การแบ่งอำนาจ
เรียบเรียงโดย กฤษณ์ วงศ์วิเศษธร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล
'การแบ่งอำนาจ ' (Deconcentration)
1. แนวคิดและความหมาย
เนื่องจากการรวมศูนย์อำนาจปกครองไว้ที่ส่วนกลางมีอุปสรรคที่สำคัญนั่นคือ ไม่สามารถแก้ไขปัญหา ตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆได้ทั่วถึงและเกิดความล่าช้าในการปฏิบัติราชการ จึงมีการขยายอำนาจของการปกครองออกไปโดยการมอบอำนาจการวินิจสั่งการบางส่วนไปให้เจ้าหน้าที่ของส่วนกลางที่ประจำอยู่ในพื้นที่ต่างๆ หรือที่เรียกว่า “ภูมิภาค” นั่นเอง
การแบ่งอำนาจปกครอง (Deconcentration) หมายถึง การที่กฎหมายหรือผู้บังคับบัญชามอบอำนาจการตัดสินใจหรือการวินิจฉัยสั่งการระดับหนึ่งภายในกรอบวัตถุประสงค์ของกฎหมายให้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งราชการส่วนส่วนกลางส่งไปปฏิบัติราชการในราชการส่วนภูมิภาคคือที่จังหวัดและอำเภอต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อการตัดสินใจหรือวินิจฉัยที่รวดเร็วขึ้น โดยไม่ต้องรอการตัดสินใจจากส่วนกลาง เป็นการแก้ไขข้อบกพร่องของการรวมอำนาจการปกครองได้[1] หลักแบ่งอำนาจจึงทำให้การบริหารราชการแผ่นดินมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้หลักการแบ่งอำนาจนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรวมอำนาจทางปกครอง แต่มิใช่การกระจายอำนาจแต่อย่างใด[2]
2. ลักษณะสำคัญของการแบ่งอำนาจปกครอง
การแบ่งอำนาจทางปกครองมีลักษณะสำคัญดังนี้
ประการแรก การแบ่งอำนาจปกครองเกิดจากการแบ่งอำนาจจากส่วนกลาง หากไม่มีส่วนกลางที่เป็นเสมือนเจ้าของอำนาจ การแบ่งอำนาจย่อมจะไม่เกิดขึ้น รวมไปถึงการที่ส่วนกลางยังมีอำนาจเต็มในการบริหารเนื่องจากเป็นการแบ่งอำนาจของตนให้กับภูมิภาคดำเนินการแทนในบางเรื่องเท่านั้น ซึ่งจะคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ[3]
ประการที่สอง มีการส่งเจ้าหน้าที่ภายใต้การบังคับบัญชาของตนไปประจำในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ และส่วนกลางย่อมมีอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ดังกล่าวนี้
3. ข้อดีของการแบ่งอำนาจปกครอง[4]
จากแนวคิดและลักษณะของการแบ่งอำนาจปกครองจะเห็นได้ว่าการแบ่งอำนาจปกครองมีข้อดีดังนี้
ประการแรก การใช้หลักการนี้เป็นก้าวแรกในการกระจายอำนาจ กล่าวคือ การที่มอบอำนาจวินิจฉัยสั่งการบางส่วนให้แก่ภูมิภาค เท่ากับว่าเป็นการมอบภารกิจให้ภูมิภาคดำเนินการเองได้ แต่หากเปลี่ยนจากภูมิภาคเป็นส่วนท้องถิ่นตามหลักการกระจายอำนาจอาจทำได้ง่ายขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการตามเงื่อนไขขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ
ประการที่สอง ส่วนภูมิภาคสามารถแบ่งเบาภาระของส่วนกลางได้บ้าง ทำให้การดำเนินภารกิจต่างๆทำได้เร็วขึ้น เนื่องจากในการตัดสินใจสั่งการแต่ละครั้งไม่ต้องส่งไปที่ส่วนกลางทั้งหมด ก็จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้รวดเร็วและทันท่วงทีมากขึ้น
ประการที่สาม การประสานงานระหว่างราชการส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเป็นไปได้ง่ายขึ้น เพราะมีส่วนภูมิภาคเป็นตัวช่วยประสานงาน โดยผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด
ประการที่สี่ การแบ่งอำนาจทางปกครองมีประโยชน์ต่อประเทศที่ยังหย่อนความสามารถในการปกครองตนเอง ซึ่งถ้าหากจะมอบอำนาจให้กับท้องถิ่นอาจจะยังไม่เหมาะสม[5]
4. ข้อเสียของการแบ่งอำนาจทางปกครอง
การแบ่งอำนาจปกครองมีข้อเสียอยู่อย่างน้อย 3 ประการ
ประการแรก การแบ่งอำนาจทางปกครองเป็นอุปสรรคในการกระจายอำนาจ กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินภารกิจต่างๆในภูมิภาคนั้นเป็นเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางทั้งหมด ย่อมแสดงถึงการไม่เชื่อในความสามารถของส่วนท้องถิ่น[6]
ประการที่สอง เจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งไปในภูมิภาคต่างๆไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มที่และไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน เนื่องจากไม่มีความใกล้ชิดกับประชาชน รวมถึงการไม่เข้าใจปัญหาของแต่ละท้องถิ่นเท่ากับคนในท้องถิ่นเอง
ประการที่สาม ก่อให้เกิดความล่าช้ามากขึ้น หากต้องการส่งเรื่องถึงส่วนกลางต้องเสียเวลากับการดำเนินการถึงระดับการปกครอง 2 ระดับ นั่นคือ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น รวมถึงขั้นตอนที่มากขึ้นตามไปด้วย[7]
กล่าวโดยสรุปได้ว่า เป็นการแบ่งอำนาจเพียงบางส่วนจากส่วนกลาง ให้กับหน่วยการปกครองระดับภูมิภาคดำเนินการแทนแต่ส่วนกลางยังมีอำนาจเต็ม ก็จะสามารถแบ่งเบาภาระของส่วนกลางได้บ้างทำให้การดำเนินการในการแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการของประชาชนทำได้เร็วขึ้น พร้อมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำตามภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งการดำเนินงานของส่วนภูมิภาคเป็นไปตามที่ส่วนกลางกำหนด จึงทำให้ส่วนกลางมีอำนาจเต็มในการแต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าหน้าที่ในภูมิภาค กระนั้นก็ตามการบริหารส่วนภูมิภาคไม่มีอิสระในการปกครอง เป็นเพียงแค่สำนักงานย่อยของส่วนกลางที่ไปตั้งในพื้นที่ต่างๆเท่านั้น
บรรณานุกรม
โกวิทย์ พวงงาม. การปกครองท้องถิ่นไทย. พิมพ์ครั้งที่ 7. (กรุงเทพฯ: วิญญูชน. 2552).
ชูวงศ์ ฉายะบุตร. การปกครองท้องถิ่นไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ: บริษัทพิฆเณศ พริ้นท์ติ้งเซ็นเตอร์ จำกัด. 2539).
พรชัย รัศมีแพทย์. หลักกฎหมายการปกครองท้องถิ่นไทย. (นนทบุรี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2535).
สมคิด เลิศไพฑูรย์. กฎหมายการปกครองท้องถิ่น. (กรุงเทพฯ: ธรรกมลการพิมพ์. 2550).
อ้างอิง
[1] พรชัย รัศมีแพทย์, หลักกฎหมายการปกครองท้องถิ่นไทย, (นนทบุรี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2535), หน้า 23.
[2] สมคิด เลิศไพฑูรย์, กฎหมายการปกครองท้องถิ่น, (กรุงเทพฯ: ธรรกมลการพิมพ์, 2550), หน้า 26.
[3] เพิ่งอ้าง, หน้า 26.
[4] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ชูวงศ์ ฉายะบุตร, การปกครองท้องถิ่นไทย, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: บริษัทพิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด,2539), หน้า 20.
[5] สมคิด เลิศไพฑูรย์, กฎหมายการปกครองท้องถิ่น, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา, 2547), หน้า 17.
[6] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โกวิทย์ พวงงาม, การปกครองท้องถิ่นไทย, พิมพ์ครั้งที่ 7, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2552), หน้า 36.
[7] อ้างแล้ว, เชิงอรรถที่ 2.