เงินผัน
เรียบเรียงโดย : นายเฉลิมชัย โชติสุทธิ์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
เงินผัน
เงินผัน หรือที่เรียกกันว่า นโยบายผันเงิน เป็นนโยบายของรัฐบาลพรรคกิจสังคมภายใต้การนำของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ใน พ.ศ. 2518 ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสร้างงานในชนบท โดยนโยบายเกี่ยวกับเงินผันของรัฐบาลมีอยู่สองความหมาย ความหมายที่ 1 คือ การผันเงินผ่านธนาคาร และความหมายที่ 2 คือ การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาชนบทหรือการผันงบประมาณ ซึ่งความหมายทั้งสองนั้นใช้มาตรการในการดำเนินการที่แตกต่างกัน การผันเงินผ่านธนาคารนั้นเป็นการใช้มาตรการทางด้านการเงิน ส่วนการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาชนบทนั้นเป็นการใช้มาตรการทางด้านการคลังของรัฐบาล[1]
หลักการสำคัญของนโยบาย
มาตรการผันเงินในความหมายที่ 1 รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่าง ๆ ทำการผันเงินจากส่วนกลางคือกรุงเทพมหานครออกสู่ต่างจังหวัดปีละไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท การดำเนินตามนโยบายผันเงินดังกล่าวนั้น เป็นการที่รัฐบาลขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้ปล่อยสินเชื่อเพื่อการเกษตรในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลไม่ได้มีมาตรการด้านกฎหมายที่จะบังคับให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่าง ๆ ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล จากการดำเนินนโยบายดังกล่าวได้เอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มธนาคารพาณิชย์โดยเป็นเครื่องมือในการระบายเงินกู้ของตน ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน ทำให้กลุ่มนายทุนธนาคารได้รับผลประโยชน์หลายทาง ซึ่งส่งผลต่อการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของธนาคารพาณิชย์ต่อประชาชน อีกทั้งยังสามารถระบายเงินกู้ของตนได้โดยที่ไม่ต้องเสี่ยงเพราะรัฐบาลเป็นประกัน[2]
มาตรการผันเงินในความหมายที่ 2 การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาชนบทหรือการผันงบประมาณ เป็นการใช้มาตรการทางการคลังของรัฐบาล โดยการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อพัฒนาตำบลทั่วประเทศยกเว้นเขตกรุงเทพมหานครในวงเงินไม่เกิน 2,500 ล้านบาท เพื่อที่จะช่วยประชาชนให้มีงานทำในฤดูแล้ง และช่วยยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในชนบท[3] ตามคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอรับความไว้วางใจในการการบริหารประเทศเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2518 ในประเด็นการบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้าเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการสำหรับชนบทว่า “…เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า ชาวไร่ชาวนาของเราส่วนใหญ่กำลังทุกข์ยากด้วยเหตุที่การเพาะปลูกได้ผลน้อย เพราะขาดน้ำบ้าง เพราะน้ำท่วมบ้าง ศัตรูพืชก็รังควาญมาก ยิ่งหนี้สินด้วยแล้ว ส่วนมากก็มีท่วมท้นล้นตัวทีเดียว แผนปฏิบัติการรีบด่วนของรัฐบาลชุดนี้จึงอยู่ที่ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นทันที เพื่อจะไปบรรเทาความทุกข์ยากของชาวไร่ ชาวนา ลงอย่างฉับพลัน กล่าวคือ จะจัดสรรเงินงบประมาณมอบหมายให้สภาตำบลใช้จ้างแรงงานท้องถิ่นขุดคูคลอง ทำฝายเก็บน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้โดยกำหนดจุดมุ่งหมายไว้ว่าบริเวณซึ่งกำลังเดือดร้อน เพราะถูกภัยธรรมชาติ เช่น เขตอีสาน ภาคใต้ และที่ราบภาคกลาง จะเป็นเขตที่ได้รับความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์พิเศษ ปริมาณเงินที่รัฐบาลจะจัดสรรให้เพื่อการนี้ จะไม่น้อยกว่า 2',500 ล้านบาท และจะจัดสรรให้ทันทีเพื่อให้ทันใช้ในช่วงก่อนถึงฤดูกาลทำไร่ทำนา ซึ่งเป็นระยะที่ชาวไรชาวนากำลังว่างงาน…”[4]
การดำเนินงานตามนโยบาย
หลังจากที่รัฐบาลได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรเพียง 11 วัน คือในวันที่ 1 เมษายน 2518 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้นายกรัฐมนตรีออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโครงการพัฒนาท้องถิ่น และช่วยประชาชนในชนบทให้มีงานทำในฤดูแล้ง พ.ศ. 2518 เพื่อเป็นเครื่องมือในการผันเงิน 2,500 ล้านบาทไปสู่ชนบท มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ราษฎรมีงานทำในช่วงระหว่างว่างงานในฤดูแล้ง ก่อนการทำไร่ทำนา หารายได้ตามสมควรไว้เป็นทุนในการเพะปลูก ทำนา ตลอดจนหาสิ่งของที่จำเป็นต่าง ๆ เป็นการช่วยเศรษฐกิจในชนบท และส่งเสริมสภาพสังคมในชนบทให้สูงขึ้น โดยให้สภาตำบลเสนอความต้องการของตนเองในงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและปรับปรุง คู คลอง ทำนบ ฝายกั้นน้ำ สะพาน ตลอดจนการซ่อมแซมต่อเติมอาคารสิ่งก่อสร้างสาธารณประโยชน์ เพื่อรัฐบาลจะได้จัดสรรเงินอุดหนุนภายในวงเงินที่กำหนดตำบลละ 488,195 บาท ไปดำเนินการใช้จ้างแรงงานในท้องถิ่น
ต่อมาในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2518 สภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติพระราชบัญญัติอนุญาตให้รัฐบาลจ่ายเงินไปพลางก่อน ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นกฎหมายบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2518 ซึ่งมีผลให้รัฐบาลสามารถจ่ายเงินไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติตามโครงการพัฒนาท้องถิ่น และช่วยเหลือประชาชนในชนบทให้มีงานทำในฤดูแล้ง ฉะนั้นสภาตำบลทุกแห่งทั่งประเทศ (เว้นตำบลในเขตเทศบาลและเขตสุขาภิบาล) จึงมีสิทธิและมีโอกาสเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การปกครองของประเทศไทยที่จะเสนอความต้องการของตนเอง เพื่อประโยชน์ของตนเอง และดำเนินการด้วยตนเอง การที่ประชาชนมีโอกาสกำหนดความต้องการของตนเองโดยเสนอผ่านสภาตำบล โดยมีขั้นตอนคือ สภาตำบลมีการประชุมภายในตำบลว่ามีความต้องการอะไรบ้าง มีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ แล้วเสนอโครงการนั้นภายในวงเงินอุดหนุนที่รัฐบาลกำหนดผ่านอำเภอ ผ่านจังหวัด ไปยังคณะอนุกรรมการ ปชล. ประจำเขตเพื่ออนุมัติ นับเป็นการกระจายอำนาจการบริหารจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น สนับสนุนให้ท้องถิ่นปกครองตนเองเป็นการปูพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
เป้าหมายของนโยบายเงินผันคือ การยกระดับมาตรฐานการดำเนินชีวิตของคนยากจนในชนบท ซึ่งเชื่อว่าการผันเงินจากส่วนกลางไปให้ท้องถิ่นในชนบทใช้จ่ายตามโครงการที่พวกเขากำหนดขึ้นมาเอง จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนในชนบทที่ยากจนมีโอกาสหารายได้และทำงานในยามว่างหลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลแล้ว ในโครงการผันเงินนี้ พรรคกิจสังคมเชื่อว่าจะมีการรั่วไหลน้อยมาก ถ้าหากว่าประชากรชนบทสามารถควบคุมดูแลกันเองอย่างทั่วถึง เงินที่ส่วนกลางผันไปสู่ชนบทย่อมจะเอื้ออำนวยประโยชน์ให้ประชาชนในชนบทได้มีโอกาสนำไปใช้จ่ายสร้างสิ่งสาธารณูปโภคที่ขาดแคลน ขณะเดียวกันก็มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำงานในโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในท้องถิ่น นอกจากนี้ นโยบายเงินผันสู่ชนบทยังเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างสังคมเมืองกับชนบท และมุ่งหวังให้ประชากรทุกภาคส่วนได้รับผลของการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ตาม นโยบายผันเงิน ก็ถือเป็นนโยบายที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยมีจุดมุ่งหมายที่พิจารณาได้ 3 ประเด็น คือ การหวังผลทางการเมือง มุ่งที่จะให้รัฐบาลได้รับผลประโยชน์ทางการเมืองและสามารถอยู่ได้นานที่สุดภายใต้กรอบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเลือกการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่จะทำให้รัฐบาลได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนส่วนใหญ่มากที่สุดและพร้อมเผชิญกับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ การหวังผลทางเศรษฐกิจ เป็นนโยบายที่สอดคล้องและเอื้ออำนวยผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มธุรกิจธนาคารและการค้ามากที่สุด เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศประสบกับภาวการณ์เศรษฐกิจชะงักงัน นโยบายผันเงินจึงถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาความชะงักงานทางเศรษฐกิจ โดยการผันเงินผ่านธนาคารเพื่อช่วยธนาคารพาณิชย์ในการระบายจำนวนเงินที่มีอยู่เป็นจำนวนมากและได้ผลประโยชน์ในการแก้ปัญหาเรื่องสินเชื่อของเกษตรกร อีกทั้งการผันเงินเพื่อพัฒนาชนบทเป็นการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และประเด็นสุดท้าย การสร้างเสถียรภาพของสังคมในชนบท โดยใช้นโยบายผันเงินเป็นเครื่องมือในการต่อต้านผู้ก่อการร้ายเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งประชาชน และเป็นการเสริมสร้างอำนาจการต่อรองทางการเมืองให้แก่พรรครัฐบาลมีมากขึ้นอีกด้วย[5]
บรรณานุกรม
เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม. วิเคราะห์โครงการผันเงินในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง. กรุงเทพฯ: สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, 2518.
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. รายงานผลการวิจัยเรื่องการผันเงินสู่ชนบทของรัฐบาล: ศึกษาเปรียบเทียบภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพฯ: วช.,(ม.ป.ป).
ประชาชาติรายวัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 231 ประจำวันอังคารที่ 18 มีนาคม 2518, หน้า 2.
อ้างอิง
[1] เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม. วิเคราะห์โครงการผันเงินในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง. กรุงเทพฯ: สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, 2518, หน้า 1-2.
[2] เพิ่งอ้าง, 2-5.
[3] สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. รายงานผลการวิจัยเรื่องการผันเงินสู่ชนบทของรัฐบาล: ศึกษาเปรียบเทียบภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพฯ: วช.,(ม.ป.ป).
[4] คำแถลงนโยบายของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพุธที่ 19 มีนาคม 2518 ประชาชาติรายวัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 231 ประจำวันอังคารที่ 18 มีนาคม 2518 หน้า 2.
[5] เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม. วิเคราะห์โครงการผันเงินในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง. กรุงเทพฯ: สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, 2518, หน้า 77-93.