สุขาภิบาลนาเกลือ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:33, 7 ธันวาคม 2560 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " เรียบเรียงโดย : ดร. โดม ไกรปกรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทคว...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

เรียบเรียงโดย : ดร. โดม ไกรปกรณ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


สุขาภิบาลนาเกลือ

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบของ “สุขาภิบาล” ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กที่สุดขึ้นมาโดยรวมหมู่บ้าน 4-6 หมู่บ้านเข้าด้วยกันเป็น “สุขาภิบาล” โดยใน พ.ศ. 2440 ได้มีการตราพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ เพื่อให้กรุงเทพฯ มีการปกครองท้องถิ่นของตัวเอง นับเป็นการจัดตั้งสุขาภิบาลแห่งแรกของประเทศ ต่อมาใน พ.ศ. 2448 ได้มีการจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม สมุทรสาคร ซึ่งเป็นสุขาภิบาลในเขตหัวเมืองแห่งแรก ทั้งสุขาภิบาลกรุงเทพฯ และสุขาภิบาลในเขตหัวเมืองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ตั้งขึ้นนี้ทำหน้าที่สำคัญ 4 อย่างด้วยกันคือ 1) บูรณะหรือจัดสร้างถนนหนทาง 2) รักษาความสะอาด 3) ดูแลด้านสาธารณสุขความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น 4) จัดการศึกษาขั้นต้นให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น[1]

          ถัดมาใน พ.ศ. 2451 ได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ. 127 โดยสุขาภิบาลที่เกิดขึ้นตามกฎหมายฉบับนี้มีจำนวน 35 แห่ง แยกเป็นสุขาภิบาลเมือง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมือง ที่ตั้งศาลากลางจังหวัด จำนวน 29 แห่ง และสุขาภิบาลท้องที่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตตำบลที่เป็นชุมชน จำนวน 6 แห่ง[2] เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริที่จะปรับปรุงการสุขาภิบาลทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองให้เป็นการปกครองตัวเองในรูปแบบของมิวนิซิแปลิตี (Municipality) หรือเทศบาล แต่พระราชดำรินี้ยังไม่ได้นำไปปฏิบัติก็ทรงเสด็จสวรรคตเสียก่อน[3]

          พระมหากษัตริย์สองพระองค์ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-2468) และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2468-2477) ทรงพยายามที่จะปรับปรุงการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเปลี่ยนจากรูปแบบสุขาภิบาลเป็นแบบเทศบาล แต่ก็ไม่สำเร็จโดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดทำและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเทศบาลแล้วแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎรเสียก่อน พระราชบัญญัตินี้จึงไม่ได้ประกาศใช้[4]

          ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลใหม่ได้รื้อโครงสร้างอำนาจการบริหารประเทศเสียใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ในส่วนของการบริหารราชการท้องถิ่นได้มีการจัดการปกครองรูปแบบเทศบาล โดยมีการตรากฎหมายฉบับสำคัญขึ้นมา 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 (ตราในสมัยรัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา) พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2486 (ตราในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม) ทั้งนี้การจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เทศบาลเป็นพื้นที่การฝึกอบรมการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ (แบบประชาธิปไตย) ให้แก่ราษฎร[5] อย่างไรก็ตามด้วยปัญหาหลายประการทำให้การดำเนินการยกฐานะตำบลทั่วประเทศขึ้นเป็นเทศบาล ซึ่งเป็นนโยบายในการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นตลอดช่วง พ.ศ. 2476 ถึง พ.ศ. 2495 เป็นไปอย่างล่าช้า ในปี พ.ศ. 2495 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงออกกฎหมายจัดตั้งสุขาภิบาลขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยหวังว่าจะใช้สุขาภิบาลในการจัดวางพื้นฐานการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นให้เข้มแข็งแล้วพัฒนาขึ้นเป็นเทศบาลในโอกาสต่อไป[6]

          สุขาภิบาลนาเกลือ เกิดขึ้นจากการรื้อฟื้น “สุขาภิบาล” โดยกฎหมายที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2495 ดังพบว่าในปี 2499 ทางราชการเห็นสมควรให้ตั้งตำบลนาเกลือ ในจังหวัดชลบุรีขึ้นเป็นสุขาภิบาลนาเกลือ ต่อมาในปี 2507 ได้มีการขยายเขตการปกครองสุขาภิบาลนาเกลือออกไปคลุมเขตพื้นที่หมู่บ้านชาวประมงพัทยา[7] ทั้งนี้มีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ชี้ว่า พื้นที่บริเวณตำบลนาเกลือ มีชุมชนตั้งอยู่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา เห็นได้จากวัดเก่าแก่ประจำท้องถิ่น คือ วัดสว่างฟ้าพฤฒาราม ซึ่งมีอายุ 300 ปี ตั้งมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเดิมนั้นวัดนี้ชื่อ “วัดนาเกลือ” แต่ต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสว่างฟ้า” เนื่องจากมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระเจ้าตากสินว่า พระองค์ทรงเดินทางผ่านมาที่ชุมชนนาเกลือเมื่อตอนสว่างและได้ทรงพักแรมที่วัดนาเกลือ จึงได้เรียกวัดแห่งนั้นว่า “วัดสว่างฟ้า”[8]

          ต่อมาให้สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ได้ปรากฏในวรรณคดีเรื่อง “นิราศเมืองแกลง” ของสุนทรภู่ มีการพูดถึงบ้านนาเกลือว่า ผู้คนถิ่นนี้ประกอบอาชีพทำประมง โดยผู้คนที่อาศัยอยู่ที่บ้านนาเกลือมีทั้งคนไทยและคนเชื้อสายจีน เนื่องจากบริเวณเมืองชลบุรีถึงบ้านนาเกลือ เป็นเมืองหน้าด่านมีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ[9] สำหรับพื้นที่บริเวณชายหาดพัทยานั้น นิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ให้ภาพว่า พื้นที่บริเวณนี้เป็นป่ารก[10]

          ด้านการเมืองการปกครองนั้น พบว่าเดิมนั้นบ้านนาเกลือคงใช้ชื่อว่า “บางละมุง” มาจนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2459 กระทรวงมหาดไทยได้เปลี่ยนชื่อ อำเภอบางละมุงมาเป็นอำเภอนาเกลือ[11] ทั้งนี้บางละมุงเป็นเมืองเก่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของสยามและต้องร้างผู้คนไปเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 หลังจากพระเจ้าตากสินรื้อฟื้นอาณาจักรสยามขึ้นมาใหม่ จึงมีผู้คนเข้าไปอาศัยอยู่ในเมืองบางละมุงอีกครั้งหนึ่ง[12] โดยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น บางละมุงเป็นเมืองในสังกัดกรมท่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคโดยใช้ระบบเทศาภิบาล ได้มีการโอนเมืองบางละมุง เมืองชลบุรี และเมืองพนัสนิคม ไปอยู่กับกระทรวงมหาดไทยให้รวมอยู่ในมณฑลปราจีนบุรี[13]

          ถัดมาในปี 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราข้อบังคับลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ. 117 ส่งผลให้เมืองบางละมุงเปลี่ยนเป็นอำเภอ 2 อำเภอในจังหวัดชลบุรี คือ อำเภอบางละมุง (ตั้งอยู่ที่ตำบลบางพระ) และอำเภอนาเกลือ (ตั้งอยู่ที่ตำบลนาเกลือ) ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่ออำเภอเมืองบางละมุงเป็นอำเภอบางพระตามชื่อสถานที่ ส่วนอำเภอนาเกลือเปลี่ยนเป็นอำเภอบางละมุงตามชื่อเมืองเดิม[14] โดยข้อมูลจากหนังสือ “เรื่องเล่าของชาวนาเกลือ” ที่กลุ่มอนุรักษ์อ่าวนาเกลือจัดทำขึ้นได้ระบุว่าที่ว่าอำเภอบางละมุงตั้งอยู่ที่บริเวณคลองนกยาง[15]

          ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปลี่ยนคำเรียกหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคจาก “เมือง” เป็น “จังหวัด” และเปลี่ยนตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่ออำเภอตามชื่อตำบลที่เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอนั้นๆ ดังนั้นเมืองชลบุรีจึงเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดชลบุรี ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ส่วนชื่ออำเภอมีการเปลี่ยนชื่อถึง 4 อำเภอ หนึ่งในนั้นคือ อำเภอบางละมุง ซึ่งเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นอำเภอนาเกลือ[16] โดยอำเภอนาเกลือในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เติบโตขึ้นพอสมควร ดังที่พระครูวิมลภาณ เจ้าคณะตำบลนาเกลือธรรมยุตเล่าว่าในปี 2460 ได้มีการตั้งโรงเรียนแห่งแรกของอำเภอนี้ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนบ้านนาเกลือ”[17]

          หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้มีการยกเลิกการปกครองแบบมณฑลหัวเมืองในมณฑลปราจีนบุรีและมณฑลจันทบุรีเปลี่ยนเป็นจังหวัดและอำเภอต่างๆ ในภาคตะวันออก[18] ต่อมาในปี 2476 รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ขึ้นเป็นครั้งแรกส่งผลให้มีการตั้งเทศบาลเมืองชลบุรีขึ้น ถัดจากนั้นเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก (พ.ศ. 2481-2487) ได้มีการสร้างทางหลวงแผ่นดินสายสมุทรปราการ บางปะกง ชลบุรี หรือที่เรียกว่า “ถนนสุขุมวิท” ขึ้นเพื่อประโยชน์ด้านการปกครอง การป้องกันประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งเพื่อความสะดวกในการสัญจรคมนาคมของประชาชน[19]

          ในช่วง 10 ปี หลังการสร้างถนนสุขุมวิท สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่นาเกลือส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำประมง[20] นับตั้งแต่ปี 2497 พื้นที่บริเวณชายหาดพัทยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอนาเกลือ ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยในระยะแรกนั้น กลุ่มคนที่นิยมมาท่องเที่ยวพักผ่อนที่ชายหาดพัทยาได้แก่ ทหารชาวอเมริกัน ซึ่งมารบในสงครามเวียดนาม (พ.ศ. 2497-2518) ทั้งทหารที่เดินทางจากสหรัฐอเมริกามายังฐานทัพชั่วคราวของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย และทหารที่ออกจากเวียดนามมาพักผ่อนที่ไทย ทำให้พัทยาค่อยๆ เปลี่ยนจากหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ เป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศชายทะเลที่มีชื่อเสียงระดับประเทศและระดับสากล โดยเกิดธุรกิจบริการ เช่น ร้านอาหาร บ้านพักตากอากาศ โรงแรม ฯลฯ รวมทั้งมีคนต่างถิ่นอพยพเข้ามาอยู่อาศัยและประกอบอาชีพมากขึ้นเรื่อยๆ[21]

          จากการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของพื้นที่แถวพัทยา เนื่องจากการขยายตัวของธุรกิจการท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดปัญหาการจัดการสาธารณูปโภคและการบริหารดูแลพื้นที่พัทยา ข้าราชการของกระทรวงทหาดไทยจำนวนหนึ่งจึงคิดนำเอารูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบผู้จัดการเมือง (city manager) อย่างที่มีในสหรัฐอเมริกามาใช้โดยใน พ.ศ. 2521 รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบการบริหารราชการเมืองพัทยา เพื่อยกฐานะสุขาภิบาลนาเกลือขึ้นเป็นเมืองพัทยา การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่ประชาชนเป็นผู้เลือกสมาชิกสภาท้องถิ่น แล้วสภาท้องถิ่นเป็นผู้ว่าจ้างบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาทำหน้าที่ผู้จัดการเมือง[22] สุขาภิบาลนาเกลือจึงสิ้นสุดลง

 

บรรณานุกรม

กลุ่มอนุรักษ์อ่าวนาเกลือ. เรื่องเล่าของชาวนาเกลือ. ชลบุรี: กลุ่มอนุรักษ์อ่าวนาเกลือ, 2553.

ขวัญแก้ว อุดมบุญญานุภาพ. “กำเนิดและการขยายตัวของเมืองพัทยา”. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546.

ธเนศวร์ เจริญเมือง. 100 ปี การปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ. 2440-2540. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2548.

ปธาน สุวรรณมงคล. การปกครองท้องถิ่นไทยในบริบทของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2547.

ประทาน คงฤทธิ์ศึกษากร. การปกครองเมืองพัทยา. กรุงเทพฯ: โครงการเอกสารการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2534.

ภารดี มหาขันธ์. พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชลบุรี. ชลบุรี: สาขาวิชาไทยศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชลบุรี, 2552.

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. เทศบาล: พื้นที่ เมือง และกาลเวลา. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2560.

เมธีพัชญ์ จงวโรทัย. “สุขาภิบาล: การปกครองท้องที่สยาม พ.ศ. 2440-2476”. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.

รัศมี ก่อพงศ์พนา. ชลบุรี. นนทบุรี: เอิร์นเอ็ดดูเคชั่น, 2543.

วิวัฒนาการการปกครองท้องถิ่นไทย. กรุงเทพฯ: โครงการส่งเสริมการบริหารจัดการที่ดีโดยกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น, 2543.

สุวัสดี โภชน์พันธุ์. “เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ. 2476-2500”. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.

อำพิกา สวัสดิ์วงศ์. “ถนนสุขุมวิทกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจในภาคตะวันออกของประเทศ พ.ศ. 2477-2539”. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545.

 

อ้างอิง

[1] ธเนศวร์ เจริญเมือง, 100 ปี การปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ. 2440-2540, พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2548, หน้า 136-137.

[2] วิวัฒนาการการปกครองท้องถิ่นไทย, กรุงเทพฯ: โครงการส่งเสริมการบริหารจัดการที่ดีโดยกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น, 2543, หน้า 17.

[3] ปธาน สุวรรณมงคล, การปกครองท้องถิ่นไทยในบริบทของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540, นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2547, หน้า 34.

[4] วิวัฒนาการการปกครองท้องถิ่นไทย, หน้า 18-19 ; เมธีพัชญ์ จงวโรทัย, “สุขาภิบาล: การปกครองท้องที่สยาม พ.ศ. 2440-2476,” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549, หน้า 110-141.

[5] สุวัสดี โภชน์พันธุ์, “เทศบาลและผลกระทบต่ออำนาจท้องถิ่น พ.ศ. 2476-2500,” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543, หน้า 48-71 ; ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, เทศบาล: พื้นที่ เมือง และกาลเวลา, กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2560, หน้า 39-51.

[6] ธเนศวร์ เจริญเมือง, 100 ปี การปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ. 2440-2540, หน้า 138-139.

[7] ประทาน คงฤทธิ์ศึกษากร, การปกครองเมืองพัทยา, กรุงเทพฯ: โครงการเอกสารการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2534, หน้า 58.

[8] ขวัญแก้ว อุดมบุญญานุภาพ, “กำเนิดและการขยายตัวของเมืองพัทยา,” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546, หน้า 12.

[9] กลุ่มอนุรักษ์อ่าวนาเกลือ, เรื่องเล่าของชาวนาเกลือ, ชลบุรี: กลุ่มอนุรักษ์อ่าวนาเกลือ, 2553, หน้า 21-23.

[10] ขวัญแก้ว อุดมบุญญานุภาพ, “กำเนิดและการขยายตัวของเมืองพัทยา,” หน้า 12.

[11] ภารดี มหาขันธ์, พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชลบุรี, ชลบุรี: สาขาวิชาไทยศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชลบุรี, 2552, หน้า 107.

[12] รัศมี ก่อพงศ์พนา, ชลบุรี, นนทบุรี: เอิร์นเอ็ดดูเคชั่น, 2543, หน้า 70.

[13] ภารดี มหาขันธ์, พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชลบุรี, หน้า 89, 98.

[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 89-90.

[15] กลุ่มอนุรักษ์อ่าวนาเกลือ, เรื่องเล่าของชาวนาเกลือ, หน้า 25.

[16] ภารดี มหาขันธ์, พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชลบุรี, หน้า 107.

[17] กลุ่มอนุรักษ์อ่าวนาเกลือ, เรื่องเล่าของชาวนาเกลือ, หน้า 30-31.

[18] อำพิกา สวัสดิ์วงศ์, “ถนนสุขุมวิทกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจในภาคตะวันออกของประเทศ พ.ศ. 2477-2539,” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545, หน้า 52.

[19] เรียบเรียงจากภารดี มหาขันธ์, พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชลบุรี, หน้า 118-125 ; อำพิกา สวัสดิ์วงศ์, “ถนนสุขุมวิทกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจในภาคตะวันออกของประเทศ พ.ศ. 2477-2539”, หน้า 69-76.

[20] ขวัญแก้ว อุดมบุญญานุภาพ, “กำเนิดและการขยายตัวของเมืองพัทยา,” หน้า 19-20.

[21] เรียบเรียงจากภารดี มหาขันธ์, พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชลบุรี, หน้า 145-148 ; ขวัญแก้ว อุดมบุญญานุภาพ, “กำเนิดและการขยายตัวของเมืองพัทยา,” หน้า 45-93.

[22] เรียบเรียงจากธเนศวร์ เจริญเมือง, 100 ปี การปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ. 2440-2540, หน้า 194-195 ; วิวัฒนาการการปกครองท้องถิ่นไทย, หน้า 39 ; ปธาน สุวรรณมงคล, การปกครองท้องถิ่นไทยในบริบทของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540, หน้า 183 ; ประทาน คงฤทธิ์ศึกษากร, การปกครองเมืองพัทยา, หน้า 58-59.