เจ้าพระยายมราช
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว และ ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
“ข้อนี้มีเค้าอยู่ในกิริยามารยาทของท่านที่ข้าพเจ้าเห็นเมื่อตอนแรกรู้จักกัน ดูสุภาพเรียบร้อยผิดกับชาวบ้านนอก ส่อให้สังเกตได้ว่าท่านได้รับอบรมมาแต่ครูบาอาจารย์ที่ดี”
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ[1]
เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่มีบทบาทหลายประการในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 จนถูกเรียกว่าเป็นรัฐบุรุษ 4 แผ่นดิน ท่านเคยดำรงตำแหน่งสำคัญมากมายตั้งแต่การเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และเสนาบดีกระทรวงนครบาล การเป็นอภิรัฐมนตรี และเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
- ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว[2]
มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เกิด ณ ตำบลบ้านตก (รั้วใหญ่) ริมฝั่งแม่น้ำฟากตะวันออกข้างใต้ตัวเมืองสุพรรณบุรี เมื่อวันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2405 ในตระกูลคฤหบดีที่มีฐานะดี มีบิดาชื่อนายกลั่น มารดาชื่อผึ้ง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งหมด 5 คน เป็นชาย 3 หญิง 2 โดยปั้นเป็นบุตรคนสุดท้อง พี่น้องของปั้นทุกคนล้วนแต่จะมีบทบาทสำคัญในด้านการปกครองหรือการบริหารราชการแผ่นดินด้วยกันทั้งสิ้น เช่น การได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน หรือแม้แต่พี่สาวทั้งสองคนที่แม้จะไม่ได้เป็นนักปกครองโดยตรง แต่ก็ได้แต่งงานเป็นภรรยาของกรมการเมืองซึ่งย่อมมีชีวิตที่คลุกคลีกับข้าราชการฝ่ายปกครองอยู่ตลอดเวลา
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าเด็กชายปั้นเกิดในตระกูลคฤหบดี จึงทำให้เขาได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในครอบครัวอื่นๆ แต่เมื่อเทียบกับพี่ๆ ร่วมบิดามารดากันแล้ว ในสายตาของคนอื่นจะมีความรู้สึกว่าเขาได้รับการเอาใจใส่จากบิดามาราดาน้อยกว่าพี่ๆ ดังที่สมเด็กพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานไว้ว่า “ท่านเป็นลูกคนสุดท้อง เกิดเมื่อบิดามารดามีลูกแล้วหลายคน จนถึงเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็มี เมื่อเป็นเด็กจึงมิใคร่มีใครเอาใจนำพานัก”
เมื่ออายุได้ 5 ขวบ บิดาได้นำเด็กชายปั้นไปฝากเรียนหนังสือที่วัดประตูสาร ตำบลรั้วใหญ่ ในเมืองสุพรรณบุรี ทั้งนี้เพราะในสมัยนั้นสถาบันการศึกษามีอยู่เพียง 2 แห่ง คือ วัด กับ วัง เมื่อเรียนอยู่ที่วัดประตูสารนี้ได้ประมาณ 1 ปี อายุย่างเข้าปีที่ 6 ก็ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยบิดามารดาได้มอบถวายให้แก่พระใบฎีกาอ่วม แห่งวัดหงส์รัตนาราม อำเภอบางกอกน้อย ธนบุรี เพื่อฝากฝังให้เป็นศิษย์ติดตามเรียนหนังสือด้วย คนทั่วไปจึงพูดว่าเป็นเด็ก “ใส่กัณฑ์เทศน์”
หลังจากนั้นเมื่ออายุได้ 13 ปี บิดามารดาได้รับกลับไปบ้านที่สุพรรณบุรีเพื่อทำพิธีโกนจุก เสร็จแล้วก็กลับพามาอยู่ที่วัดหงส์รัตนารามตามเดิม เมื่ออายุได้ 14 ปี ท่านอาจารย์พระใบฎีกาอ่วมได้ให้บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อศึกษาปริยัติธรรม เมื่ออายุได้ 21 ปี ครบอุปสมบทแล้ว พระใบฎีกาอ่วมก็จัดการให้อุปสมบทที่วัดหงส์รัตนาราม โดยนิมนต์สมเด็จพระวันรัตมาเป็นพระอุปัชฌายะ ซึ่งพระภิกษุปั้นได้ศึกษาเล่าเรียนจนจบได้เปรียญ 3 ประโยคจนคนทั่วไปเรียกว่า “พระมหาปั้น”
ในส่วนของการสมรสนั้น เมื่อต่อมานายปั้นได้รับราชการและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “ขุนวิจิตรวรสาส์น” เมื่อเดินทางกลับจากต่างประเทศมาอยู่ที่ประเทศไทยได้ประมาณสองเดือน ขุนวิจิตรวรสาส์นก็ปรารภกับสมเด็จฯกรมพระยาดำรงว่าอยากแต่งงานกับนางสาวตลับ ธิดาคนโตของพระยาชัยวิชิต ซึ่งพระมารดาของสมเด็จฯ ได้ทรงทำหน้าที่เป็นเถ้าแก่ไปสู่ขอนางสาวตลับให้จนบิดาของฝ่ายหญิงยอมตกลงและได้เข้าสู่พิธีมงคลสมรสในเวลาต่อมา
เจ้าพระยายมราชหรือนายปั้นได้มีบุตรธิดาที่เกิดแต่ท่านผู้หญิงตลับ ยมราช รวมทั้งหมด 10 คน คือ
1. พระยาสุขุมนัยวินิต (สวาสดิ์ สุขุม) 2. คุณไสว สุขุม 3. คุณแปลก สุขุม 4. หลวงพิสิษฐ์สุขุมการ (ประพาส สุขุม) 5. พระพิศาลสุขุมวิท (ประสพ สุขุม) 6. คุณประสาท สุขุม 7. หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ (ประดิษฐ์ สุขุม) 8. คุณประวัติ สุขุม 9. คุณเล็ก สุขุม และ 10. คุณหญิงประจวบ สุขุม
- หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ[3]
ในระหว่างที่บรรพชาอุปสมบทอยู่ที่วัดหงส์รัตนาราม พระมหาปั้นได้รู้จักคุ้นเคยกับเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ เช่น หม่อมเจ้าหญิงเปลี่ยน ในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ และหม่อมราชวงศ์หญิงเขียน หลานกรมหลวงเสนีบริรักษ์ และเป็นหม่อมกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทั้งสองท่านนี้มีบ้านอยู่ใกล้วัดจึงได้ไปทำบุญที่วัดนั้นหลายครั้งและได้รู้จักกับพระมหาปั้นตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ก็รู้สึกเอ็นดูรับเป็นโยมอุปการะมาโดยตลอดจนเป็นเจ้าภาพอุปสมบทให้ด้วย ส่วนอีกพระองค์หนึ่งคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ทรงรู้จักคุ้นเคยกับพระมหาปั้น ตั้งแต่ยังเป็นสามเณรเช่นเดียวกัน พระองค์ทรงเป็นกำลังใจให้มหาปั้นในการสอบเข้าเปรียญสนามหลวงและเมื่อลาสิกขาแล้วก็ทรงส่งเสริมให้ได้รับราชการอีกด้วย
ในที่สุดพระมหาปั้นก็ลาสิกขา จากเพศบรรพชิตมาเป็นฆราวาส เมื่อเดือน 8 ปี พ.ศ. 2426 และพอลาสิกขาเรียบร้อยแล้วก็ออกเดินทางติดตามสมเด็กพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเพื่อไปปรนนิบัติรับใช้ ระหว่างที่สมเด็จท่านทรงผนวชและอยู่ประจำที่วัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจากกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงลาสิกขาแล้ว จึงทรงนำปั้นเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก โดยเริ่มต้นที่การเป็นครูฝึกหัดในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งนับเป็นก้าวแรกที่มหาปั้นเข้ารับราชการ เมื่อปี พ.ศ. 2426 อายุได้ 22 ปี
ในเวลาต่อมาปั้นได้รับเลือกให้เป็นครูประจำชั้นถวายพระอักษรพระองค์เจ้าสำคัญหลายพระองค์ซึ่งเป็นทีพอพระทัยของกรมพระยาดำรงราชานุภาพอย่างมาก ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงนำชื่อมหาปั้นไปกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่าเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุดที่จะเดินทางไปอยู่กับพระเจ้าลูกยาเธอที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเห็นชอบด้วยและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ “นายปั้น เปรียญ” เป็น “ขุนวิจิตรวรสาส์น” มีตำแหน่งในกรมอาลักษณ์แผนกครู จึงทำให้ปั้นได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๔ พระองค์ที่ขุนวิจิตรวรสาส์นได้ถวายความดูแล คือ 1. พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (กรมพระจันทบุรีนฤนาท) 2. พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ) 3. พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (กรมหลวงปราจีณกิติบดี) และ 4. พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (กรมหลวงนครชัยศรีวรเดช)
ต่อมา สมเด็จฯ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ซึ่งทรงเอ็นดูและชมชอบขุนวิจิตรวรสาส์นอยู่แล้ว ได้ทรงสนับสนุนให้โอนมารับราชการสังกัดกระทรวงการต่างประเทศ โดยทรงกราบบังคมทูลขอให้ขุนวิจิตรวรสาส์นมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการในสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน และได้เลื่อนขั้นมาเรื่อยๆ จนต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระวิจิตรวรสาส์น
ต่อมา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอให้พระวิจิตรวรสาส์นไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทย ในตำแหน่งเลขานุการเสนาบดี ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จประพาสหัวเมืองภาคใต้และได้เห็นผลงานการพัฒนาบ้านเมืองของพระวิจิตรวรสาส์นซึ่งประจำการเป็นข้าหลวงพิเศษตรวจการอยู่ที่นั่น จึงทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก เมื่อเสด็จกลับพระนครจึงโปรดฯให้ประกาศจัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราชขึ้น แล้วพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระยาสุขุมนัยวินิต ให้ดำรงตำแหน่ง “ข้าหลวงเทศาภิบาล” ประจำมลฑลนครศรีธรรมราชด้วย
พระยาสุขุมนัยวินิตปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีจนเป็นที่พอพระทัยเป็นอย่างมาก จนต่อมาได้ไปดำรงตำแหน่งเป็นทั้งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และได้เป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาลโดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็น “เจ้าพระยา” ในเวลาต่อมา
ภายหลังพิธีพระบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เจ้าพระยายมราชจึงได้ขอพระราชทานกราบบังคมลาออกจากราชการเนื่องจากทำงานมาอย่างยาวนานและเข้าสู่วัยชราภาพแล้ว หลังจากออกจากราชการแล้วเจ้าพระยายมราชก็ยังคงทำงานด้านสังคมหรือด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง และในภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยสภาองคมนตรี เจ้าพระยายมราชก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้รับการเลือกสรรให้เข้าไปทำงานในคณะกรรมการสภาองคมนตรีเพื่อทำหน้าที่ถวายความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงขึ้นครองราชย์ต่อ เนื่องจากยังทรงพระเยาว์และยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เอง สภาผู้แทนราษฎรจึงได้แต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นคณะหนึ่ง ซึ่งเจ้าพระยายมราชก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เช่นกัน
- ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง
นอกจากเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆในระบบราชการและการดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ตลอดช่วงเวลาของการทำงานในชีวิตราชการของเจ้าพระยายมราชนั้นได้สร้างผลงานสำคัญไว้หลายประการ ตั้งแต่เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชเป็นคนแรกในตำแหน่งพระยาสุขุมนัยพินิต ได้สร้างผลงานในการพัฒนาปรับปรุงระเบียบการปกครองเจ็ดหัวเมืองภาคใต้อย่างยอดเยี่ยม จนต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และเสนาบดีกระทรวงนครบาล ตามลำดับ ผลงานของการกลับมารับราชการในส่วนกลางนั้นมีตั้งแต่การเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างประปาพระนคร ไฟฟ้านครหลวง ผู้อำนวยการสร้างถนนและสะพานหลายแห่ง ร่วมทั้งพระที่นั่งอนันตสมาคมอันงดงาม
ในช่วงท้ายของชีวิตเจ้าพระยายมราชได้ล้มป่วยลงด้วยโรคปอดอักเสบ และอาการทรุดหนักลงจนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ด้วยอาการสงบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงทราบข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของเจ้าพระยายมราชจึงโปรดเกล้าฯให้ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เสด็จแทนพระองค์ไปพระราชทานน้ำอาบศพ ณ บ้านของเจ้าพระยายมราช และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาที่ศพเมื่อวันครบสัตมวาร (ทำบุญ 7 วัน) ด้วยพระองค์เอง[4]
บรรณานุกรม
ศิริพงษ์ บุญราศรี, มหาอำมาตย์นายกเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เอกบุรุษ 4 แผ่นดิน, (กรุงเทพฯ: ศยาม, 2544)
วิรัช ถิรพันธุ์เมธี, เจ้าพระยายมราช '(ปั้น สุขุม) รัฐบุรุษ 4 แผ่นดิน', (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดวงแก้ว, 2543)
อ้างอิง