สุนทร คงสมพงษ์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร


“ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน”

พลเอก สุนทร คงสมพงษ์[1]

          “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” เป็นคติพจน์ประจำตัวของนายทหารผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง นั่นคือ “พลเอก สุนทร คงสมพงษ์” อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยเป็นที่รับรู้กันว่า ท่าเป็นบุคคลที่มีบุคลิกโผงผาง แต่มีความจริงใจ บทบาทของพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ เป็นที่รับรู้กันในฐานะ “หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)” ซึ่งได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 นับว่าเป็นการยึดอำนาจที่ประสบความสำเร็จครั้งแรกในรอบ 13 ปี โดยก่อนหน้านั้นมีความพยายามในการยึดอำนาจของกลุ่มทหารหลายครั้งในช่วงที่พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทว่าไม่ประสบความสำเร็จเลยแม้แต่ครั้งเดียว การยึดอำนาจของพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ จึงเป็นที่กล่าวถึง และมีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่บทบาทของพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ลดลงหลังจากที่เกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2534 และตามมาด้วยเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ในปี พ.ศ. 2535 โดยพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบ ก่อนจะถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2542

ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว

          พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2474 ณ บ้านเลขที่ 171 ถนนประชาธิปไตย หมู่ที่ 2 ตำบลบางเขน อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันคือเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร) เป็นบุตรคนแรกของ นาวาอากาศเอก ศุภชัย คงสมพงษ์ และนางลมูล คงสมพงษ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 3 คน เป็นชาย 2 คน และหญิงอีก 1 คน[2]

          พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ เข้ารับการศึกษาระดับปฐมวัย ณ โรงเรียนเทเวศร์ศึกษา กรุงเทพมหานคร และได้เข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา ณ โรงเรียนสองเหล่าสร้าง จังหวัดลพบุรี แต่ศึกษาอยู่ได้เพียง 1 ปี ได้ย้ายมาศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ณ โรงเรียนประชาบาลวัดดอนเมือง (ทหารอากาศอุทิศ) จนสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ได้เข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนมัธยมดอนเมือง (ทหารอากาศบำรุง) ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 บิดาต้องย้ายไปประจำการที่จังหวัดสระบุรี พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ จึงได้ย้ายไปศึกษา ณ โรงเรียนชายสระบุรี (ปัจจุบันคือโรงเรียนสระบุรีพิทยา) หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาในระดับเตรียมอุดมศึกษา (มัธยมศึกษาปีที่ 7-8) ณ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดยศึกษาในแผนกอักษรศาสตร์ ต่อมาได้สอบเข้าโรงเรียนเตรียมนายร้อยทหารบก และได้เป็นนักเรียนนายร้อยในปี พ.ศ. 2492 จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2497 โดยถือเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นแรกของหลักสูตรใหม่ ที่เรียน 5 ปี ของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.1)[3]

เมื่อรับราชการทหารแล้ว พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ยังได้เข้ารับการศึกษาและอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ดังนี้ ในปี พ.ศ. 2497 ได้เข้ารับการศึกษาในหลักสูตรผู้บังคับกองร้อย รุ่นที่ 14 โรงเรียนศูนย์การทหารราบ[4] ต่อมาปี พ.ศ. 2500 ได้เข้าศึกษาในหลักสูตรทหารร่มและการรบพิเศษ รุ่นที่ 9 จากนั้นในปี พ.ศ. 2501 ได้เดินทางไปศึกษาหลักสูตรทหารสื่อสาร ที่โรงเรียนทหารราบกองทัพบกฟอร์ตเบนนิ่ง ประเทศสหรัฐอเมริกา[5]  ปี พ.ศ. 2504 เข้าศึกษาในหลักสูตรผู้บังคับกองพัน รุ่นที่ 9 โรงเรียนทหารราบ และถัดมาได้เข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 41 ในปี พ.ศ. 2505 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2508 ได้เข้าศึกษา ณ โรงเรียนเสนาธิการทหารบกฟอร์ตเลฟเวนเวิร์ต ประเทศสหรัฐอเมริกา[6] หลังจากนั้น พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ได้เบนเข็มเข้าอบรมในหลักสูตร “นักบินกองทัพบก” และสำเร็จการศึกษาทั้งสูตรปฐมและมัธยม ในปี พ.ศ. 2516[7]

พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ สมรสกับ พันเอกหญิง คุณหญิงอรชร คงสมพงษ์ มีบุตรชาย 2 คน คือ พลโท อภิรัชต์ คงสมพงษ์ และ พันเอก ณัฐพร คงสมพงษ์[8] ต่อมาได้หย่าขาดจากกันในปี พ.ศ. 2533 และพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ได้มีภรรยาคนใหม่คือนางอัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร ซึ่งใช้ชีวิตร่วมกันจนกระทั่งพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2542[9]

หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ

          พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ เริ่มรับราชการในปี พ.ศ. 2498 ติดยศร้อยตรีในตำแหน่งผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองร้อยปืนเล็ก ร่วมรบกับสหประชาชาติในสงครามเกาหลี ต่อมาปี พ.ศ. 2499 – 2500 เป็นนายทหารคนสนิท รองผู้บัญชากองพลที่ 1 และนายทหารคนสนิท ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 2 ตามลำดับ ในปี พ.ศ. 2502 เป็นผู้บังคับกองร้อย กองบัญชาการกองพลที่ 1 ปี พ.ศ. 2506 เป็นนายทหารยุทธการและการฝึก กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ปี พ.ศ. 2508 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายส่งกำลังบำรุง กองพลที่ 1 ปี พ.ศ. 2510 เป็นหัวหน้าฝ่ายกำลังพล กองพลที่ 1 ถัดมาปี พ.ศ. 2511 เป็นหัวหน้าฝ่ายยุทธการ กองพลที่ 1 ในปี พ.ศ. 2512 ไปราชการสงครามเวียดนาม ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 เป็นผู้ช่วยหัวหน้ากองข่าว กองทัพภาคที่ 1 ปี พ.ศ. 2514 เป็นผู้ช่วยหัวหน้ากองยุทธการ กองทัพภาคที่ 1 ในปี พ.ศ. 2517 เป็นเสนาธิการศูนย์สงครามพิเศษ ต่อมาปี พ.ศ. 2520 เป็นรองผู้บัญชาการกรมการบินทหารบก ปี พ.ศ. 2524 เป็นผู้บัญชาการศูนย์การบินทหารบก ปี พ.ศ. 2526 เป็นรองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ถัดมาในปี พ.ศ. 2527 เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ปี พ.ศ. 2529 เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 เป็นเสนาธิการทหาร และในปี พ.ศ. 2533 เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ[10]

          จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านทั้งสมรภูมิรบ และการเป็นฝ่ายควบคุมกำลัง ตลอดจนได้เป็นนักบินของกองทัพบก ส่งให้ พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ มีความเป็นทหารอาชีพอย่างเต็มตัว นอกจากนี้พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ยังดำรงตำแหน่งพิเศษอื่น ๆ ประกอบด้วย ราชองครักษ์เวร ในปี พ.ศ. 2524 ดำตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ระหว่างปี พ.ศ. 2526 – 2532 นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งราชองครักษ์พิเศษ และตุลาการศาลทหารสูงสุด ในปี พ.ศ. 2530[11]

          พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ได้เข้ามามีบทบาททางการเมือง ในฐานะ “หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)” ที่ได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 และมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี[12] หลังจากนั้นบทบาทของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้แปรเปลี่ยนมาเป็น “สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” โดยพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ดำรงตำแหน่งประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติต่อเนื่องต่อไป[13]

ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง

          พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ได้มีบทบาททางการเมืองที่สำคัญจนเป็นที่จดจำและจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นคือเป็นหัวหน้าผู้ก่อการยึดอำนาจ ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 โดยจับกุมตัวพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ในขณะที่นำ พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ไปเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ จังหวัดเชียงใหม่ ในเวลา 11.30 น.[14]

          การยึดอำนาจในครั้งนี้มาจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและกลุ่มทหาร โดยเฉพาะกลุ่มทหาร จปร.5[15] โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2533 ฝ่ายทหารได้ยึดรถโมบายยูนิตของ อ.ส.ม.ท. โดยฝ่ายทหารได้ให้เหตุผลว่ารถคันดังกล่าว ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ส่งมาสืบข่าวฝ่ายทหาร ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2533 พลเอก สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก แกนนำกลุ่มจปร.5 ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ทหารเสื่อมศรัทธาในรัฐบาล”[16] โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีของร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุงนั้น สร้างความไม่พอใจให้แก่ฝ่ายทหารเป็นอย่างยิ่ง พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ จึงแก้ปัญหาด้วยการเชิญผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมรับประทานอาหารเช้าด้วยกัน แต่ถูกปฏิเสธทั้งหมด ระหว่างนี้ข่าวการยึดอำนาจปรากฏออกมาให้เห็นเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ข่าวการปลดพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพลเอก สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาทหารบก เริ่มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการแต่งตั้ง พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งถูกจับจ้องว่าตั้งขึ้นมาเพื่อปลด พลเอก สุนทร คงสมพงษ์[17] ทั้งหมดจึงเป็นชนวนให้เกิดการยึดอำนาจในเวลาต่อมาภายหลังการยึดอำนาจนั้นคณะ รสช. ได้แถลงเหตุผลในการยึดอำนาจ ซึ่งมีอยู่ 5 ข้อ คือ[18] (1) รัฐบาลมีพฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง  (2) ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำ (3) รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา  (4) รัฐบาลมีความพยายามทำลายสถาบันทหาร และ (5) รัฐบาลมีการบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

แม้ว่า พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ จะเป็นหัวหน้า รสช. แต่การยึดอำนาจในครั้งนี้มี พลเอก สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก และรองหัวหน้า รสช. เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติการ และยังมีทหารกลุ่มจปร.5 อีกหลายคนที่มีบทบาทในการยึดอำนาจครั้งนี้ โดยภายหลังการยึดอำนาจ พลเอก สุจินดา คราประยูร เป็นผู้ที่มีบทบาทในการเข้ามาจัดการปัญหาต่าง ๆ[19] ในขณะที่ พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ไม่ได้มีบทบาทที่ชัดเจนมากนัก และหลังจากที่มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี บทบาทของพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ แปรเปลี่ยนเป็นประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลด้านความมั่นคงเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีบทบาทพิเศษในการประสานงานดูแลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี และดูแลเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่[20] จนกระทั่งเกษียณอายุราชการไปในเดือนกันยายน พ.ศ. 2534

ภายหลังเกษียณอายุราชการ พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบกับภรรยาคนใหม่ คือนางอัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร จนกระทั่งพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2542

ฉายาและข้อวิจารณ์

          พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ได้รับฉายาว่า “นายพลเสื้อคับ” เนื่องจากบุคลิกส่วนตัวที่ชอบแต่งเครื่องแบบรัดรูป[21] นอกจากนี้ พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ มีคติพจน์ประจำใจคือ “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” ซึ่งเป็นคำที่มีการรับรู้กันในวงกว้าง โดยพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ให้ความสนิทกับผู้ใต้บังคับบัญชา ในฐานะ “น้อง” มีความซื่อสัตย์ต่อผู้บังคับบัญชา และช่วยเหลือเพื่อนฝูง[22] นอกจากนี้ พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ยังเป็นที่รู้กันว่าเป็นเจ้าของคำพูด “เตรียม 2 เอาหมด” ซึ่งมาจากเมื่อครั้งเรียนเตรียมนายร้อย ได้เสนอผู้บังคับบัญชาขอให้ใช้ย่ามให้เหมือนกันทั้งหมด สะท้อนถึงความเป็นผู้นำตั้งแต่สมัยวัยเยาว์[23]

          แต่พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ก็ต้องเผชิญกับปัญหาภาพลักษณ์ในเรื่องครอบครัว เมื่อปี พ.ศ. 2533 พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ได้หย่าร้างกับพันเอกหญิง คุณหญิงอรชร คงสมพงษ์ อดีตภรรยา และสมรสครั้งใหม่กับนางอัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร โดยพลเอก สุนทร ได้อนุญาตให้นางอัมพาพันธ์ใช้นามสกุล “คงสมพงษ์” แต่ทางคุณหญิงอรชร และบุตรไม่ยินยอม นำมาสู่การฟ้องร้อง แต่ศาลได้ยกคำร้อง กระนั้นพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ได้ตั้งนามสกุลให้ใหม่เป็น “คงทรนง” แต่หลังจากนั้น ได้เปลี่ยนมาเป็น “ธนเดชสุนทร”[24]  และหลังจากที่พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ถึงแก่กรรมไปแล้ว ปัญหาที่ตามมาคือพินัยกรรม 2 ฉบับ ที่มีความแตกต่างกัน โดยฉบับที่เขียนด้วยลายมือ ระบุวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2536  ระบุว่า เมื่อเสียชีวิตไปแล้วให้ยกทรัพย์สินที่ทำธุรกิจร่วมกับนางอัมพาพันธ์ เป็นกรรมสิทธิ์ของนางอัมพาพันธ์เพียงผู้เดียว ส่วนฉบับตีพิมพ์ดีด ระบุทำพินัยกรรม วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 ระบุว่าให้แบ่งเงินสดหรือเงินในบัญชีธนาคารให้นางอัมพาพันธ์ พันตรี อภิรัชด์ คงสมพงษ์ และ ร้อยโท ณัฐพร คงสมพงษ์ (ยศขณะนั้น) ในสัดส่วน 50:25:25 พินัยกรรมนี้จึงนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่างคุณหญิงอรชร กับ นางอัมพาพันธ์ เนื่องจากเนื้อหาในพินัยกรรมไม่มีการอ้างถึงการยกกรรมสิทธิ์แก่ คุณหญิงอรชรแต่อย่างใด[25]

          นอกจากนี้ พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ยังมีข้อกล่าวหากรณีร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อติดตามการดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของ พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ โดยมีนายทองใบ ทองเปาด์ เป็นประธาน ซึ่งตรวจสอบพบว่า มีทรัพย์สินอยู่ในการครอบครองของนางอัมพาพันธ์  ธเนศเดชสุนทร ภรรยาคนใหม่ประมาณ 1,000 ล้านบาท คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงเข้าไปตรวจสอบสินมูลค่า 1,000 ล้านบาทดังกล่าว และมีข้อสังเกตว่า ช่วงก่อน-หลัง เป็นหัวหน้า รสช. บัญชีเงินฝากของ พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ มีกระแสเงินไหลเวียนเข้า-ออก สูงถึง 122.6 ล้านบาท และ จำนวน 127.3 ล้านบาท ตามลำดับ ต่อมากรมสรรพากรได้เรียกนางอัมพาพันธ์มาชี้แจงแหล่งที่มาของเงินฝากใน 29 บัญชี ประมาณ 500 ล้านบาท ปรากฏว่านางอัมพาพันธ์ ชี้แจงได้ประมาณ 400 ล้านบาท อีก 100 ล้านบาทชี้แจงไม่ได้ กรมสรรพากรจึงเรียกเก็บเสียภาษี พร้อมชดเชยค่าปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมายกำหนด รวม 75 ล้านบาท[26]

บรรณานุกรม

คณะกรรมการอำนวยการจัดทำหนังสือประวัติผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ, (กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขานุการกองบัญชาการทหารสูงสุด, 2534).

คำแถลงของพล.อ.สุจินดา คราประยูร ต่อเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2534 ณ หอประชุมกองทัพบก เวลา 08.30 น., มติชนรายวัน (วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2534).

โชคดี.. ‘ชาติชาย’ สบายดี..ไม่มีปัญหา, มติชนรายวัน (วันที่ 10 มีนาคม 2534).

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมืองการปกครองไทย: ยุคเผด็จการ – ยุคปฏิรูป, (กรงุเทพฯ : สำนักพิมพ์เสมาธรรม, 2548).

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย,(กรุงเทพฯ : มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย, 2551).

เว็บไซต์

ยุ้ย-อัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร จำคุก 16 ปี เช็คเด้ง 70 ล้าน!! แม้ปลง…แต่ยังขอสวยด้วยทอง, เข้าถึงจาก<http://www.whomagmedia.com/people_content_detail.php?t=thai&t1=people&id=169> เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2559.

ศึกสายเลือดฟ้องบันลือโลก รวมคดีชิงอภิมหึมา 'มรดก', เข้าถึงจาก <http://www.thairath.co.th/content/528488> เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2559.

เปิดถุงเงิน "สฤษดิ์ -ถนอม -บิ๊กจ๊อด-บิ๊กบัง" เรียกพวกเขาว่า คณะมั่งคั่งแห่งชาติ(คมช.) ?, เข้าถึงจาก <http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1254482992> เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2559.

อ้างอิง

[1] คติพจน์ประจำตัวพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ที่มา คณะกรรมการอำนวยการจัดทำหนังสือประวัติผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ, (กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขานุการกองบัญชาการทหารสูงสุด, 2534), น.1.

[2] เพิ่งอ้าง, น. 15.

[3] เพิ่งอ้าง, น.18-24.

[4] เพิ่งอ้าง, น.28.

[5] เพิ่งอ้าง, น.34-35.

[6] เพิ่งอ้าง, น.38-41.

[7] เพิ่งอ้าง, น.45.

[8] เพิ่งอ้าง, น. 11.

[9] ยุ้ย-อัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร จำคุก 16 ปี เช็คเด้ง 70 ล้าน!! แม้ปลง…แต่ยังขอสวยด้วยทอง, เข้าถึงจาก http://www.whomagmedia.com/people_content_detail.php?t=thai&t1=people&id=169 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2559.

[10] คณะกรรมการอำนวยการจัดทำหนังสือประวัติผู้บัญชาการทหารสูงสุด, อ้างแล้ว, น. 12.

[11] เพิ่งอ้าง.

[12] สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมืองการปกครองไทย: ยุคเผด็จการ – ยุคปฏิรูป, (กรงุเทพฯ : สำนักพิมพ์เสมาธรรม, 2548), น.531-541.

[13]คณะกรรมการอำนวยการจัดทำหนังสือประวัติผู้บัญชาการทหารสูงสุด, อ้างแล้ว, น. 147.

[14] สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, อ้างแล้ว, น. 537.

[15] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย,(กรุงเทพฯ : มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย, 2551), น. 216-217.

[16] เพิ่งอ้าง, น.216.

[17] สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, อ้างแล้ว, น. 532.

[18] คณะกรรมการอำนวยการจัดทำหนังสือประวัติผู้บัญชาการทหารสูงสุด, อ้างแล้ว, น. 142.

[19] คำแถลงของพล.อ.สุจินดา คราประยูร ต่อเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2534 ณ หอประชุมกองทัพบก เวลา 08.30 น., มติชนรายวัน (วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2534), น. 2.

[20] โชคดี.. ‘ชาติชาย’ สบายดี..ไม่มีปัญหา, มติชนรายวัน (วันที่ 10 มีนาคม 2534), น. 3.

[21] คณะกรรมการอำนวยการจัดทำหนังสือประวัติผู้บัญชาการทหารสูงสุด, อ้างแล้ว, น. 189.

[22] เพิ่งอ้าง.

[23] เพิ่งอ้าง, น. 172-173.

[24] ยุ้ย-อัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร จำคุก 16 ปี เช็คเด้ง 70 ล้าน!! แม้ปลง…แต่ยังขอสวยด้วยทอง, เข้าถึงจาก http://www.whomagmedia.com/people_content_detail.php?t=thai&t1=people&id=169 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2559.

[25] ศึกสายเลือดฟ้องบันลือโลก รวมคดีชิงอภิมหึมา 'มรดก', เข้าถึงจาก http://www.thairath.co.th/content/528488 เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2559.

[26] เปิดถุงเงิน "สฤษดิ์ -ถนอม -บิ๊กจ๊อด-บิ๊กบัง" เรียกพวกเขาว่า คณะมั่งคั่งแห่งชาติ(คมช.) ?, เข้าถึงจาก http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1254482992 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2559.