ปิ่น มาลากุล

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:48, 1 ธันวาคม 2560 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ ผู้ทรงคุณว...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร


ปิ่น มาลากุล

          หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นนักการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาของประเทศไทย โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อํานวยการคนแรกของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  จัดทําโครงการปรับปรุงและขยายมหาวิทยาลัยศิลปากรไปสู่ภูมิภาคโดยก่อตั้ง วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ของมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม[1]

 

ประวัติ'[2]'

          หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลเกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2446 เป็นบุตรของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล)  อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการและท่านผู้หญิงเสงี่ยม

          เริ่มการศึกษาที่บ้านโดยบิดาจัดให้เรียนกับพระยาอนุศาสตร์พาณิชยการ (แฉล้ม คุปตารักษ์) พระยาพาณิชย์ศาสตร์วิธาน (อู๋ พรรธนแพทย์) และหลวงไวทเยศ (หม่อมหลวงเชื้อ อิศรางกูร) จนมีอายุได้ 7 ขวบจึงเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาพิเศษที่โรงเรียนราชบูรณะ (ต่อมาโรงเรียนได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย) เมื่ออายุได้ 8 ขวบบิดาได้นำหม่อมหลวงปิ่นเข้าเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระที่นั่งอัมพรสถานในพระราชวังดุสิตในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2454  ต่อมาหม่อมหลวงปิ่นได้ย้ายจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยไปเข้าโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบันคือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2457 หลังจากเรียนได้ครึ่งปีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นนักเรียนมหาดเล็กรับใช้ ทำให้หม่อมหลวงปิ่นได้เรียนรู้ขนบประเพณีต่างๆของพระราชสำนักและได้เป็นนักเรียนเสือป่า

          ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษโดยทุนของกระทรวงธรรมการ พ.ศ.2464 ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม ทางภาษาสันสกฤต (B.A. Honours) จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขาวิชาโบราณตะวันออก (ภาษาบาลี-สันสกฤต) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และปริญญาโท ทางอักษรศาสตร์ (M.A.) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

 

เหตุการณ์สำคัญ

          หม่อมหลวงปิ่นเริ่มรับราชการเป็นอาจารย์ประจำกองแบบเรียน กรมวิชชาการ กระทรวงธรรมการ ในพ.ศ.2474[3] ขณะเดียวกันได้เป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสอนภาษาไทยให้แก่นิสิตคณะอักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ สอนภาษาอังกฤษให้กับนิสิตเตรียมแพทยศาสตร์ และคณิตศาสตร์ให้กับนิสิตคณะอักษรศาสตร์[4] ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่ง เป็นหัวหน้าแผนกฝึกหัดครู คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมหอวังซึ่งเป็นโรงเรียนสาธิตแห่งแรกเพื่อให้นิสิตฝึกหัดครูสอน[5]

          พ.ศ.2480 หม่อมหลวงปิ่นได้รับมอบหมายจากจอมพล ป.พิบูลสงครามซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้จัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาซึ่งเป็นโรงเรียนสหศึกษาแห่งแรกโดยการยุบรวมโรงเรียนมัธยมหอวังและท่านได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นท่านแรกระหว่างพ.ศ.2480-2487[6]

          เมื่ออายุได้ 39 ปีหม่อมหลวงปิ่นได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษาและพ.ศ.2489 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการขณะที่มีอายุได้ 43 ปี ผลงานที่มีความสำคัญต่อการศึกษาไทยคือท่านได้ตั้งกรมวิชาการขึ้นในพ.ศ.2495และกรมการฝึกหัดครูในพ.ศ.2497[7]

          หม่อมหลวงปิ่นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวงการศึกษา ระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ผลักดันให้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงขึ้นในพ.ศ.2492 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษาในพ.ศ.2497  เพื่อให้สามารถเปิดการเรียนการสอนครอบคลุมทั้งในระดับบัณฑิต มหาบัณฑิต โดยหม่อมหลวงปิ่นได้รักษาการในตำแหน่งอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษาระหว่างพ.ศ.2497-2499[8] วิทยาลัยนี้ต่อมาได้พัฒนากลายเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและเปิดการเรียนการสอนถึงระดับดุษฎีบัณฑิต

          ในฐานะปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หม่อมหลวงปิ่นยังได้เป็นผู้แทนประเทศไทยในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ (UNESCO) ในพ.ศ.2491[9]

          ภายหลังการรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ.2500 หม่อมหลวงปิ่นได้รับการทาบทามจากนายพจน์ สารสินให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โดยหม่อมหลวงปิ่นได้บันทึกเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า “ถามคุณพจน์ว่าทำไมจึงเชิญผม ได้รับคำตอบว่า คุณปิ่นเป็นผู้ที่มีคนนับถือและเชื่อถือมากรวมทั้งชาวต่างประเทศด้วย”[10] โดยหม่อมหลวงปิ่นได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อเนื่องระหว่างพ.ศ.2500-2512 รวมระยะเวลา 12 ปี

          ในระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีได้ขอให้หม่อมหลวงปิ่นดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่า “กรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่ในสถานที่เดียวกันแต่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันเสมอถ้าตั้งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเป็นอธิการบดีเสียด้วยเรื่องเช่นนั้นก็จะหมดไป”[11] หม่อมหลวงปิ่นจึงดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรระหว่างพ.ศ.2508-2514 และได้นำความคิดจัดมหาวิทยาลัยในระบบออกซฟอร์ดมาใช้ จึงมีดำริที่จะขยายตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ไปตั้งวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ โดยท่านให้เหตุผลว่า “ควรขอใช้พระราชวังสนามจันทร์ที่นครปฐม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยโปรดจะให้เป็นสถานศึกษา”[12] โดยที่วิทยาเขตแห่งนี้ได้จัดตั้งคณะอักษรศาสตร์ในพ.ศ. 2511 และคณะศึกษาศาสตร์ใน พ.ศ. 2513

 

ผลงานอื่นๆ

          หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้มีผลงานที่ตีพิมพ์เป็นเล่มเผยแพร่รวม 207 เรื่อง แบ่งออกเป็น 5 หมวด คือ หมวดการศึกษา 57 เรื่อง หมวดบทละคร 58 เรื่อง หมวดคําประพันธ์32 เรื่อง หมวดการท่องเที่ยว 8 เรื่อง หมวดเบ็ดเตล็ด 52เรื่อง ในจํานวนนี้ ที่สําคัญ ได้แก่ศึกษาภาษิต 109 บท คําประพันธ์บางเรื่อง 200 เรื่อง บทเพลง 24 เพลง บทนิราศ 8 เรื่อง และบทละคร 58 เรื่อง[13] ท่านได้รับการประกาศให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ใน พ.ศ.2530

          หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2538 สิริอายุได้ 91 ปี 11 เดือน 11 วัน

 

หนังสือแนะนำ

ปิ่น มาลากุล, (2549), อัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล',' กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เทพนิมิตการพิมพ์.

 

บรรณานุกรม

ปิ่น มาลากุล, อัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล',' (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เทพนิมิตการพิมพ์,2549),

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม,หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ประจําปีพุทธศักราช 2530, เข้าถึงจาก dhttp://www.culture.go.th/subculture3/images/M_images/mom%20luang%20pin%20 malakul.pdf) .

อ้างอิง

[1] กรมส่งเสริมวัฒนธรรม,หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ประจําปีพุทธศักราช 2530, เข้าถึงจาก dhttp://www.culture.go.th/subculture3/images/M_images/mom%20luang%20pin%20 malakul.pdf) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559.

[2] ปิ่น มาลากุล, อัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล',' (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เทพนิมิตการพิมพ์,2549), หน้า 3-8

[3] ปิ่น มาลากุล, อัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล',' (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เทพนิมิตการพิมพ์,2549), หน้า 121

[4] ปิ่น มาลากุล, อัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล',' (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เทพนิมิตการพิมพ์,2549), หน้า 123

[5] ปิ่น มาลากุล, อัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล',' (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เทพนิมิตการพิมพ์,2549), หน้า 128

[6] ปิ่น มาลากุล, อัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล',' (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เทพนิมิตการพิมพ์,2549), หน้า 129

[7] ปิ่น มาลากุล, อัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล',' (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เทพนิมิตการพิมพ์,2549), หน้า 137

[8] ปิ่น มาลากุล, อัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล',' (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เทพนิมิตการพิมพ์,2549), หน้า 137

[9] ปิ่น มาลากุล, อัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล',' (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เทพนิมิตการพิมพ์,2549), หน้า 140

[10] ปิ่น มาลากุล, อัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล',' (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เทพนิมิตการพิมพ์,2549), หน้า 167

[11] ปิ่น มาลากุล, อัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล',' (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เทพนิมิตการพิมพ์,2549), หน้า 171

[12] ปิ่น มาลากุล, อัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล',' (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เทพนิมิตการพิมพ์,2549), หน้า 173

[13] กรมส่งเสริมวัฒนธรรม,หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ประจําปีพุทธศักราช 2530, เข้าถึงจาก dhttp://www.culture.go.th/subculture3/images/M_images/mom%20luang%20pin%20 malakul.pdf) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559.