ชุมพล โลหะชาละ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:30, 23 พฤศจิกายน 2561 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เขียน : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ผู้ทรงคุณ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เขียน : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ชุมพล โลหะชาละ : ผู้อารักขานายกฯ


          นายตำรวจผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะเป็นนายตำรวจติดตาม นายกรัฐมนตรี ในช่วงที่มีการยึดอำนาจล้มรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ได้พยายาม"หนี" การยึดอำนาจ โดยนายตำรวจท่านนี้ติดตามอารักขา ไปด้วยในเส้นทางทั้งทางบกและทางน้ำ จนออกจากประเทศไทยไปต่างประเทศได้ นายกรัฐมนตรีในตอนนั้นคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ผู้มากประสบการณ์ ผู้เคยยึดอำนาจมาก่อนแล้วถูกจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำกำลังเข้ายึดอำนาจ ส่วนนายตำรวจติดตามนายกฯ ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ท่านชุมพล โลหะชาละ ผู้ได้รับยศสูงสุดทางตำรวจเป็นพลตำรวจเอก เรามารู้จักชีวิตแลงานของนายตำรวจติดตามนายกรัฐมนตรีท่านนี้ดูบ้าง

          ชุมพล โลหะชาละ เป็นคนกรุงเทพ เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2461 ที่บ้านหลานหลวง อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย มีชื่อเดิมว่า “หงส์” ส่วนบิดาของท่าน คือ รองเสวกตรี แห โลหะชาละ และมารดาชื่อ เลี่ยม บิดานั้นทำงานที่กรมพระคลังข้างที่ สำหรับการศึกษาเบื้องต้นของชุมพล โลหะชาละ นั้นก็เรียนใกล้บ้าน ที่โรงเรียนวัดสระเกศ จนถึงชั้นประถมปีที่ 3 จึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนวัดบพิธพิมุข ขณะที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมปีที่ 6 บิดาได้เสียชีวิตลง เคราะห์ดีที่ทางบ้านนายของบิดาได้อุปการะให้มาอยู่ที่บ้าน และส่งเสริมให้การศึกษาต่อไป ได้ไปเรียนชั้นมัธยมปีที่ 7 และ 8 ที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทราวาส จบแล้วได้ไปเพียรพยายามสอบจะเข้าเรียนทหารอยู่สองปีแต่ไม่สำเร็จ มาปีที่ 3 สมัครมาเรียนทางตำรวจ ก็สอบได้สมใจ จบมาเป็นนายร้อยตำรวจตรีเมื่อปี 2483 ได้เป็นรองสารวัตรสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง และก็ได้สมรสกับคุณทองอยู่ ผู้ซึ่งเป็นญาติกับเจ้าของบ้านที่ได้อุปการะท่านมาในตอนที่เรียนหนังสือ

          ชีวิตการทำงานตำรวจก็เจริญมาตามปกติ แต่ที่ชุมพล โลหะชาละ จะได้เข้ามาใกล้การเมือง เพราะขณะที่เป็นผู้กำกับการตำรวจจังหวัดนนทบุรีนั้น อธิบดีกรมตำรวจที่ชื่อ เผ่า ศรียานนท์ แวะไปที่สถานที่ทำงานถึงสองครั้งแล้วไม่พบตัว ทำให้ต้องไปรายงานตัวกับผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจมากในแผ่นดิน ที่ต่อมาได้เป็นผู้สั่งย้ายชุมพล เข้ากรุงเทพฯให้มาเป็นผู้กำกับการสันติบาล 4 ในวันที่ 24 เมษายน ปี 2496 ให้มีหน้าที่อารักขาบุคคลสำคัญ และบุคคลสำคัญที่ว่านี้ ก็คือ นายกรัฐมนตรี ที่ชื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามผู้ที่เคยถูกลอบฆ่ามาแล้ว สมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรีก่อนปี 2487

          การอารักขานายกฯจอมพล ป.ตั้งแต่ปี 2496 ต่อมานั้นถือได้ว่าเป็นช่วงที่ดี ไม่มีปัญหาอะไร ทางรัฐบาลโดยเฉพาะตำรวจควบคุมสถานการณ์ได้ดี ศัตรูทางการเมืองที่สำคัญต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ อยู่ในประเทศได้ถูกจับเข้าคุกก็มี ถูกสังหารก็มี รัฐบาลจอมพล ป. มีความยุ่งยากเกิดขึ้นก็เพราะความขัดแย้งภายในพวกเดียวกันคือภายในรัฐบาลนั่นเอง

          ถึงตอนนี้ ตอนที่ลูกน้องของนายกฯที่แบ่งกันออกเป็นสองฝ่ายใหญ่ๆคือฝ่ายตำรวจและฝ่ายทหารออกมาเผชิญหน้ากัน ตอนนั้นคุณชุมพลมียศเป็นพันตำรวจเอก ท่านมีเรื่องที่คนไม่ค่อยรู้มาเล่า คือเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายยกกำลังมาคุมเชิงกันที่ทำเนียบรัฐบาล เวลานั้นเป็นช่วงสุดท้ายของรัฐบาลของจอมพล ป. ช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนกันยายน พ.ศ.2500  คุณชุมพลได้บันทึกเล่าไว้ให้ลูกหลาน ญาติมิตรได้อ่านมีความตอนหนึ่งว่า

        “ในการประชุมคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้ง ทั้งสองฝ่ายได้นำสรรพกำลังที่มีอยู่มาประจันหน้ากัน พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ได้นำรถถังและตำรวจมาตั้งมั่นอยู่หน้าทำเนียบ ส่วน พล.อ.(น่าจะเป็นจอมพลแล้ว) สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขนเอาปืนกลหนักและกำลังทหารราบไปตั้งไว้ในทำเนียบ ทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้าหากันในลักษณะเตรียมพร้อม”

          หลังจากนั้นไม่นาน คุณชุมพลก็ต้องติดตามอารักขานายกรัฐมนตรี ที่หนีการยึดอำนาจออกไปต่างประเทศ เพราะจอมพล สฤษดิ์ยึดอำนาจล้มรัฐบาลของจอมพล ป. ที่ถูกกล่าวหาว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก เรื่องสนุกๆอย่างนี้ คุณชุมพลเล่าไว้ยาว ไปหาอ่านได้

          วันนั้นเป็นวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 เวลาก็น่าจะเลย 6 โมงเย็นไปสักเล็กน้อย นายกรัฐมนตรี จอมพล ป. ได้เดินอย่างรีบเร่งขึ้นไปขับรถซีตรองออกจากทำเนียบรัฐบาล โดยมีคนอีกสี่คนนั่งอยู่ในรถด้วย ที่ด้านหน้าทางซ้ายมือ คือ พลโท บุลศักดิ์ วรรณมาศ ส่วนด้านหลังเป็นผู้ติดตามสามคน มีนายฉาย วิโรจน์ศิริ เลขาธิการนายกฯ ผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี พ.ต.อ.เทียบ สุทธิมณฑล และ พ.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ นายกฯขับรถมาแวะที่บ้านซอยชิดลมเพื่อเอาของที่จำเป็น หลังจากนั้นก็ขึ้นมาขับรถเองไปเข้าถนนสุขุมวิท ขณะนั้นผู้คนในกรุงเทพฯ บางแห่งเริ่มเห็นรถถังของทหารเคลื่อนตัวออกจากกรมกองมุ่งไปยังสถานที่สำคัญของทางราชการแล้ว

          จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้แวะที่พระโขนง สั่งให้คุณเทียบลงแล้วบอกว่าวันรุ่งขึ้นให้ไปรายงานตัวที่บ้านพักรับรองนายกฯที่บางปู จากนั้นท่านก็ขับรถมุ่งหน้าต่อไปทางปากน้ำ และผ่านบ้านรับรองที่บางปูไปโดยไม่บอกจุดหมายปลายทางกับใคร ทำให้เดาได้ยากว่าท่านจะไปไหน เวลาประมาณสองทุ่ม รถผ่านด่านตรวจที่บางประกง ที่ยังไม่ทันได้เริ่มงานตรวจรถ คุณชุมพลเล่าว่า

          “เพียงชั่วอึดใจ วิทยุในรถประกาศให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ จอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล ไปรายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก”

          แต่นายกฯ ผู้มียศจอมพลก่อนใครภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 คงไม่คิดเรื่องจะกลับไปรายงานตัวต่ออดีตผู้ใต้บังคับบัญชา คงขับรถซีตรองมุ่งหน้าไปสู่จังหวัดด้านตะวันออกของประเทศ ถึงเมืองตราดแล้ว นายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงคราม ก็สั่งให้พลโท บุลศักดิ์ ขับรถซีตรองที่เป็นพาหนะพาคณะมาถึงจังหวัดชายแดนไทยกลับกรุงเทพฯ คุณชุมพลได้ฝากของกลับไปมอบให้ภรรยาด้วย ที่เหลืออยู่ตอนนั้นคือคุณชุมพลซึ่งจอมพล ป. ยังอยากให้ไปด้วยกับคุณฉาย ต่อมาช่วยกันหาเช่าเรือได้ จึงได้พากันรีบเดินทางฝ่าคลื่นลมออกไปเพราะตอนนั้นมีมรสุมแรง แต่นายกฯ ท่านเกรงมรสุมการเมืองมากกว่า ในคณะผู้เดินทางได้นายดาบตำรวจไปด้วยอีกหนึ่งคน

          “เรือประมงลำเล็กๆของเรา จวนเจียนจะจมหลายต่อหลายครั้ง แต่ไม่จม ผมถามกัปตันเรือว่า ขณะนี้เราอยู่ที่ไหน อยู่ห่างจากฝั่งเท่าใด เรากำลังอยู่ฝั่งเขมรหรืออยู่ในทะเลไทย กัปตันตอบว่า ‘ไม่รู้’ ขณะที่เครื่องเรือเงียบสนิท”

          ความข้างบนนี้คือคำเขียนเล่าของคุณชุมพลเอง แต่คลื่นจะแรงเท่าใดก็ตามเรือที่หลวงพิบูลฯผู้ซึ่งรอดตายมาจากการลอบฆ่าหลายครั้ง ก็พาท่านและคณะไปถึงเกาะกงของเขมรได้อย่างปลอดภัย ในเช้าวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2500  ส่งสามบุรุษผู้ลี้ภัยการเมืองขึ้นเกาะและกัปตันเรือใจกล้าก็นำนายดาบตำรวจผู้เกรงใจนายเก่ามากกว่าคณะผู้ยึดอำนาจกลับไทย

          “หลังจากรออยู่ที่เกาะกง 2 วัน ผู้บังคับการค่ายทหารมาบอกกับพวกเราว่า รัฐบาลเขมรยินดีให้ลี้ภัยได้ โดยรัฐบาลพนมเปญ จะจัดรถมารับในวันรุ่งขึ้น'

          ทุกอย่างก็เป็นไปตามที่คุณชุมพลบอก ในวันที่ 20 กันยายน ปี 2500 เรือรบเขมรก็มารับนักการเมืองและผู้ติดตามที่พลัดถิ่น จากเกาะข้ามไปแผ่นดินใหญ่ของเขมร และมีรถอย่างดีมารับอีกทอดหนึ่งเพื่อนำเข้ากรุงพนมเปญไปยัง “บ้านพักรับรองในพระราชวัง” เป็นอันว่าพ้นทุกข์กันไปได้อีกขั้นหนึ่ง และเมื่อคณะของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามและบุตรชายของจอมพล ป. เดินทางมาถึงเขมรแล้ว คุณชุมพลจึงได้โอกาสเดินทางกลับไทย พ้นภาระงานอารักขานายกฯ มาจนถึงต่างแดน ท่านจึงเดินทางกลับไทยไปรายงานตัวต่อคณะผู้มีอำนาจชุดใหม่ ซึ่งท่านเองก็ไม่แน่ใจว่าจะโดนเล่นงานว่าเป็นผู้พาจอมพล ป.หนี ทั้งๆที่น่าจะเป็นผู้อารักนายกฯคณะที่กำลังหนีมากกว่า

          แต่เมื่อท่านรายงานตัวต่ออธิบดีกรมตำรวจคนใหม่ตอนนั้นคือ พล.ต.อ.ขุนไสว แสนยากร แล้วก็ไม่มีปัญหา แถมนายกรัฐมนตรีชั่วคราว คือ นายพจน์ สารสิน ยังขอให้คุณชุมพลทำหน้าที่ตำรวจติดตามอารักขานายกฯต่อไป จนเสร็จสิ้นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 จึงได้มีการตั้งรัฐบาลใหม่ มีพลโท ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะเปลี่ยนตัวนายกฯ พ.ต.อ.ชุมพล ก็ยังถูกสั่งให้เป็นนายตำรวจติดตามอารักขานายกฯต่อมาเป็นรายที่ 3 จนมีการยึดอำนาจครั้งที่ 2 ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ 20 ตุลาคม ปีถัดมา คุณชุมพลจึงพ้นหน้าที่ เข้าใจว่าจอมพล สฤษดิ์จะใช้นายทหารหรือนายตำรวจคนอื่นเข้ามาทำหน้าที่ แต่คุณชุมพลก็ยังทำงานอยู่ที่กองบังคับการตำรวจสันติบาลเช่นเดิมจนได้เป็นรองผู้บังคับการตำรวจสันติบาลด้วย

          แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาคืออธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ จะให้ขึ้นเป็นผู้บังคับการสันติบาล คุณชุมพลเล่าว่าท่านปฏิเสธตำแหน่งดังกล่าว เพราะเห็นว่าจะมีการเมืองเข้ามายุ่ง จนเกือบไปเป็นผู้บังคับการตำรวจจราจร แต่ยังไม่ทันไปดำรงตำแหน่งใหม่ จอมพล สฤษดิ์ นายกรัฐมนตรีซึ่งตอนนั้นเป็นอธิบดีกรมตำรวจได้ถึงแก่อสัญกรรมลง คุณชุมพลได้รับแต่งตั้งใหม่ให้เป็นผู้บังคับการกองปราบปรามซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญมากในกรมตำรวจ และมีการเมืองเข้ามายุ่งมากด้วยเหมือนกัน สมัยจอมพล สฤษดิ์เป็นนายกฯ ท่านได้เลือกนายตำรวจที่รู้จักกันมานานและวางใจมากเป็นผู้บังคับการกองปราบ สำหรับคุณชุมพลนั้นต่อมาท่านก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้รับยศพลตำรวจโท และเมื่อเกิดเหตุการณ 14 ตุลาคม  ปี 2516 นั้นท่านก็เป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แต่ตอนที่เหตุการณ์เริ่มขึ้นและขยายตัวนั้น คุณชุมพลเป็นตัวแทนกรมตำรวจไปประชุมองค์การตำรวจสากลที่ประเทศในยุโรป จึงถูกเรียกตัวให้เดินทางกลับ แต่ท่านก็เดินทางกลับมาถึงไทยในวันที่ 13 ตุลาคม ปี 2516 ก่อนที่เหตุการณ์จะถึงจุดแตกหักเพียงวันเดียว

          เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปี 2516 ทำให้จอมพล ถนอม ลาออกจากนายกรัฐมนตรี และรีบเดินทางออกไปต่างประเทศ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนั้นได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ไม่เคยคิดจะเล่นการเมือง และในรัฐบาลของนายสัญญาที่เป็นรัฐบาลชั่วคราวนี้ คุณ
ชุมพลได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นครั้งแรก โดยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีนายกมล
วรรณประภา อธิบดีกรมอัยการเป็นรัฐมนตรีว่าการ ที่จริงก่อนหน้านี้คุณชุมพลก็เคยได้ตำแหน่งทางการเมืองมาบ้างแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าในปี 2507 หลังการอสัญกรรมของจอมพล สฤษดิ์ไม่ถึงปี ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นจอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรี และหลังการมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งก็เป็นสมัยของนายกฯ จอมพล ถนอมอีกเหมือนกัน และต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองฯ ในปี 2515 ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ

        นายกฯสัญญานั้นตั้งรัฐบาลสองครั้ง ในครั้งที่สองแม้จะเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่คุณชุมพลก็ยังคงตำแหน่งเดิม พ้นตำแหน่งการเมืองแล้วคุณชุมพลก็ยังเป็นตำรวจต่อมาจนถึงวันที่ 13 มิถุนายน ปี 2522 จึงลาออกจากราชการตำรวจ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยอย่างเดียว เพราะท่านได้เข้าร่วมรัฐบาลของนายกฯเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2522 และท่านได้อยู่ร่วมรัฐบาลจนถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ปี 2523 พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วเกือบ 20 ปี พล.ต.อ. ชุมพล โลหะชาละ จึงได้ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 6 กรกฎาคม ปี 2544