เมืองลูกหลวง
เรียบเรียงโดย : ดร. ชาติชาย มุกสง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
เมืองลูกหลวง
เมืองลูกหลวงเป็นเมืองสำคัญในสมัยอยุธยาเป็นเมืองสำคัญรองจากเมืองหลวง อาจเพราะยุทธศาสตร์หรือเป็นเมืองสำคัญของราชวงศ์ ต้องให้สมาชิกราชวงศ์ของกษัตริย์ที่ปกครองอยุธยาไปดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองเพื่อประกันความจงรักภักดีมากกว่าจะใช้ขุนนางไปปกครอง ระบบเมืองลูกหลวงถูกนำมาใช้ในการปกครองหัวเมืองช่วงประมาณ 250 ปีแรกของอาณาจักรอยุธยา และมีพัฒนาการและเปลี่ยนแปลงมาตลอดตามลำดับ
ความหมายของเมืองลูกหลวง
การปกครองหัวเมืองในอาณาจักรอยุธยาตอนต้น หัวเมืองลูกหลวงมีฐานะเป็นเมืองเอก และเมืองหลานหลวงเป็นเมืองโท ส่วนการจัดแบ่งหัวเมืองออกเป็นเมืองตรีและจัตวาคงเกิดขึ้นเมื่อราชอาณาจักรขยายตัวไปมากแล้ว เนื่องจากเจ้านายระดับสูงทรงได้รับแต่งตั้งไปกินเมืองลูกหลวงต่างๆ แต่ละพระองค์อาจได้รับเครื่องยศชั้นสูง และมีพระราชอำนาจค่อนข้างอิสระจึงทรงปกครองหัวเมืองในฐานะอุปราช ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ ในหลักการแล้วระบบเมืองลูกหลวงและเมืองหลานหลวง ทำให้ราชวงศ์มีความมั่นคงเพราะปิดโอกาสขุนนางจะมาแย่งชิงราชสมบัติ แต่การที่เจ้านายได้ปกครองเมืองลูกหลวงอย่างค่อนข้างอิสระ เปิดโอกาสให้เจ้านายหลายพระองค์ทรงสามารถสะสมกำลังและสร้างบารมีได้เข้มแข็งพอที่จะอ้างสิทธิในราชบัลลังก์เมื่อสิ้นรัชกาลของพระราชบิดา[1]
การเรียกเมืองลูกหลวงมาจากฐานะของลูกกษัตริย์ที่ไปปกครองเมืองจากฐานะสำคัญของราชโอรสในราชวงศ์ ที่เกิดจากฐานันดรศักดิ์ของพระมารดา หมายความว่าพระราชกุมารเกิดด้วยลูกหลวง (มีพระราชมารดาเป็นพระราชธิดากษัตริย์) ได้กินเมืองเอก เกิดด้วยหลานหลวง (มีพระราชมารดาเป็นชั้นพระนัดดา) ได้กินเมืองโท ฐานะของเจ้านายเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นได้ จากกินเมืองเล็กแล้วเลื่อนไปกินเมืองที่สำคัญกว่า[2]
เมืองลูกหลวงจากหลักฐานประวัติศาสตร์
ในกฎหมายตราสามดวงได้ระบุถึงเมืองลูกหลวงเอาไว้ในกฎหมายว่าด้วยกฎมณเทียรบาลที่ตราขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถตามการคำนวณของศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เสนอว่าตราขึ้นในปี พ.ศ.2001 มี ความว่า
ฝ่ายกระษัตรแต่ได้ถวายดอกไม้ทองเงินทั้งนั้น 20 เมือง คือเมืองนครหลวง เมืองศรีสัตนาคณหุต เมืองเชียงใหม่ เมืองตองอู เมืองเชียงไกร เมืองเชียงกราน เมืองเชียงแสน เมืองเชียงรุ้ง เมืองเชียงราย เมืองแสนหวี เมืองเขมราช เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองใต้ทอง เมืองโคตรบอง เมืองเรวแกว 16 เมืองนี้ฝ่ายเหนือ เมืองฝ่ายใต้ เมืองอุยองตะหนะ เมืองมลากา เมืองมลายู เมืองวรวารี 4 เมืองเข้ากัน 20 เมือง ถวายดอกไม้ทองเงิน พญามหานคร แต่ได้ถือน้ำพระพัท 8 เมือง คือ เมืองพิศณุโลก เมืองสัชนาไล เมืองศุโขไท เมืองกำแพงเพชร เมืองนครศรีธรรมราช เมืองนครราชสีมา เมืองตนาวศรี เมืองทวาย
กำหนดพระราชกฤษฎีกาไอยการ พระราชกุมาร พระราชนัดดา ฝ่ายพระราชกุมารเกิดด้วยอัคมเหสี คือสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า อันเกิดด้วยแม่หยัวเมือง เปนพระมหาอุปราช เกิดด้วยลูกหลวงกินเมืองเอก เกิดด้วยหลานหลวงกินเมืองโท เกิดด้วยพระสนมเปนพระเยาวราช พระลูกเธอกินเมืองถวายบังคมแก่สมเดจหน่อพระพุทธิเจ้า พระเยาวราชถวายบังคมแก่พระเจ้าลูกเธอกินเมือง
เมืองลูกหลวง คือเมืองพิศณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองกำแพงเพช เมืองลพบุรี เมืองสิงคบุรี
เมืองหลานหลวง คือเมืองอินทบุรี เมืองพรหมบุรี[3]
การคำนวณอายุของกฎหมายฉบับนี้ว่าตราสมัยใดจะทำให้ทราบได้ว่าระบบเมืองลูกหลวงยังใช้ปกครองอยู่ในช่วงเวลานั้นด้วยค่อนข้างแน่ แม้ในบานแพนกจะลงศักราชกำกับว่ากฎหมายตราขึ้น “ศุภมัศดุ 720 วันเสาเดือนห้าขึ้นหกค่ำ ชวดนักสัตวศก”[4]ตรงกับปี พ.ศ. 2001 ก็ตาม แต่ มานพ ถาวรวัฒน์สกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อยุธยาเสนอว่าจะต้องพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์ประกอบด้วยในการกำหนดอายุของกฎหมายใช้บังคับ ซึ่งก็สอดคล้องกันกับระยะเวลาที่กฎหมายนี้ถูกตราขึ้น โดย “ต้องทำการพิจารณาเทียบเคียงจากข้อมูลที่ว่า อยุธยามีอำนาจเหนือหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมดอย่างสมบูรณ์ นับตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและข้อเท็จจริงที่ว่าระบบเมืองลูกหลวงถูกยกเลิกไปอย่างเด็ดขาดในปี พ.ศ. 2127”[5]ซึ่งหมายความว่ากฎหมายนี้ต้องถูกตราขึ้นระหว่างรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจนถึงปี พ.ศ. 2127 หลังสงครามเสียกรุงครั้งที่ 1 ไม่นานนัก
จากการวิเคราะห์ของ วินัย วงศ์ศรีเพียร พบว่าช่วงเวลาของการเปลี่ยนจากระบบเมืองลูกหลวงมาเป็นการแบ่งหัวเมืองในปกครองของอยุธยาออกไปเป็นเมืองเอก โท ตรีและจัตวานั้นอยู่ในช่วงรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ดังปรากฏหลักฐานในพระไอยการกระบดศึกที่ตราขึ้น พ.ศ. 1995 ความว่า “ถ้าเป็นพระหลวง รั้งเมือง ครองเมือง เอก โท ตรี จัตวา” เนื่องจากอาณาเขตอาณาจักรอยุธยาขยายตัวมากและต้องผนวกเอาดินแดนหัวเมืองต่างๆ เข้ามาในระบบราชการของอยุธยา[6]
ในขณะที่หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการปกครองแบบหัวเมืองฝ่ายเหนือฝ่ายใต้และเมืองเอกที่ไม่ใช่เมืองลูกหลวงอีกต่อไปปรากฏชัดเจนใน พระราชบัญญัตินาทหารหัวเมือง[7] ดังความว่า
ศุภมัสดุ 1298 ศกสุนักขสังวัชฉะระกาลปักเขทัศมีดิถียังอาทิตยวารพระบาทสมเดจ์พระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนารถ บรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว สถิตยอยู่ณะพระธินั่งเบญจรัตนปราสารทโดยบุรภาภิมุกข เจ้าพญาธรรมาธิบดีศรีรัตนมหามณเทียรบาล กราบบังคมทูลพระกรุณาว่าตำแหน่งศักดิ์นาหัวเมือง เอก โท ตรี จัตวา ปากใต้ฝ่ายเหนือนั้นจะทรงพระกรรุณาโปรดพระราชทานเปนประการใด จึ่งพระบาทสมเดจ์พระพุทธิเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการตรัสเหนือเกล้า สั่งว่าเจ้าพญาและพญาพระหลวงเมืองผู้รั้งกรมการบันดารับราชการอยู่ณหัวเมืองเอกโทตรีจัตวาปากใต้ฝ่ายเหนือทังปวงให้ถือศักดิ์นาตามพระราชประหญัติดั่งนี้
ศุภมัศดุ 1298 ศกสุนักขสังวัชฉะระกาลปักเขทัศมีดิถียังอาทิตวารพระบาทสมเดจ์พระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนารถ บรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว สถิตยอยู่ณะพระธินั่งเบญจรัตนมหาปราสาทโดยบุรภาภิมุก เจ้าพญาธรรมาธิบดีศรีรัตนมหามนเทียรบาล กราบบังคมทูลพระกรรุณาว่าตำแหน่งศักดิ์นาหัวเมือง เอก โท ตรี จัตวา (ปีกกา) ปากใต้ฝ่ายเหนือนั้นจะทรงพระกรรุณาโปรดพระราชทานเปนประการใด จึ่งพระบาทสมเดจ์พระพุทธิเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการตรัสเหนือเหล้า สั่งว่าเจ้าพญาและพญาพระหลวงเมืองผู้รั้งกรมการบันดารับราชการอยู่ณหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวาปากใต้ฝ่ายเหนือทังปวงให้ถือศักดิ์นาตามพระราชประหญัติดั่งนี้
๐ เจ้าพญาสุรศรีพิศมาธิราชชาติพัทยาธิเบศวราธิบดีอภัยพิรียบรากรมภาหุเมืองพิศณุโลกเอกอุ นา 10000 ขึ้น ประแดงเสนาฏขวา...เมืองขึ้นพิศณุโลก เจ้าเมือง นาคล 1600[8]
๐เจ้าพญาศรีธรรมราชชาติเดโชไชยมไหยสุริยาธิบดีอภัยพิรียบรากรมภาหุ เมืองนครศรีธรรมราชเมืองเอกนา 10000 ขึ้น ประแดงอินปัญาซ้าย...เมืองขึ้นเมืองนครศรีธรรมราช นาคล 1600[9]
๐ออกญากระเสตรสงครามรามราชแสนญาธิบดีศรีสัชนาไลยอภัยพิรียบรากรมภาหุ พญาสวรรคโลกเมืองโท นา 10000 ขึ้นประแดงจุลาเทพซ้าย[10]
๐ออกญาศรีธรรมศุกราชชาติบดินทรสุรินทฤาไชยอภัยพิรียภาหุ เจ้าเมืองศุกโขไท เมืองโท นา 10000 ขึ้นประแดงจุลาเทพซ้าย[11]
๐ออกญารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิรียภาหะ เมืองกำแพงเพช เมืองโท นา 10000 ขึ้นประแดงเสนาฏขวา[12]
๐ออกญาเพชรัตนสงครามรามภักดีพิรียภาหะ เมืองเพชบูรรณ เมืองโท นา 10000 ขึ้นประแดงเสนาฏขวา[13]
๐ออกญากำแหงสงครามรามภักดีพิรียภาหะ เมืองนครราชศรีมา เมืองโท นา 10000 ขึ้นประแดงจุลาเทพซ้าย[14]
๐ออกญาไชยยาธิบดีศรีณรงคฤาไชยอภัยพิรียบรากรมภาหุ เมืองตะนาว เมืองโท นา 10000 ขึ้นประแดงอินปัญาซ้าย...เมืองขึ้นเมืองโท นาคล 1000[15]
แสดงให้เห็นว่าในขณะที่การปกครองหัวเมืองในระบบเมืองลูกหลวงที่ใช้ในตอนต้นอยุธยากำลังถูกปรับปรุงด้วยระบบการปกครองหัวเมืองใหม่ที่แบ่งเป็น 4 ระดับคือ เมืองเอก โท ตรี จัตวา ปรากฏขึ้นชัดเจนในระบบราชการแบบใหม่ของอยุธยาสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพื่อรองรับการขยายตัวของราชอาณาจักรและเปลี่ยนมาใช้ขุนนางในการปกครองหัวเมืองมากกว่าราชวงศ์ไปกินเมือง แต่ในช่วงเวลาตั้งแต่ราว พ.ศ. 2000 จนถึง 2100 ในเวลาประมาณ 100 ปีนี้ระบบเมืองลูกหลวงน่าจะถูกใช้ควบคู่ไปกับระบบเมืองเอก โท ตรี จัตวา ในการปกครองหัวเมืองขึ้นอยู่กับราโชบายของแต่ละรัชสมัย แต่หลังรัชสมัยพระมหาธรรมราชาจึงสิ้นสุดเมืองลูกหลวงเพราะไม่ปรากฏการแต่งตั้งเจ้านายไปปกครองหัวเมืองอีกเลย
หัวเมืองซึ่งอยู่ภายนอกวงราชธานีออกไปที่เป็นหัวเมืองในราชอาณาเขต อาจมีสาเหตุเพราะอยู่ไกลราชธานีปกครองโดยตรงไม่สะดวก หรือเพราะอยู่หน้าด่านชายแดนจึงจัดเป็นเมืองพระยามหานคร ชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี โดยลำดับกันตามขนาดและความสำคัญของเมือง เมืองชนิดนี้ต่อมาเรียกว่า “หัวเมืองชั้นนอก” ต่างมีเมืองขึ้นอยู่ในอาณาเขตทำนองเดียวกับวงราชธานีและมีกรมการปกครองทุกแผนกเฉกเช่นเดียวกับในราชธานี[16]
ข้อถกเถียงเรื่องเมืองลูกหลวง
เมืองลูกหลวงคือเมืองสำคัญรองลงไปจากเมืองหลวง เกิดขึ้นเมื่อการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของคนไทยในลุ่มน้ำเจ้าพระยามั่นคงขึ้นแล้ว กล่าวคือการปกครองสมัยต้นอยุธยาอาศัยความสัมพันธ์กันของระบบเครือญาติที่อาศัยความจงรักภักดีโดยอาศัยสายสัมพันธ์ทางเครือญาติและใช้การสมรสกันในการสร้างเครือข่ายผู้จงรักภักดีต่อกษัตริย์ที่ครองอำนาจที่ศูนย์กลาง ซึ่งจะตอบแทนความจงรักภักดีของพระบรมวงศานุวงศ์หรือวงศ์เจ้าเมืองจึงได้ส่วนแบ่งอำนาจทางการเมืองอย่างสูง เนื่องจากเป็นคนที่กษัตริย์ให้ความไว้วางใจสูงสุด โอรสและนัดดาของเจ้ากษัตริย์กับเจ้าเมืองจะได้รับเมืองสำคัญๆ ในแว่นแคว้นไปครอบครอง จึงเรียกกันตามฐานะว่าเมืองลูกหลวง ดังปรากฏว่าเมืองละโว้เป็นเมืองลูกหลวงของกรุงศรีอยุธยา เมืองสรรค์เป็นเมืองลูกหลวงของกรุงสุพรรณบุรี แต่ทางทฤษฎีแล้วทั้งสองเมืองต่างเป็นเมืองลูกหลวงของกรุงศรีอยุธยาในฐานะศูนย์กลางของอาณาจักร[17] ซึ่งการปกครองเมืองลูกหลวงค่อนข้างมีอิสระจากเมืองหลวงและเป็นสิทธิขาดที่เรียกว่า “กินเมือง”
ควอริช เวลส์ ที่ศึกษาการปกครองสมัยโบราณของไทยจากหลักฐานกฎหมายเก่าได้ระบุว่าเมืองลูกหลวงในสมัยพระเจ้าอู่ทองหลังตั้งกรุงศรีอยุธยานั้น ตั้งอยู่สี่ทิศ ได้แก่ ทิศเหนือคือลพบุรี ทางตะวันออกคือนครนายก ทางใต้คือพระประแดง ทางตะวันตกคือสุพรรณบุรี[18] ซึ่งตรงกับพระวินิจฉัยของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงแสดงเมื่อปี 2470 ในปาฐกถาเรื่อง “ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ” [19]อย่างไม่ผิดเพี้ยน ในขณะที่ ศรีศักร วัลลิโภดมเห็นว่าไม่เคยปรากฏหลักฐานที่แห่งใดว่าการปกครองอาณาเขตของไทยโบราณมีเมืองลูกหลวงเป็นหน้าด่าน 4 เมือง แต่จากหลักฐานพบว่าเมืองลูกหลวงไม่มีกำหนดจำนวนแน่นอน ขึ้นอยู่กับพระราโชบายในส่วนพระมหากษัตริย์ที่จะส่งเจ้านายไปปกครองหัวเมืองใหญ่ๆ เป็นเมืองลูกหลวง โดยเห็นว่าเมืองใดจะเป็นเมืองลูกหลวงได้นั้นจะต้องเป็นเมืองใหญ่ มีปราการล้อมรอบ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการป้องกันข้าศึกศัตรู เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและคมนาคมของท้องถิ่น และมีอำนาจในการปกครองตนเองอย่างอิสระ[20]
ระยะเวลาสิ้นสุดของระบบเมืองลูกหลวง
จากการศึกษาระบบการปกครองของอยุธยาของมานพ ถาวรวัฒน์สกุล เห็นว่าระบบเมืองลูกหลวงจะใช้กันอยู่จนถึงหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2112 ไม่นานจึงถูกเลิกล้มไป[21]ขณะที่ศรีศักร วัลลิโภดมได้เสนอว่าสถาบันเมืองลูกหลวงเริ่มเสื่อมลงตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ประกาศใช้กฎหมายปกครองหัวเมืองใหม่เป็นหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา แต่ยังไม่สิ้นสุดในเชิงปฏิบัติ สถาบันเมืองลูกหลวงมาสลายตัวไปอย่างแท้จริงเมื่อสิ้นสุดรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา พ.ศ. 2133 เพราะไม่ปรากฏว่ามีการแต่งตั้งเจ้านายไปปกครองเมืองพิษณุโลกอีก รัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรกลับสถาปนาระบบวังหน้าขึ้นในราชธานี นั่นคือการสร้างพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเอกาทศรถในตำแหน่งวังหน้าหรือสถาปนากรมพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นแทนสถาบันลูกหลวง[22]
บรรณานุกรม
ควอริช เวลส์. การปกครองและการบริหารของไทยสมัยโบราณ. แปลโดย กาญจนี ละอองศรีและยุพา ชุมจันทร์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์และไทยวัฒนาพานิช. 2527.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. “ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ.” ใน ประชุมพระนิพนธ์ สรรพความรู้. กรุงเทพฯ: ศยาม, 2555.
นิธิ เอียวศรีวงศ์ (บรรณาธิการ). ศรีรามเทพนคร': รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2527.
มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. ขุนนางอยุธยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547.
มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. “การกำหนดอายุกฎหมายอยุธยาในกฎหมายตราสามดวง.” วินัย พงศ์ศรีเพียร, บรรณาธิการ. ความยอกย้อนของอดีต': พิพิธพนธ์เชิดชูเกียรติพลตรีหม่อมราชวงศ์ศุภวัฒน์ เกษมศรี. กรุงเทพฯ: ครรลองไทยลำดับที่ 1, 2537.
ราชบัณฑิตยสถาน. กฎหมายตราสามดวง ราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 1- 2. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550.
วินัย พงศ์ศรีเพียร. “การปกครองหัวเมืองของไทยสมัยอยุธยาตอนปลาย: ศึกษาจากพระราชกำหนดเก่า จุลศักราช 1089 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ.” วารสารราชบัณฑิต. ปีที่ 30 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม), 2548: 114-129.
ศรีศักร วัลลิโภดม, “เมืองลูกหลวงกับการปกครองไทยโบราณ,” ใน ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย, กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2524.
[1] วินัย พงศ์ศรีเพียร. “การปกครองหัวเมืองของไทยสมัยอยุธยาตอนปลาย: ศึกษาจากพระราชกำหนดเก่า จุลศักราช 1089 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ”,วารสารราชบัณฑิต. ปีที่ 30 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม), 2548, หน้า 116 .
[2] วินัย พงศ์ศรีเพียร. “การปกครองหัวเมืองของไทยสมัยอยุธยาตอนปลาย: ศึกษาจากพระราชกำหนดเก่า จุลศักราช 1089 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ”,วารสารราชบัณฑิต. ปีที่ 30 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม), 2548, หน้า 116
[3] ราชบัณฑิตยสถาน, กฎหมายตราสามดวง ราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 2, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 178-179.
[4] ราชบัณฑิตยสถาน, กฎหมายตราสามดวง ราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 2, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 178.
[5] มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. “การกำหนดอายุกฎหมายอยุธยาในกฎหมายตราสามดวง,” วินัย พงศ์ศรีเพียร, บรรณาธิการ. ความยอกย้อนของอดีต': พิพิธพนธ์เชิดชูเกียรติพลตรีหม่อมราชวงศ์ศุภวัฒน์ เกษมศรี. กรุงเทพฯ: ครรลองไทยลำดับที่ 1, 2537. หน้า 219.
[6] วินัย พงศ์ศรีเพียร. “การปกครองหัวเมืองของไทยสมัยอยุธยาตอนปลาย: ศึกษาจากพระราชกำหนดเก่า จุลศักราช 1089 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ”,วารสารราชบัณฑิต. ปีที่ 30 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม), 2548, หน้า 116.
[7] ราชบัณฑิตยสถาน, กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, เล่ม 1, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 1145.
[8] ราชบัณฑิตยสถาน, กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, เล่ม 1, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 1145.
[9] ราชบัณฑิตยสถาน, กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, เล่ม 1, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 1145-6.
[10] ราชบัณฑิตยสถาน, กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, เล่ม 1, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 1146.
[11] ราชบัณฑิตยสถาน, กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, เล่ม 1, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 1146.
[12] ราชบัณฑิตยสถาน, กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, เล่ม 1, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 1147.
[13] ราชบัณฑิตยสถาน, กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, เล่ม 1, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 1147.
[14] ราชบัณฑิตยสถาน, กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, เล่ม 1, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 1147.
[15] ราชบัณฑิตยสถาน, กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, เล่ม 1, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 1147.
[16] สมเด็จกรมพระยา ดำรงราชานุภาพ , หน้า 62-3.
[17] นิธิ เอียวศรีวงศ์ (บรรณาธิการ). ศรีรามเทพนคร': รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2527, หน้า 72-73.
[18] ควอริช เวลส์. การปกครองและการบริหารของไทยสมัยโบราณ. แปลโดย กาญจนี ละอองศรีและยุพา ชุมจันทร์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์และไทยวัฒนาพานิช. 2527, หน้า 86.
[19] ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. “ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ.” ใน ประชุมพระนิพนธ์ สรรพความรู้. กรุงเทพฯ: ศยาม, 2555, หน้า 62.
[20] ศรีศักร วัลลิโภดม, “เมืองลูกหลวงกับการปกครองไทยโบราณ,” ใน ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย, กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2524, หน้า 69.
[21] มานพ ถาวรวัฒน์สกุล. ขุนนางอยุธยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547, หน้า 72.
[22] ศรีศักร วัลลิโภดม, “เมืองลูกหลวงกับการปกครองไทยโบราณ,” ใน ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย, กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2524, หน้า 78.