ทวี แรงขำ
ผู้เขียน : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ทวี แรงขำ : รองประธานสภาฯคนสำคัญ
ทวี แรงขำ เคยดำรงตำแหน่งทั้งการเมืองและมิใช่การเมือง ตลอดจนตำแหน่งด้านการศึกษาขั้นศาสตราจารย์ ในประเทศไทยมาหลายตำแหน่ง แต่ตำแหน่งสำคัญสุดท้ายก็คือตำแหน่งรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ท่านเคยเป็นอยู่ครั้งเดียวเมื่อปี 2516 นั้น ท่านได้มีบทบาทสำคัญปรากฏอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำรัสเล่าไว้มีความตอนหนึ่งว่า
“เมื่อรัฐบาลของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ตอนนั้นมีสภา สภามีอยู่แล้ว ประธานสภา รองประธานสภามีอยู่ แล้วรองประธานสภาทำหน้าที่แล้ว มีนายกที่สนองพระบรมราชโองการได้ตามรัฐธรรมนูญ ในครั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าที่ทำครั้งนั้นผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ ตอนนั้นไม่ใช่นายกพระราชทาน นายกพระราชทานหมายความว่าตั้งนายกโดยไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเลย ตอนนั้นมีกฎเกณฑ์ เมื่อครั้งอาจารย์สัญญาได้รับตั้งเป็นนายก เป็นนายกที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือรองประธานสภานิติบัญญัติ นายทวี แรงขำ”
สภานิติบัญญัติแห่งชาติในครั้งนั้นมีขึ้นตามธรรมนูญการปกครองในราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 และทางสภานิติบัญญัติฯได้เลือกพลตรี ศิริ สิริโยธิน เป็นประธาน และนายทวี แรงขำ เป็นรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง กับพลเรือเอก กมล สีตกะลิน เป็นรองประธานสภาฯ คนที่สอง เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในวันที่ 14 ตุลาคม ปี 2516 จนนายกฯ จอมพล ถนอม กิตติขจร ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และเดินทางออกนอกประเทศทันทีนั้นจึงต้องมีรัฐบาลใหม่ ในขณะนั้นประธานสภานิติบัญญัติฯ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะติดภารกิจอยู่ที่ต่างประเทศ ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคราวนั้นนายทวี แรงขำ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
ทวี หรือต่อมาคือศาสตราจารย์ ทวี แรงขำ เป็นคนกรุงเก่า เกิดที่ตำบลบางเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 2 มกราคม ปี 2450 มีบิดาชื่อกำ และมารดาชื่อซิว การศึกษาเบื้องต้นได้เข้าเรียนที่วัดกำแพง ที่อำเภอบางปะอินเมื่ออายุได้ 8 ขวบ ปีต่อมาก็ย้ายเข้ามาเรียนต่อในพระนครที่โรงเรียนวัดโสมนัสวิหาร แล้วจึงย้ายมาเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1-7 ที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร แล้วจึงไปเรียนชั้นมัธยมปีที่ 8 ที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ ที่นี่เองที่ท่านได้เป็นนักฟุตบอลชื่อดังของโรงเรียน และเรียนจบเร็วไป อายุเพียง 15 ปี ยังเข้าทำงานไม่ได้จึงขอเรียนซ้ำชั้นอีกปี ที่ว่ากันว่าคราวนี้ท่านจึงสอบได้เป็นลำดับที่ 11 ของประเทศ เข้ารับราชการครั้งแรกที่กระทรวงมหาดไทยเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2469 ทำงานได้ประมาณ 3 ปี ก็สอบชิงทุนหลวงได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยจอห์ฮอบกิ้น สหรัฐอเมริกา “ได้รับประกาศนียบัตรทางด้านสถิติพยากรณ์” ในปี 2475 น่าจะเป็นคนไทยรุ่นแรกๆ ที่เรียนทางด้านนี้ จบแล้วก็กลับมาทำงานที่เดิม ชีวิตสมรสของท่านนั้นภริยาของท่านคือคุณหญิงต่วน แรงขำ
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเพียง 2 ปี ขณะที่มีอายุเพียง 27 ปี ท่านก็ได้เป็นหัวหน้ากองสถิติพยากรณ์ชีพ กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และอีก 10 ปีต่อมาก็ได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ถัดมาปี 2488 จึงย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นในปี 2493 ท่านก็ขึ้นเป็นอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ อีกปีต่อมาก็ได้เป็นอธิบดีกรมมหาดไทยหรือที่เรียกกันวันนี้กรมการปกครอง ในปี 2498 ท่านจึงได้ย้ายไปเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย นอกจากงานประจำแล้วท่านยังได้ไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในปี 2499 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้ท่านออกจากราชการเพื่อไปดำรงตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนี้เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2492 หลังจากที่ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ เชื่อกันว่าท่านถูกผู้มีอำนาจขอให้ไปอยู่คณะรัฐศาสตร์ ตอนนั้นพล ต. อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย และ ร.ต.อ.ฉัตร ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นอธิการบดี โชคดีที่ท่านพ้นจากกระทรวงมหาดไทยมาในตอนนั้น เพราะต้นปี 2500 มีการเลือกตั้งทั่วไปที่มหาดไทยมีบทบาทและหน้าที่มาก และเป็นการเลือกตั้งที่ถูกประท้วงว่าสกปรก ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทยถูกฟ้องคดี บางรายก็ถูกลงโทษแรง
ครั้นรัฐบาลจอมพล ป. ถูกจอมพล สฤษดิ์ยึดอำนาจจนต้องหนีออกนอกประเทศไปในเดือนกันยายน ปี 2500 ที่มหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ก็ขาดอธิการบดี จอมพล ป.ท่านไม่ได้ลาออกจากตำแหน่ง ครั้งนั้นสภามหาวิทยาลัยจึงตั้งท่านซึ่งเป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์ให้รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยด้วย ท่านรับรักษาการอยู่ระยะเวลาหนึ่งแล้วท่านจึงได้เสนอให้คณบดีคณะนิติศาสตร์ในเวลานั้นให้เป็นผู้รักษาการแทน เพราะในรัฐบาลของนายกฯ พจน์ สารสิน นั้น นายทวี แรงขำ ได้ถูกรัฐมนตรีมหาดไทย ประภาส จารุเสถียร ชวนไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นต่อมาในรัฐบาลของพลโท ถนอม กิตติขจร ด้วย มาเว้นในช่วงรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์ระยะต้น เพราะรัฐบาลชุดนั้นไม่มีรัฐมนตรีช่วย แต่นายทวีก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในปี 2502 จนถึงปี 2506 ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและได้เป็นสืบมาในรัฐบาลของจอมพล ถนอมด้วย จนถึงปี 2512 ตอนนั้นจอมพล ถนอมตั้งพรรคสหประชาไทย ท่านก็ไปร่วมพรรคทำงานการเมือง และเมื่อพรรคชนะก็ได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีเหมือนเดิม อยู่จนจอมพลถนอมปฏิวัติ ครั้นมีการตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นมาท่านได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกและได้รับการเลือกให้เป็นรองประธานสภาฯ และได้ทำหน้าที่สำคัญดังที่กล่าวมาแล้ว
พ้นภาระรองประธานสภาแล้ว ศ.ทวี แรงขำ ยังอยู่ต่อมาอีกหลายปี ท่านถึงแก่อนิจกรรมวันที่ 7 ตุลาคม ปี 2528