สโมสรคณะราษฎร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:11, 7 ธันวาคม 2560 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " เรียบเรียงโดย : ปกรณ์เกียรติ ดีโรจนวานิช ผู้ทรงคุณวุฒ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

เรียบเรียงโดย : ปกรณ์เกียรติ ดีโรจนวานิช

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต



สโมสรคณะราษฎร

          ภายหลังความวุ่นวายทางการเมืองไทยช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ถูกโจมตีอย่างหนักจากขุนนางเก่าและรัฐสภาในเรื่องการเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวในไทย แม้ว่าผู้นำฝ่ายพลเรือนอย่างนายปรีดี พนมยงค์จะสนับสนุนให้มีพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งพรรค แต่ก็ถูกคัดค้านจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเรื่องการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยทรงเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาอันสมควรทำให้ขุนนางเก่าและผู้แทนฯ คนอื่น ต้องการให้ยุบเลิกสมาคมคณะราษฎรที่ดำเนินกิจการเสมือนพรรคการเมืองลงเสีย และในการรัฐประหารของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็ได้มีการออกพระราชบัญญัติการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และประกาศห้ามจัดตั้งสมาคมการเมือง[1] อันเป็นเหตุให้สมาคมคณะราษฎรต้องยุบตัวลงและผันแปรสมาคมมาเป็นสโมสรที่ไม่มีจุดประสงค์ทางการเมืองแทน

 

รูปแบบสโมสรคณะราษฎรและจุดประสงค์สโมสรคณะราษฎร

          เมื่อมีการประกาศห้ามจัดตั้งสมาคมการเมืองในรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงเป็นเหตุให้สมาคมคณะราษฎรต้องยุติบทบาททางการเมืองลงและได้แปรเปลี่ยนไปเป็นเพียงสโมสร ซึ่งสโมสรคณะราษฎรนี้ไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองแต่อย่างใด มีแต่เพียงวัตถุประสงค์ในการ “ช่วยเหลือส่งเสริมการกุศล บำรุงการศึกษา และรักษาสามัคคีธรรม”[2] เท่านั้นไม่ได้มีสภาพเป็นสมาคมการเมืองเหมือนอย่างแต่เดิม อย่างไรก็ดีสโมสรคณะราษฎรยังคงตั้งสำนักงานอยู่ที่พระราชอุทยานสราญรมย์[3]

          รูปแบบของสโมสรคณะราษฎรนั้นมีการรับสมาชิกที่มีการคัดกรองมากขึ้น และสมาชิกแต่ละคนจะต้องเสียค่าบำรุงสมาชิกให้กับสโมสรด้วยดังนี้

          “ข้อ 5 สมาชิกของสโมสรได้แก่บุคคลใด ๆ ซึ่งมีสมาชิก 2 คนลงนามรับรองใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกตามข้อ 8 และกรรมการอำนวยการได้ยอมรับเข้าเป็นสมาชิก ทั้งผู้นั้นได้ชำระค่าเข้าเป็นสมาชิกแล้ว

          ข้อ 6 สมาชิกเข้าใหม่จักต้องเสียค่าเข้าเป็นสมาชิก 5 บาทและนอกจากนั้นสมาชิกจะต้องเสียค่าบำรุงเดือนละ 1 บาท หรือถ้าจะเสียเป็นรายปีต้องชำระให้เสร็จภายในเดือนที่หนึ่งของปี คิดปีละ 10 บาท สมาชิกตลอดชีพเสียค่าบำรุงครั้งเดียว 100 บาท ส่วนแผนกกีฬาต่าง ๆ สมาชิกผู้เล่นต้องเสียค่าบำรุงตามระเบียบของแผนกนั้น ๆ ได้กำหนดไว้ทั่วกัน อนึ่งสตรีให้เสียแต่ค่าบำรุงปีละ 3 บาท

          ข้อ 7 ผู้ใดสมัครเป็นสมาชิก ให้ยื่นใบสมัครบอกชื่อ ที่อยู่ และอาชีพของผู้สมัคร พร้อมด้วยชื่อผู้นำและผู้รับรองลงประกาศแจ้งความไว้ ณ ที่สโมสรสถานโดยเปิดเผย ให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน

          ข้อ 8 เมื่อเลขาธิการได้นำชื่อผู้สมัครลงประกาศแจ้งความตามข้อ 7 นั้นแล้ว ผู้สมัครจะมาใช้สโมสรสถานและซื้อสิ่งของก็ได้ ผู้นำและผู้รับรองต้องรับผิดชอบในการที่ผู้สมัครเข้ามาในสโมสรตลอดเวลา ก่อนที่กรรมการอำนวยการจะได้เลือกรับ หรือถ้าหากภายหลังผู้นั้นไม่ได้ถูกเลือกรับ

          ข้อ 9 การที่จะอนุญาตให้ผู้ใดเข้าเป็นสมาชิกได้นั้น ให้เป็นหน้าที่ของกรรมการอำนวยการ 3 คน อนุญาตได้ทีเดียว ในเมื่อไม่มีสมาชิกผู้ใดคัดค้านภายหลังที่ได้ประกาศแจ้งความตามข้อ 7 นั้นแล้ว

          ข้อ 10 เมื่อกรรมการอำนวยการได้เลือกรับสมาชิกเข้าใหม่แล้ว ให้เลขาธิการแจ้งความไปให้ผู้นั้นทราบโดยเร็ว และให้สมาชิกผู้จะต้องชำระค่าเข้าเป็นสมาชิก ชำระเงินค่าเข้าเป็นสมาชิกภายในกำหนด 15 วัน ถ้าผู้นั้นไม่ชำระเงินค่าเข้าเป็นสมาชิกภายในกำหนดนี้แล้ว ให้ถือว่าการรับสมาชิกนั้นยังใช้ไม่ได้[4]

          ทั้งนี้สโมสรคณะราษฎรไม่ได้เป็นสโมสรการเมืองอีกต่อไป ฉะนั้นกิจกรรมของสมาชิกสโมสรคณะราษฎรจึงเป็นแค่การพบปะสังสรรค์หรือเพียงการละเล่นกีฬาเท่านั้น ไม่ได้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเหมือนเช่นตอนที่เป็นสมาคมคณะราษฎรอย่างแต่เดิม

          อย่างไรก็ดีกิจการต่าง ๆ ของสโมสรคณะราษฎรจะดำเนินภายใต้สมาชิกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการรับเลือกจากสมาชิกในสโมสรให้ดำรงตำแหน่งนายก อุปนายก เลขาธิการ เหรัญญิก และกรรมการอื่น ๆ อีก[5] โดยกรรมการเหล่านี้จะมาจากการที่สมาชิกภายในสโมสรลงคะแนนเลือกกันขึ้นในที่ประชุมใหญ่ประจำทุกระยะ 1 ปี[6] โดยทั้งหมดเรียกว่ากรรมการอำนวยการมีทั้งหมด 15 คนมีหน้าที่ในการออกระเบียบการใช้สโมสรจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในสโมสรทั้งกีฬาในร่ม กีฬากลางแจ้งหรือการบันเทิงต่าง ๆ [7]

          สโมสรคณะราษฎรจึงถือได้ว่าเป็นเพียงสโมสรสังคมทั่วไปสโมสรหนึ่งที่จัดกิจกรรมงานการกุศล งานบันเทิง และการกีฬา ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานการเมืองดังเช่นตอนเป็นสมาคมคณะราษฎร ถือได้ว่าการประกาศห้ามจัดตั้งสมาคมการเมืองของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้คณะราษฎรอ่อนแอลงอย่างมาก จากที่เคยมีสมาชิกในสมาคมราว 60,000[8] คนที่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ กลับกลายเป็นเพียงสโมสรสังคมธรรมดาที่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่อย่างใด

บรรณานุกรม

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์.  ปฏิวัติ 2475.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ:           มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์. 2552. 

ข้อบังคับสโมสรคณะราษฎร.  พระนคร: กรุงเทพบรรณาคาร, 2477.

อ้างอิง

[1] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์.  ปฏิวัติ 2475,  2552.   หน้า 494.

[2] ข้อบังคับสโมสรคณะราษฎร.  2477.  หน้า 1.

[3] แหล่งเดิม หน้า1.

[4] แหล่งเดิม หน้า 2 – 5.

[5] แหล่งเดิม หน้า 7.

[6] แหล่งเดิม หน้า 7.

[7] แหล่งเดิม หน้า 9.

[8] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ปฏิวัติ 2475,  2552.   หน้า 300.