พระยาปรีดานฤเบศร์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:19, 26 พฤศจิกายน 2561 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ผู้ท...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พระยาปรีดานฤเบศร์ : ทนายผู้เป็นหนึ่งในผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก


        ในบรรดาผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการของสภาผู้แทนราษฎรสภาแรกของไทย ให้ไปยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวรฉบับแรกนั้นมีนักกฎหมายสำคัญที่มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาท่านหนึ่งซึ่งในตอนที่ท่านได้รับแต่งตั้งนั้น ผู้คนรู้จักท่านในฐานะทนายความที่มีชื่อเสียงโด่งดังในวงการกฎหมายและศาล ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย แต่ก็เป็นวันเดียวกัน คือวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2475 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว ในจำนวน 70 คนด้วย ทั้งๆที่ท่านเองไม่ได้ร่วมอยู่ในคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ด้วยแต่อย่างใด ทั้งนี้คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองฯ คงต้องการให้ในสภาผู้แทนฯมีบุคคลอื่นที่มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านต่างๆมาร่วมงานด้วยนั่นเอง ทนายความผู้มีชื่อเสียงโด่งดังท่านนี้คือ พระยาปรีดานฤเบศร์

          พระยาปรีดานฤเบศร์เป็นคนกรุงเทพฯนี่เอง ท่านเกิดที่บ้านตำบลบางรัก อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร ท่านมีบิดาเป็นฝรั่งชาวเยอรมัน ชื่อนายกัสตัฟ เฟอร์ดิแนนต์ ฟัล์ค (Gustav Ferdinand Falk ) ซึ่งเข้ามาทำมาค้าขายในเมืองไทย ส่วนมารดาของพระยาปรีดานฤเบศร์ ชื่อเปลี่ยน พระยาปรีดานฤเบศร์ยังมีน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันอยู่หนึ่งคนคือนายแม๊ก หรือพระยานนธิเสนฯ ชื่อเดิมของพระยาปรีดานฤเบศร์นั้น คือ ฟัก น่าจะเอามาจากการออกเสียงนามสกุลของบิดา โดยนามสกุลเดิมที่ท่านใช้ คือ เศียนเสวี ต่อมาท่านได้เปลี่ยนเป็น “พันธ์ฟัก” บิดาของท่านได้ถึงแก่กรรมเมื่อตัวท่านมีอายุได้เพียง 10 ปี

          การศึกษาเล่าเรียนนั้นท่านเคยเรียนที่โรงเรียนวัดมหรรณพาราม แล้วจึงไปเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ จนจบภาษาอังกฤษชั้นที่ 6 จากนั้นได้เริ่มทำงานเป็นล่ามภาษาอังกฤษที่กระทรวงยุติธรรม และการที่ได้ไปทำงานที่กระทรวงยุติธรรมนี่เองทำให้ท่านสนใจที่จะเรียนกฎหมาย จึงได้เข้าเรียนกฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ในปี 2445 ความที่เป็นคนหัวดีและขยันเรียน ท่านจึงเรียนจบได้เป็นเนติบัณฑิต ตั้งแต่อายุ 23 ปีใน พ.ศ.2448 และเข้ารับราชการ ได้รับแต่งตั้งไปเป็นผู้พิพากษาฝึกหัดอยู่ศาลแพ่งระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะถูกส่งไปเป็นผู้พิพากษาศาลมณฑลพายัพ

          ในการทำงานของท่านนั้น ท่านได้รับความก้าวหน้าในงานตุลาการเป็นอย่างดี ดังปรากฏว่าในปี 2449 ขณะที่เป็นผู้พิพากษาที่ศาลจังหวัดลำปาง ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสัณหกิจวิจารณ์ อีก 6 ปีต่อมาเมื่อได้ย้ายไปจังหวัดอื่นแล้วจึงได้กลับเข้ามาเป็นผู้พิพากษาในพระนคร และท่านได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระสุขุมวินิจฉัย จากนั้นอีก 5 ปี ท่านก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาปรีดานฤเบศร์ เป็นตุลาการชั้นผู้ใหญ่จนถึงปี  2467 ท่านจึงย้ายไปรับราชการที่กระทรวงวัง ได้เป็นปลัดพระราชมณเฑียร แต่ในปีถัดมาท่านก็ได้ขอลาออกจากราชการเพื่อไปประกอบอาชีพอิสระ ขณะนั้นท่านมีอายุได้ 43 ปี และอาชีพอิสระที่ท่านออกมาทำก็คืออาชีพทนายความ ที่เจ้าพระยาศรีธรรมาธเบศร์กล่าวถึงในภายหลังว่าเป็น “ทุกขลาภ เพราะได้รับผลประโยชน์มากกว่าเงินเดือนที่ได้รับอยู่ในเวลาราชการหลายเท่า” สำหรับชีวิตสมรสนั้นท่านมีภรรยาคนแรกคือคุณนายน้อม

          หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 พระยาปรีดานฤเบศร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ปี 2475 นี่ย่อมแสดงว่าท่านต้องเป็นบุคคลที่คณะผู้ก่อการฯ ยอมรับว่าเป็นผู้มีความรู้เหมาะที่จะเอามาร่วมด้วยช่วยกันออกความคิดเห็นในการปกครองบ้านเมือง ในจำนวนสมาชิกสภาฯ 70 คนนี้มีผู้ก่อการฯอยู่ 33 นาย และมีคนอื่นซึ่งรวมทั้งพระยาปรีดานฤเบศร์ด้วย จำนวน 37 คน และยิ่งท่านเป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในจำนวนเจ็ดคนที่เป็นอนุกรรมการฯ ไปยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฯด้วย ย่อมแสดงว่าท่านต้องเป็นดาวเด่นทางกฎหมาย เพราะการยกร่างกติกาการปกครองรูปแบบใหม่ของประเทศที่ถือว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ที่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ท่านต้องมีส่วนยกร่างครั้งนั้นเป็นกติกาที่วางรากฐานการปกครองใหม่ของไทยเป็นระบอบที่เรียกกันในวันนั้นว่าการปกครองระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ

        ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475  ซึ่งเป็นฉบับแรกแล้ว จึงได้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 1 ในปี 2476 ที่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม และการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน พระยาปรีดานฤเบศร์ก็ยังไม่ได้สนใจที่จะลงเลือกตั้ง จนกระทั่งมีการยุบสภาในปี 2481 โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ทำให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2475  พระยาปรีดานฤเบศร์ได้มีความสนใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรด้วยเหมือนกัน โดยลงสมัครที่จังหวัดพระนครแต่ท่านไม่ได้รับเลือก

        พระยาปรีดานฤเบศร์ได้กลับเข้ารัฐสภาอีกครั้งในปี  2490 เพราะในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปีนี้ได้มีการรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2489 และในวันที่ 18 พฤศจิกายน ปี 2490 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกของประเทศ วุฒิสภาชุดนี้ได้อยู่ต่อมาจนมีการยึดอำนาจวันที่ 29 พฤศจิกายน ปี 2494 ตั้งแต่นั้นมาพระยาปรีดานฤเบศร์ก็ไม่ได้เข้าสู่วงการเมืองอีก แต่ท่านได้เป็นบุคคลสำคัญของวงการทนายความ เพราะหลังจากได้มีการตั้งสมาคมทนายความในปี 2500 แล้วอีกสองปีท่านก็ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสมาคม และท่านก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคม ทั้งยังได้ดำรงตำแหน่งสืบต่อมารวม 6 ปี จนกระทั่งถึงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2507 พระยาปรีดานฤเบศร์ จึงได้ถึงแก่กรรม