ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม
ผู้เขียน : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม : รัฐมนตรีสาธารณสุขคนแรก
“ท่านมีส่วนให้ความสนับสนุนการสถาปนากรมสาธารณสุขเป็นกระทรวงสาธารณสุขด้วยผู้หนึ่ง และเมื่อประกาศตั้งกระทรวงสาธารณสุขขึ้นแล้ว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นคนแรกตั้งแต่. 10 มีนาคม 2485...” ข้อความที่ยกมาให้อ่านกันนี้ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมัยรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พระบำราศนราดูร ได้เขียนถึงนักการทหาร นักการเมืองและนักธุรกิจคนหนึ่งของไทย เจ้าของนาม ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม หรือผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเชวงศักดิ์สงคราม ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีคนแรกของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อมีการตั้งกระทรวงใหม่แห่งนี้ขึ้นเมื่อปี 2485 เดิมงานนี้อยู่ในระดับกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย มารู้จักหลวงเชวงศักดิ์สงครามกันตั้งแต่เบื้องต้น
ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม เป็นคนเมืองนครนายก แม้ในภายหลังท่านจะไปสมัครเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม ท่านเกิดที่บ้านตลาดวังกระโจม เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ปี 2442 โดยเป็นบุตรของนายรอดและนางทับทิม ขวัญเชิด การศึกษาเบื้องต้นของท่านนั่นจึงอยู่ที่โรงเรียนนครพิทยาคม ที่นครนายก จนพี่สาวซึ่งเป็นภรรยาปลัดจังหวัดชลบุรี เอาตัวไปอยู่ด้วยจึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนวัดต้นสน ที่ชลบุรี ไปอยู่ที่ชลบุรีได้ปีเดียวบิดาก็ป่วยและเสียชีวิตลง ต่อมาพี่เขยได้ย้ายมามีตำแหน่งที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ช่วง ขวัญเชิด จึงตามพี่สาวมาอยู่ฉะเชิงเทรา เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดเมือง และต่อที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ก่อนที่จะเข้ามาเรียนต่อในพระนครที่โรงเรียนสวนกุหลาบ จากนั้นได้เข้าเรียนวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อย และศึกษาสำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยในปี 2464 เข้ารับราชการได้ยศนายร้อยตรีในปีถัดมา รับราชการมาด้วยดีจนถึงต้นปี 2475 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเชวงศักดิ์สงคราม ได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยเอก และได้เข้าร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีนั้นด้วย หลังวันยึดอำนาจก็ถูกย้ายไปเป็นผู้บังคับกองร้อยนายดาบจึงไม่ได้ดีหรือมีอำนาจอะไรมาก เพียงแต่ได้เป็นคนสนิทของนายพันเอกพระยาพหลฯ เมื่อพระยาพหลฯเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านจึงได้เป็นเลขานุการรัฐมนตรี แม้เมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรีมาเป็นนายปรีดี พนมยงค์ หลวงเชวงฯก็ยังเป็นเลขานุการรัฐมนตรีต่อมา จนในปี 2479 จึงโอนมาเป็นข้าราชการชั้นเอก ได้เป็นผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย และเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในปีต่อมา ครั้นถึงปี 2482 ตอนที่หลวงพิบูลสงครามเป็นนายกฯ หลวงเชวงฯก็ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงฯ
ในเดือนสิงหาคม ปี 2484 ขณะที่การเมืองภายในและการเมืองภายนอกกำลังตึงเครียด นายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลฯก็วางใจให้ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเมื่อมีการตั้งกระทรวงสาธารณสุข ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีคนแรกของกระทรวงใหม่แทนมหาดไทย นายกฯพิบูลสงครามวางใจท่านมาก ขณะที่อยู่ในภาวะสงครามได้คิดจะย้ายเมืองหลวงไปที่เพชรบูรณ์ นายกฯก็ให้ท่านเป็นรองนายกฯอีกตำแหน่ง ให้ไปประจำที่เพชรบูรณ์ รับผิดชอบอำนวยการสร้างเมืองหลวงใหม่ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ปี 2487 ท่านได้อยู่ร่วมรัฐบาลของหลวงพิบูลฯจนรัฐบาลแพ้เสียงในสภาฯ หลวงพิบูลฯต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ในรัฐบาลต่อมาทางรัฐบาลก็ยังตั้งท่านไปเป็นผู้จัดการใหญ่สำนักงานกลางบริษัทจังหวัด
ท่านก็ได้กลับมาสู่วงการเมืองอีกโดยได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ ในวันที่ 24 มีนาคมปี 2489 และเมื่อมีพฤฒสภาท่านก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกพฤฒสภาชุดแรกด้วย ในวันที่ 24 พฤษภาคม ปีเดียวกัน อีก 3 เดือนต่อมามีการเลือกตั้งผู้แทนฯเพิ่มเติมท่านก็ลาออกไปสมัครเป็นผู้แทนฯที่จังหวัดนครปฐม โดยได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม. ปี 2489 ท่านได้อยู่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจนสิ้นสุดรัฐบาลของนายปรีดี และมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ต่อในรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ จนถึงวันที่รัฐบาลถูกพลโท ผิน ชุณหะวัณ ทำรัฐประหารล้มรัฐบาล ท่านได้บันทึกเล่าเรื่องตอนนั้นไว้น่าสนใจทีเดียวว่า
“ในการรัฐประหารคราวนี้ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเกษตร และได้ทราบแผนการรัฐประหารอยู่โดยตลอด จึงได้รายงานนายกรัฐมนตรี (หลวงธำรง)ให้ทราบตลอดเวลา จนแม้เมื่อวันศุกร์ตอนเย็นมีการประชุมค.ร.ม. เพื่อพิจารณาฐานะรัฐบาล และมีมติตกลงให้ยื่นกราบบังคมลาในวันจันทร์ รุ่งขึ้นวันเสาร์มีประชุมพิจารณาโครงการกู้เงินก่อนเที่ยง ได้รายงานนายกให้ทราบความเคลื่อนไหวของพวกรัฐประหาร นายกบอกว่าไม่เป็นไร เพราะได้ตกลงกับหลวงอดุลไว้แล้ว ...”
หลังการรัฐประหารท่านเว้นว่างงานการเมืองไปทำธุรกิจ ได้ไปเป็นผู้จัดการบริษัทไทยนิยม ครั้นมีรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 มีสมาชิกสภาผู้แทนฯประเภทแต่งตั้ง ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาฯอีกครั้ง พ.อ.ช่วง ได้มีชีวิตอยู่ดูการเมืองไทยต่อมาอีกประมาณ 10 ปี โดยท่านได้ถึงอนิจกรรม จากนางประหยัด ผู้เป็นภรรยา ไปในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2505