สมบุญ ศิริธร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:13, 31 กรกฎาคม 2560 โดย WikiSysop (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง : ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิป...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร


“ถูกเรียกว่าหมูนั้นไม่สำคัญ มันสำคัญอยู่ว่า เราเป็นหมูอะไร
ถ้าหากเป็นหมูที่ถูกฆ่าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ไม่ว่าจะเป็นหมูเถื่อนหรือหมูอาชญาบัตร มันก็ไม่ดี
แต่ถ้าเป็นหมูที่เหนียวแน่น คงกระพันชาตรี
ใครทำอะไรไม่ได้ ก็น่าจะเป็นได้ ไม่เสียหายอะไร”

นายสมบุญ ศิริธร[1]

          “หมู” มักจะเป็นคำเรียกของบุคคลที่มีรูปร่างท้วม ซึ่งผู้ที่ถูกเรียกนั้น ก็มิใคร่ยินดีกับสมญานามนี้นัก แต่สำหรับ “หมูหิน” ซึ่งเป็นสมญานามที่โด่งดังของนักการเมืองคนหนึ่ง ผู้ที่เคยสร้างสีสันให้กับการเมืองไทยไม่น้อย นั่นคือ “นายสมบุญ ศิริธร” อดีต ส.ส. ในจังหวัดพัทลุงและกรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2518-2519 นอกจากนี้ นายสมบุญ ศิริธร ยังผ่านเหตุการณ์ที่สำคัญทางการเมือง อันเป็นโศกนาฏกรรมของการเมืองไทยในครั้งสำคัญ นั่นคือ “เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519” ซึ่งเหตุการณ์นี้ตัวของนักการเมืองท่านนี้มีบทบาทอย่างยิ่งในฐานะ “ปีกขวาประชาธิปัตย์” ร่วมกับนายธรรมนูญ เทียนเงิน และนายสมัคร สุนทรเวช โดยมีกลุ่มผู้สนับสนุนคือ กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนวพล และกลุ่มกระทิงแดง แม้ว่าบทบาททางการเมืองของนายสมบุญ ศิริธร จะสิ้นสุดลงพร้อมกับการจากไปของตัวเขา ทว่าชื่อเสียงและสีสัน ที่นักการเมืองรุ่นเก่าผู้นี้ได้สรรค์สร้างเอาไว้ จะทำให้สมญานาม “หมูหิน” ที่นายสมบุญ ศิริธร ชื่นชอบ เนื่องจากมีนัยว่าเป็นหมูที่คงกระพันชาตรี จะได้รับการจดจารไว้ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกยาวนาน

ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว

          นายสมบุญ ศิริธร เกิดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2459 ณ ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เป็นบุตรของนายหล่อ ศิริธร และนางพุม ศิริธร (วิเศษสกุล) เป็นบุตรคนที่ 5 จากจำนวนพี่น้องทั้งสิ้น 8 คน[2]

          นายสมบุญ ศิริธร ได้รับการศึกษาชั้นมูลฐานจากโรงเรียนอภยานุกูล ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง จากนั้นได้ย้ายมาศึกษาต่อ ณ โรงเรียนจีน ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองจังหวัดพัทลุง[3] จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จึงได้ย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนปีนังคอนตินิวเอชั่น ที่เกาะปีนัง ซึ่งอยู่ในความปกครองของอังกฤษ (ปัจจุบันคือประเทศมาเลเซีย) ก่อนจะย้ายกลับเข้ามาเรียนที่โรงเรียนเซ็นต์คาเบรียล กรุงเทพมหานคร[4] จนสำเร็จการศึกษาระดับชั้น 6 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2476 แล้วได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จนสำเร็จการศึกษาเป็นธรรมศาสตรบัณฑิต ในปี พ.ศ. 2481 นายสมบุญ ศิริธร ถือว่าเป็นนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัย[5]

          นายสมบุญ ศิริธร สมรสกับนางศุภจิตรา ศิริธร (เผ่าจินดา) ธิดาของนายบุญเฮง เผ่าจินดา และนางทอง เผ่าจินดา มีบุตร-ธิดา ทั้งสิ้น 3 คน คือ นายธนิต ศิริธร นางธันยา สุรรังสรรค์ และนายธนะ ศิริธร[6] นายสมบุญ ศิริธร ถึงแก่กรรมด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจวาย ที่โรงพยาบาลเลิดสิน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2521 เวลา 14.00 น. สิริรวมอายุได้ 62 ปี[7]

หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ

          นายสมบุญ ศิริธร เริ่มต้นการทำงานด้วยอาชีพทนายความ ที่จังหวัดตรัง ก่อนจะย้ายไปเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับบริษัทเหมืองแร่ ที่จังหวัดภูเก็ต จำนวน 5 บริษัท จนกระทั่งวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2487 ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเมืองภูเก็ต นายสมบุญ ศิริธร จึงได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลในเขตบางเหนียว ปรากฏว่านายสมบุญ ศิริธร ได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองภูเก็ต และยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นเทศมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย[8] ต่อมา นายสมบุญ ศิริธร ได้เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทย จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง จากนั้นได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2488 โดยนายสมบุญ ศิริธร ได้ลงสมัคร และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเป็นสมัยที่ 2 แต่นายสมบุญ ศิริธร ได้อยู่ในตำแหน่งนี้ได้ไม่นานก็ลาออก เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง โดยมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุงคนก่อนหน้าคือ นายถัด พรหมมาณพ ไม่ได้ลงสมัคร และสนับสนุนให้นายสมบุญ ศิริธร ลงสมัคร ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ในสมัยที่เรียนหนังสืออยู่ที่จังหวัดพัทลุงลงสมัครแทน[9]

          นับได้ว่านายสมบุญ ศิริธร ได้เข้าสู่เส้นทางการเมืองระดับชาติด้วยวัย 30 ปี ถือเป็นนักการเมืองที่หนุ่มมากในสมัยนั้น แต่หลังจากที่นายสมบุญ ศิริธร ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ประมาณ 1 ปี ก็เกิดการยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ได้มีการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้นายสมบุญ ศิริธร ต้องเดินทางกลับจังหวัดภูเก็ต และประกอบอาชีพทนายความอีกครั้ง ซึ่งระหว่างนี้นายสมบุญ ศิริธร  ได้กลับไปสมัครเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองภูเก็ต เหมือนช่วงเวลาก่อนหน้านั้น[10] กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2496 นายสมบุญ ศิริธร ได้ย้ายครอบครัวไปอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โดยได้เปิดสำนักงานทนายความ และธุรกิจร่วมกับนายณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม โดยได้เปิดสำนักงานทนายความ ที่ถนนวรจักร มีชื่อว่า “ศิริธรรม”[11] ขณะเดียวกันก็ได้เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับบริษัท เอส. อาร์. ควบคู่กันไปด้วย ก่อนจะย้ายสำนักงานจากถนนวรจักร มาอยู่ที่บ้านของนายควง อภัยวงศ์ และดำเนินกิจการที่นั่นเรื่อยมา จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2503

         ในปี พ.ศ. 2503 นายสมบุญ ศิริธร ได้เปิดสำนักงานทนายความขึ้นมาใหม่ ในชื่อว่า “นิติวินิจ”[12] โดยสำนักงานตั้งอยู่ที่ถนนสุริวงศ์ นอกจากนี้ นายสมบุญ ศิริธร ยังได้รับการบรรจุให้เป็นทนายความประจำการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้บริษัทสแตนดาร์ด แวคคัมส์ออยล์ (ปัจจุบันคือบริษัท เอสโช่ ประเทศไทย)[13] ต่อมาปี พ.ศ. 2513 นายสมบุญ ศิริธร ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท ฟินิคส์ เปเปอร์พัลป์ จำกัด โดยนายสมบุญ ศิริธร เป็นทนายความที่ปรึกษากฎหมายให้บริษัทนี้จนกระทั่งถึงแก่กรรม ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ได้ก่อตั้งบริษัท อินเตอร์ คอนติเนนตัล ซึ่งเป็นบริษัทส่งออกสินค้าไปยังประเทศ[14]

         สำหรับเส้นทางการเมืองของนายสมบุญ ศิริธร หลังจากได้ย้ายมาพำนักที่กรุงเทพมหานครนั้น ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2500 ซึ่งนายสมบุญ ศิริธร ได้สมัครและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในเขตพระนคร โดยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 ได้สมัครและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในเขตพระนครสมัยที่ 2 โดยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์เช่นเดิม และในปี พ.ศ. 2517 นายสมบุญ ศิริธร ได้สมัครและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในเขตพระนครสมัยที่ 3 ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลให้นายสมบุญ ศิริธร ได้เข้าร่วมรัฐบาลด้วย โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่อยู่ในตำแหน่งนี้ได้ไม่นาน รัฐบาลมีเหตุให้ต้องสิ้นสภาพไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นอีกครั้ง นายสมบุญ ศิริธร ก็ได้รับเลือกเข้ามาเป็นสมัยที่ 4 และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกครั้ง กระทั่งพ้นจากตำแหน่งพร้อมกับการลาออกของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2519[15]

         หลังจากเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ผ่านพ้นไป นายสมบุญ ศิริธร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งทางการเมืองตำแหน่งสุดท้ายของนายสมบุญ ศิริธร ก่อนจะเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2521 โดยในวันที่ถึงแก่กรรมนั้น นายสมบุญ ศิริธร ยังคงเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่[16] นอกจากนี้ นายสมบุญ ศิริธร ยังเคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย อาทิเช่น โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กรรมการกลางพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น[17]

ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง

          นายสมบุญ ศิริธร อยู่ในแวดวงการเมืองมาอย่างยาวนาน ทั้งในทางการเมืองท้องถิ่น และการเมืองระดับชาติ แม้กระทั่งในการเมืองระดับชาติเอง ยังสามารถแบ่งเป็นช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และช่วงเวลาที่เป็นรัฐมนตรีได้อีกด้วย แม้ว่าช่วงเวลาที่เป็นรัฐมนตรีนั้น จะมีระยะเวลาที่ไม่นานนัก แต่เป็นช่วงเวลาที่การเมืองไทยมีความเขม็งเกลียวกันมากที่สุด เนื่องจากความขัดแย้งระหว่าง “ฝ่ายขวา” และ “ฝ่ายซ้าย” ในช่วงนั้น มีความรุนแรงมาก ซึ่งได้นำไปสู่การสังหารหมู่ในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นอกจากนี้ นายสมบุญ ศิริธร ยังมีบทบาทใน “พรรคประชาธิปัตย์” อยู่ไม่น้อย โดยครั้งหนึ่งได้ดำรงตำแหน่งโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

          “บทบาทในการเมืองท้องถิ่น” ในช่วงก่อนที่ นายสมบุญ ศิริธร จะเข้าสู่การเมืองระดับชาตินั้น ได้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาลเมืองภูเก็ต และได้ร่วมในคณะเทศมนตรีด้วย ซึ่งมีนายวิรัตน์ หงษ์หยก และขุนบำรุงฯ สลับกันเป็นนายกเทศมนตรี โดยนายสมบุญ ศิริธร ได้เข้าร่วมในคณะเทศมนตรีทั้ง 2 ชุด ซึ่งผลงานสำคัญที่ปรากฏในคณะเทศมนตรีทั้ง 2 ชุดนี้ คือการที่คณะเทศมนตรีไม่ยอมรับเงินเดือน โดยได้เสียสละเงินเดือนทั้งหมด เพื่อสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในเขตเทศบาล ส่งผลให้เทศบาลเมืองภูเก็ตมีงบประมาณเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และการพัฒนาเทศบาลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว[18]

          “บทบาทในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” นายสมบุญ ศิริธร ได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งสิ้น 5 สมัย ตั้งแต่การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2489 พ.ศ. 2500 พ.ศ. 2512 พ.ศ. 2517 และ พ.ศ. 2519 นับว่าเป็นเวลายาวนาน ซึ่งนายสมบุญ ศิริธร มีลีลาการปราศรัยที่ดุเดือดมากที่สุดคนหนึ่ง โดยมีน้ำเสียงที่ดังและตรงไปตรงมา เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในช่วงที่จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2512 นั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และมักจะอภิปรายโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง ซึ่งนายสมบุญ ศิริธร ก็เป็นคนอภิปรายคนสำคัญคนหนึ่ง ครั้งหนึ่งนายสมบุญ ศิริธร กำลังปราศรัยโจมตีเผด็จการทหารอย่างรุนแรง ที่เวทีท้องสนามหลวง ได้มีผู้ตะโกนขึ้นมาถามว่า “รูปร่างอ้วนเหมือนหมูไม่กลัวถูกยิงพุงหรือ?” นายสมบุญ ศิริธร ได้ตอบว่า “เป็นหมูที่เหนียวแน่นคงกระพันชาตรี ใครทำอะไรไม่ได้”[19] ตั้งแต่นั้นมา นายสมบุญ ศิริธร จึงได้รับฉายาว่า “หมูหิน” อันมาจากการบุคลิกรูปร่างและการปราศรัยทั้งในและนอกสภานั่นเอง แม้ว่าช่วงบั้นปลายชีวิต นายสมบุญ ศิริธร ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และด้วยประสบการณ์ที่อยู่ในสภาฯ มาอย่างยาวนาน จึงได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมาธิการสามัญประจำสภา และกรรมาธิการอื่น ๆ อีกมากมายตามมา[20]

          “บทบาทในฐานะรัฐมนตรี” ในช่วงเวลาที่นายสมบุญ ศิริธร ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น เป็นช่วงเวลาที่การเมืองไทยเต็มไปด้วยความคับข้องหมองใจของประชาชน ซึ่งแบ่งออกเป็น “ฝ่ายขวา” และ “ฝ่ายซ้าย” ทั้งเหตุการณ์จลาจลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ อาทิเช่น เหตุการณ์เขาศูนย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ประชาชนเข้าไปขุดแร่ จนกระทั่งเกิดเหตุร้ายและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งนายสมบุญ ศิริธร ได้เข้าไปแก้ปัญหาจนเหตุการณ์สงบลงได้[21] นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่นายสมบุญ ศิริธร ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น ยังต้องเผชิญกับปัญหาการเดินทางเข้ามาในประเทศของ “พระถนอม” ซึ่งเป็นสาเหตุให้กลุ่มนิสิต นักศึกษา และประชาชน มีท่าทีที่ไม่พอใจ ซึ่งนายสมบุญ ศิริธร ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “เป็นสิทธิ” ที่พระถนอมจะเข้าประเทศได้ ขณะเดียวกันนายสมบุญ ศิริธร ก็ได้ให้สิทธิกับผู้ต่อต้านด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งกล่าวว่าหากพระถนอมจะไปบิณฑบาตที่บ้าน ก็ยินดีจะนิมนต์เข้ามาในบ้าน[22] เหตุการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง และรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ต้องลาออกไปในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2519 ก่อนที่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช จะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้นายสมบุญ ศิริธร ไม่ได้เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรี ขณะเดียวกันความแตกแยกในหมู่ประชาชนก็มีมากขึ้น จนนำไปสู่เหตุการณ์วันปราบนกพิราบ ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ในท้ายที่สุด[23]

          “บทบาทในพรรคประชาธิปัตย์” นายสมบุญ ศิริธร เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่วมก่อตั้ง “พรรคประชาธิปัตย์” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 และลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคประชาธิปัตย์ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2491 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ทว่านายสมบุญ ศิริธร ยังคงช่วยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2500 นายสมบุญ ศิริธร ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่พระนคร โดยลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นนายสมบุญ ศิริธรได้ร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด จนกลายเป็นสมาชิกอาวุโสของพรรค ต่อมาหลังจากที่ระบบการเมืองเปิดขึ้น ในช่วงปี พ.ศ. 2511-2519 นายสมบุญ ศิริธร ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ อาทิเช่น โฆษกพรรค กรรมการกลางพรรค ผู้วางแผนการเลือกตั้งให้กับพรรค ผู้คัดเลือกผู้สมัครในนามพรรค เป็นต้น นอกจากนี้ นายสมบุญ ศิริธร ได้เดินทางไปร่วมปราศรัยหาเสียงให้กับพรรคเสมอมา ในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ในช่วงก่อนเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั้น พรรคประชาธิปัตย์เอง ได้แตกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ “กลุ่มปีกซ้ายประชาธิปัตย์” อันประกอบด้วย นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ นายชวน หลีกภัย นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ เป็นต้น และ “กลุ่มปีกขวาประชาธิปัตย์” อันประกอบด้วย นายธรรมนูญ เทียนเงิน นายสมบุญ ศิริธร นายสมัคร สุนทรเวช เป็นต้น[24] เนื่องจากกลุ่มปีกซ้ายประชาธิปัตย์ต่อต้านการเข้ามาของพระถนอม ขณะที่กลุ่มปีกขวาประชาธิปัตย์มีท่าทีที่ตรงกันข้าม จนกระทั่งกลายเป็นความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ในท้ายที่สุด

บรรณานุกรม

การเมืองเรื่องศัพท์, สยามรัฐ (วันที่ 24 สิงหาคม 2519).

รมต.สมบุญว่าถ้าพระถนอมจะไปบ้านก็ยินดีนิมนต์, ประชาธิปไตย (วันที่ 21 กันยายน 2519).

สานิตย์ เพชรกาฬ, นักการเมืองถิ่น จังหวัดพัทลุง, (กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2550).

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสายธาร
          ประชาธิปไตย, 2551)

สุภาคย์ อินทองคง และพิทยา บุษรารัตน์, สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ เล่ม '6', (กรุงเทพฯ :
          มูลนิธิสารานุกรมไทย, 2542).

‘หมูหิน’ ตาย, มติชน (วันที่ 1 สิงหาคม 2521).

หมูหินตายแล้ว, สยามรัฐ (วันที่ 1 สิงหาคม 2521).

'อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสมบุญ ศิริธร ต.ม.',ต.ช., (กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., 2521).

เว็บไซต์

ประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เข้าถึงจาก <http://www.tu.ac.th/index.php/th/408-th-th/teach/280-his>  เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2559.

อ้างอิง 

[1] นายสมบุญ ศิริธร ให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของฉายา “หมูหิน” ในคอลัมน์ การเมืองเรื่องศัพท์ หนังสือสยามรัฐ วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2519.

[2] อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสมบุญ ศิริธร ต.ม.,ต.ช., (กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., 2521), น. (1).

[3] สานิตย์ เพชรกาฬ, นักการเมืองถิ่น จังหวัดพัทลุง, (กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2550), น. 72.

[4] ‘หมูหิน’ ตาย, มติชน (วันที่ 1 สิงหาคม 2521), น. 12.

[5] ประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เข้าถึงจาก <http://www.tu.ac.th/index.php/th/408-th-th/teach/280-his>  เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2559.

[6] สานิตย์ เพชรกาฬ, อ้างแล้ว, น. 73.

[7] หมูหินตายแล้ว, สยามรัฐ (วันที่ 1 สิงหาคม 2521), น. 12.

[8] สานิตย์ เพชรกาฬ, อ้างแล้ว, น. 73.

[9] สุภาคย์ อินทองคง และพิทยา บุษรารัตน์, สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ เล่ม 6, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมไทย, 2542), น. 1900-1903.

[10] สานิตย์ เพชรกาฬ, อ้างแล้ว, น. 79.

[11] เพิ่งอ้าง, น. 80.

[12] เพิ่งอ้าง.

[13] เพิ่งอ้าง.

[14] เพิ่งอ้าง, น. 81.

[15] ‘หมูหิน’ ตาย, มติชน (วันที่ 1 สิงหาคม 2521), น. 12.

[16] เพิ่งอ้าง.

[17] สานิตย์ เพชรกาฬ, อ้างแล้ว, น. 85.

[18] เพิ่งอ้าง, น. 75.

[19] การเมืองเรื่องศัพท์, สยามรัฐ (วันที่ 24 สิงหาคม 2519), น. 6.

[20] สานิตย์ เพชรกาฬ, อ้างแล้ว, น. 86.

[21] เพิ่งอ้าง, น. 83-84.

[22] รมต.สมบุญว่าถ้าพระถนอมจะไปบ้านก็ยินดีนิมนต์, ประชาธิปไตย (วันที่ 21 กันยายน 2519), น. 12.

[23] สานิตย์ เพชรกาฬ, อ้างแล้ว, น. 84.

[24] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย,(กรุงเทพฯ : มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย, 2551), น. 156-157.