ไขแสง สุกใส
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
'ไขแสง สุกใส : นักการเมืองดังเมื่อ '14 ตุลาฯ
ในเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” อันเกิดจากการเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การล้มรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจรได้นั้น ได้เริ่มต้นจากคณะผู้เรียกร้อง 100 คนร่วมกันลงชื่อ และมีคนกลุ่มเล็กอีกส่วนหนึ่งจำนวน 12 คน ออกมาเดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ปี 2516 คนกลุ่มเล็กนี้มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หนึ่งคนกับนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรามคำแหงหลายคน กับผู้เรียกร้องคนอื่นอีกสองสามคน ในจำนวนผู้ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 100 คน มีนักการเมืองที่เคยเป็นทั้งผู้แทนราษฎรและผู้ที่เคยติดคุกเพราะการเมืองรวมอยู่ด้วย และหนึ่งในนี้คือ คุณไขแสง สุกใส นักการเมืองชื่อดังจากภาคอีสาน ที่ประกาศว่าตนเองมี “ปริญญา BKLY” ที่แปลเป็นไทยว่า “บางขวาง-ลาดยาว” ที่หมายถึงชื่อคุกสำคัญสองแห่ง คือบางขวางที่จังหวัดนนทบุรี กับลาดยาวที่ชานเมืองของกรุงเทพฯทั้งนี้เพราะนักการเมืองท่านนี้มีประวัติถูกจับขังคุกเกี่ยวกับการเมืองมาก่อนหน้าที่จะเป็นผู้แทนราษฎร และมาถึงกรณีแจกใบปลิวนี้ก็ต้องถูกคุมขังอีกเป็นคุกที่สาม
ไขแสง สุกใส เป็นคนเมืองอุบล อำเภอวารินชำราบ เกิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน ปี. 2472 มีบิดาชื่อทิม สุกใส บิดามีอาชีพเป็นทนาย เชื้อสายเจ้าราชบุตร มารดาชื่อแพงพันธ์ นามสกุลเดิม ชัยนาม การศึกษาเบื้องต้นก็เป็นการศึกษาในพื้นที่ มีคนกล่าวกันว่าชีวิตวัยรุ่นนั้นท่านไม่ค่อยชอบเรียนนัก แต่ชีวิตงานการเมืองนั้นเริ่มต้นเร็วมาก อายุประมาณ 22 ปี ในปี 2493 เขาได้รับเลือกเข้าเป็นนักการเมืองท้องถิ่น คือเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองนครพนม จังหวัดที่บิดาย้ายมามีอาชีพทนาย เขาเป็นอยู่ถึงปี 2496 แต่การเมืองได้เข้ามาเล่นงานไขแสงอย่างแรงมากในปีถัดมา ดังที่ระบุไว้ในประวัติของเขาว่า “ในปี 2497 เขาถูกจับในข้อหากบฏภายในภายนอกราชอาณาจักร และมีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์” ยุคนั้นเป็นยุคที่คณะรัฐประหารมีอำนาจ มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เวลาที่ถูกจับกุมเป็นเวลาที่นักการเมืองฝ่ายซ้ายและพวกของนายปรีดี พนมยงค์ได้ถูกทางรัฐบาลเล่นงานมาก ติดคุกด้วยคดีการเมืองอยู่ประมาณ 3 ปี เพราะในปี 2500 รัฐบาลจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จึงมีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองด้วย
แต่อีกปีต่อมาหลังจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ที่เรียกว่า “ปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2501” ได้มีการกวาดล้างนักการเมืองฝ่ายซ้ายเข้าคุก ไขแสงก็ถูกจับเข้าคุกอีก คราวนี้อยู่จนจอมพล สฤษดิ์ เสียชีวิตแล้วจึงได้ออกจากคุกในปี 2508 สมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร
ชีวิตการเมืองระดับชาติของไขแสง สุกใส มีขึ้นเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ที่เปิดทางให้มีการเลือกตั้งทั่วไปได้ในปี 2512 หลังจากว่างเว้นการเลือกตั้งมาได้ประมาณหนึ่งทศวรรษ ลงเลือกตั้งครั้งนี้ไขแสงชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนเข้าสภา “ครูการเมือง” ที่เขาพึ่งพา และนับถือมากคือ นายเลียง ไชยกาล
ในเรื่องที่ไขแสง สุกใส เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” นั้นมีเรื่องเล่าที่น่าบันทึกไว้คือไขแสงเป็นเพียง 1 ใน 100 คนที่ลงนามเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่มีนักการเมืองอีกหลายคนร่วมลงนามด้วย รวมทั้งนายเลียง ไชยกาล นายเทพ โชตินุชิต และคนสำคัญอื่นๆ ดังนั้นเมื่อตำรวจรวบตัวผู้แจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ในวันที่6 ตุลาคม ปี 2516 อันเป็นวันที่มีการเดินแจกใบปลิวนั้น ไขแสงจึงไม่ได้ถูกจับในตอนแรก
แต่ได้มีข่าวตามมาในวันรุ่งขึ้นว่าไขแสงเป็นเป้าหมายที่ตำรวจเตรียมจะจับ เพราะตำรวจอาจพบว่าสำนักงานธรรมรังสีของไขแสง เป็นที่ชุมนุมของพวกผู้ที่คิดการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ขณะนั้นไขแสงก็มิได้หลบไปซ่อนตัวไกลที่ไหนเลย เขาหลบอยู่ที่บ้านนายเลียง ไชยกาล ซึ่งว่าไปแล้วก็ไม่น่าจะเป็นที่ปลอดภัยนัก แต่ตำรวจไม่ทันต้องระดมพลไปจับไขแสงให้เหนื่อยยาก ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2516 หลังจากตำรวจรวบตัวเพื่อนรุ่นน้องของไขแสงไปได้ 3 วัน ไขแสง สุกไส ก็หิ้วแคนเข้ามอบตัวกับตำรวจ ดังที่ประสาร มฤคพิทักษ์ เขียนเล่า
“'9 ต.ค.เวลา 10.00 คุณไขแสง สุกใส ถือแคนอีสานและหิ้วกระเป๋าแพนแอม บรรจุเสื้อผ้าเข้ามอบตัวที่กองบังคับการตำรวจสันติบาล หนังสือพิมพ์พาดหัวอีกว่า ทางการจะใช้มาตรา 17 ควบคุมตัวนายไขแสง ...”
ตอนนั้นมีคนสงสัยว่าทำไม ไขแสง จึงไม่หลบหนีไป เพราะเชื่อกันว่านักการเมืองหลายคนพร้อมที่จะหาเงินรวมกันสนับสนุนให้เขาหลบหนี เรื่องนี้ประสาร มฤคพิทักษ์ ที่ได้พบพูดจากับไขแสง ก่อนที่เขาจะมอบตัวได้บันทึกเล่าถึงคำพูดของไขแสง ที่แสดงถึงความเป็นห่วงผู้ที่ถูกจับ เอาไว้ว่า
“พี่จะหาทางแก้ปัญหาตามวิธีของพี่ เพื่อช่วยน้องๆที่ถูกจับ” และเขาก็รู้ว่าตำรวจกำลังตามตัวเขา “พี่โดนแน่ๆ อย่าห่วงพี่ พี่มีบทเรียนมาแล้ว พี่เป็นพี่เลี้ยงพวกเราในคุกได้อย่างดี”
ไขแสง สุกไส ถูกจับคุมขังครั้งนี้เป็นการถูกขังที่สั้นที่สุด เพราะอีก 5 วันถัดมาสถานการณ์ทางการเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รัฐบาลของจอมพล ถนอม แก้ปัญหาผิดเกิดความรุนแรงขึ้น ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอย่างกะทันหัน จอมพล ถนอมต้องลาออกและต้องเดินทางออกไปต่างประเทศ ผู้ที่ถูกจับทั้งหมดรวมทั้งไขแสงได้รับการปล่อยตัว
การเมืองหลังเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” นั้น เป็นไปอย่างคึกคักมาก นักการเมืองรวมตัวกันตั้งพรรคการเมืองใหม่ ทั้งพรรคฝ่ายซ้ายและพรรคฝ่ายขวา ไขแสงได้เข้าร่วมกับพรรคสังคมนิยมและได้เป็น “รองประธานพรรค” เขาลงเลือกตั้งอีกที่จังหวัดนครพนมและชนะเลือกตั้ง แต่เมื่อเหตุการณ์ร้ายแรง “6 ตุลาคม 2519” เกิดขึ้น ไขแสงก็เหมือนนักการเมืองและนักศึกษาที่ถูกหมายหัวหลายคนที่ต้องหลบเข้าป่า เข้าป่าคราวนี้ ไขแสงได้แต่งงานกับสตรีร่วมอุดมการณ์ คือ บุดดา กันยาเหมา ในปี 2520 ต่อมาไขแสงได้ออกจากป่าและลี้ภัยไปอยู่จีน และเดินทางกลับไทย ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2529 ไขแสงยังกลับมาลงเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์และชนะเลือกตั้งที่นครพนม แต่ในการเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี. 2531 เขาแพ้ จากนั้นเขาจึงยุติบทบาททางการเมือง อยู่ดูการเมืองเรื่องที่เขารักมาก จนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี 2543