รักษ์ ปันยารชุน
ผู้เขียน : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
รักษ์ ปันยารชุน : เขยเอกหลวงพิบูลฯ
ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2500 นั้น แม้จะเป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 ที่ยังให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้งจำนวนครึ่งหนึ่งก็ตาม แต่การแข่งขันก็ออกจะดุเดือดโดยเฉพาะระหว่างพรรครัฐบาลคือพรรคเสรีมนังคศิลากับพรรคฝ่ายค้านสำคัญคือพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้ารัฐบาลในขณะนั้น คือจอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือหลวงพิบูลสงคราม ได้นำคณะผู้สมัครของพรรคเสรีมนังคศิลาในเขตจังหวัดพระนคร ลงแข่งขันกับคณะผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ในเขตเดียวกันที่นำโดยหลวงโกวิทย์อภัยวงศ์ หรือ นายควง อภัยวงศ์ และนายควง นี่เองที่บอกว่าคณะผู้สมัครของพรรครัฐบาลเป็นคณะ “ พ่อตากับลูกเขย ” ด้วยว่ามีหัวหน้าคณะคือหลวงพิบูลฯเป็นตัวพ่อตา และมีผู้สมัครคนสุดท้ายในคณะได้แก่ พ.ต.รักษ์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นลูกเขย ทั้งนี้พรรคเสรีมนังคศิลาเอาชื่อผู้สมัครของพรรคมาเรียงคล้องจองกันให้จำได้ง่ายว่า “ พิบูล เวชยันต์ บริภัณฑ์ ลัดพลี โยธี บัญญัติ สวัสดิ์ เดช รักษ์ ” รัฐมนตรีรักษ์ ปันยารชุน นั้นท่านแต่งงานกับบุตรีคนโตของหลวงพิบูลฯและท่านผู้หญิง ละเอียด ที่ชื่อ จีรวัสส์ พิบูลสงคราม ดังนั้น รักษ์ ปันยารชุน จึงเป็นเขยคนแรกของครอบครัว หลวงพิบูลฯยังมีบุตรีคนรองลงมาอีกแต่ที่ รักษ์ ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น ก็เพราะความรู้ความสามารถของท่านเอง ดังปรากฏในชีวิตและงานของท่าน
รักษ์ ปันยารชุน มาจากครอบครัวขุนนางในกรุงเทพฯ ท่านเป็นบุตรชายคนโต ของพระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) กับคุณหญิง ปฤกษ์ เกิดเมื่อ ปี 2457 บิดามีอาชีพเดิมเป็นครู การศึกษาเล่าเรียนจึงได้รับการเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี ได้เรียนในโรงเรียนสำคัญสำหรับนักเรียนชาย คือโรงเรียนวชิราวุธ เล่ากันว่า คุณ รักษ์ ปันยารชุน ออกไปเรียนต่อที่เมืองนอกตั้งแต่อายุได้ 16 ปี และได้อยู่ที่เมืองนอก 6 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ไม่ยาวเลยสำหรับใช้ในการศึกษาจนจบปริญญาเอกจากประเทศฝรั่งเศส ท่านศึกษาจบทางด้านกฎหมายเป็น “ ด๊อกเตอร์ ” จาก Universite de Lille แล้วจึงเดินทางกลับไทย ได้เข้าทำงานเป็นนายทหารอยู่ที่กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม ที่มีนายทหารชื่อหลวงพิบูลสงครามเป็นรัฐมนตรีว่าการมานานแล้ว ในยามสงครามเมื่อ ปี 2484 นายกฯหลวงพิบูลฯได้เรียกตัวบุตรี นางสาวจีรวัสส์ พิบูลสงคราม ที่ส่งไปเรียนที่ฝรั่งเศสและที่สหรัฐอเมริกาให้เดินทางกลับประเทศไทย จึงทำให้คุณ จีรวัสส์ได้มีโอกาสพบกับนายทหารหนุ่มคนนี้ในเวลานั้น จนนำไปสู่การแต่งงานกันใน ปี 2488 และในเดือนเมษายน ปีเดียวกันนี้ รักษ์ ปันยารชุน ก็ได้รับการเลื่อนยศเป็นนายพันตรี แต่ปีนี้ก็เป็นปีที่หลวงพิบูลฯไร้อำนาจทางการเมืองแล้ว
ปี 2488 เป็นปีที่หลวงพิบูลฯพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว หลวงพิบูลฯลาออกจากนายกฯตั้งแต่กลางปี 2487 หลังจากสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติผ่านพระราชกำหนด 2 ฉบับ ดังนั้นวันที่คุณรักษ์ แต่งงานกับบุตรีของหลวงพิบูลฯ ในวันที่ 28 มกราคม ปี 2488 คนที่รับมาเป็นประธานงานแต่งครั้งนั้นคือ เพื่อนผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ที่ในเวลานั้นก็ถูกมองว่าอยู่คนละฝ่ายการเมืองกับหลวงพิบูลฯ เพราะท่านเป็นหัวหน้าใหญ่เสรีไทยที่ชื่อ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี ขณะนั้นนาย ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายปรีดีได้เป็นผู้สวมมงคลให้คู่สมรส และท่านผู้หญิงละเอียด มารดาของเจ้าสาวเป็นผู้ถอดมงคล นับว่าคุณรักษ์ มาแต่งงานตอนที่พ่อตาหมดวาสนาทางการเมือง ถัดมาอีกไม่กี่เดือนวาสนาทางการเมืองของหลวงพิบูลฯผู้เป็นพ่อตาก็ตกลงไปอีกด้วยว่าตอนต้นเดือนตุลาคม ปีเดียวกันนั่นเอง สภาผู้แทนราษฎรก็ได้ออกกฎหมายอาชญากรสงครามและในวันที่ 18 ตุลาคม หลวงพิบูลฯอดีตนายกรัฐมนตรี ก็ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาชญากรสงครามถูกจับกุมคุมขังระหว่างต่อสู้คดี
ครั้นเข้าปีใหม่ ตอนต้นปี 2489 ขณะทีการเมืองกำลังคึกคัก รักษ์ ปันยารชุน ก็ลาออกจากราชการทหารด้วยยศพันตรีของกองทัพบก ตอนนั้นอายุ 29 ปี ไม่ได้ลาออกมาเล่นการเมือง แต่ลาออกมาทำมาหากินในภาคธุรกิจที่ “ น่าจะทำกำไรดี ” ท่านได้มาทำงานธุรกิจด้านการบินและการขนส่ง สั่งรถยนต์นอกเข้ามาขายเอง และที่สำคัญร่วมกันกับเพื่อนฝรั่งตั้งบริษัทดำเนินการผลิตโคคา-โคล่า ของอเมริกาในประเทศไทย โดยตั้งชื่อบริษัทว่า Rak,Derrik & Davis Bottling รวมทั้งต่อมาได้ตั้งบริษัทนำดื่มชื่อ “ โพลาลีส ” ส่งน้ำดื่มขายในหมู่ผู้มีอันจะกิน คุณรักษ์ คงไม่รู้ว่าอีกประมาณ 2 ปี พ่อตาคือหลวงพิบูลฯจะฟื้นคืนชีพทางการเมือง มีคณะรัฐประหารใช้กำลังล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 เปิดทางให้หลวงพิบูลฯกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งในเดือนเมษายน ปี 2491 แม้พ่อตาจะกลับมาเป็นนายกฯ เขยเอกอย่าง พันตรี รักษ์ก็ยังไม่ได้เข้าสู่วงการเมือง จนกระทั้งถึงปี 2498 หลวงพิบูลฯจึงได้เอา รักษ์ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทนนายเขมชาติ บุณยรัตนพันธ์ ตอนนั้นรัฐมนตรีว่าการคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร จึงมีคนเขียนการ์ตูนล้อว่า คุณรักษ์ได้ตำแหน่งเพราะพ่อตา รูปการ์ตูนวาดเป็นตัวหลวงพิบูลฯกับท่านผู้หญิงละเอียดกำลังออกแรงดันรักษ์ให้ขึ้นเก้าอี้รัฐมนตรี แต่ความจริงอย่างหนึ่งคือพันตรีรักษ์เป็นดอกเตอร์ทางกฎหมาย ใช้ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้ดี ท่านมีตำแหน่งการเมืองได้ประมาณ 2 ปี พ่อตาจึงชวนให้ลงแข่งขันเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2500 ที่พรรครัฐบาลชนะในจังหวัดนี้ 7 ที่นั่งจาก 9 ที่นั่ง รักษ์อยู่ในจำนวนผู้แพ้เลือกตั้งของพรรครัฐบาล
หลวงพิบูลฯชนะเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกฯต่อได้ถึงวันที่ 16 กันยายน ปี 2500 ก็ถูกคณะทหารยึดอำนาจ พันตรีรักษ์จึงพ้นจากวงการเมือง และไม่ได้เข้าไปอีกจนถึงแก่กรรมในวันที่ 21 มกราคม ปี 2550