สมาชิกสภาเมืองพัทยา
เรียบเรียงโดย ดร. เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล
บทนำ
เมืองพัทยาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 ในสมัยของรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ เช่น การจัดบริการไฟฟ้า ประปา สร้างถนน ฯลฯ แทนที่สุขาภิบาลนาเกลือที่ถูกยุบเลิกไป ด้วยเหตุที่พัทยาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของไทย แม้จะมีขนาดพื้นที่ไม่มากแต่ก็ทำรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมหาศาลให้กับประเทศ ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้านจำนวนประชากรในพื้นที่ทำให้เมืองพัทยาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงทำให้การปกครองแบบสุขาภิบาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม และทางรัฐบาลต้องการทดลองใช้รูปแบบการบริหารเทศบาลของสหรัฐอเมริกาแบบสภา-ผู้จัดการ (City – Manager) ในพื้นที่ แต่ภายหลังการบริหารงานรูปแบบดังกล่าวได้ประสบปัญหาหลายประการ ดังเช่น ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมือง (สภา) กับฝ่ายบริหารที่ไม่มีความชัดเจนว่าใครกันแน่ คือ ผู้มีอำนาจบริหารเมืองพัทยาที่แท้จริง ระหว่างนายกเมืองพัทยาซึ่งอันที่จริง คือ ประธานสภาเมืองพัทยา กับปลัดเมืองพัทยาซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยา ปัญหาความไม่เหมาะสมของขนาดพื้นที่เมืองพัทยาที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยรูปแบบสภา – ผู้จัดการเมืองซึ่งควรใช้กับพื้นที่ขนาดปานกลางหรือขนาดเล็ก และยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นจากการไม่ใช้รูปแบบสภา – ผู้จัดการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ เพราะสมาชิกสภาเมืองพัทยาประมาณครึ่งหนึ่งจะมาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งแตกต่างไปจากในสหรัฐอเมริกาที่การบริหารงานรูปแบบนี้ สมาชิกสภาจะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมด[1] ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ในที่สุดต้องยุติการใช้รูปแบบการบริหารงานดังกล่าว และเปลี่ยนมาใช้รูปแบบสภา – นายกเทศมนตรี นับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542
อำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยาตามมาตรา 62 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 มีตัวอย่างเช่น การรักษาความสงบเรียบร้อย การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การวางผังเมืองและการควบคุมการก่อสร้าง การจัดการจราจร การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การควบคุมและส่งเสริมกิจการท่องเที่ยว การจัดให้มีการควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ และที่จอดรถ เป็นต้น[2]
ภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติฯ ฉบับ พ.ศ. 2542 ได้มีการแบ่งโครงสร้างการบริหารเมืองพัทยาออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายสภาเมืองพัทยาและฝ่ายนายกเมืองพัทยา ฝ่ายสภาเมืองพัทยาซึ่งมีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมืองพัทยา มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี เพื่อทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ โดยมีประธานสภาจำนวน 1 คนและรองประธานสภาจำนวน 2 คน ซึ่งทั้งหมดมาจากการเลือกกันเองจากสมาชิกสภาเมืองพัทยา และมีปลัดเมืองพัทยาทำหน้าที่เป็นเลขานุการสภา รวมถึงทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสำนักปลัดเมืองพัทยา บังคับบัญชาพนักงานเมืองพัทยาและลูกจ้างเมืองพัทยา และรับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำของเมืองพัทยาตามที่กฎหมายกำหนดหรือนโยบายที่นายกเมืองพัทยามอบหมาย ขณะที่ฝ่ายนายกเมืองพัทยา เป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหาร มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในเขตเมืองพัทยาที่มีสิทธิเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องได้ไม่เกิน 2 วาระ นายกเมืองพัทยามีอำนาจแต่งตั้งรองนายกเมืองพัทยาจำนวนไม่เกิน 4 คน และแต่งตั้งที่ปรึกษาของตนได้โดยตรง นายกเมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ ดังเช่น กำหนดนโยบายและรับผิดชอบในการบริหารราชการของเมืองพัทยาให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบัญญัติ และนโยบาย สั่ง อนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการเมืองพัทยา ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่รัฐบาลหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย หรือตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกเมืองพัทยา[3]
ที่มาของสมาชิกสภาเมืองพัทยา
สมาชิกสภาเมืองพัทยามีการแบ่งออกเป็น 2 ยุค คือ ยุคแรก ภายใต้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 ในยุคนี้สมาชิกสภาเมืองพัทยา มีจำนวนทั้งหมด 17 คน แต่มีที่มาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือ ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีจำนวน 9 คน ประเภทที่สอง คือ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำนวน 8 คน แต่สมาชิกทั้งสองประเภทดังกล่าวจะอยู่ในตำแหน่งระยะเวลา 4 ปีเท่ากัน ยุคที่สอง ภายใต้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 สมาชิกสภาเมืองพัทยาจะมีทั้งหมดจำนวน 24 คนแต่ทุกคนจะมีที่มาเหมือนกันหมด คือ มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมืองพัทยา มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีเท่ากันนับแต่วันเลือกตั้ง ทั้งนี้ โดยทั่วไป สมาชิกภาพของสมาชิกสภาเมืองพัทยาจะสิ้นสุดลงตามอายุของสภาเมืองพัทยาหรือมีการยุบสภาเมืองพัทยา หรืออาจจะมีการสิ้นสุดลงด้วยสาเหตุอื่นๆ ดังเช่น สมาชิกสภาผู้นั้นเสียชีวิต ลาออก ขาดประชุมสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร สภาเมืองพัทยามีมติให้พ้นจากตำแหน่ง ราษฎรเมืองพัทยาลงคะแนนเสียงให้พ้นจากตำแหน่ง เป็นต้น[4]ทั้งนี้จะต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยาทดแทนตำแหน่งที่ว่างลงภายในระยะเวลา 45 วัน เว้นเสียแต่ว่าอายุที่เหลืออยู่ของสภามีไม่ถึง 180 วัน จึงจะไม่ต้องมีการจัดเลือกตั้งดังกล่าว และผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนที่จะมีระยะเวลาเหลือเท่ากับอายุสภาที่เหลืออยู่ ในกรณีที่จำนวนสมาชิกสภามีจำนวนเหลือไม่ถึงครึ่งหนึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยุบสภาเมืองพัทยาก็ได้[5]
ความสำคัญของสมาชิกสภาเมืองพัทยา
ภายใต้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 ซึ่งมีรูปแบบโครงสร้างบริหารแบบสภา-ผู้จัดการ (City Manager) ซึ่งมีเทศบาลหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาใช้อยู่เป็นแบบอย่าง[6]สมาชิกสภาเมืองพัทยาจะมีการเลือกสมาชิกคนหนึ่งในสภา เพื่อทำหน้าที่เป็นทั้งนายกเมืองพัทยาและประธานสภาเมืองพัทยา โดยมีวาระดำรงตำแหน่งครั้งละ 2 ปี และสามารถได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่ได้โดยไม่ต้องเว้นวรรคการดำรงตำแหน่ง นอกจากนี้ สมาชิกสภาเมืองพัทยายังมีอำนาจหน้าที่ ได้แก่ เสนอแผนและลงคะแนนเสียงอนุมัติแผนบริหารจัดการเมืองพัทยา พิจารณาและอนุมัติร่างข้อบัญญัติเมืองพัทยา รวมถึงลงคะแนนเสียงแต่งตั้งบุคคลใดๆ ซึ่งอาจจะเป็นหรือไม่เป็นสมาชิกสภาก็ได้ ให้เป็นคณะกรรมการวิสามัญเพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใดๆ อันเป็นข้อมูลพื้นฐานให้กับสภาเมืองพัทยาทำการตัดสินใจทางการเมือง
ภายใต้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างบริหารมาใช้แบบสภา-นายกเทศมนตรี และใช้รูปแบบนี้มาจนถึงปัจจุบัน จะมีสมาชิกสภาเมืองพัทยาทำหน้าที่ลงคะแนนเสียงเลือกประธานสภา จำนวน 1 คนและลงคะแนนเสียงเลือกรองประธานสภา จำนวน 2 คน เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการประชุมและดำเนินกิจการอื่นๆ[7]และทำหน้าที่ตามกระบวนการนิติบัญญัติดังเช่น การเสนอข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของสภาเมืองพัทยา[8] การเสนอร่างข้อบัญญัติเมืองพัทยาในเรื่องต่างๆที่กฎหมายได้ให้อำนาจเอาไว้ ซึ่งไม่ขัดแย้งกับกฎหมายทั่วไปของประเทศ[9]นอกจากนี้ สมาชิกสภาเมืองพัทยายังมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ดังเช่น การตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับการทำงานในหน้าที่ของนายกเมืองพัทยาการเข้าชื่อเสนอเปิดญัตติอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมเมืองพัทยาเพื่อให้นายกเมืองพัทยามาแถลงเกี่ยวกับการบริหารราชการเมืองพัทยาโดยไม่มีการลงมติ เป็นต้น[10]
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการเข้าดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาเมืองพัทยา
สมาชิกสภาเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 มีจำนวนทั้งสิ้น 17 คน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จำนวน 9 คน และสมาชิกเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำนวน 8 คน โดยสมาชิกทั้งสองประเภทดังกล่าวจะมีวาระการดำรงตำแหน่งเหมือนกัน คือ คราวละ 4 ปี[11]
การจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยา ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา ได้มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งในแง่สัญชาติ จากเดิมในพระราชบัญญัติฯ ฉบับปี พ.ศ. 2521 ที่เปิดโอกาสให้บุคคลสัญชาติไทย แต่มีบิดาเป็นต่างชาติสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เพียงแต่ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ดังเช่น สอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าระดับการศึกษาภาคบังคับ ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น รับหรือเคยรับราชการทหารไทย เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติในรัฐสภาหรือในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือส่วนภูมิภาค บุคคลผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งหรือคู่สมรสเสียหรือเคยเสียภาษีให้ท้องถิ่น มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่าสิบปี เป็นต้น[12] และยังต้องมีคุณสมบัติอื่นเพิ่มเติมควบคู่กันประการใดประการหนึ่ง ดังเช่น เคยเข้าเรียนในสถานศึกษาในประเทศไทยและมีความรู้ที่ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง ในระดับไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า หรือได้เข้าศึกษาจนสำเร็จการศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาขั้นสูงในประเทศไทยระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า[13]เป็นต้น กลายเป็นการบัญญัติคุณสมบัติในพระราชบัญญัติฯ ฉบับปี พ.ศ. 2542 ว่าผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งจะต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิดเท่านั้น[14]ในขณะที่คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในแง่ของอายุและภูมิลำเนายังคงมีเกณฑ์เช่นเดิม กล่าวคือ จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง[15]และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเมืองพัทยาเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็นผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเมืองพัทยาในวันสมัครรับเลือกตั้งและได้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ให้เมืองพัทยาในปีที่สมัครหรือในปีก่อนปีที่สมัครหนึ่งปี[16]
บรรณานุกรม
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และคณะ.ทิศทางการปกครองท้องถิ่นของไทยและต่างประเทศเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2546.
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542
สมคิด เลิศไพฑูรย์. สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย หมวด พัฒนาการและรูปแบบการปกครองท้องถิ่นไทย เมืองพัทยาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอื่นๆ. นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า, 2547.
[1] สมคิด เลิศไพฑูรย์, สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย หมวด พัฒนาการและรูปแบบการปกครองท้องถิ่นไทย เมืองพัทยาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอื่นๆ, (นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า, 2547), หน้า 20-21.
[2] เพิ่งอ้าง, หน้า 25.
[3] เพิ่งอ้าง, หน้า 22-23.
[4] ดูเพิ่มเติมใน มาตรา 19 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542
[5] ดูเพิ่มเติมใน มาตรา 20 และ 21 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542
[6] สมคิด เลิศไพฑูรย์, สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย หมวด พัฒนาการและรูปแบบการปกครองท้องถิ่นไทย เมืองพัทยาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอื่นๆ, หน้า 13-14.
[7] ดูมาตรา 26 และ 27 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542
[8] ดูมาตรา 39 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542
[9] ดูมาตรา 70 และ 71 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542
[10] ดูมาตรา 36 และ 37 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542
[11] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และคณะ,ทิศทางการปกครองท้องถิ่นของไทยและต่างประเทศเปรียบเทียบ (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2546), หน้า 27.
[12] มาตรา 12 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2523
[13] เกณฑ์เรื่องระดับการศึกษาในมาตรา 15 ดังกล่าวได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฯ พ.ศ. 2523
[14] มาตรา 12 (1) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542
[15] มาตรา 12 (2) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 และ พ.ศ. 2542
[16] มาตรา 12 (3) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 และ พ.ศ. 2542