อรุณ สรเทศน์
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
อรุณ สรเทศน์ : ไก่ฟ้า
อรุณ สรเทศน์ ผู้นี้ก็คืออธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อตอนที่เมืองไทยมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญที่เรียกว่า “เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” ที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทันที นายกรัฐมนตรีที่เป็นนายทหารได้ลาออกและเดินทางไปต่างประเทศ ทำให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนั้น ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้เข้ามาเป็นหัวหน้ารัฐบาลเพื่อรักษาสถานการณ์บ้านเมืองให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในรัฐบาลใหม่นี้ศาสตราจารย์ อรุณ สรเทศน์ ได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งมีอำนาจน้อยมาก แต่ยามนั้นมีภาระหน้าที่ดูแลหรือจะต้องเผชิญหน้ากับนิสิตนักศึกษาผู้ที่เป็นพลังสังคมในการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น จึงเป็นงานที่ยากเป็นพิเศษในยามนั้น คนหลายคนอาจไม่อยากรับตำแหน่งนี้ แต่สำหรับคนชื่อ อรุณ สรเทศน์ วิศวกรผู้เป็นอาจารย์มานาน ผู้เคยอาสาปฏิบัติงานเสรีไทยสายอังกฤษ ที่โดดร่มลงมาทำงานลับที่ประเทศไทยในยามสงคราม มีชื่อรหัสว่า “ไก่ฟ้า” นั่นจึงเป็นแค่งานที่ท้าทาย เพราะท่านได้ทำงานยากกว่ามาแล้ว การเป็นรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัย ถึงอย่างไรก็ไม่ต้องไปออกรบกับศัตรู แต่ต้องสร้างความเข้าใจกับนิสิตนักศึกษา ซึ่งกำลังมีบทบาทมากในสังคม
ตามประวัติแสดงว่า อรุณ สรเทศน์ เป็นคนกรุงเทพฯ นี่เอง เกิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม ปี 2457 ที่บ้านถนนรองเมือง มีบิดาชื่อพระโสภณหิรัญยกิจ (หล่อ สรเทศน์) มารดาชื่อ เกตุ การศึกษาเบื้องต้นจึงเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้าน ได้แก่ โรงเรียนสายปัญญาจนจบประถมปีที่ 4 แล้วจึงย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนฝรั่งคือโรงเรียนอัสสัมชันจน “จบชั้นมัธยม 8 แต่เข้ามหาวิทยาลัยยังไม่ได้ เนื่องจากรัฐบาลไม่รับรองวิทยฐาน...” จึงต้องเรียนอีกหนึ่งปีที่โรงเรียนบ้านสมเด็จฯ ให้จบชั้นมัธยมปีที่ 8 ที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะ แล้วเข้าเรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จนจบได้ปริญญาในปี 2479 และท่านก็ได้รับทุนของบริติชเคาน์ซิลไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษในปี 2481 ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ สำเร็จได้ปริญญาตรีเกียรตินิยมด้านสุขาภิบาลเมื่อปี 2484 พอปีถัดมาไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ และท่านได้อาสาเข้าทำงานเสรีไทยสายอังกฤษ สงครามจบลงท่านจึงได้กลับไปเรียนต่อจนจบได้ปริญญาเอก กลับมาเมืองไทยได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชีวิตสมรสของท่านนั้น ท่านได้สมรสกับท่านผู้หญิงวรรณพิมล สรเทศน์
การปฏิบัติงานเสรีไทยของอรุณ สรเทศน์ ที่เข้ามาปฏิบัติการนั้นแบ่งได้เป็น 2 ช่วง โดยครั้งแรกนั้นท่านมีหน้าที่สำคัญที่จะต้องเข้ามาหาข่าวเกี่ยวกับเพื่อนเสรีไทยสายอังกฤษ 8 คนที่เข้ามาในเมืองไทยโดยทางเรือดำน้ำบ้าง โดยโดดร่มบ้างจำนวน 8 คน พวกนี้เข้ามาแล้วเงียบหายไป เพราะไม่อาจติดต่อกลับไปได้ ในกลุ่มนี้มีป๋วย อึ้งภากร และเปรม บุรี รวมอยู่ด้วย ดังนั้นอรุณจึงถูกส่งเข้าไปที่ตอนเหนือสุดของไทย โดดร่มลงที่รัฐฉาน และเดินเข้าไปที่จีน ปฏิบัติการหาข่าวเกี่ยวกับเพื่อนๆ แต่ก็ไม่ได้ข่าวอะไรจึงถูกเรียกตัวกลับฐานที่อินเดีย
ช่วงที่สองอรุณได้โดดร่มลงมากับ ม.จ.การวิก จักรพันธ์ โดยอรุณเป็นหัวหน้าทีม ลงมาที่จังหวัดสุโขทัย และพากันไปตั้งค่ายฝึกพวกแม้วที่จังหวัดตาก เรื่องที่ค่ายนี้ต้องอ่านที่ ม.จ.การวิกเขียนเล่าถึงอรุณ
“ส่วนอรุณ ตอนที่เราไปตั้งค่ายฝึกอาสาสมัครที่จังหวัดตาก อยู่ๆไปลูกน้องที่มาฝึก เขาเคยอ่านหนังสือพิมพ์บ้าง อ่านประวัติศาสตร์บ้าง ก็เห็นอรุณไว้หนวด ทำให้นึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 7 ที่ทรงไว้พระมัสสุ (หนวด) เผอิญบุคลิกของเขาไม่ชอบคุยกับใคร เวลายิ้มก็ยิ้มเบี้ยวที่มุมปาก อย่างจะไว้ท่า ต่างกับนิสัยของผมที่ชอบคุยยั่วแหย่ไปเรื่อย แล้วรูปร่างผมก็เหมือนคนแบกกระสอบข้าว
วันหนึ่งลูกน้องมาถามผมว่า
‘ท่านขุนๆ ครับ เขาลือว่ามีเจ้ามาองค์หนึ่งด้วยหรือ’
‘อ๋อ เจ้านี่ไง’ ผมชี้ไปที่อรุณ แล้วพวกเขาก็เรียกกันทันทีว่าท่านชาย อรุณได้ยินรีบแกล้งนั่งไขว่ห้างอย่างเท่ ผมพลอยเรียกท่านชายไปกับเขาด้วย”
งานเสรีไทยที่อรุณปฏิบัติอยู่ที่เมืองตากผ่านไป 5 เดือน ยังไม่ทันจะลุกฮือเข้ารบ ญี่ปุ่นก็ประกาศยอมแพ้ อรุณกับเพื่อนเสรีไทยได้เดินทางกลับอังกฤษ ท่านได้ยศ “ร้อยเอก” ไปเรียนต่อจนจบปริญญาเอกกลับมาสอนหนังสือจนได้เป็นศาสตราจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2513 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และเมื่อถึงวันที่ 4 มิถุนายน ปีถัดมาท่านก็ได้เป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นอยู่จนถึงวันที่ 3 มิถุนายน ปี 2518
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปี 2516 ท่านได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัยในรัฐบาล “สัญญา 1” และย้ายไปเป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรมในรัฐบาล “สัญญา 2” ดังนั้น จึงอยู่ร่วมรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี สัญญา ธรรมศักดิ์ ตั้งแต่ต้นจนจบในปี 2518 เพราะตอนต้นปีมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่เปิดทางให้นักการเมืองลงแข่งขันกันในสนามเลือกตั้ง ที่ผลการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งได้ที่นั่งในสภาฯมากเป็นอันดับหนึ่ง หัวหน้าพรรค คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาล เมื่อ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ ท่านจึงกลับไปทำหน้าที่อธิการบดีต่อจนครบวาระในเดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน โดยไม่ได้กลับเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกเลย
ศาสตราจารย์ อรุณ สรเทศน์ ได้มีชีวิตอยู่ต่อมาอีกหลายปี ท่านถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 14 มิถุนายน ปี 2537