีวิตไม่นาน ญี่ปุ่นได้ส่งคนมาติดต่อกับท่าน

           สำหรับการทำงานเสรีไทยของทศ ซึ่งมีชื่อปฏิบัติการสงครามว่า “ บุญ ” นั้น หลังเข้ารับการฝึกมาอย่างหนักแล้วก็ได้เดินทางเข้ามาปฏิบัติการในไทย ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม ปี 2488 โดยโดดร่มที่ภูกระดึง จังหวัดเลย ตอนโดดร่มลงมาโชคดีไม่มีปัญหาเพราะมีเพื่อนเสรีไทยที่เข้ามาทำงานก่อนหน้านั้น เช่น เสนาะ นิลกำแหง และอีกบางคนได้ไปกับข้าหลวงของจังหวัดขอนแก่น คือ นายอุดม   บุญประกอบ พาตัวหลบการสืบหาของญี่ปุ่น จากนั้นอีกประมาณ 10 วัน ทศก็ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อพบกับหัวหน้าใหญ่เสรีไทย นายปรีดี พนมยงค์ ตอนนั้นนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แพ้เสียงในสภาฯจนต้องยอมลาออกไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2487 ทศอยู่ในกรุงเทพฯจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ จึงได้เดินทางไปกับคณะที่ได้รับมอบหมายให้ไปรับเพื่อนเสรีไทยสายอังกฤษ คือ อรุณ สรเทศน์ กับ ม.ร.ว.กรวิก จักรพันธ์ ที่โดดร่มลงมาในพื้นที่ใกล้กับสุโขทัย หลังจากนั้นทศก็ได้รับมอบหมายให้ไปกับคณะที่ต้องไปทำงานตามแผนของเสรีไทย ในพื้นที่ทางเหนือที่จังหวัดลำปางและเชียงใหม่ โดยทำงานลับอยู่นานประมาณครึ่งปีจนถึงวันที่ 16 สิงหาคม ปี 2488 อันเป็นวันประกาศสันติภาพของไทย

           สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ร.ต.ทศ แห่งกองทัพอังกฤษ ก็ได้เป็นนายทหารชั่วคราวของกองทัพไทยยศร้อยเอก และเดินทางกลับไปศึกษาต่อที่อังกฤษจนจบปริญญาตรีทางด้านเหมืองแร่ ออกไปฝึกงานระยะหนึ่งแล้วจึงเดินทางกลับไทยในปี 2495 จึงกลับมาในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป.เมื่อเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล ท่านก็ได้เข้าทำงานที่กรมโลหะกิจ กระทรวงอุตสาหกรรม และอยู่ที่นั่นมา10 ปี ก่อนที่จะออกไปทำงานในบริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

           ทศ พันธุมเสน เองแม้เป็นบุตรผู้ก่อการฯและเคยทำงานเสรีไทยให้แผ่นดินมาก็ไม่เคยเข้าสู่วงการเมืองเลย เพียงแต่ดูการเมืองตลอดมา ท่านได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2544