ม.จ. การวิก จักรพันธ์
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ม.จ.การวิก : ขุนคชาเดชน์ดิลก
ผู้คนหลายคนอาจทราบว่า ม.จ. การวิก จักรพันธ์ เป็นเชื้อพระวงศ์อีกท่านหนึ่งที่พำนักอยู่ในอังกฤษในช่วงเวลาที่ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ และท่านได้อาสาเข้าร่วมงานเสรีไทยสายอังกฤษ ทั้งยังเดินทางเข้ามาปฏิบัติงานลับของขบวนการเสรีไทยที่ทางภาคเหนือของประเทศไทยเพื่อเตรียมการต่อต้านญี่ปุ่น แต่มีคนน้อยคนที่จะทราบถึงชื่อ “ขุนคชาเดชน์ดิลก” ของท่าน เพราะชื่อที่ฟังดูดั่งจะเป็นบรรดาศักดิ์นี้มิใช่ “นามสงคราม” ของท่าน ชื่อที่สมมุติมาใช้ตอนทำสงครามนั้นท่านชื่อ “รัศมี” สำหรับบรรดาศักดิ์ตั้งเองนี้ท่านคิดขึ้นเองแบบปัจจุบันทันด่วน ขณะที่กำลังปฏิบัติงานอยู่กลางหมู่บ้านที่ภาคเหนือของไทย
“เรื่องนามแฝงนี้ ระหว่างที่คุยๆกัน ได้พบนายกเทศมนตรีของเมืองสวรรคโลกขณะนั้น คือขุนเพ่งลิมประพันธ์...และนึกถึงตัวเองก็เคยเห็นช้างเผือกของในหลวงรัชกาลที่ 7 คือพระเศวตคชเดชน์ดิลก เพราะฉะนั้นใช้ว่า ‘ขุนคชาเดชน์ดิลก’ ก็แล้วกัน จึงเป็นท่านขุนเรื่อยมา และเลิกเป็นนายวัน โชติแสง”
ม.จ.การวิก จักรพันธ์ ประสูติ เมื่อวันที่ 9 เมษายน ปี 2460 เป็นพระโอรสของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเสรฐวงศ์วราวัตร กรมหมื่นอนุพงษ์จักรพรรดิ์ กับหม่อมหลวงโป๊ ในด้านการศึกษา เมื่ออายุได้ 10 ขวบ ก็ได้ไปเรียนที่โรงเรียนราชกุมารก่อน แล้วไปต่อที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย จากนั้นก็ไปเรียนที่ Lycée Perier ที่ประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2473 ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ปี 2475 ที่กรุงเทพฯ ท่านจึงยังอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส และท่านยังได้เรียนที่ Chartered Institute of Secretaries of Joint Stock Companies หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระราชินีเสด็จไปประทับที่ประเทศอังกฤษเพื่อรักษาพระองค์ และต่อมาได้สละราชสมบัติ ม.จ.การวิกก็ได้ไปอยู่รับสนองงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ที่อังกฤษด้วย สำหรับชีวิตสมรสของท่านนั้น พระชายาท่านแรกคือ ม.จ.ผ่องผัสมณี สวัสดิวัตน์ ต่อมาเมื่อพระชายาสิ้นพระชนม์ ท่านได้สมรสกับ ม.ล.ประอร มาลากุล
เมื่อประเทศไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา คนไทยที่อยู่ในอังกฤษจำนวนมากพอสมควรไม่เห็นด้วย จึงได้รวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มเสรีไทยสายอังกฤษ ที่ต่อมาได้มีบทบาทสำคัญในการร่วมงานกับขบวนการเสรีไทยในประเทศไทยต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทย ในสถานการณ์สงครามครั้งนั้น ม.จ.การวิก จักรพันธ์ได้ “สมัครเข้าเป็นทหารเสรีไทยสายอังกฤษ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2” ตามบันทึกเล่าของ ม.จ.การวิกเอง ท่านบอกว่าท่านเป็นคณะที่ 6 ที่มาโดดร่มเข้าไทย ท่านว่าช้ามาก รอเสียนาน โดยท่านถูกจับคู่ให้เข้ามาปฏิบัติการกับ นายอรุณ สรเทศน์ ผู้มีชื่อรหัสว่า “ไก่ฟ้า” ซึ่งอรุณรับหน้าที่เป็นหัวหน้า เข้ามาโดดร่มจริงในวันที่ 4 มีนาคม ปี 2488 ตอนนั้นเป็นสมัยรัฐบาลที่มีนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี สถานที่ซึ่งท่านทั้งสองโดดร่มลงมานั้นอยู่ที่สถานีทดลองเกษตร อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ที่มีนายแสวง กุลทองคำ เป็นหัวหน้าสถานี ท่านได้มารับพร้อมกับภรรยาและตำรวจ ทั้งยังมีคณะของทศ พันธุมเสน ที่โดดร่มลงมาก่อนได้มารับด้วย ดูจะเป็นความลับน้อยหน่อย แต่ ม.จ.การวิกก็ต้องไปตั้งค่ายฝึกอาสาสมัคร คือแม้วชาวเขาที่จังหวัดตาก รวมเวลาที่ท่านปฏิบัติการฝึกคนรอวันรบนั้นนานถึง 5 เดือน แต่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้เสียก่อนเมื่อถูกโจมตีด้วยระเบิดมหาประลัย ท่านและคณะจึงไม่ต้องออกแรงรบ ท่านกับอรุณ สรเทศน์ จึงเดินทางเข้าพระนคร เพื่อไปที่ศูนย์บัญชาการขบวนการเสรีไทย ม.จ.การวิกบันทึกเล่าไว้ว่า
“เช้าวันแรกที่มาถึงกรุงเทพฯ ผู้ว่าปรงพาเราเข้าพบนายปรีดีที่ทำเนียบท่าช้าง (ปัจจุบันเป็นที่ทำการขององค์การยูนิเซฟ) ซึ่งนายปรีดีได้จัดงานเลี้ยงเป็นการขอบคุณและแนะนำบรรดาเสรีไทย ที่ได้ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติ และท่านได้แนะนำว่าใครมาจากไหน พอถึงผมก็บอกว่าเป็น ‘เจ้า’ ที่มาจากอังกฤษ ทำเอาพรรคพวกเพื่อนฝูงทั้งผู้ว่าฯ และผู้ใหญ่บ้านหลายคนตกใจ เพราะเรียก ‘ท่านขุน’ หรือ ‘พี่ขุน’ หรือ ‘อาจารย์’ กันมาตลอด ตอนหลังเจอกัน เขาเข้ามาไหว้ และใช้ราชาศัพท์พูดด้วย ทำเอาเขินวางตัวไม่ถูกเหมือนกัน”
เมื่อสงครามสงบลง ไทยได้ประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม ปี 2488 และมีรัฐบาลหลังสงครามที่ได้หัวหน้าเสรีไทยสายอเมริกา คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช มาเป็นหัวหน้ารัฐบาล พวกอาสาทำงานเสรีไทยก็กลับสู่สถานะเดิม ใครเป็นนักเรียนก็กลับไปเรียนต่อกัน ดังนั้นในปี 2489 ม.จ.การวิก จักรพันธ์ ก็เดินทางกลับไปอังกฤษ ไปทำงานถวายสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ซึ่งยังประทับอยู่ที่อังกฤษ
ในช่วงเวลานั้นการเมืองในเมืองไทยเปลี่ยนผันไปเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเลือกตั้งทั่วไปในตอนต้นปี 2489 มีนายกรัฐมนตรีเปลี่ยนกันเข้ามารับตำแหน่งถึง 3 คนภายในเวลาไม่ทันถึง 2 ปี และท่ามกลางความไม่มั่นคงทางการเมือง ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 คณะรัฐประหาร ซึ่งประกอบด้วยนายทหารทั้งนอกและในราชการได้นำกำลังเข้ายึดอำนาจ อันมีผลให้จอมพล ป.พิบูลสงครามกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี และปี 2491 ก็เป็นปีที่ ม.จ.การวิก ได้เสด็จกลับจากอังกฤษมาพำนักในเมืองไทยโดยกลับมาทำงานที่บริษัทบอร์เนียว สาขาที่กรุงเทพ และต่อมาแม้ว่าท่านจะย้ายบริษัทที่ทำงาน ท่านก็คงทำงานในภาคเอกชน โดยไม่ได้เข้าในวงการเมือง แม้ข้อห้ามในรัฐธรรมนูญจะไม่มีแล้วก็ตาม
กลับมาอยู่เมืองไทยครั้งนั้นท่านก็อยู่มากว่าครึ่งศตวรรษ ท่านสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ปี 2545