สภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:38, 12 พฤศจิกายน 2561 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (Apirom ย้ายหน้า สภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ไปยัง [[สภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราช...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว และนายวรศักดิ์  จันทร์ภักดี

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ  เศรษฐบุตร


 

 “มาตรา '83 สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน ดังนี้

('1) สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน

('2) สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวน 150 คน”[1]

          “สภาผู้แทนราษฎร”  เป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่อยู่ในหมวดที่ 7 รัฐสภา ประกอบด้วย มาตรา 83 ถึงมาตรา 106 โดยกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี ส่วนองค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ประกอบด้วย สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และสมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวน 150 คน ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เขตละ 1 คนและผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้คนละ 1 คะแนน โดยจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใด หรือจะลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเลยก็ได้ ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง และพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งจะส่งผู้สมัครคนเดียวกันลงสมัครรับเลือกตั้งเกิน 1 เขตมิได้[2]

          สำหรับสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง หากพรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้ พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อพรรคละ 1 บัญชี โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองต้องไม่ซ้ำกัน และไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในพรรคเดียวกัน โดยส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้คณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง[3]

          ในส่วนของ “อำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร” นั้น โดยหลักแล้วเป็นการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ นอกจากนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 1 ใน 5 สามารถเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้แต่ทำได้เพียงปีละครั้ง รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 1 ใน 10 สามารถเสนอญัตติเพื่อขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติเพื่อเป็นช่องทางให้สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ โดยอายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดคราวละ 4  ปีนับแต่วันเลือกตั้ง[4] ทั้งนี้ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป และกระทำโดยพระราชกฤษฎีกา[5]

ที่มา

บทบัญญัติที่ว่าด้วย “สภาผู้แทนราษฎร” ปรากฏขึ้นครั้งแรกในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 โดยบัญญัติไว้ในหมวดที่ 3 สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย มาตรา 8 ถึงมาตรา 27 กำหนดให้รัฐสภามีเพียงสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร โดยราษฎรจะได้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดละ 1 คน ซึ่งจะใช้วิธีการเลือกตั้งทางอ้อม ให้ราษฎรในหมู่บ้านเลือกผู้แทนเพื่อเป็นผู้แทนตำบล และผู้แทนตำบลไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไป[6] และเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักสยาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ยังคงหลักการเดิมที่ว่า รัฐสภามีเพียงสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร มาจากราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง และกำหนดวาระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือ 4 ปี[7]

ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ได้มีการปรับเปลี่ยนบัญญัติให้รัฐสภา ประกอบด้วย 2 สภาเป็นครั้งแรก คือ พฤฒสภา และสภาผู้แทน ซึ่งบัญญัติไว้ในส่วนที่ 3 สภาผู้แทน ซึ่งอยู่ใน หมวด 3 อำนาจนิติบัญญัติ[8] และให้สภาผู้แทนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หลังจากนั้นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2490 (ฉบับชั่วคราว) บัญญัติให้รัฐสภาประกอบด้วย วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร[9] กระทั่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 มีการปรับเปลี่ยนบัญญัติเป็น ส่วนที่ 3 สภาผู้แทนราษฎร หมวด 6 รัฐสภา ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากคำว่าสภาผู้แทน ไปเป็นสภาผู้แทนราษฎร และถูกบัญญัติไว้ในหมวด 6 รัฐสภา นับแต่นั้นเป็นต้นมา[10]

สำหรับสัดส่วนของสภาผู้แทนราษฎร ในระยะแรกยังคงเป็นการกำหนดจำนวนสมาชิกเป็นไปตามอัตราส่วนของประชากร เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 กำหนดให้ราษฎร 200,000 คน ต่อ ส.ส. 1 คน[11] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 กำหนดให้ราษฎร 150,000 คน ต่อ ส.ส. 1 คน[12] ยกเว้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งจำนวน 240 – 300 คน[13] กำหนดตามอัตราส่วนประชากรเช่นนี้เรื่อยมาจนกระทั่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งจำนวน 360 คน[14]

สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่มาของสภาผู้แทนราษฎรครั้งสำคัญ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ได้แก่ การมีส่วนร่วมของพลเมืองในการเมืองทุกระดับ การทำให้ระบบการเมืองมีความสุจริตและชอบธรรม และการทำให้รัฐสภามีเสถียรภาพ
จึงได้มีบทบัญญัติว่าด้วยสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 500 คน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1) จากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น และให้เลือกบัญชีรายชื่อหนึ่งเพียงบัญชีเดียวและให้ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง และ 2) จากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จำนวน 400 คน โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เขตละ 1 คน[15]

แต่ทั้งนี้ในช่วงการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2540 ทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่ากึ่งหนึ่ง ส่งผลให้มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคการเมืองเดียว ฝ่ายค้านไม่มีเสียงพอที่จะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก่อให้เกิดการผูกขาดอำนาจรัฐและการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม[16] จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงการเข้าสู่ตำแหน่งสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2550 ที่เป็นการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว กล่าวคือ กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 480 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจำนวน 400 คน และมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนจำนวน 80 คน โดยมีการปรับปรุงระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่ โดยให้ ส.ส. ที่มาจากเขตเลือกเป็นผู้แทนในเขตเลือกตั้งที่ใหญ่ขึ้น ปรับปรุง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อให้เป็นระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนที่มีการแบ่งเป็นกลุ่มจังหวัด 8 กลุ่ม และให้ ส.ส. มีอิสระจากมติพรรคการเมืองในสภา ตลอดจนให้ ส.ส. เสนอร่างพระราชบัญญัติได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากพรรคการเมืองที่ตนสังกัด[17]

หลักการ

           “สภาผู้แทนราษฎร” ถือเป็นตัวแสดงทางการเมืองที่มีความสำคัญตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยในส่วนของอำนาจนิติบัญญัติร่วมกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ดังที่ปรากฏในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติไว้ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”[18] จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะที่เป็นอำนาจนิติบัญญัติร่วมกับวุฒิสมาชิก จึงมีหน้าที่ได้แก่ ประการแรก การเสนอความเห็นต่อข้อกฎหมาย การประชุม ตลอดจนการออกกฎหมายหรือตราพระราชบัญญัติ และ ประการที่สอง การตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรี

ประการแรก หน้าที่การเสนอความเห็นต่อข้อกฎหมาย การประชุมรัฐสภา ตลอดจนการออกกฎหมายหรือตราพระราชบัญญัติ หรือ การบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายและออกกฎหมายนั่นเอง สาเหตุว่าการบริหารราชการแผ่นและตราพระราชบัญญัติต้องเป็นหน้าที่ของ “สภาผู้แทนราษฎร” เพราะว่า สภาผู้แทนราษฎรมีความชอบธรรมทางการเมือง (Political Legitimacy) มากที่สุด หรือ มีความเกี่ยวโยงกับประชาชนโดยตรงมากที่สุด[19] นั่นเอง ดังนั้น ถ้าหากว่ามีการออกกฎหมายซึ่งจะกระทบต่อสาธารณะ สิทธิเสรีภาพ และทรัพย์สินของประชาชน ก็ควรที่จะออกโดยสภาผู้แทนราษฎร หลักการนี้สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า “จะไม่มีการจ่ายภาษี หากไม่มีผู้แทน” (no taxation without representation)  นอกจากนี้ กระบวนการในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร ยังสะท้อนถึงการให้ความสำคัญแก่สิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลอย่างเสมอภาคกัน เพราะจะไม่สามารถมีผู้แทนปวงชนอย่างแท้จริงได้เลย ถ้าหากปราศจากหลักการที่ยืนยันว่า “คนทุกคนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน (One-person One-vote)” รวมถึงเจตจำนง การใช้เหตุผล และการตระหนักรับที่เป็นอิสระของตัวเอง[20] 

ประการที่สอง หน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรี เนื่องมาจากเหตุผลที่ว่า ฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรีแม้จะมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่การปล่อยให้ฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรีมีอำนาจมากจนเกินไป อาจใช้อำนาจนั้นเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ เพราะฉะนั้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว สภาผู้แทนราษฎรจะต้องมีหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุล (Check and Balance)[21] อำนาจของฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 1 ใน 5 สามารถเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ แต่ทำได้เพียงปีละครั้ง รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 1 ใน 10 สามารถเสนอญัตติเพื่อขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ เพื่อเป็นช่องทางให้สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้[22]   

ความสำคัญทางการเมือง

เนื่องจากข้อจำกัดของรัฐชาติสมัยใหม่ ซึ่งประสบปัญหาทางการเมืองอันซับซ้อนกว่ารัฐสมัยโบราณ รวมถึงการมีประชากรจำนวนมากเกินกว่าที่จะอนุญาตให้ประชาชนใช้อำนาจอธิปไตยด้วยตนเองทั้งหมด
จึงทำให้ “ระบบการเลือกตั้งผู้แทน” หรือ “ประชาธิปไตยตัวแทน” (Representative Democracy) กลายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ [23] ทั้งนี้ “ระบบการเลือกตั้งผู้แทน” หรือ “การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร” หมายถึง การที่ประชาชนเลือกตั้งตัวแทน หรือ ส.ส. เข้ามาใช้ “อำนาจ” (แทนพวกเขา) ในรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจออกกฎหมาย หรือ ตราพระราชบัญญัติ

จากลักษณะของระบบเลือกตั้งผู้แทนดังกล่าวนี้ John Stuart Mill เห็นว่า ย่อมแสดงถึงความสำคัญของ “ประชาธิปไตยตัวแทน” ที่มีต่อการพัฒนา “ศักยภาพของมนุษย์” (Human Potential) อย่างน้อย 2 ด้าน[24] คือ (1) เป็นการสนับสนุนหลักการ “สิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ('Individual Liberty)” กล่าวคือ เป็นการสนับสนุนหลักการเรื่องหนึ่งคนหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง หรือ ความเสมอภาคทางการเมือง เพื่อให้ปัจเจกบุคคลมีอิสระในการแสวงหาสิ่งที่ดีสำหรับตนเอง ด้วยวิธีการของตนเอง ซึ่งในที่นี้คือ การเลือกผู้แทน หรือ ส.ส. ที่ตนต้องการ (2) เป็นการสนับสนุน “หลักการในการปกครองตนเองแบบประชาธิปไตย ('Democratic Self-government)” เพื่อให้ปัจเจกบุคคลได้แสดงเจตจำนงของตน และแสดงออกถึงความรู้สำนึกในหน้าที่ของตนด้วยการทำตามกฎหมายและสังคม ที่มโนสำนึกของเขาจะสามารถยอมรับได้[25] ยกตัวอย่าง เช่น หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 ได้เกิดความพยายามในการปฏิรูปการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นโดยนักการเมือง พรรคการเมืองอ่อนแอ เจ้าพ่อท้องถิ่น ฯลฯ   ในความเข้าใจของคนไทยส่วนใหญ่ ปัญหาดังกล่าวจึงกลายเป็นประเด็นหลักของการปฏิรูปการเมือง และเป็นหลักหมายสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ในเวลาต่อมา

นอกจากนี้แล้ว ศาสตราจารย์ชัยอนันต์ สมุทวาณิช[26] ยังเห็นว่า “สถาบันผู้แทน” ดังกล่าวนี้มีความสำคัญในทางการเมือง 3 ด้าน กล่าวคือ ('1) เป็นระบบที่มีความชอบธรรม (Political Legitimacy) กล่าวคือ ถึงแม้ในระบอบอำนาจนิยม สถาบันผู้แทนดังกล่าวจะอ่อนแอสักเพียงใด แต่ความเป็นผู้แทนก็ยังเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความชอบธรรมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ที่ระบอบอำนาจนิยมมิอาจมีได้ ('2) เป็นระบบกล่อมเกลาทางการเมือง และฝึกฝนบุคคลที่จะมีบทบาททางการเมือง ตลอดจนให้การศึกษาทางการเมือง ('Political Education) เพราะ การอภิปรายในสภาและการดำเนินงานของสภาย่อมเป็นการให้การศึกษาแก่สาธารณชนเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสำคัญของชาติ ('3) เป็นระบบกลไกทางออก ยามที่กลุ่มพลังอำนาจต่างๆ ในระบบการเมืองหมดหนทาง อีกทั้งยังเป็นกลไกการตัดสินใจที่ไม่สามารถหาทางออกจากสถานการณ์ขัดแย้งได้ (Political Resolution/Mediation) เพราะ สถาบันตัวแทนจะเป็นที่ที่ซึ่งบรรจุเอาความต้องการและผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ และยังมีความสำคัญในการรอมชอมความต้องการและผลประโยชน์ที่มีความขัดแย้งกัน อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีข้อพิจารณาเกี่ยวกับเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ “สภาผู้แทนราษฎร” เกิดประสิทธิภาพและมีความเป็นประชาธิปไตย ได้แก่ ('1) บทบาทของผู้แทนจะมีมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการได้รับการสนับสนุนจากประชาชน' การสนับสนุนไม่เพียงเกี่ยวกับ “ทัศนคติในเชิงบวก” ของประชาชนที่มีต่อสถาบันตัวแทน แต่รวมถึง “การเข้าถึง” หรือ “ความเชื่อมโยง” กับผู้แทนด้วย[27] ('2) ผู้แทนไม่ควรบิดเบือนเจตจำนงของประชาชน หากแต่จะต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ผู้แทนควรเป็นตัวแทนของประชาชนส่วนรวมอย่างแท้จริง จึงจะทำให้การกระทำทางการเมืองและการอยู่ในตำแหน่งด้วยสถานภาพของผู้แทนราษฎรมีความชอบธรรม[28] ('3) ควรมีสัดส่วนผู้แทนอย่างเหมาะสมไม่น้อยและไม่มากจนเกินไป เพราะ การมีผู้แทนน้อยจนเกินไป อาจทำให้ผู้แทนรวมตัวกันออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์กับตนเองและกลุ่มประชาชนที่เลือกตนขึ้นมา แต่ถ้าหากว่ามีผู้แทนมากจนเกินไป อาจทำให้ผู้แทนไม่สามารถเป็นตัวแทนของผู้เลือกได้ครอบคลุมส่วนรวมทั้งหมด และยังอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในการประชุมรัฐสภาได้ [29]

บทสรุป

          สภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นสถาบันการเมืองที่มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก เพราะ การมีผู้แทนทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการที่ประชาชนได้มีสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาคในการเลือกผู้แทนที่ตนเองชอบไปทำหน้าที่ใช้อำนาจและสะท้อนเจตจำนงของตนเองในรัฐสภา นอกจากนี้ความสำคัญของผู้แทน ยังเป็นการที่ผู้แทนนั้นจะต้องมีหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารเพื่อมิให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจจนเกินเลยขอบเขต และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างไรก็ดี ยังมีข้อพิจารณาเกี่ยวกับเงื่อนไขสำคัญของการทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีประสิทธิภาพและมีความเป็นประชาธิปไตย กล่าวคือ การสนับสนุนของประชาชนที่มีต่อผู้แทน การที่ผู้แทนจะต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน และการจัดระบบสัดส่วนที่เหมาะสมของผู้แทนในรัฐสภา

 

 

บรรณานุกรม

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560.

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475.

หนังสือ

ชัยอนันต์ สมุทวาณิช. (2536). ปัญหาการพัฒนาทางการเมืองไทย, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์
              มหาวิทยาลัย).

ชาญชัย แสวงศักดิ์. (2560). กฎหมายรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน).

ฐิติกร สังข์แก้ว. (2556). ความคิดเรื่อง ‘ความเป็นตัวแทน’ ในระบอบประชาธิปไตยไทย ภาพตัวแทนและการแทนตนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, (ภาคนิพนธ์ตามหลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์).

นอร์เบอร์โต บ๊อบบิโอ, เกษียร เตชะพีระ (แปล). (2558). เสรีนิยมกับประชาธิปไตย, (กรุงเทพฯ; โครงการจัดพิมพ์คบไฟ).

ศุภชัย ศุภผล. (2558). ปรัชญาการเมืองเบื้องต้น, (เชียงใหม่; สำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่).

Held, David. (2006). Models of Democracy, 3rd edition (Cambridge: Polity Press).

Manin, Bernard. (1997). The Principles of Representative Government, (New York; Cambridge University Press).

เว็บไซต์

Ellen Grigsby, Analyzing Politics: An Introduction to Political Science, 4th edition, Retrieved       from http://www.nicat-mammadli.narod.ru/b1.html/b35.pdf, (e-book).

Michael Ignatieff,Representation and Responsibility: Ethics and Public Office, Retrieved from          http://tannerlectures.utah.edu/Ignatieff%20Tanner%20Lecture.pdf, (e-book).

 

อ้างอิง


[1] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, มาตรา '83'.

[2] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, มาตรา '85'.

[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, มาตรา '90'.

[4] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, มาตรา '99'.

[5] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, มาตรา '103'.

[6] พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475, มาตรา 8-27.

[7] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475, มาตรา '16-45'.

[8] ชาญชัย แสวงศักดิ์, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2560), น. 324.

[9]  เพิ่งอ้าง, น. 326.

[10] เพิ่งอ้าง, น. 336-337.

[11] เพิ่งอ้าง, น. 326.

[12] เพิ่งอ้าง, น. 343.

[13] เพิ่งอ้าง, น. 336-337.

[14] เพิ่งอ้าง, น. 347.

[15] เพิ่งอ้าง, น. 352 - 354.

[16] เพิ่งอ้าง, น. 364.

[17] เพิ่งอ้าง, น. 373 - 376.

[18] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, มาตรา '3 วรรคหนึ่ง.'

          [19] Michael Ignatieff,Representation and Responsibility: Ethics and Public Office, Retrieved from http://tannerlectures.utah.edu/Ignatieff%20Tanner%20Lecture.pdf, p.111.

[20] David Held, Models of Democracy, 3rd edition (Cambridge: Polity Press, 2006), p. 86. [Representative Democracy], and Bernard Manin, The Principles of Representative Government, (New York; Cambridge University Press, 1997), pp.156-160.

[21] Ibid., pp.65-70. [Separation of Power], and Ellen Grigsby, Analyzing Politics: An Introduction to Political Science, 4th edition, Retrieved from http://www.nicat-mammadli.narod.ru/b1.html/b35.pdf, pp.232-233.

[22] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, มาตรา 151 – 152 และ มาตรา 154

[23] ศุภชัย ศุภผล, ปรัชญาการเมืองเบื้องต้น, (เชียงใหม่; สำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2558), น. 158-160.

[24] ฐิติกร สังข์แก้ว, ความคิดเรื่อง ‘ความเป็นตัวแทน’ ในระบอบประชาธิปไตยไทย ภาพตัวแทนและการแทนตนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, (ภาคนิพนธ์ตามหลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556), น. 5-6.

[25] เพิ่งอ้าง.

[26] ชัยอนันต์ สมุทวาณิช, ปัญหาการพัฒนาทางการเมืองไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2536), น. 75-78.

[27] เพิ่งอ้าง, น. 80.

          [28] ฐิติกร สังข์แก้ว, อ้างแล้ว, น. 8.

          [29] โปรดดู ศุภชัย ศุภผล (2558), หน้า 174-175, และ นอร์เบอร์โต บ๊อบบิโอ, เกษียร เตชะพีระ (แปล), เสรีนิยมกับประชาธิปไตย, (กรุงเทพฯ; โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2558), หน้า 36-44. [ความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบโบราณกับสมัยใหม่]