ดิเรก ชัยนาม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:42, 6 ธันวาคม 2560 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ผู...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ดิเรก ชัยนาม

          การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 นั้น มีคนกล่าวถึงนายทหารหลายคนที่เข้าร่วมงานเป็นผู้ก่อการฯ แต่ทางฝ่ายพลเรือนได้มีการกล่าวถึงค่อนข้างน้อย ที่จริงหลายคนทางฝ่ายพลเรือนได้มีตำแหน่งและบทบาททางการเมืองที่สำคัญต่อมา บางทีคนเลยไม่ได้นึกว่าท่านเป็นผู้ก่อการฯอยู่กับเขาด้วย ผู้ก่อการฯที่จะขอนำเอาเรื่องของท่านมาคุยในครั้งนี้ คือ นายดิเรก ชัยนาม อดีตนักการทูตผู้เรืองนามของไทย

          นายดิเรก ชัยนาม ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ แม้จะเป็นลูกพระยาก็ตาม บิดาของท่าน คือ พระยาอภัยพิพากษา (เกลื่อน ชัยนาม) มารดาคือคุณหญิงจันทร์ นายดิเรก ชัยนาม เกิดที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2447 ตอนนั้นบิดาของท่านรับราชการอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก ท่านได้แต่งงานกับ ม.ล.ปุ๋ย นพวงศ์ นายดิเรก เป็นผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษดี แม้จะเป็นนักเรียนในประเทศ แต่ท่านได้เรียนในโรงเรียนฝรั่ง คือโรงเรียนอัสสัมชัน บางรัก และต่อมาที่โรงเรียนราชวิทยาลัย จากนั้นได้เข้าเรียนกฎหมายที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม และท่านก็ได้เริ่มทำงานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบกฎหมายที่กระทรวงยุติธรรม คือตั้งแต่ปี 2467 โดยเป็นล่ามกฎหมายของกระทรวงและล่ามประจำศาลคดีต่างประเทศ

          ปี 2475 ตอนที่ท่านเข้าร่วมก่อการฯนั้นท่านมีอายุเพียง 28 ปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ พ.ศ.2475 ท่านได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรก โดยได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว ซึ่งจะทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติ ชุดแรก จำนวน 70 คน และในปี 2476 สมัยที่พระยาศรีวิศาลวาจา ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ก่อการฯเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายดิเรก ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย อีกสองปีต่อมาท่านก็ได้เป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่มีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้ก่อการฯ สายทหาร (เรือ) เป็นเลขาธิการ ปีต่อมาท่านก็ก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการ ถึงปี 2481 ท่านได้ไปดำรงตำแหน่งรักษาการแทนอธิบดีกรมโฆษณาการ คุมงานด้านประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ในช่วงเวลานี้ เมื่อปี 2476 มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี และหลังจากปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ.2476 เป็นต้นมาก็เป็นช่วงเวลาที่นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี

          หลังการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2481 พันเอกหลวงพิบูลสงครามขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในเดือนธันวาคม นายดิเรก ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี (ลอย) โดยไปช่วยราชการที่กระทรวงการคลังที่มี นาย ปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการและยังให้ไปช่วยราชการที่กระทรวงการต่างประเทศที่มี เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เป็นรัฐมนตรีว่าการ จนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2482 เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ท่านขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลสงคราม จึงมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ อีกตำแหน่งหนึ่ง หลวงพิบูลฯจึงได้ให้นายดิเรก มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ งานกระทรวงต่างประเทศในตอนนั้นสำคัญมาก สถานการณ์ในยุโรปค่อนข้างตึงเครียด ในเมืองไทยเองก็มีปัญหาทางด้านอินโดจีนของฝรั่งเศส จนเกิดสงครามอินโดจีนเมื่อตอนต้นปี 2484 หลวงพิบูลสงคราม จึงให้นายดิเรก ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทนในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2484 ท่านจึงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในช่วงเวลาที่สำคัญยิ่ง ด้วยว่ากองทัพญี่ปุ่นได้บุกและขอเดินทัพผ่านประเทศไทย ท่านอดีตรัฐมนตรีวิเชียร วัฒนคุณ ผู้เคยเป็นศิษย์ของท่านฟื้นความจำเอาไว้ว่า

"ท่านอาจารย์ได้รับมอบหมายในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้เป็นผู้ลงนาม ในข้อตกลงระหว่างไทยกับญี่ปุ่น อนุญาตให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศ รัฐบาลไทยจะอำนวยความสะดวกให้ตามความจำเป็น โดยญี่ปุ่นรับจะเคารพเอกราช อธิปไตย และเกียรติยศของไทย"

          จากนี้ไม่นานนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลฯก็ให้นาย ดิเรก พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ไปเป็นอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คือในเดือนมกราคมปี 2485 จนถึงเดือนกรกฎาคม ปี 2486 หลวงพิบูลฯนายกรัฐมนตรี จึงเอาตัวท่านกลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้ง อดีตรัฐมนตรี วิเชียร วัฒนคุณ เป็นนักการทูตเก่าเล่าว่า

" ในช่วงนี้เองที่ท่านอาจารย์ดิเรกได้ร่วมขบวนการเสรีไทย ซึ่งมีท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้นเป็นหัวหน้า ในตอนท้ายๆของสงคราม ความร่วมมือระหว่างขบวนการเสรีไทยกับกองบัญชาการทหารสัมพันธมิตรก็ได้เพิ่มทวีขึ้น"

          นายดิเรก ชัยนาม เป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามต่อมาจนกระทั่งหลวงพิบูลฯลาออก และนายควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมา และนายดิเรก ก็ว่างเว้นจากการเป็นรัฐมนตรี แต่ไม่ได้ว่างเว้นจากการทำงานให้บ้านเมือง เพราะท่านได้รับมอบหมายจากหัวหน้าขบวนการเสรีไทย นายปรีดี พนมยงค์ ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เดินทางไปที่เมืองแคนดี ศรีลังกา ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2488 เพื่อเจรจากับทางอังกฤษ ซึ่งเป็นงานที่ยาก แม้ฝ่ายทหารอังกฤษจะค่อนข้างพอใจที่ขบวนการเสรีไทยได้ร่วมมือกับทางอังกฤษก็ตาม "แต่ด้านการเมืองอังกฤษยังไม่ลืมพฤติกรรมต่างๆของไทยในช่วงต้นสงครามแปซิฟิค ซึ่งแสดงออกในลักษณะเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมในขณะที่อังกฤษกำลังจะเพลี้ยงพล้ำ"

          ครั้นเมื่อไทยประกาศสันติภาพแล้ว นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี รัฐบาลใหม่ได้ นาย ทวี บุณยเกตุมาเป็นนายกรัฐมนตรี นายดิเรก จึงกลับมาเป็นรัฐมนตรีอีกโดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงยุติธรรม

          หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนที่มองหาคนจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต่อจากนายควง อภัยวงศ์ นั้น เล่ากันว่าฝ่ายเสรีไทยและฝ่ายการเมืองเคยอยากให้นายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี แต่นายดิเรกเองเสนอให้เชิญชวนหัวหน้าเสรีไทยสายอเมริกามาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็น่าจะมีเหตุผล เพราะรัฐบาลไทยชุดหลังสงครามจะต้องเจรจาความเมืองกับฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นอย่างมากและสหรัฐอเมริกาคือ "พี่เบิ้ม" ของฝ่ายสัมพันธมิตรในตอนนั้น  เมื่อ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตอนปลายปี 2488 นายดิเรก ได้เข้าร่วมรัฐบาล มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายดิเรก มาเว้นว่างจากตำแหน่งอีกครั้งก็เมื่อนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ยุบสภา ทำให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 1 ใหม่ และมีรัฐบาลใหม่ ของนายควง อภัยวงศ์ และนายกรัฐมนตรี ควง อภัยวงศ์ ได้เลือกเอาพระยาศรีวิศาลวาจา อดีตรัฐมนตรีชุดแรกของพระยามโนปกรณ์นิติธาดามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอนนั้นนายควง อภัยวงศ์ ดูจะเริ่มแยกทางทางการเมืองกับกลุ่มการเมืองที่สนับสนุน นายปรีดี พนมยงค์ และผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว

          ครั้นเมื่อรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ แพ้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับร่างกฎหมายติดป้ายราคาสินค้า และนายปรีดี พนมยงค์ ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี นายดิเรก ชัยนาม จึงได้กลับเข้ามาร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2489 มีพฤฒสภาขึ้นเป็นสภาสูง ยกเลิกการมีสมาชิกประเภทที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการแต่งตั้ง นายดิเรก ชัยนาม ก็ได้เป็นสมาชิกพฤฒสภาชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของประชาชน ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2489 โดยชุดแรกนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ทำหน้าที่เลือก  ต่อมานายปรีดี พนมยงค์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี และพลเรือตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน ในรัฐบาลใหม่นี้นายดิเรก ชัยนาม ได้เข้าดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง แต่นายดิเรก ก็ไม่ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจนถึงวันที่คณะรัฐประหารเข้ายึดอำนาจ ล้มรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 เพราะก่อนหน้านั้นไม่นานท่านเปลี่ยนตำแหน่งไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำราชสำนักเซนต์เจม ที่กรุงลอนดอน เมื่อมีการรัฐประหาร และเปลี่ยนแปลงรัฐบาล นายดิเรก ชัยนาม จึงขอพ้นจากตำแหน่งเอกอัครราชทูตและเดินทางกลับประเทศไทย หลังมีรัฐบาลใหม่ ในปี 2491 มามีชีวิตอยู่นอกการเมืองขณะที่มีอายุประมาณ 44 ปีเท่านั้นเอง

          ว่างเว้นห่างไกลการเมือง นายดิเรก ชัยนาม ก็เข้ามาทำงานด้านการศึกษาที่สำคัญ คือเป็นผู้ตั้งคณะรัฐศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2492 ดังคำบอกเล่าของนายดิเรก เองว่า

" ข้าพเจ้าได้รับเชิญจากนายกคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย(พลเอก มังกร พรหมโยธี) คณบดีมหาวิทยาลัย (ศาสตราจารย์ ดร.เดือน บุนนาค) และเลขาธิการมหาวิทยาลัย (อาจารย์ วิจิตร ลุลิตานนท์). ในคณะนั้นให้ไปพบ นายกคณะกรรมการได้แจ้งกับข้าพเจ้าว่า คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยได้ลงมติให้ปรับปรุงหลักสูตรของมหาวิยาลัยเสียใหม่ และจะให้ก่อตั้งคณะรัฐศาสตร์ขึ้น"

          ตอนนั้นท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบภัยการเมืองอยู่ต่างประเทศ นายดิเรก ชัยนาม ได้ก่อตั้งคณะรัฐศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สำเร็จ และท่านก็ได้เป็นคณบดีคนแรกของคณะรัฐศาสตร์อยู่เป็นเวลา 4 ปี เชาวน์ สายเชื้อ อดีตเอกอัครราชทูต ผู้เป็นศิษย์รัฐศาสตร์รุ่นหนึ่งเขียนถึงอาจารย์ตอนหนึ่งว่า

"ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสพบท่าน ไม่ว่าจะเป็นที่มหาวิทยาลัย หรือที่บ้าน ท่านจะให้คำแนะนำสั่งสอนอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเสมอ ท่านเป็นยอดอาจารย์แท้ "

          อันที่จริงเมื่อแรกเปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง นายดิเรก ชัยนาม ได้เป็น "ผู้บรรยายคนแรกๆของวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ" ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ท่านได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2497 และได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศให้ไปเป็นผู้บรรยายพิเศษ

          การเมืองเคยมาล้อเล่นให้หวาดเสียวมากอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อเกิดปฏิบัติการยึดอำนาจและล้มรัฐบาลที่เรียกว่า "กบฏวังหลวง" เพราะฝ่ายกบฏประกาศตั้งท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ดีว่าเมื่อการกบฏผ่านไปรัฐบาลเข้าใจว่าท่านไม่ได้เกี่ยวข้อง

          ถึงปี 2502 หลังจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ นายดิเรก ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วยคนหนึ่ง แต่ท่านก็เป็นอยู่ไม่นาน ท่านเลือกกลับไปมีชีวิตทางการทูตใหม่อีกครั้งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเยอรมันตั้งแต่ตอนปลายปี 2502 และได้เป็นอยู่จนเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ.2508 นายดิเรก หรืออาจารย์ดิเรกของศิษย์ทั้งหลาย ได้ใช้ชีวิตช่วงหลังนี้เขียนงานทางด้านวิชาการออกมาเผยแพร่ แต่ก็น่าเสียดายที่ท่านทำได้ในเวลาอันสั้น เพราะโรคาพยาธิทำให้ท่านถึงแก่อนิจกรรมไปขณะที่มีอายุ 63 ปี ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2510 ฝากชื่อไว้ในแผ่นดิน ดังที่กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ได้เขียนถึงท่านว่า "เป็นนักเสรีนิยมอย่างยิ่งผู้หนึ่ง...มิได้รักเสรีภาพสำหรับตัวท่านเอง แต่อยากให้ผู้อื่นได้รับและได้รักเสรีภาพด้วย"