รายได้ที่ท้องถิ่นจัดหาเอง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:47, 1 สิงหาคม 2560 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''เรียบเรียงโดย'''  อาจารย์ ดร.วศิน โกมุท '''ผู้ทรงคุณวุฒ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

เรียบเรียงโดย  อาจารย์ ดร.วศิน โกมุท

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


บทนำ

รายได้ท้องถิ่นมีความสำคัญต่อการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้ในการจัดบริการสาธารณะ  โดยสามารถจำแนกได้เป็นรายได้ที่ท้องถิ่นจัดหาเอง  รายได้ที่รัฐจัดเก็บและแบ่งให้ และรายได้ที่รัฐจัดเก็บให้  โดยความสำคัญของรายได้ที่ท้องถิ่นจัดหาเองส่งเสริมหลักการพึ่งตนเองทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหลักอิสระทางการคลัง โดยในที่นี้จะอธิบายความหมายรายได้ที่ท้องถิ่นจัดหาเอง  รายได้จากภาษีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาเองตามกฎหมายกำหนดที่สำคัญ  รายได้จัดหาเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท และภาพรวมรายได้จัดหาเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

ความหมายรายได้ที่ท้องถิ่นจัดหาเอง  

รายได้ที่ท้องถิ่นจัดหาเอง  หมายถึง  รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดเก็บ จากรายได้ภาษีอากร และที่ไม่ใช่ภาษีอากรภายใต้กฎหมายที่กำหนด[1] โดยรายได้จากภาษีที่ท้องถิ่นจัดเก็บเองได้แก่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย และอากรฆ่าสัตว์  ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ภาษี ได้แก่ รายได้จากค่าธรรมเนียม รายได้จากทรัพย์สิน และรายได้จากสาธารณูปโภคและการพาณิชย์ เป็นต้น

 

รายได้จากภาษีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาเองตามกฎหมายกำหนดที่สำคัญ

ภาษีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเองที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีป้าย และภาษีเฉพาะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางประเภท มีรายละเอียดดังนี้

  1. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน เป็นภาษีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกประเภทยกเว้นองค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดเก็บเองตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475
  2. ภาษีบำรุงท้องที่ เป็นภาษีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกประเภทยกเว้นองค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดเก็บเองตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508
  3. ภาษีป้าย เป็นภาษีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกประเภทยกเว้นองค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดเก็บเองตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510
  4. ภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นภาษีที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดออกข้อบัญญัติจังหวัดเพื่อจัดเก็บจากสถานค้าปลีกน้ำมันและยาสูบในเขตจังหวัด ตามบทบัญญัติในมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2546
  5. ภาษีบำรุงกรุงเทพมหานคร เป็นภาษีที่กรุงเทพมหานครออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเพื่อจัดเก็บจากสถานค้าปลีกน้ำมันในเขตกรุงเทพมหานคร ตามบทบัญญัติในมาตรา 111 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528

 

รายได้จัดหาเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท

              องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยประกอบไปด้วย 4 รูปแบบ คือ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และรูปแบบพิเศษ คือกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ในที่นี้ผู้เขียนจะทำการอธิบายในสามรูปแบบแรกโดยละเอียด และจะนำเสนอรูปแบบพิเศษในตารางเปรียบเทียบในภาพรวม รายละเอียดรายได้จัดหาเองของท้องถิ่นแต่ละประเภทมีดังนี้

1.รายได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลจัดหาเอง

รายได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลจัดหาเองแบ่งได้สองประเภทคือ รายได้ภาษีอากร  และรายได้ที่มิใช่ภาษีอากร ดังนี้ 

    1) รายได้ภาษีอากร ที่กฎหมายกำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้ผู้ดำเนินการจัดเก็บเอง ได้แก่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย อากรฆ่าสัตว์ ซึ่งที่มาของรายได้องค์การบริหารส่วนตำบล มาจากกฎหมายที่สำคัญได้แก่พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 5 ภาษีท้องถิ่น ที่กฎหมายกำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้ผู้ดำเนินการจัดเก็บเอง ได้แก่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีป้าย พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475  พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 และพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510

    2) รายได้ที่มิใช่ภาษีอากร รายได้ประเภทนี้เป็นรายได้อื่นที่มิใช่ภาษีอากร เป็นรายได้จาก ค่าธรรมเนียม ค่าปรับและใบอนุญาตที่เรียกเก็บจากบุคคลต่างๆ ที่อนุญาตให้สามารถกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เช่น การขายสุรา การพนัน การควบคุมอาคาร การเก็บและขนมูลฝอย การเก็บและขนอุจจาระและสิ่งปฏิกูล  และ รายได้จากทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่าที่ดิน  อาคารสถานที่ สิ่งก่อสร้างอันเป็นทรัพย์สิน ดอกเบี้ยเงินฝากทั้งที่ฝากกับธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น

2.รายได้ที่เทศบาลจัดหาเอง 

รายได้จากการจัดหารายได้ของเทศบาลเอง ประกอบด้วย รายได้ภาษีอากร รายได้ที่มิใช่ภาษีอากร ทั้งนี้ รายได้แต่ละแหล่งมีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

          1) รายได้ภาษีอากร ได้แก่ ภาษีอากรที่กฎหมายกำหนดให้เทศบาลเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บเอง ได้แก่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย เป็นต้น                         

          2)  รายได้ที่มิใช่ภาษีอากร รายได้ประเภทนี้เป็นรายได้อื่นที่มิใช่ภาษีอากร เป็นรายได้จาก

  • ค่าธรรมเนียม ค่าปรับและใบอนุญาตที่เทศบาลเรียกเก็บจากบุคคลต่างๆ ที่เทศบาลอนุญาตให้สามารถกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เช่น การขายสุรา การพนัน การควบคุมอาคาร การเก็บและขนมูลฝอย การเก็บและขนอุจจาระและสิ่งปฏิกูล 
  • รายได้จากทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่าอาคารพาณิชย์และค่าเช่าที่วางขายของในตลาดเทศบาล ดอกเบี้ยเงินฝากของเทศบาลทั้งที่ฝากกับธนาคารพาณิชย์และฝากกับกองทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล

3.รายได้ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดหาเอง

รายได้ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดหาเองแบ่งได้สองประเภทคือ รายได้ภาษีอากร  และรายได้ที่มิใช่ภาษีอากร ดังนี้  ดังต่อไปนี้

          1) รายได้ภาษีอากร ได้แก่

- อากรรังนกอีแอ่น

- ภาษีบำรุงท้องถิ่นจากยาสูบ

- ภาษีบำรุงท้องถิ่นจากน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ก๊าซปิโตรเลียม

- ภาษีบำรุงท้องถิ่นจากโรงแรม

2) รายได้ที่มิใช่ภาษีอากร เป็นรายได้จาก

- ค่าธรรมเนียม  ค่าปรับและใบอนุญาต ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจจัดเก็บ เช่น ค่าธรรมเนียมบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเก็บจากผู้เข้าพักในโรงแรม เป็นต้น

- ค่าธรรมเนียม ค่าปรับและใบอนุญาต ซึ่งรัฐบาลจัดเก็บแล้วจัดสรรให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อน เป็นต้น

- รายได้จากทรัพย์สิน คือ รายได้อันเกิดจากผลประโยชน์ในทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยเงินปันผล และจากการให้เช่าหรือให้บริการหรือค่าตอบแทนในทรัพย์สินหรือสถานที่หรือที่ดินสิ่งก่อสร้าง อันเป็นทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนจังหวัดหรืออยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัด

- รายได้จากสาธารณูปโภคและการพาณิชย์ คือรายได้อันเกิดจากการสาธารณูปโภคและการพาณิชย์ใด ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้แก่ เงินช่วยเหลือท้องถิ่น  จากกิจการเฉพาะการ (เงินช่วยเหลือจากการจำหน่ายเนื้อสัตว์  เงินช่วยเหลือจากกิจการโรงแรม)   เงินสะสมจากการโอนกิจการสาธารณูปโภค และการพาณิชย์ เป็นต้น

- รายได้อื่น ๆ คือ รายได้ที่ไม่เข้าลักษณะรายได้หมวดหนึ่งหมวดดังกล่าวข้างต้น ได้แก่ เงินที่มีผู้อุทิศให้ ค่ารับรองสำเนาและถ่ายเอกสาร รายได้เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เป็นต้น

4.รายได้ที่กรุงเทพมหานครจัดหาเอง

รายได้ที่กรุงเทพมหานครจัดหาเองแบ่งได้สองประเภทคือ รายได้ภาษีอากร  และรายได้ที่มิใช่ภาษีอากร ดังนี้  ดังต่อไปนี้

          1) รายได้ภาษีอากร ได้แก่ ภาษีอากรที่กฎหมายกำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บเอง ได้แก่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย ภาษีบำรุงท้องถิ่นจากยาสูบ ภาษีบำรุงท้องถิ่นจากน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ก๊าซปิโตรเลียม  ภาษีบำรุงท้องถิ่นจากโรงแรม  เป็นต้น

          2) รายได้ที่มิใช่ภาษีอากร เป็นรายได้จาก

          - ค่าธรรมเนียม  ค่าปรับและใบอนุญาต

          - รายได้จากทรัพย์สิน

          - รายได้จากสาธารณูปโภคและการพาณิชย์

  • รายได้เบ็ดเตล็ด
  • รายได้จากทุน

5.รายได้ที่เมืองพัทยาจัดหาเอง 

รายได้จากการจัดหารายได้ของเมืองพัทยาเอง ประกอบด้วย รายได้ภาษีอากร รายได้ที่มิใช่ภาษีอากร ทั้งนี้ รายได้แต่ละแหล่งมีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

          1) รายได้ภาษีอากร ได้แก่ ภาษีอากรที่กฎหมายกำหนดให้เมืองพัทยาเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บเอง ได้แก่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย เป็นต้น                         

          2)  รายได้ที่มิใช่ภาษีอากร รายได้ประเภทนี้เป็นรายได้อื่นที่มิใช่ภาษีอากร เป็นรายได้จาก

  • ค่าธรรมเนียม ค่าปรับและใบอนุญาตที่เมืองพัทยาเรียกเก็บจากบุคคลต่างๆ ที่ได้รับอนุญาตให้สามารถกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เช่น การขายสุรา การพนัน การควบคุมอาคาร การเก็บและขนมูลฝอย การเก็บและขนอุจจาระและสิ่งปฏิกูล 
  • รายได้จากทรัพย์สิน
  • รายได้จากสาธารณูปโภคและการพาณิชย์
  • รายได้เบ็ดเตล็ด
  • รายได้จากทุน

 

ภาพรวมรายได้จัดหาเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          ภาพรวมรายได้จัดหาเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถสรุปได้ตามตารางแสดง: แหล่งที่มารายได้จัดหาเององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ดังนี้

'ตารางแสดง': แหล่งที่มารายได้จัดหาเององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542

เทศบาล   เมืองพัทยา  และ องค์การบริหารส่วนตำบล

'(ตามมาตรา '23)

องค์การบริหารส่วนจังหวัด

'(ตามมาตรา '24)

กรุงเทพมหานคร

'(ตามมาตรา '25)

   1. รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง

       -  ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

       -  ภาษีบำรุงท้องที่

       -  ภาษีป้าย

       -  อากรฆ่าสัตว์

      -  ภาษีน้ำมัน

      -  น้ำมันเบนซิน

      -  น้ำมันดีเซล

      -  ก๊าซปิโตรเลียม

      -  ภาษียาสูบ

      -  ค่าธรรมเนียมโรงแรม

     -  ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

     -  ภาษีบำรุงท้องที่

     -  ภาษีป้าย

     -  อากรฆ่าสัตว์

     -  ภาษีน้ำมัน

     -  น้ำมันเบนซิน

     -  น้ำมันดีเซล

     -  ก๊าซปิโตรเลียม

     -  ภาษียาสูบ

     -  ค่าธรรมเนียมโรงแรม

ที่มา:  พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น   พ.ศ. 2542 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 114 ก 17 พฤศจิกายน 2542

สรุป รายได้ที่ท้องถิ่นจัดหาเองเป็นผลมาจากกฎหมายหลายฉบับคือ กฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้กำหนดแหล่งที่มาของรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ และ กฎหมายรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 โดยรายได้ที่ท้องถิ่นจัดหาเองมาจากแหล่งรายได้ที่สำคัญในสองลักษณะ คือภาษีอากร และไม่ใช่ภาษีอากร ดังรายละเอียดที่ได้อธิบายมาข้างต้น

บรรณานุกรม

พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 114 ก 17 พฤศจิกายน 2542

พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 70 ตอนที่ 14  17 กุมภาพันธ์ 2496

พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 ราชกิจจานุเบกษา  เล่ม 120  ตอนที่ 124 ก  22 ธันวาคม  2546 

พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม114  ตอนที่ 62 ก  31 ตุลาคม

2540

พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2546 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 120 ตอนที่ 109 ก  4 พฤศจิกายน  2546 

พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ราชกิจจานุเบกษา  เล่ม 111 ตอนที่ 53 ก  2 ธันวาคม 2537

พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.  2546 ราชกิจจานุเบกษา  เล่ม120  ตอนที่ 124 ก  22  ธันวาคม 2546

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 102 ตอนที่ 115  31 สิงหาคม 2528

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 4) พ.ศ.  2542 ราชกิจจานุเบกษา  เล่ม116 ตอนที่ 104 ก 26 ตุลาคม 2542

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม116 ตอนที่ 120 ก  29 พฤศจิกายน 2542

อ้างอิง

[1] เป็นผลมาจากกฎหมายหลายฉบับซึ่งอาจแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรก กฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้กำหนดที่มาของรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ และส่วนที่สอง กฎหมายรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 สำหรับกลุ่มแรก ได้แก่กฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้กำหนดที่มาของรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ   ได้แก่ พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ซึ่งได้กำหนดที่มาของรายได้องค์การบริหารส่วนจังหวัด  พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ในมาตรา 66 และพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2497 ในมาตรา 10-13 และมาตรา 15 ได้กำหนดที่มาของรายได้ของเทศบาล พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 74-82 กำหนดที่มาของรายได้องค์การบริหารส่วนตำบล  พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 109-114 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจนถึง พ.ศ. 2542 ได้กำหนดที่มาของรายได้ของกรุงเทพมหานคร และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 มาตรา 80-83 และมาตรา 87-90 ซึ่งได้กำหนดที่มาของรายได้ของเมืองพัทยา