อาทิตย์ กำลังเอก
ผู้เรียบเรียง : ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร
“ผมโทรศัพท์ไปบ้านผู้บัญชาการทหารบก....
ผมก็ถามท่านว่าเป็นไงบ้าง
ท่านก็บอกว่าอาทิตย์กำลังยุ่ง ผมก็บอกว่าอย่างงั้น
ท่านต้องออกจากบ้านท่านไปเฝ้าในหลวงเดี๋ยวนี้
และก็ให้มาอยู่กับผมที่ค่ายกองทัพภาคที่ 2 พร้อมรบ”
พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก[1]
“กบฏเมษาฮาวาย” นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญ อีกเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 1-3 เมษายน พ.ศ. 2524 นำโดยนายทหารกลุ่ม จปร.7 หรือที่เรียกกันว่า “กลุ่มยังเติร์ก” โดยมี พลเอก สัณห์ จิตรปฏิมา เป็นหัวหน้าผู้ก่อการในการยึดอำนาจรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มีการต่อสู้และปะทะกันในหลายจุด แต่ผู้ก่อการดังกล่าวไม่สามารถยึดอำนาจรัฐบาลได้ หลังจากเหตุการณ์ยุติ ได้ปรากฏชื่อขุนพลที่ช่วยค้ำยันอำนาจให้กับรัฐบาล นั่นคือ “พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก” ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 หลังจากนั้น ชื่อของพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก เป็นที่รู้จักในฐานะขุนพลคู่ใจของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และก้าวขึ้นมาเป็น “ผู้บัญชาการทหารบก” แต่แล้วความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ตึงเครียดขึ้นจนนำไปสู่เหตุการณ์ “ปลดกลางอากาศ” พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก จากผู้บัญชาการทหารบก ในปี พ.ศ. 2529 ก่อนหน้าที่พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก จะเกษียณอายุราชการไม่กี่เดือน หลังจากนั้นบทบาททางการเมืองของพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ยังคงโลดแล่นอยู่ในเวทีการเมือง โดยเป็นผู้ก่อตั้งพรรคปวงชนชาวไทย และเข้าร่วมกับรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ก่อนจะถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เข้ายึดอำนาจในปี พ.ศ. 2534 หลังจากนั้นได้ร่วมก่อตั้งพรรคชาติพัฒนา โดยเป็นรองหัวหน้าพรรค และยังคงมีบทบาทางการเมืองเรื่อยมา อาทิเช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้งของจังหวัดเลย
ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว
พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก เกิดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2468 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของพัทโท พิณ กำลังเอก และนางสาคร กำลังเอก[2] สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนพรหมวิทยามูล และได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร และโรงเรียนอำนวยศิลป์ จนสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปี พ.ศ. 2484 ต่อมาพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก สามารถสอบเข้าในโรงเรียนเตรียมนายร้อยทหารบก รุ่นที่ 5[3] ในปี พ.ศ. 2487 จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2491[4]
หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้ประจำกองบังคับการ กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 5 ก่อนจะย้ายมาประจำกองบังคับการ กรมทหารราบที่ 1และติดยศร้อยตรีในปี พ.ศ. 2492[5] หลังจากเริ่มรับราชการแล้ว พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 4 และวิทยาลัยการทัพอากาศ ชุดที่ 5 รวมถึงวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 22[6]
พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก สมรสครั้งแรกกับท่านผู้หญิงประภาศรี กำลังเอก เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474 กระทั่งท่านผู้หญิงประภาศรีถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2526 โดยมีบุตรธิดารวมกันทั้งสิ้น 3 คน คือ พลเอก ฐิติวัจน์ กำลังเอก พันตำรวจเอก ทินภัทร กำลังเอก (เสียชีวิต) และ พลโทหญิง คุณหญิงเวณิกา ทวีชัยการ และสมรสใหม่อีกครั้งกับ นางพรสรร กำลังเอก (พรประภา) บุตรสาวของ ดร.ถาวร พรประภา และดร.อุษา พรประภา ผู้ก่อตั้งบริษัทสยามกลการ[7] พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอาการติดเชื้อทางปอด ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558 เวลา 06.20 น. สิริรวมอายุได้ 89 ปี[8]
หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ
พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก เริ่มรับราชการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2491 ประจำกองบังคับการ กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 5 ต่อมาย้ายไปประจำกองบังคับการ กรมทหารราบที่ 1 ในปี พ.ศ. 2492 รับพระราชทานยศร้อยตรี ในปี พ.ศ. 2493 เป็นผู้บังคับหมวด กองพันทหารราบที่ 1 กรมผสมที่ 21 พ.ศ. 2494 ประจำกองบังคับการ กรมทหารราบที่ 21 และรับพระราชทานยศร้อยโท พ.ศ. 2495 เป็นนายทหารยานยนต์ หมวดบริการขนส่ง ร้อยบริการ กรมทหารราบที่ 21 พ.ศ. 2496 เป็นนายทหารยานยนต์ กองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ผู้บังคับกองร้อยที่ 4 กองพันที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ พ.ศ. 2497 รับพระราชทานยศร้อยเอก พ.ศ. 2500 เป็นนายทหารฝ่ายยุทธการและการฝึก กองพันทหารราบที่ 2 กรมผสมที่ 21 พ.ศ. 2501 เป็นนายทหารฝ่ายยุทธการและการฝึก กองพันที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และรับพระราชทานยศพันตรี พ.ศ. 2503 เป็นรองผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ พ.ศ. 2505 เป็นหัวหน้าแผนก ศูนย์การทหารราบ และรับพระราชทานยศพันโท พ.ศ. 2508 เป็นผู้บังคับกองพันบริการ มณฑลทหารบกที่ 1 พ.ศ. 2511 เป็นผู้บังคับที่พัก กองพลทหารอาสาสมัคร พ.ศ. 2513 เป็นหัวหน้ากองธุรการและบริการ สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง และรับพระราชทานยศพันเอก พ.ศ. 2514 เป็นรองผู้บังคับการกรมผสมที่ 23 พ.ศ. 2515 เป็นผู้บังคับการกรมผสมที่ 23 พ.ศ. 2519 เป็นรองผู้บัญชาการกองพลที่ 3 พ.ศ. 2520 เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 3 และรับพระราชทานยศพลตรี พ.ศ. 2522 เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ พ.ศ. 2523 เป็นรองแม่ทัพกองทัพภาคที่ 2[9]
ภายหลังเหตุการณ์ “กบฏเมษาฮาวาย” ในปี พ.ศ. 2524 พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และรับพระราชทานยศพลโท และพลเอกตามลำดับ ปี พ.ศ. 2525 เป็นผู้บัญชาการทหารบก และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก รวมถึงได้รับพระราชทานยศพลเรือเอกและพลอากาศเอก[10] ในปี พ.ศ. 2529 พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก มีความขัดแย้งกับพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อย่างมากจนกระทั่งนำไปสู่การปลดพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 โดยให้เหลือเพียงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งนี้[11]
นอกจากนี้ในระหว่างรับราชการอยู่นั้น พลเอก อาทิตย์ กำลังเอกยังมีบทบาทในงานราชพิเศษอื่น ๆ อาทิเช่น ราชการสงคราม ณ ประเทศเกาหลี และประเทศเวียดนาม ราชองครักษ์เวร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ สมาชิกวุฒิสภานายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ นายทหารพิเศษประจำกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ กรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์ นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ กรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ และกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ และตุลาการศาลทหารสูงสุด[12]
หลังเกษียณอายุราชการไปแล้ว พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ได้ก่อตั้งพรรคการเมืองชื่อว่า “พรรคปวงชนชาวไทย” และได้เข้าเป็นหัวหน้าพรรค โดยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ในพื้นที่จังหวัดเลย เมื่อปี พ.ศ. 2531 ต่อมาได้ร่วมรัฐบาลกับพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยพลเอก อาทิตย์ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2533 ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และขณะที่กำลังจะเดินทางไปเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน ณ จังหวัดเชียงใหม่นั้นเอง คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้เข้ายึดอำนาจ และจับกุมตัวพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก รวมทั้งพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ไว้ได้สำเร็จ แต่บทบาทของพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ยังคงอยู่ในการเมืองไทย โดยในปี พ.ศ. 2535 ภายหลังเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ได้ร่วมกันก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาในชื่อ “พรรคชาติพัฒนา” โดยมีพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าพรรค และพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก เป็นรองหัวหน้าพรรค แต่พลเอก อาทิตย์ ยังคงมีบทบาททางการเมืองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเรื่อยมา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2543 พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในจังหวัดเลย หลังจากวุฒิสภาหมดวาระ ในปี พ.ศ. 2549 พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ก็บทบาททางการเมืองที่น้อยลงอย่างชัดเจน[13]
ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง
นับตั้งแต่เริ่มแรกที่พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก เริ่มรับราชการได้ไม่นานนัก เป็นช่วงจังหวะที่มีการชุมนุมทางการเมือง เพื่อต่อต้านการเลือกตั้งที่สกปรกของนักศึกษาและประชาชนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2500 โดยมีการเดินขบวนใหญ่ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500[14] ระหว่างนั้น พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก มียศเพียงร้อยเอก ได้นำกำลังเข้าควบคุมสถานการณ์ในพระนคร ทว่าพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก กลับเปิดทางให้กลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลได้เข้าพบกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ทำเนียบรัฐบาล จนทำให้เหตุการณ์ยุติลงได้โดยไม่มีการนองเลือด ส่งผลให้พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ได้รับฉายาว่า “วีรบุรุษสะพานมัฆวาน”[15]
พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ในฐานะนายทหาร ยังเคยผ่านสมรภูมิสำคัญของโลกคือ “สงครามเกาหลี” ในปี พ.ศ. 2493 และ “สงครามเวียดนาม” ในปี พ.ศ. 2512[16] นอกจากนี้ในช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ยังเคลื่อนไหวอยู่ในประเทศไทยนั้น พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ก็เป็นกำลังสำคัญในการปราบปรามกลุ่ม พคท. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดเลย ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญแห่งหนึ่งของ พคท. โดยพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ได้ยึดถือหลักการเมืองนำการทหาร และชักนำประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมปกป้องท้องถิ่นของตน โดยจัดตั้ง "ไทยอาสาป้องกันตนเอง" (ทสป.) นอกจากนี้ยังทำการฝึกการใช้อาวุธ อบรมจิตใจให้มีความรักหวงแหนถิ่นกำเนิด การฝึกดังกล่าวกลายเป็นงานสำคัญระดับชาติในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ต่อมาได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น "ไทยอาสาป้องกันชาติ" (ทสปช.) สามารถสกัดกั้นการขยายตัวของฝ่ายก่อการร้าย อีกทั้งยังก่อให้เกิดความสามัคคีและเป็นที่เชื่อถือ ศรัทธา ของประชาชนทุกหมู่เหล่า[17]
ผลงานสำคัญทางการเมืองที่ทำให้ชื่อของ “พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก” เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปนั่นคือ การเป็นผู้ปราบปราม “กลุ่มยังเติร์ก” ที่มีความพยายามยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งในขณะนั้นพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพที่ 2 และมียศเพียงพลตรีเท่านั้น โดยพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถและเชื่อพระวงศ์อื่น ๆ ไปประทับ ณ กองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา รวมถึงติดต่อให้พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีไปอยู่ด้วยกันที่กองทัพภาคที่ 2 และได้รับการแต่งตั้งเป็น “ผู้บัญชาการกองกำลังปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ”[18] เมื่อเหตุการณ์สงบลง และฝ่ายรัฐบาลมีชัยชนะ พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ได้รับการเลื่อนยศและตำแหน่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี พ.ศ. 2525 สามารถขึ้นเป็น “ผู้บัญชาการทหารบก” นับว่ารวดเร็วมาก[19] ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก จึงเป็นเสมือนขุนพลค้ำบัลลังก์ให้กับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น[20] เมื่อมีอำนาจมากขึ้น ส่งผลให้พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากขึ้น อาทิเช่น เสนอประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การต่ออายุราชการของตน การปรับลดค่าเงินบาท ฯลฯ และกรณีปรับลดค่าเงินบาทนี่เอง ที่ทำให้พลเอก อาทิตย์ กำลังเอกถูก “ปลดกลางอากาศ” ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2529[21]
ผลงานในฐานะนักการเมืองของพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก คือการก่อตั้ง “พรรคปวงชนชาวไทย” และลงสมัครรับเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2531 ต่อมาได้ร่วมรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ขณะที่พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก กำลังจะไปเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้บุกจับกุมตัว และยึดอำนาจรัฐบาลได้เป็นผลสำเร็จ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2535 พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ได้ร่วมก่อตั้ง “พรรคชาติพัฒนา” ขึ้นมาโดยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และร่วมในคณะรัฐมนตรีอีกหลายสมัย จนกระทั่งพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเลย และได้รับการเลือกตั้ง หลังจากนั้นก็ยุติบทบาททางการเมืองลงไป[22]
พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ยังเคยถูกพลเอก พัลลภ ปิ่นมณี นายทหารกลุ่มยังเติร์ก ซึ่งมีความไม่พอใจในตัวพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ที่พยายามกวาดล้างกลุ่มยังเติร์ก จนนำมาสู่การลอบสังหารถึง 3 ครั้ง แต่พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ก็รอดมาได้ทั้ง 3 ครั้ง[23]
บรรณานุกรม
บดินทร์ สายแสง, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521: การตีกลับพลังประชาธิปไตย หลัง 14 ตุลาฯ สู่การปกครองแบบผสม, (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556).
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย,(กรุงเทพฯ : มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย, 2551).
เสถียร จันทิมาธร, เส้นทางสู่อำนาจ มนูญ รูปขจร อาทิตย์ กำลังเอก ใต้เงาเปรม ติณสูลานนท์, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2549).
เว็บไซต์
ย้อนรำลึก 'บิ๊กซัน' จากเจิดจรัส สู่อาทิตย์อัสดง, เข้าถึงจาก <http://www.thairath.co.th/content/475909> เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559.
ทำเนียบผู้บัญชาการทหารบก, เข้าถึงจาก <http://www.rta.mi.th/command/command31.htm> เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559.
ตะวันลับฟ้า’พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก’, เข้าถึงจาก <http://www.komchadluek.net/detail/20150120/199784.htm>l เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559.
อ้างอิง
[1] กองบรรณาธิการสยามใหม่, บทเรียน กบฏ 1 เมษา, (กรุงเทพฯ : ศึกษิตสยาม, 2524), น. 93-96, อ้างจาก บดินทร์ สายแสง, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521: การตีกลับพลังประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาฯ สู่การปกครองแบบผสม, (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556), น. 99.
[2] ย้อนรำลึก 'บิ๊กซัน' จากเจิดจรัส สู่อาทิตย์อัสดง, เข้าถึงจาก http://www.thairath.co.th/content/475909 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559.
[3] เสถียร จันทิมาธร, เส้นทางสู่อำนาจ มนูญ รูปขจร อาทิตย์ กำลังเอก ใต้เงาเปรม ติณสูลานนท์, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2549),น. 132.
[4] ทำเนียบผู้บัญชาการทหารบก, เข้าถึงจาก http://www.rta.mi.th/command/command31.htm เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559.
[5] เพิ่งอ้าง.
[6] ย้อนรำลึก 'บิ๊กซัน' จากเจิดจรัส สู่อาทิตย์อัสดง, เข้าถึงจาก http://www.thairath.co.th/content/475909 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559.
[7] ตะวันลับฟ้า'พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก', เข้าถึงจาก http://www.komchadluek.net/detail/20150120/199784.html เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559.
[8] ย้อนรำลึก 'บิ๊กซัน' จากเจิดจรัส สู่อาทิตย์อัสดง, เข้าถึงจาก http://www.thairath.co.th/content/475909 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559.
[9] ทำเนียบผู้บัญชาการทหารบก, เข้าถึงจาก http://www.rta.mi.th/command/command31.htm เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559.
[10] เพิ่งอ้าง.
[11] ตะวันลับฟ้า'พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก', เข้าถึงจาก http://www.komchadluek.net/detail/20150120/199784.html เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559.
[12] ทำเนียบผู้บัญชาการทหารบก, เข้าถึงจาก http://www.rta.mi.th/command/command31.htm เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559.
[13] ย้อนรำลึก 'บิ๊กซัน' จากเจิดจรัส สู่อาทิตย์อัสดง, เข้าถึงจาก http://www.thairath.co.th/content/475909 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559.
[14] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย,(กรุงเทพฯ : มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย, 2551), น. 80.
[15] ตะวันลับฟ้า'พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก', เข้าถึงจาก http://www.komchadluek.net/detail/20150120/199784.html เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559.
[16] ทำเนียบผู้บัญชาการทหารบก, เข้าถึงจาก http://www.rta.mi.th/command/command31.htm เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559.
[17] ตะวันลับฟ้า'พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก', เข้าถึงจาก http://www.komchadluek.net/detail/20150120/199784.html เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559.
[18] เสถียร จันทิมาธร, อ้างแล้ว, น.123.
[19] เพิ่งอ้าง, น. 128.
[20] เพิ่งอ้าง, น. 130.
[21] ย้อนรำลึก 'บิ๊กซัน' จากเจิดจรัส สู่อาทิตย์อัสดง, เข้าถึงจาก http://www.thairath.co.th/content/475909 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559.
[22] เพิ่งอ้าง.
[23] เพิ่งอ้าง.