พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:59, 26 พฤศจิกายน 2561 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เขียน : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ผู้ทรงคุณ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เขียน : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


'พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี : อนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ '10 ธันวาคม


          ในคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร ฉบับแรกที่แต่งตั้งขึ้นจำนวน 7 คน เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2475 นั้น มีคนเคยเป็นอัยการอยู่ด้วย 2 คน เป็นระดับอธิบดีกรมอัยการเลยทีเดียว คนที่จะกล่าวถึงนี้เป็นอดีตอธิบดี ที่เป็นเพื่อนสนิทกับประธานอนุกรรมการ คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เพราะทั้งสองท่านได้ทุนไปเรียนที่อังกฤษและได้ออกเดินทางลงเรือลำเดียวกันไป  และในวันเดินทางกลับหลังเรียนหนังสือจบ ก็เดินทางกลับมาเมืองไทยในวันเดียวกันอีกด้วย ท่านผู้นี้เป็นคนมีฝีมือทางด้านกฎหมายมากเป็นที่ยอมรับกันในวงการศาลและอัยการ มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา ต่อมาเมื่อพ้นจากราชการงานเมือง ยังไปตั้งสำนักงานทนายความ รับงานทางด้านกฎหมายมีชื่อโด่งดัง คือสำนักงาน “เทพศรีหริศ” ท่านอดีตอธิบดีกรมอัยการ ซึ่งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร ฉบับแรกนี้มีนามว่า พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี

          เจ้าคุณวิทุรฯ เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่บ้านริมคลองวัดบพิตรภิมุข อำเภอจักรวรรดิ์ จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ปี 2432 ชื่อเดิมคือบุญช่วย นามสกุล วณิกกุล มีพ่อชื่อนายแสง และแม่ชื่อนางชื่น ทางด้านการศึกษาเบื้องต้นนั้นก็เรียนใกล้บ้าน แล้วไปเข้าโรงเรียนดังสมัยนั้น คือ โรงเรียนสวนกุหลาบ จนสอบได้ชั้น 3 จึงไปเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนราชวิทยาลัย จนสอบได้ชั้น 6 ความที่เป็นคนหัวดีและขยันจึงสอบได้ที่ 1 ได้ทุนเล่าเรียนหลวง แต่ก็ไม่ยอมไปนอก และไปทำงานเป็นนักเรียนล่ามที่กระทรวงยุติธรรม โดยมีพี่ชายที่ขณะนั้นเป็นผู้พิพากษา คือ หลวงพิสิฐษสัตถญาณนำไปฝากให้เรียน เมื่อทำงานที่กระทรวงยุติธรรม จึงมีโอกาสเข้าเรียนวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่ปี 2446 ทำงานและเรียนไปด้วยได้เพราะมีการเรียนกันในตอนเช้าเท่านั้น เรียนแล้วก็ฝึกเป็นล่าม ในปีเดียวกันนั้นก็ได้รับการบรรจุเป็นล่าม ท่านเรียนวิชากฎหมายอยู่ได้เกือบ 3 ปี กระทรวงยุติธรรมก็ส่งให้ไปเรียนวิชากฎหมายที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2448 พร้อมกับเสมียนตรากระทรวงยุติธรรม คือหลวงประดิษฐพิจารณ์ หรือต่อมา คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่อังกฤษนายบุญช่วยได้เข้าเรียนที่สำนักกฎหมายเกรส์อินน์ จนสอบได้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ เก่งถึงขนาดได้เกียรตินิยมอันดับที่ 1 สมเป็นเรียนทุน จึงได้รับรางวัลจากโรงเรียน แล้วจึงเดินทางกลับประเทศไทยพร้อมกันกับหลวงประดิษฐพิจารณ์ ในปี 2452 และในวันที่ 1 สิงหาคม ปีเดียวกันนั้นนายบุญช่วยก็ได้เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาในกองข้าหลวงพิเศษ อีก 3 ปีต่อมาท่านก็ได้สมรสกับนางสาว เอื้อม โชติกเสถียร

          นายบุญช่วย วณิกกุล รับราชการได้ประมาณ  2 ปี ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพินิจนิตินัย และอีก 4 ปีต่อมาก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี ท่านทำงานดีได้รับความเจริญก้าวหน้า ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อทำงานได้เพียง 8 ปี ท่านก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าคุณในชื่อเดิมเป็นพระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี และได้เป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา ในปี 2465 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาเทพวิทุรฯ ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นองคมนตรีด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง และยังเป็นผู้พิพากษาอยู่สืบมา ดังนั้นย่อมแสดงว่าท่านเป็นข้าราชการระดับสูงที่มีความโดดเด่นมาก ครั้นถึงปี 2466 ท่านจึงย้ายตำแหน่งไปเป็นอธิบดีกรมอัยการ ในปี 2470 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 พระยาเทพวิทุรฯ ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรรมการองคมนตรีอีก และในปีถัดมาท่านจึงย้ายจากกรมอัยการกลับมาศาล มาเป็นอธิบดีศาลฎีกาในกระทรวงยุติธรรม

          เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯปี 2475 ท่านเป็นบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งในจำนวน 37 คนที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อการที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวรุ่นแรก และที่สำคัญมากก็คือท่านได้รับการเลือกให้เป็นอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกที่มีประธานคณะกรรมการราษฎร พระยามโนปกรณ์ฯ เป็นประธานอนุกรรมการ นอกจากนั้นในวันที่ 29 มิถุนายน ปี 2475 นั้น ท่านยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมแทนเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์  ซึ่งเป็นอยู่ก่อนและพ้นตำแหน่งไปหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ

          ครั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475  ที่ท่านมีส่วนในการร่างได้ถูกประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว จึงได้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ตามรัฐธรรมนูญ แต่หัวหน้ารัฐบาลก็ยังเป็นคนเก่า คือ พระยามโนปกรณ์ฯ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรี พระยาเทพวิทุรฯ จึงได้ร่วมรัฐบาลต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นับได้ว่าพระยาเทพวิทุรฯ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนแรกของประเทศ แต่พระยาเทพวิทุรฯ ก็เป็นรัฐมนตรีอยู่ต่อมาอีกไม่นาน หลังการยึดอำนาจซ้ำของนายพันเอก พระยาพหลฯ และนายพันโท หลวงพิบูลสงคราม กับนายนาวาโท หลวงศุภชลาศัย ในวันที่ 20 มิถุนายน ปี 2476 พระยาโนปกรณ์ฯ ต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  พระยาเทพวิทุรฯ จึงต้องพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีไปด้วย และเป็นการออกจากราชการของท่านเพื่อขอรับบำนาญ น่าจะเป็นช่วงเวลานี้นั่นเองที่ท่านได้ไปร่วมกับเพื่อนตั้งสำนักงานทนายความ “เทพศรีหริศ” พระยาเทพวิทุรฯ ออกมาอยู่นอกวงการเมืองเป็นเวลานานประมาณได้ถึง 14 ปี จึงได้เกิดมีการรัฐประหารล้มรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน.ปี 2490 พระยาเทพวิทุรฯก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา และเมื่อมีการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญสภาแรก ท่านก็ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2492 ออกมาใช้ นับว่าท่านเป็นผู้ที่มีส่วนร่างกติกาสำคัญให้บ้านเมืองมาถึงสองฉบับ และท่านก็ยังคงเป็นสมาชิกวุฒิสภาสืบต่อมาจนถึงอนิจกรรมในวันที่ 15 พฤศจิกายน ปี 2492 ปีเดียวกันนั่นเอง